ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับกัญชา มติมหาเถรสมาคม

ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับกัญชา มติมหาเถรสมาคม HealthServ.net
ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับกัญชา มติมหาเถรสมาคม ThumbMobile HealthServ.net

มติมหาเถรสมาคม ห้ามวัดทุกวัดปลูกกัญชา กระท่อม ห้ามพระภิกษุสามเณรใช้กัญชา กัญชง เพื่อเสพ หรือเพื่อนันทนาการใดๆ เว้นแต่เป็นการบำบัด รักษาโรคตามแพทย์สั่ง ห้ามครอบครอง พบฝ่าฝืนให้จับสึกได้ทันที ไม่ต้องรอรับรอง

ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับกัญชา มติมหาเถรสมาคม HealthServ


ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับกัญชา มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 17/2565 มติที่ 553/2565 เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับกัญชา
 
 
        ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 17/2565 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า กัญชา พืชในตระกูล Cannabis มีสารเคมี cannabinoids อยู่จำนวนหนึ่ง โดยสารสำคัญในกลุ่มนี้ ที่เชื่อว่าออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท คือ d9 - tetrahydrocannabinol (THC)  และสารดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1 ตาม พระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 การค้นคว้าเกี่ยวกับฤทธิ์ของ THC นำไปสู่การผลิตยา Dronabinol (marinol) ซึ่งมีส่วนผสมของ THC สำหรับใช้ในผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดเพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน และทำให้เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยเอดส์ และใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในด้านต่างๆ จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522

 
กระทรวงสาธารณสุขได้มี ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. 2565 ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 35 ง ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2565 กำหนดให้กัญชา กัญชง พ้นจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5  เนื่องจากในกัญชา จะมี THC ประกอบอยู่ถึง 12% และมี CBD เพียงไม่ถึง 0.30% เท่านั้น สารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกิน 0.2% ไม่เป็นยาเสพติด สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ได้แก่ ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย ทำผลิตภัณฑ์ เช่น ยา อาหาร สมุนไพร และเครื่องสำอาง โดยมีข้อแม้ให้สารสกัดดังกล่าว จะต้องได้จากกัญชงหรือกัญชาที่ผลิตภายในประเทศเท่านั้น เพื่อสนับสนุนด้านการแพทย์ กัญชา กัญชง จึงไม่ใช่สารเสพติด อีกต่อไป 

 
จากการประกาศได้กำหนดให้กัญชา กัญชง พ้นจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ดังกล่าว ได้มีหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ มีความห่วงใย และเป็นกังวลเกี่ยวกับสาร THC  ที่มีอยู่ในกัญชา กัญชง จึงได้ออกประกาศ ในลักษณะการป้องกัน เช่น
 
กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศห้ามมิให้สถานศึกษา ส่วนราชการ หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ นักเรียน นักศึกษา บุคลากร ใช้ จำหน่าย กัญชา กัญชง
 
กระทรวงสาธารณสุข ได้มีประกาศ เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ห้ามสูบในที่สาธารณะ ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร หรือการจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี
 
กระทรวงกลาโหม ได้จัดทำแนวปฏิบัติ เพื่อควบคุมการใช้หรือบริโภคกัญชา กัญชง ให้ทหารทุกระดับชั้น และกำลังพล ใช้กัญชา กัญชง อย่างถูกวิธี และเป็นไปตามกฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัด


 
ในส่วนของคณะสงฆ์เห็นว่า ประเด็นดังกล่าว อาจส่งผลให้พระภิกษุสามเณร ซึ่งอาจใช้โอกาสนี้เพาะปลูก หรือเสพกัญชา โดยสำคัญผิดว่าทำแล้วไม่ผิดกฎหมาย ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ เพราะไม่ได้เป็นยาเสพติดให้โทษตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดจากประเด็นดังกล่าวได้ปรากฏนัยสำคัญในมหาปเทส 4 หมวดที่ 2 เฉพาะในทางพระวินัย
 
1. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร
 
2. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร
 
3. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร
 
4. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร(กัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร(อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร
 
การเสพกัญชา ถึงแม้ว่าพระวินัยไม่ระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นการทำผิดพระวินัย แต่กัญชาเป็นสิ่งมึนเมา ออกฤทธิ์ต่อจิต และประสาท อาจนำมาซึ่งการกระทำผิดพระวินัยได้ และเป็นโลกวัชชะ จึงเห็นว่าไม่เหมาะกับสมณสารูป ซึ่งเป็นสมณเพศ หรือเพศบรรพชิต อยู่ในฐานะปูชนียบุคคลที่ชาวพุทธให้ความเคารพกราบไหว้ ไม่ควรมีอาจาระเยี่ยงคฤหัสถ์

 
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา     
ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติวางแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
 
1. ห้ามวัดทุกวัดใช้พื้นที่วัด หรือที่ธรณีสงฆ์ เพาะปลูกกัญชง กัญชา ตลอดถึงพืชกระท่อม
 
2. ห้ามพระภิกษุสามเณรใช้กัญชา กัญชง เพื่อเสพ หรือเพื่อนันทนาการใด ๆ เว้นแต่เป็นการบำบัด รักษาโรคตามแพทย์สั่ง
 
3. ห้ามพระภิกษุสามเณรมีกัญชา กัญชง ไว้ในครอบครอง และให้วัดเป็นเขตปลอดกัญชา กัญชง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ พ.ศ. 2561
 
4. มอบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองทุกระดับได้กำชับให้คณะสงฆ์ ในปกครองปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคมอย่างเคร่งครัด
 
5. กรณี พระภิกษุ สามเณรฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคมนี้ ให้เจ้าคณะผู้ปกครองดำเนินการใช้มาตรการจากเบาไป  หาหนัก จนถึงการดำเนินการตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2538) ว่าด้วยการให้สละสมณเพศและให้ดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม
            
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด