ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สเตียรอยด์ อันตรายอย่างไร มีวิธีตรวจสอบได้อย่างไร

สเตียรอยด์ อันตรายอย่างไร มีวิธีตรวจสอบได้อย่างไร HealthServ.net
สเตียรอยด์ อันตรายอย่างไร มีวิธีตรวจสอบได้อย่างไร ThumbMobile HealthServ.net

สเตียรอยด์ อันตรายอย่างไร มีวิธีตรวจสอบได้อย่างไร

สเตียรอยด์ อันตรายอย่างไร มีวิธีตรวจสอบได้อย่างไร HealthServ
ถาม ตอบ เรื่อง สเตียรอยด์ อันตรายอย่างไร มีวิธีตรวจสอบได้อย่างไร

ถาม 1. สเตียรอยด์ คืออะไร

ตอบ  สเตียรอยด์ เป็นกลุ่มฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นได้เอง ในปริมาณเพียงเล็กน้อย เพื่อทำหน้าที่ในกระบวนการต่างๆของร่างกายให้เป็นปกติ ตัวอย่าง เช่น ต้านการอักเสบ ลดอาการปวด ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานเป็นปกติ  เป็นต้น เนื่องด้วยคุณสมบัติของสารสเตียรอยด์ที่จำเป็นต่อร่างกาย จึงทำให้มีการผลิตสเตียรอยด์สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ทางการแพทย์ มีหลายชนิด และหลายรูปแบบทั้งยาฉีด ยาเม็ด และยาครีม
 
สำหรับสเตียรอยด์สังเคราะห์ 2 ชนิดที่ตรวจพบว่ามักนำมาปนปลอมในยาแผนโบราณ มีชื่อว่า เด็กซาเมทาโซน (Dexamethasone) และ เพร็ดนิโซโลน (Prednisolone) เป็นยาแผนปัจจุบันในรูปแบบยาเม็ด โดยมีการนำมาบดผสมในยาแผนโบราณ เนื่องจากสเตียรอยด์มีฤทธิ์ต่อหลายระบบในร่างกาย ระยะแรกที่ได้รับสเตียรอยด์อาจรู้สึกว่าทำให้อาการโรคดีขึ้น ผู้รับประทานจึงหลงเชื่อและรับประทานต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก เนื่องจากเป็นการได้รับยาที่ไม่ได้บ่งใช้โดยแพทย์ เนื่องจากสเตียรอยด์เป็นยาอันตราย มีผลข้างเคียงมาก การใช้ยาต้องมีการติดตามและปรับขนาดยาให้เหมาะสม มักไม่ใช้ต่อเนื่องนานโดยไม่จำเป็นและแพทย์ต้องดูแลใกล้ชิด

ถาม 2. สเตียรอยด์มีอันตรายอย่างไร

ตอบ เนื่องจากสเตียรอยด์มีฤทธิ์ต่อหลายระบบของร่างกาย จึงมีผลได้ทั่วร่างกาย เช่น 
  • ผลกดภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง จึงติดเชื้อง่าย
  • ทำให้เยื่อบุในกระเพาะอาหารบางลงและยับยั้งการสร้างเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารใหม่ อาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุ หรือเลือดออกในกระเพาะอาหารโดยไม่มีอาการปวดท้องมาก่อน
  • ทำให้กระดูกพรุน ในผู้ป่วยเบาหวานจะไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในช่วงปกติได้
  • ผู้ป่วยความดันโลหิตไม่สามารถควบคุมระดับความดัน ให้อยู่ในช่วงปกติได้ จะมีระดับความดันโลหิตสูง แต่ไม่มีอาการเตือน เป็นภัยเงียบที่อาจทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตก เสี่ยงเป็นอัมพฤต-อัมพาตได้
  • นอกจากนี้การได้รับสเตียรอยด์ในขนาดสูง เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “คุชชิ่ง ซินโดรม (Cushing Syndrome)” ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่สังเกตได้ คือ ใบหน้ากลมคล้ายพระจันทร์ มีไขมันพอกที่ต้นคอ ด้านหลังเป็นหนอก ผิวหนังบาง มีรอยแตกสีม่วงแดงตามผิวหนังที่หน้าท้องและต้นขา
สิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งคือ เมื่อร่างกายได้รับสารสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ร่างกายจะหยุดสร้างสเตียรอยด์ตามธรรมชาติ ที่เคยสร้างเองได้  หากหยุดใช้อย่างกะทันหันจะทำให้ร่างกายขาดสเตียรอยด์อย่างฉับพลัน อาจเกิดภาวะช็อก หมดสติและเสียชีวิตได้หากนำส่งโรงพยาบาลไม่ทัน ดังนั้นหากสงสัยว่าได้รับสเตียรอยด์จากการซื้อมาเอง ไม่ใช่โดยแพทย์สั่งใช้ อย่าเพิ่งหยุดยาเอง ขอให้รีบมาพบแพทย์เพื่อหาทางลดยา และการรักษาที่ถูกต้อง

ถาม 3. ปัจจุบันมีการตรวจพบสเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง

ตอบ  สเตียรอยด์ชื่อว่า เด็กซาเมทาโซน (Dexamethasone) และ เพร็ดนิโซโลน (Prednisolone) พบการปนปลอมในยาชุด ยาแผนโบราณที่ไม่มีเลขทะเบียน หรือทะเบียนปลอม พบได้ในทุกรูปแบบยาทั้ง ยาลูกกลอน ยาผง ยาน้ำ ยาเม็ด ที่กล่าวอ้างสรรพคุณการรักษาแบบครอบจักรวาล เช่น แก้ปวดเข่า ปวดข้อ ปวดหัว แก้แพ้ทุกชนิด แก้หอบ หืด แพ้อากาศ อัมพฤกษ์ อัมพาต ช่วยเจริญอาหาร ถ้าพบยาที่สรรพคุณดีขนาดนี้ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจปนปลอมเสตียรอยด์  และผลตรวจในห้องปฏิบัติการพบว่ามักลักลอบใส่ในปริมาณมากเพื่อหวังให้เห็นผลชัดเจน  ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ายาดี กินแล้วหายเป็นปลิดทิ้ง ซึ่งในความจริงคือ ด้วยฤทธิ์ของสเตียรอยด์ที่มีผลต่อหลายระบบของร่างกาย  ในช่วงแรกที่รับประทานยาผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อได้รับยาเป็นเวลานานจะเกิดผลข้างเคียงของสเตียรอยด์  ซึ่งบางกรณีรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
 
นอกจากนี้ยังพบว่ามีการผสมสเตียรอยด์ ในเครื่องสำอางประเภทครีม โดยมีการโฆษณาว่ารักษาสิวได้อย่างรวดเร็ว ทำให้หน้าขาวใส แต่ชุดทดสอบนี้ไม่สามารถใช้ตรวจยาครีมได้ เนื่องจากชุดทดสอบนี้ไม่จำเพาะต่อสเตียรอยด์ที่ลักลอบใส่ในครีมซึ่งมีได้หลายชนิด

ถาม 4.วิธีการใช้งานชุดทดสอบสเตียรอยด์ในยาแผนโบราณ

ตอบ ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้คิดค้นชุดทดสอบอย่างง่าย เป็นชุดทดสอบที่ใช้หลักการอิมมูโนโครมาโทกราฟี  ชุดทดสอบนี้ใช้ตรวจได้ทั้งเด็กซาเมทาโซน และเพรดนิโซโลน  การใช้งานง่าย โดยนำยาแผนโบราณแบ่งมาผสมกับน้ำยาในหลอดทดสอบที่มีให้ในชุด  ตั้งทิ้งไว้จนน้ำยาตกตะกอน แล้วดูดส่วนใสมาหยดบนชุดทดสอบ ทิ้งไว้ 10 นาทีจึงอ่านผล การอ่านผลดูจากจำนวนเส้นที่ปรากฏขึ้น ถ้าขึ้น 2 ขีดคือผลเป็นลบแสดงว่าไม่พบสเตียรอยด์ หากขึ้น 1 ขีดคือผลเป็นบวกแสดงว่าพบเสตียรอยด์  ซึ่งชุดทดสอบมีค่าความไวในการตรวจพบได้ในระดับไมโครกรัม ซึ่งถือว่ามีความไวสูง  และมีความถูกต้องแม่นยำมาก

ถาม 5.ประชาชนสามารถนำไปใช้ตรวจเองได้หรือไม่

ตอบ ชุดทดสอบนี้พัฒนาขึ้นเพื่อให้ประชาชนใช้ตรวจด้วยตนเอง และทราบผลทันที หากตรวจได้ผลบวก คือขึ้น 1 ขีด แสดงว่ามีสเตียรอยด์ ควรหยุดรับประทานยานั้นๆ เนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการโรคที่เป็นอยู่
 
ประชาชน และหน่วยงานที่สนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่
ร้านค้าสวัสดิการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อาคาร 10 ชั้น 1 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
โทร 0 2951 0000 ต่อ 98450 หรือ 9846
อีเมล testkit@dmsc.mail.go.th
Line ID : 0988818808
หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่งในเขตภูมิภาค
ชุดทดสอบที่ผลิตจำหน่ายมีขนาดบรรจุ 4 แบบ ให้เลือกใช้งานตามความเหมาะสม ดังนี้
            - บรรจุ  1 ชุด      ราคากล่องละ        65       บาท
            - บรรจุ  5 ชุด      ราคากล่องละ      300       บาท
            - บรรจุ 10 ชุด     ราคากล่องละ      600       บาท
            - บรรจุ 20 ชุด     ราคากล่องละ    1,100       บาท
 

ถาม 6.คำแนะนำสำหรับประชาชนจากอันตรายของสเตียรอยด์

ตอบ  หลีกเลี่ยงการซื้อยาแผนโบราณที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา  ในการเลือกซื้อให้ตรวจดูฉลากที่ปิดผนึกบนภาชนะบรรจุ ว่าจะต้องมีเลขทะเบียนตำรับยาซึ่งแสดงว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยเลขทะเบียนดังกล่าวขึ้นต้นด้วยตัวอักษร “G” สำหรับยาแผนโบราณที่ผลิตในประเทศ หรือ “K” สำหรับยาแผนโบราณที่นำเข้ามาในประเทศ
 
นอกจากนี้ฉลากจะต้องมีรายละเอียดอื่น ๆ  ได้แก่ ชื่อยา สูตรยา ชื่อและจังหวัดที่ตั้งของผู้ผลิตยา วันเดือนปีที่ผลิตยา  เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตยา  ปริมาณยาที่บรรจุ  เนื่องจากหากเป็นทะเบียนยาปลอมรายละเอียดจะไม่ครบถ้วน เนื่องจากเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายที่ต้องแจ้งให้ทราบ

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ
สเตียรอยด์ อันตรายอย่างไร มีวิธีตรวจสอบได้อย่างไร HealthServ

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด