ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกป้องกันโควิด-19 ใกล้สำเร็จ คาดออกสู่ตลาดไตรมาส 3 ปี 65

สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกป้องกันโควิด-19 ใกล้สำเร็จ คาดออกสู่ตลาดไตรมาส 3 ปี 65 HealthServ.net

เป็นที่จับตามความคืบหน้ามานานสำหรับสเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูก ป้องกันโควิด-19 ที่ได้พัฒนาคืบหน้ามาตั้งแต่ปี 2563 ล่าสุดองค์การเภสัชระบุ เตรียมเดินหน้าศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัคร ขณะที่ 5 ภาคีรัฐ-เอกชน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) องค์การเภสัชกรรม บริษัทไฮไบโอไซ จำกัด เซ็น MOU ร่วมมือพัฒนานวัตกรรมและผลักดันออกสู่ตลาดและผู้ใช้ภายในไตรมาส 3 ปี 2565

สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกป้องกันโควิด-19 ใกล้สำเร็จ คาดออกสู่ตลาดไตรมาส 3 ปี 65 ThumbMobile HealthServ.net
สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกป้องกันโควิด-19 ใกล้สำเร็จ คาดออกสู่ตลาดไตรมาส 3 ปี 65 HealthServ
 
 

MOU 5 ภาคีเครือข่ายร่วมกันพัฒนา


       การพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรม "สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อโควิด-19" นี้ จะดำเนินการภายใต้ความร่วมมือ MOU ของ 5 ภาคีเครือข่าย ภาครัฐและเอกชน ที่จะร่วมกันวิจัย พัฒนา ทดสอบ ขึ้นทะเบียน และผลักดันเข้าสู่กระบวนผลิตเพื่อการพาณิชย์ คาดว่าจะสามารถออกสู่ตลาดและกระจายสู่ผู้บริโภคชาวไทยได้ ภายในช่วง ไตรมาส 3 ของปี 2565 


       สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อโควิด -19  ขณะนี้ ได้ผ่านการทดสอบเบื้องต้นในสัตว์ทดลองแล้ว ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ขั้นตอนต่อไป คือการศึกษาทางคลินิกในกลุ่มอาสาสมัครภายในไตรมาสแรกของปี 2565 นี้  เมื่อได้ผลการศึกษาแล้ว จะใช้ยื่นขอขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประมาณเดือนมิถุนายน 2565 ต่อไป
 

       สำหรับ 5 ตัวแทนภาคีเครือข่ายลงนาม MOU ในความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วย 
  1. รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร
  3. นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
  4. นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม
  5. นาวาโทแพทย์หญิงภาพร ประสิทธิ์ดำรง กรรมการบริษัทไฮไบโอไซ จำกัด
 

 

จดสิทธิบัตรแล้ว

       รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมกับคณะต่างๆ เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์สำคัญระดับประเทศต่างๆ เช่น การพัฒนาวัคซีน ChulaCov 19, ชุดตรวจเชื้อ, เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น

       องค์กรมีความยินดีและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่จะนำองค์ความรู้จากการทำวิจัย โดยทีมนักวิจัยแพทย์จุฬาฯ คือการพัฒนาแอนติบอดีที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้อย่างจำเพาะและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งทีมนักวิจัยได้บ่มเพาะและพัฒนามาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาด โดยได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาคประชาชน และภาครัฐ คือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กระทั่งสามารถพัฒนาแอนติบอดีต้นแบบได้และได้ยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย และมีความพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ไปสู่ภาคเอกชนเพื่อนำไปต่อยอด ในการทำการวิจัยทางคลินิก เพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่น่าจะมีส่วนช่วยป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19
 
 
 
       อีกทั้งในขณะนี้ มีความร่วมมือของหน่วยงานภาคเอกชน ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ของนวัตกรรมดังกล่าว ดำเนินการรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากการทำวิจัยนี้เพื่อทำการวิจัยทางคลินิกต่อ และพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อโควิด-19 โดยหน่วยงานที่มาร่วมมือในครั้งนี้จะทำการวิจัยทางคลินิก และผลิตให้ได้ตามมาตรฐานเพื่อขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ผลิตภัณฑ์นี้อย่างมั่นใจ และเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะมาช่วยรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ต่อไป
 
 
     "องค์ความรู้จากการวิจัยและความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะทำให้เกิดนวัตกรรมที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ และช่วยให้ประเทศไทยก้าวพ้นสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ได้อย่างปลอดภัย" รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว
 
สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกป้องกันโควิด-19 ใกล้สำเร็จ คาดออกสู่ตลาดไตรมาส 3 ปี 65 HealthServ
 
 
 

เภสัช ม.ศิลปากร ร่วมพัฒนาต้นแบบ

     ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย ศ.ดร.ภญ.ปราณีต โอปณะโสภิต พร้อมด้วย รศ.ดร.ภก.ประสพชัย พัฒน์โรจนโสภณ และคณะทำงาน คณะเภสัชศาสตร์ ได้ร่วมศึกษาวิจัยกับทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบสเปรย์แอนติบอดีสำหรับพ่นจมูกเพื่อป้องกันโควิด-19  ซึ่งจากผลการทดลองเบื้องต้นในระดับห้องปฏิบัติการและการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลอง แอนติบอดีพ่นจมูกที่พัฒนาขึ้นมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ  โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
     ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยศิลปากรหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การวิจัยและพัฒนา และความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะทำให้เกิดนวัตกรรมด้านสุขภาพสำหรับคนไทย เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ 




 

สวรส.สนับสนุนทุนวิจัย

      ด้านนพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า นวัตกรรม "สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อโควิด-19" ที่กำลังจะถูกพัฒนาขึ้นมาและมีการศึกษาประสิทธิภาพในมนุษย์นั้น เป็นการต่อยอดจากงานวิจัยที่สวรส.ได้ให้การสนับสนุนในโครงการ "การพัฒนา Monoclonal antibody cocktail ต่อเชื้อ SAR-CoV-2 จากผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายจากโรค" พร้อมกันนี้ สวรส. ยังได้สนับสนุนทุนวิจัยในด้านนวัตกรรม เพื่อเป้าหมายในการเติมเต็มความมั่นคงด้านสุขภาพ รวมทั้งการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไทยอย่างเท่าเทียม และนวัตกรรมด้านสุขภาพจะช่วยให้คนไทยเกิดการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น
 
    "การสนับสนุนทุนการวิจัยด้านนวัตกรรมสุขภาพ สวรส. ครั้งนี้นับว่าเป็นอีกครั้งสำคัญในการต่อยอดนวัตกรรมสุขภาพเชิงพาณิชย์ และยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดศักยภาพของนักวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมบนความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน  พร้อมยกระดับสร้างความเชื่อมั่นงานวิจัย/นวัตกรรม ที่จะมีมาตรฐาน และครอบคลุมการวิจัยทางคลินิก ตลอดจนการวิจัยทดลองในมนุษย์ด้วย" นายแพทย์นพพร กล่าว 
 
 
 

สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกป้องกันโควิด-19 ใกล้สำเร็จ คาดออกสู่ตลาดไตรมาส 3 ปี 65 HealthServ

 

องค์การเภสัช เชี่ยวชาญในการผลิต

     นพ.วิฑูรย์  ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมเป็นองค์กรหลักในการผลิตและจัดหายาและเวชภัณฑ์ในสถานการณ์โควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง และมุ่งส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นนวัตกรรมสามารถผลิตขึ้นใช้ได้เองในประเทศ
 
     ด้วยความเชี่ยวชาญในการผลิตยาและเวชภัณฑ์ ที่มีมาตรฐานยอมรับในระดับสากล องค์การเภสัชกรรมได้เข้ามามีบทบาทในการผลิต ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม"สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อโควิด-19"  สำหรับนำไปใช้ในการศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัคร เพื่อศึกษาถึงประสิทธิผลและความปลอดภัย เป็นข้อมูลในการยื่นขอขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต่อไป
 
     ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้ง 5 หน่วยงานครั้งนี้ นับเป็นแพลตฟอร์มใหม่ของความร่วมมือที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมสุขภาพในการขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพคนไทย พร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

 

Supply Chain บทบาทเด่นภาคเอกชน


      นาวาโทแพทย์หญิงภาพร  ประสิทธิ์ดำรง กรรมการ บริษัทไฮไบโอไซ จำกัด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลามากกว่า 2 ปี ที่เชื้อไวรัสโควิด-19 อุบัติขึ้น และระบาดจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งต่อเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก มาตรการด้านสาธารณสุข และการส่งเสริมให้คนได้รับวัคซีน เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยลดอัตราการติดเชื้อ รวมถึงอัตราการเสียชีวิตของประชาชนในแต่ละประเทศ แต่ทว่า ยังมีกลุ่มคนอีกมากที่สร้างภูมิจากวัคซีนได้ไม่ดี หรือภูมิที่มีอยู่ไม่ได้นาน ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้
 
     "บริษัท ไฮไบโอไซ จำกัด มีความตั้งใจที่จะผลักดันนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นจมูกที่มีแอนติบอดีจากมนุษย์ที่จำเพาะต่อเชื้อโควิด-19 ที่คิดค้นโดยแพทย์ไทย ซึ่งตอบโจทย์เรื่องการเสริมภูมิคุ้มกันที่โพรงจมูกซึ่งเป็นด่านหน้าที่จะดักจับเชื้อโควิดไม่ให้เข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนล่าง โดยมุ่งที่จะพัฒนานวัตกรรมนี้จนเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมของคนไทย เพื่อคนไทย โดยจะเตรียมความพร้อมในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ภายในไตรมาสแรก และ ขยายผลในการจัดจำหน่ายให้เข้าถึงคนไทยภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงในระบบสุขภาพของประเทศ นอกจากนั้นบริษัทฯ  ยังมีแผนในการขยายผลสู่ตลาดในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้นวัตกรรมไทยสู่เวทีโลกอีกด้วย" พญ.ภาพร กล่าว
 
     ทั้งนี้ ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้ง 5 หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่การคิดค้นพัฒนานวัตกรรมแอนติบอดี้ที่มีคุณสมบัติจำเพาะเพื่อป้องกันโควิด-19 การสนับสนุนทุนให้เกิดการพัฒนาวิจัยต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบสเปรย์ที่มีประสิทธิผลและสะดวกในการใช้ ตลอดจนกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต้นแบบ และออกสู่ตลาดเพื่อการนำไปใช้ได้จริง   นับเป็นแพลตฟอร์มใหม่ของความร่วมมือที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมสุขภาพต้นแบบในการขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพคนไทยเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด