ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

เวชศาสตร์เขตเมือง (Urban Medicine)

เวชศาสตร์เขตเมือง (Urban Medicine) HealthServ.net
เวชศาสตร์เขตเมือง (Urban Medicine) ThumbMobile HealthServ.net

เวชศาสตร์เขตเมือง (Urban Medicine) เป็นศาสตร์สาขาใหม่ในด้านการแพทย์และสุขภาพสำหรับประเทศไทย แม้จะเคยมีผู้ให้คำนิยามของเวชศาสตร์เขตเมืองมาก่อน แต่เป็นการเรียบเรียงจากแหล่งข้อมูลต่างๆ โดยไม่เคยมีการจัดทำประชาพิจารณ์อย่างเป็นรูปธรรม

 
จนกระทั่ง เมื่อต้นปี พ.ศ.2559 คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลได้มีการประชุมเพื่อกำหนดนิยามของเวชศาสตร์เขตเมืองไว้ว่า "เวชศาสตร์เขตเมืองเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการจัดการปัญหาสุขภาพที่เป็นปัญหาเฉพาะและมีความโดดเด่นที่เกิดขึ้นในเมือง ควบคู่ไปกับสภาพทางสังคม ในบริบทเฉพาะของเมือง ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคุณลักษณะของเมือง โดยให้ความสำคัญกับองค์ประกอบทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพและการดูแลรักษาประชาชนและผู้ป่วย ทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิ" 
 

จึงมีความจำเป็นที่บรรณาธิการวารสารจะต้องให้คำนิยามเฉพาะรวมทั้งขอบข่ายของเวชศาสตร์เขตเมือง ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้นิพนธ์พิจารณาให้ความสนใจในการเผยแพร่หรือตีพิมพ์ต้นฉบับ รวมทั้งปรับปรุงเนื้อหาของบทความให้สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกับเป้าหมายของวารสารต่อไปดังนี้
 
 

1. ปัญหาสุขภาพ โรคหรือภาวะที่เป็นปัญหาเฉพาะ 
 

ควรพยายามเน้นให้เห็นความสำคัญของปัญหานั้น ๆ ในบริบทของเขตเมือง โดยอาจเน้นเรื่องความชุกหรืออุบัติการณ์ที่สูงในชุมชนเมืองอย่างมีนัยสำคัญ หรืออาจเป็นภาวะที่ส่งผลกระทบเห็นได้ชัดต่อสุขภาวะของประชาชนในเขตเมือง (significant health impact) ตัวอย่างเช่น โรคไข้เลือดออก ซึ่งมีอุบัติการณ์สูงใน
กรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีความเสี่ยงสำคัญในบริบทของเขตเมืองได้แก่ ความหนาแน่นของประชากร ปริมาณฝน รวมทั้งแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย มากกว่าที่จะเกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเขตร้อนเท่านั้น (tropical medicine)
 
นอกจากนี้ โรคบางชนิด แม้จะมีความชุกหรืออุบัติการณ์ต่ำในชุมชนเมือง แต่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาวะของประชาชนในเขตเมือง เช่น โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งแม้จะมีอุบัติการณ์ที่ต่ำมาก จนไม่พบเป็นเวลาหลายปี แต่เนื่องจากการเกิดโรคจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก รวมทั้งเกิดการแพร่ระบาดได้ เนื่องจากมีสุนัขจรจัดในเมืองจำนวนมาก เป็นต้น
 
ผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์ (globalization) และการปรับเปลี่ยนลักษณะให้เป็นรูปแบบชาวตะวันตก (westernization) ส่งผลให้กรุงเทพมหานครมีแนวโน้มการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดการย้ายถิ่นทั้งจากภายในและต่างประเทศ เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เช่น ความเร่งรีบ ความแออัด ความยากจน สิ่งเสพติด อาชญากรรม ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นำไปสู่ผลกระทบเชิงลบอันเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนเมือง รวมทั้งเกิดเป็นกลุ่มโรคใหม่ซึ่งเริ่มรู้จักกันในชื่อของ "โรคคนเมือง" หรือ "โรคเขตเมือง" ส่งผลกระทบรุนแรงมากยิ่งขึ้นต่อประชากรชาวกรุงในศตวรรษที่ 21 โดยอาจแบ่งปัญหาสุขภาพเหล่านี้ออกดังนี้
 
1.1 กลุ่มโรคติดต่อ แบ่งเป็นโรคระบาดพบได้บ่อยในสภาวะแวดล้อมของเมืองใหญ่และกลุ่มโรคอุบัติใหม่ (emerging infectious disease) โดยพบการแพร่ระบาดของโรคเก่า เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน โรคท้องร่วง ไข้เลือดออก เอดส์ และวัณโรค และโรคอุบัติใหม่ เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 ในปี 25528 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโรคติดเชื้อไวรัสเมอร์ส โรคมือเท้าปาก รวมทั้งการอุบัติของปัญหาการดื้อยาได้
 
 จากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การอพยพย้ายถิ่นทั้งภายในประเทศ ต่างประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน (เช่น โรคเท้าช้าง ซึ่งพบว่า คนงานพม่าที่อพยพเข้ามาแถบชายแดนมีพยาธินำโรคเท้าช้างอยู่ถึงกว่าร้อยละ 310) ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากร หากไม่สามารถควบคุมติดตามได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในคนเมืองได้อย่างกว้างขวาง และส่งผลต่อการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครในระยะยาว
 
1.2 กลุ่มโรคไม่ติดต่อ การขาดความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักต่อโรคคนเมือง ร่วมกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงของคนเมือง เช่น การบริโภคอาหารที่มีคุณภาพต่ำ ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ และบริบทสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น ความแออัด สถานที่ทำงานไม่ถูกสุขลักษณะ สวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอ และขาดการบริการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก ส่งผลให้โรคเอ็นซีดี เหล่านี้มีความชุกสูงที่สุดในประชากรชาวกรุงเทพมหานครเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของประเทศไทย ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคไตเรื้อรัง นอกจากนี้ยังพบความชุกของปัญหาสุขภาพจิต โรคมะเร็ง และโรคในผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
1.3 ภัยพิบัติ โดยเน้นภัยที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ภัยพิบัติแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้น
 
ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น มหาอุทกภัยในกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2526, 2438 และ 2554 เป็นต้น ภัยธรรมชาติอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น อัคคีภัย ภัยแล้งหรือทุพภิกขภัย (droughts) พายุฝนฟ้าคะนองและฟ้าผ่า ที่พบได้น้อยสำหรับกรุงเทพมหานคร ได้แก่ แผ่นดินไหว คลื่นใต้น้ำ (tsunami) การระเบิดของภูเขาไฟ พายุหมุน เป็นต้น
 
ภัยพิบัติที่มีสาเหตุมาจากมนุษย์ เช่น อุบัติเหตุต่าง ๆ เกิดขึ้นโดยมนุษย์ หรือมีมนุษย์เป็นต้นเหตุ ซึ่งอาจเกิดจากความมักง่ายละเลย ขาดความรับผิดชอบ เช่น ควันและมลภาวะพิษจากโรงงานการทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงในแหล่งน้ำ ไฟป่าจากการเก็บหาของป่า
 
ในยุคปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ส่งผลให้ภัยพิบัติที่เกิดมีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย เช่น กรณีการระเบิดของเครื่องปฏิกรณ์พลังงานนิวเคลียร์ แม้จะยังไม่พบในกรุงเทพฯ แต่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บจากชิ้นส่วนของเครื่องปฏิกรณ์พลังงานนิวเคลียร์ ที่ถูกทำลายอย่างไม่ถูกวิธีหลายรายงาน
 
นอกจากนี้ การกระทำของมนุษย์ยังส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นและพบได้บ่อยขึ้นอีกด้วย เช่น เอลนีโญ ซึ่งมาจากภาษาสเปน คือ El Niño เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและมหาสมุทรสูงขึ้น12 ก่อให้เกิดภัยพิบัติเลวร้าย เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง ไฟไหม้ป่า หรือการรบกวนสภาพอากาศในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่อยู่ในบริเวณอ่าวไทย ซึ่งเป็นน่านน้ำที่อยู่ในทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก ได้รับผลกระทบตามไปด้วย
 
 
 

2. สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยง 
 

ควรเน้นศึกษาหรือรายงานถึงปัจจัยเสี่ยงหรือเหตุอันเกิดจากบริบทเฉพาะของสังคมเมือง เช่น ความเร่งรีบ ความแออัด ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งส่งผลต่อโรค ภาวะ หรือปัญหาสุขภาพนั้น ๆ องค์ประกอบทางสังคมเมืองที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ แบ่งออกได้เป็น ปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก
 
2.1 ปัจจัยภายใน ได้แก่ ปัจจัยซึ่งเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของประชากรในสังคมเมือง เช่น การเพิ่มขึ้นของคนวัยชรา กลุ่มอายุที่สูงมากขึ้น การเป็นจุดศูนย์รวมของประชากรเชื้อชาติ สัญชาติ ต่างๆ ซึ่งเกิดจากการอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อมาทำงาน หรือมาท่องเที่ยวในระยะยาว น้ำหนักและรูปร่างของบุคคล พบโรคอ้วนลงพุง โรคและความผิดปกติที่เกี่ยวข้องได้มากขึ้น ระดับการศึกษาซึ่งพบผู้ที่มีการศึกษาสูงขึ้น เช่น ปริญญาตรีหรือสูงกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถพบประชากรกลุ่มด้อยโอกาสซึ่งมีโอกาสในการศึกษาต่ำกว่าได้เช่นเดียวกัน ความหลากหลาย (diversity) นี้พบได้ทั้งในมุมมองของการศึกษาและรายได้ของประชากร
 
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยทางด้านจิตใจอาจเกี่ยวข้องกับคุณลักษณะของเมือง เช่น ปัญหาความเครียดจากการแก่งแย่งแข่งขันความเร่งรีบในสังคมเมือง ส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อสุขสภาวะ ความเชื่อด้านสุขภาพของคนเมือง แม้ผู้คนในสังคมเมืองจะใช้บริการของการแพทย์แผนปัจจุบันเพิ่มขึ้น ลดความเชื่อผิด ๆ ที่เคยเชื่อต่อกันโดยไม่ได้รับการพิสูจน์ แต่ในทางกลับกัน บุคคลในสังคมเมืองจำนวนมาก เลือกใช้บริการทางการแพทย์แผนทางเลือก เช่น แผนไทยหรือการใช้สมุนไพรร่วมด้วย รวมทั้งการรับรู้ทางสุขภาพซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในสังคมเมืองยังปล่อยปละละเลยและไม่ตระหนักถึงประโยชน์ของสุขภาวะ ไม่มีการตรวจสุขภาพประจำปีและมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ในทางกลับกัน ประชากรส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในชนชั้นกลางซึ่งมีการศึกษาสูง อาจพบการห่วงใยหรือเอาใจใส่สุขภาพมากเกินความพอดี
 
พฤติกรรมสุขภาพรวมทั้งการดำเนินชีวิต เป็นปัจจัยภายในของประชากรที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากสามารถสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีได้โดยการส่งเสริมพฤติกรรมบวกที่เป็นประโยชน์ และลดหรือละเว้นพฤติกรรมลบอันเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ได้แก่ การรับประทานอาหาร อาหารในรูปแบบอาหารจานด่วน (fast food) หรืออาหารตะวันตก (westernization) ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด14 ประกอบกับการขาดการออกกำลังกายหรือออกกำลังกายได้ไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดสมองและโรคไตเรื้อรัง
 
พฤติกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้น บ่อยครั้งจะมีสาเหตุมาจากพื้นฐานทางสังคม ครอบครัว การอบรมเลี้ยงดู การศึกษา รวมทั้งสิ่งแวดล้อม เกิดปัญหาทางสังคม อาชญากรรมต่าง ๆ นำมาซึ่งปัญหาทางสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ
 
2.2 ปัจจัยภายนอก นอกเหนือจากประชากร สังคมเมืองยังประกอบไปด้วยองค์ประกอบอันเกี่ยวข้องกับสุขภาพ 2 ส่วนหลักได้แก่ สิ่งแวดล้อมและปัจจัยเชิงระบบสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ที่อยู่อาศัย การอาศัยอยู่ร่วมกันของประชากรจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำ ทำให้เกิดชุมชนแออัดและลักษณะที่อยู่อาศัยซึ่งไม่ถูกสุขลักษณะ ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เช่น โรคติดเชื้อและเกิดการระบาดได้ สถานที่ทำงานที่เน้นผลผลิตมากเกินไป อาจปล่อยปละละเลยในปัจจัยสุขภาพ นำมาซึ่งโรคในสถานที่ทำงาน เช่น office syndrome หรือ occupational diseases ต่าง ๆ15 มลภาวะต่าง ๆ ที่พบในชุมชนเมือง ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ เช่น ฝุ่นควัน เขม่า หรือทางน้ำ เช่น ภาวะน้ำเสียในคูคลองต่าง ๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อประชากรในเขตเมืองไม่มากก็น้อยปริมาณรถจำนวนมาก รวมทั้งภาวะการจราจรติดขัดในท้องถนนของเมืองขนาดใหญ่ นำมาซึ่งมลภาวะทางอากาศ มลภาวะทางเสียง
 
สารพิษต่าง ๆ อาจปนเปื้อนและนำมาซึ่งมลภาวะต่างๆ โดยสารพิษเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมของบุคคลในสังคมเมือง เช่น พิษสารตะกั่ว ซึ่งแม้จะพบได้น้อยลงในอากาศเนื่องจากมาตรการควบคุมสารตะกั่วในน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ยังสามารถพบได้ในสีซึ่งทาผนังหรือเพดานของอาคารเก่า ๆ หรือแม้กระทั่งพิษจากแคดเมียม ซึ่งอาจพบได้จากการใช้เหล็กดัดฟันที่ไม่ได้มาตรฐาน
 
ปัจจัยเชิงระบบซึ่งเป็นองค์ประกอบทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ในบริบทเฉพาะของสังคมเมือง ได้แก่ ระบบการแพทย์และสาธารณสุข ระบบครอบครัว ระบบการศึกษา เศรษฐกิจ การเมืองและศาสนา เป็นต้น
 
ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครมีความแตกต่างและหลากหลาย ตั้งแต่สิทธิประกันสุขภาพพื้นฐานของประชาชน ประกันสังคม ไปจนถึงสิทธิการรักษาของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ในคนชั้นกลางขึ้นไป มีการเพิ่มขึ้นโดยต่อเนื่องของการใช้สิทธิการประกันสุขภาพของบริษัทประกันต่าง ๆ หรือแม้แต่ชำระเงินเอง โดยใช้บริการสุขภาพของเอกชนหรือช่องทางพิเศษ (พรีเมี่ยม) นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงกลุ่มบุคคลที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพพื้นฐานโดยรัฐ เช่น กลุ่มชาวต่างด้าวที่โยกย้ายเข้ามาอยู่หรือทำงานไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงที่มีการกำเนิดของประชาคมอาเซียนในปัจจุบัน
 
ทั้งนี้ การศึกษาทั้งในด้านระบาดวิทยา สมุฎฐานวิทยา พยาธิกำเนิด จึงควรมุ่งเน้นไปที่ปัจจัยภายในและภายนอกอันเป็นบริบทเฉพาะดังที่ได้กล่าวมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ (modifiable) เช่น พฤติกรรมของบุคคลหรือชุมชนสิ่งแวดล้อมรอบตัวในบริบทของสังคมเมือง


 
 

3. การป้องกันและการดูแลรักษา


ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ในบริบทของสังคมเมืองควบคู่ไปกับการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของประชาชน ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บและดูแลรักษาผู้ป่วย ทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิ
 
3.1 เน้นการดูแลแบบองค์รวม (holistic) โดยดูแลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดย 1) ทางร่างกายเน้นความแข็งแรงสมบูรณ์ มีสมรรถนะทางกายดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ 2) ทางจิตใจ เน้นการมีสุขภาพจิตที่ดี อารมณ์ที่แจ่มใส ผ่อนคลายไม่ตึงเครียดเกินไป มีความสามารถในการรับมือกับความเครียดและปรับตัวได้ดี 3) ทางสังคม มองไปถึงกลุ่มรวมของมนุษย์ โดยสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข สันติภาพ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และ 4) ทางจิตวิญญาณ เน้นการเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจความจริงแห่งชีวิตและสรรพสิ่ง เกิดแรงศรัทธาต่อตนเอง มีความหวังในชีวิตและเกิดความรอบรู้ ส่งผลต่อสภาวะสุขภาพโดยรวมอย่างสมบูรณ์
 
3.2 เน้นผู้ป่วยหรือประชาชนเป็นจุดศูนย์กลาง (patient-centered) ประชาชนในเขตเมืองจะต้องมีสติปัญญา อารมณ์ดี มีความสุข ดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า มีความรู้ทางสุขภาพ และสามารถจัดการปัญหาสุขภาพเบื้องต้นด้วยตนเอง วัยเด็ก ในเขตเมืองจะต้องมีสติปัญญา มีทักษะทางอารมณ์และสังคมดีประชาชนในเขตเมืองจะมีอายุยืนยาว ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และผู้สูงอายุมีโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ในขณะที่ผู้ป่วยในเขตเมืองจะต้องมีความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของโรคและการดูแลรักษาเบื้องต้น ให้ความร่วมมือในการดูแลสุขภาพและการบำบัดรักษาโรค
 
3.3 เน้นการดูแลเชิงรุก รวมทั้งการดูแลแบบปฐมภูมิ คือ การส่งเสริมสุขภาวะของประชากร อันหมายถึงความสมดุลของสุขภาพทางกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ การป้องกันไม่ให้เกิดโรคมากกว่าการรักษาโรคหรือการฟื้นฟูสุขภาพ เน้นปฏิรูประบบบริการสุขภาพปฐมภูมิโดยสร้างคลินิกเวชศาสตร์ครอบครัวเพื่อลดภาระของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ลดความแออัด การรอคอย การเดินทางลดค่าใช้จ่าย และมุ่งสู่การส่งเสริมสุขภาพเพื่อลดการเจ็บป่วยประชาชนมีความรู้ด้านสุขภาพ รับผิดชอบภาวะสุขภาพส่วนตัวได้
 
3.4 เน้นการบริการแบบผสมผสาน (integrated care) มีการผสมผสานการดูแลรักษาหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน เช่น การแพทย์แผนไทย แผนทางเลือกอื่นๆ
 
3.5 เน้นความเชื่อมโยงและเครือข่าย (network) เช่น การเชื่อมโยงในแนวราบ (horizontal) หรือแนวตั้ง (vertical) ของระบบการดูแลสุขภาพในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งมีความต่อเนื่องของการดูแล (continuum of care)
 
3.6 เน้นการแพทย์พอเพียง ตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยและกรุงเทพมหานคร นำมาประยุกต์ใช้ในการแพทย์ โดยยึดหลักทางสายกลาง แนวทางการสืบค้นและรักษา โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคุ้มค่า คุ้มทุน การนำทรัพยากรมาใช้ให้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด

 
 

สรุป
 

ในปี พ.ศ. 2559 วชิรเวชสารจะเปลี่ยนชื่อเป็น "วชิรเวชสารและวารสารเวชศาสตร์เขตเมือง" (Vajira Medical Journal of Urban Medicine) เพื่อให้เข้ากับวิสัยทัศน์และพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลและเพื่อผลักดันวารสารเข้าสู่ระดับนานาชาติ โดยมีจุดประสงค์ในการเผยแพร่ตีพิมพ์บทความอันเกี่ยวข้องกับเวชศาสตร์เขตเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสุขภาพที่เป็นปัญหาเฉพาะและมีความโดดเด่นที่เกิดขึ้นในเขตเมือง ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์พฤติกรรมและสภาพแวดล้อมทางสังคม ในบริบทเฉพาะของเมือง ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคุณลักษณะของเมืองเน้นการส่งเสริมสุขภาวะทีดี การป้องกันโรค และการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวม เชิงรุก โดยมีผู้ป่วยเป็นจุดศูนย์กลาง ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิ เน้นการแพทย์ผสมผสาน มีความเชื่อมโยงและต่อเนื่อง รวมทั้งตั้งอยู่บนรากฐานของความพอเพียง
 
 
เวชศาสตร์เขตเมือง (Urban Medicine) ปีที่ 60 ฉบับที่ 1 มกราคม – มีนาคม พ.ศ. 2559
 
สาธิต คูระทอง พ.บ. อ.ว.อายุรศาสตร์ อ.ว.อายุรศาสตร์โรคไต อ.ว.เวชศาสตร์ครอบครัว*
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
Vajira Med J. 2016; 59(1): 1-4
http://dx.doi.org/10.14456/vmj.2016.22
 
 

ที่มาข้อมูล วชิรเวชสาร

วชิรเวชสารได้ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันก้าวเข้าสู่ปีที่ 60 เป็นเวลาอันยาวนาน นับตั้งแต่ท่านปฐมบรรณาธิการ อ.นพ. ภาสกร เกษมสุวรรณได้ก่อตั้งขึ้น ภายใต้บรรณาธิการทั้งสิ้น 20 ท่าน วชิรเวชสารประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการเป็นวารสารประจำโรงพยาบาลวชิรพยาบาล อีกทั้งหลังจากเปลี่ยนสถานภาพเข้าสู่การเป็นโรงเรียนแพทย์โดยเต็มตัวในชื่อ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล แห่งมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชวชิรเวชสารมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการจำนวนมากและหลากหลาย รวมทั้งใช้ในการเลื่อนตำแหน่งวิทยฐานะและประกอบการขอตำแหน่งวิชาการของบุคลากรภายในและภายนอกสถาบันเป็นจำนวนมาก
 
ในปีที่ 60 วชิรเวชสารจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนชื่อของวารสารเป็น "วชิรเวชสารและวารสารเวชศาสตร์เขตเมือง" ชื่อภาษาอังกฤษจาก "Vajira Medical Journal" เป็น "Vajira Medical Journal of Urban Medicine" เพื่อตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลซึ่งมุ่งหมายที่จะเป็นคณะแพทย์ชั้นนำของประเทศ ที่มีความโดดเด่นด้านเวชศาสตร์เขตเมือง และเครือข่ายสุขภาพภายใต้การบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล และมีพันธกิจ คือ "มุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์กรให้เข้มแข็ง มีชื่อเสียงสมกับมงคลนาม ภายใต้การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและธรรมาภิบาล สร้างองค์ความรู้ด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยเน้นเวชศาสตร์เขตเมือง จัดการศึกษาที่ได้มาตรฐานระดับชาติและสากล เพื่อผลิตแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่มีคุณภาพ คุณธรรมและมีจิตสาธารณะให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัย และธำรงรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่น" ปัจจุบัน วชิรเวชสารถูกจัดอยู่ในกลุ่มวารสารวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นที่ยอมรับระดับชาติ (approved national journals) ของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) และ เป็นวารสารที่ สกอ. แนะนำให้ใช้เพื่อลงตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและตีพิมพ์เผยแพร่วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกสำหรับมหาวิทยาลัยที่มิได้เน้นการวิจัยรวมถึงผลงานของนักวิชาการด้วย โดยจัดให้อยู่ในวารสารกลุ่มที่ 1 ผ่านการรับรองคุณภาพและอยู่ในฐานข้อมูล TCI (TCI-1) การปรับเปลี่ยนชื่อของวารสารยังมีจุดมุ่งหมายที่จะยกระดับเข้าสู่ระดับนานาชาติโดยแสดงให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายและขอบเขตที่ชัดเจนของเนื้อหาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้ชัด ไม่เพียงแต่ชื่อของวารสาร แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาให้เป็นไปตามพันธกิจของคณะฯ โดยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ด้านการแพทย์และสุขภาพเกี่ยวกับเวชศาสตร์เขตเมือง ทั้งวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิกซึ่งรวมถึง ระบาดวิทยา สมุฎฐานวิทยา พยาธิกำเนิด การวินิจฉัย และการดูแลรักษาโรค อันเกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชนในเขตเมือง
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด