ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

แผนและมาตรการปรับโรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น - กระทรวงสาธารณสุข

แผนและมาตรการปรับโรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น - กระทรวงสาธารณสุข HealthServ.net
แผนและมาตรการปรับโรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น - กระทรวงสาธารณสุข ThumbMobile HealthServ.net

แผนและมาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) จัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นแม่บทกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางตลอดจนแนวปฏิบัติเพื่อนำประเทศไทยก้าวพ้นภาวะระบาดของโรคโควิด และลดระดับโรคโควิดสู่โรคประจำถิ่น (เผยแพร่ เมษายน 2565)


บทนำ


จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคอุบัติใหม่ ทําให้เกิดการระดมสรรพกําลัง ความรู้ความสามารถและทรัพยากรในการจัดการกับวิกฤติดังกล่าวด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทําให้สามารถก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤติมาได้ในทุกระลอกของการระบาด และในท้ายที่สุดการระบาดของโรคโควิด 19 จะกลายเป็น “โรคประจําถิ่น” ซึ่งในขณะนี้หลายประเทศได้เตรียมการเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจําถิ่น อาทิ เช่น สเปน อินเดีย รัฐแคลิฟอร์เนีย

อย่างไรก็ตาม เราต้องเร่งจัดทําแผนและมาตรการเชิงรุกให้ครอบคลุมทุกมิติตามระดับสถานการณ์ ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ด้านกฎหมายและสังคม ด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติด้วยการปรับการบริหารจัดการโรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น ซึ่งมีปัจจัยสําคัญ คือ การเพิ่มความครอบคลุมในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ประกอบกับความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ทั้งระดับบุคคล และองค์กรเป็นอย่างดีอันจะช่วยป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ตลอดจนลดความรุนแรงและการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19

กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดทําแผนและมาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนจะกลับมาดําเนินชีวิตอยู่ร่วมกับโควิดได้ภายใต้การใช้ชีวิตวิถีปกติใหม่ เพิ่มคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับประชาชนและประเทศ เดินหน้าขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย “ประชาชนปลอดภัย เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง”
 
นายเกียรติภูมิ วงศ์รจิต
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 
แผนและมาตรการปรับโรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น - กระทรวงสาธารณสุข HealthServ

บทสรุปผู้บริหาร

 
ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคอุบัติใหม่ “โควิด 19” เป็นระยะเวลา กว่า 2 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์การระบาดที่เป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ ในพื้นที่ที่มีความแออัดและมีการรวมกลุ่มคนจํานวนมาก ทําให้เกิดการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ อาทิ การระบาดที่สนามมวยและสถานบันเทิง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร การระบาดที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร การระบาดในบ่อนการพนัน แคมป์คนงาน ตลาด และเรือนจํา เป็นต้น มีการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ตั้งแต่สายพันธุ์อู่ฮั่น เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบครั้งแรก สายพันธุ์อังกฤษ แอฟริกา เดลต้า และสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบการแพร่ระบาดในปัจจุบัน ในการรับมือการแพร่ระบาด รัฐบาลได้ระดมสรรพกําลัง ความรู้ ความสามารถและทรัพยากรในการจัดการกับวิกฤติครั้งนี้ อาศัยพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ร่วมกับการใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เป็นกลไกหลักในการบริหารเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้เป็นไปอย่างบูรณาการ สอดคล้องและทันต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ ประกอบกับการใช้ยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทําให้ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤติมาได้ในทุกระลอกของการระบาด


การรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้เกิดองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ จึงปรับทิศทางการบริหารจัดการโรค
โควิด 19 สู่ “โรคประจําถิ่น” โดยการจัดทําแผนและมาตการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรค
ประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ซึ่งครอบคลุมในทุกมิติ ควบคู่ไปกับการดําเนินงานของ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วนโดยมีเป้าหมาย (1) การเข้าถึงการดูแลรักษาได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ อัตราป่วยตาย ไม่เกินร้อยละ 0.1 (2) ความครอบคลุมวัคซีนเข็มกระตุ้น ≥ ร้อยละ 60 และ (3) สร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องและความร่วมมือของประชาชน ในการรับมือ และปรับตัว เพื่ออยู่ร่วมกับโควิด 19 จาก Pandemicสู่ Endemic อย่างปลอดภัย โดยกําหนดมาตรการในการดําเนินงาน ดังนี้

1. มาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ด้านสาธารณสุข ประกอบด้วย การแจ้งเตือนภัยโควิด 19 สําหรับประชาชนตามระดับสถานการณ์การเฝ้าระวังและจัดการผู้เดินทางจากต่างประเทศการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคและวัคซีนเข็มกระตุ้น

2. มาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ด้านการแพทย์ ประกอบด้วย การตรวจวินิจฉัย การให้บริการกลุ่มที่มีอาการ รวมถึงการให้บริการกลุ่มเสี่ยงเช่น กลุ่ม608 เป็นต้น การให้บริการกลุ่มที่มีปอดอักเสบ และ Long Covid-19

3. มาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ด้านกฎหมายและสังคม ประกอบด้วย การบริหารจัดการด้านกฎหมาย และมาตรการสังคม

4. มาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ประกอบด้วย การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารในรูปแบบต่างๆ
 
ทั้งนี้แผนและมาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ดังกล่าว กําหนดไว้เป็นกรอบแนวทางเพื่อนําไปปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่

 

บทที่ 1 สรุปสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19ในประเทศไทย

 
 
จากการระบาดระลอกที่ 1 หรือระลอกแรก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2562 ทําให้การระบาดแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วโลกส่งผลให้มีผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตจํานวนมาก สําหรับประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 ตั้งแต่เดือน มกราคม 2563 จนเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้โรคโควิด 19เป็นโรคที่มีการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก (Pandemic) ในขณะที่ประเทศไทยพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน มีการแพร่ระบาดในสนามมวย และสถานบันเทิง จึงได้ประกาศปิดเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งแรก เมื่อเดือนมีนาคม 2563 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2653 เป็นต้นมา ทุกคนที่เดินทางเข้าประเทศไทยต้องถูกกักกันในสถานกักกันของรัฐ คัดกรองและติดตามการสัมผัสและค้นหาผู้ป่วย เน้นการรักษาความสะอาดโดยเฉพาะ การล้างมือ เว้นระยะห่าง การเลี่ยงฝูงชน ใส่หน้ากากอนามัย สถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้นตามลําดับ จนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้พบผู้ติดเชื้อในประเทศรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 และไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยยาวนานติดต่อกันกว่า 100 วัน

ต่อมาการระบาดระลอกที่ 2 หรือระลอกใหม่เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2563 มีศูนย์กลางการระบาดอยู่ที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาครซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้า อาหารทะเลขนาดใหญ่ของประเทศ ต่อมาการแพร่ระบาดเชื่อมโยงไปในสถานประกอบการ โรงงาน และชุมชนใกล้เคียง เป็นสะเก็ดไฟเล็กๆ ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคกลาง และทางภาคตะวันออก การระบาดระลอกใหม่นี้หนักเป็น 1.8 เท่าของระลอกแรกที่จุดวิกฤตสุด แต่ด้วยมาตรการจาก ศบค. และยุทธศาสตร์การจัดการเชิงพื้นที่ระดับจังหวัดที่เข้มแข็ง จึงสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ให้อยู่ในภาวะสงบ ไม่เกินศักยภาพระบบสาธารณสุขรองรับได้


ซึ่งการระบาดในระลอกนี้ใช้ช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 3 เดือน (15 ธันวาคม 2563 –31 มีนาคม 2564) หลังจากนั้นการระบาดระลอกที่ 3 เมื่อต้นเดือนเมษายน 2564 พบคลัสเตอร์การระบาดใหม่จากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ-เอกมัย กรุงเทพมหานคร คลัสเตอร์แคมป์คนงาน ในกรุงเทพมหานคร และคลัสเตอร์เรือนจํานราธิวาส โดยช่วงแรกของการระบาดระลอกนี้เกิดจากสายพันธุ์กลายพันธุ์ในประเทศอังกฤษ อันเป็นสายพันธุ์ที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อสูง
เป็นเหตุให้จํานวนยอดผู้ป่วยโควิด 19 รายวันสูงขึ้น และพื้นที่การแพร่ระบาดที่ขยายเป็นวงกว้าง ซึ่งคาบเกี่ยวกับช่วงการเดินทางกลับภูมิลําเนา และการท่องเที่ยวในเทศกาลสงกรานต์


อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกนี้ พบว่าเกิดการระบาดจากหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าที่กลายมาเป็นสายพันธุ์หลักครอบคลุมกว่าร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อ ซึ่งสายพันธุ์นี้มีความสามารถจับเซลล์ของมนุษย์ได้ง่ายขึ้น แพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็ว และลงปอดได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของสายพันธุ์ที่น่ากังวลที่แพร่เชื้อได้ง่ายขึ้นและอันตรายมากขึ้นนี้ ได้ทําให้จํานวนยอดผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นอีกในหลายหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน มีผู้ป่วยอาการรุนแรงทําให้สถานพยาบาลต้องรับภาระที่หนักมากขึ้นไปอีก

 
ในขณะที่การระบาดระลอกที่ 4 หรือระลอกมกราคม 2565 (1 มกราคม 2565 ถึงปัจจุบัน) จะต่อเนื่องมาจากในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศชื่อโควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ว่า “โอไมครอน” พร้อมจัดให้อยู่ในกลุ่มเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern : VOC) ตรวจพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นสายพันธุ์ของเชื้อที่มีการกลายพันธุ์มากถึง 32 จุด หลายประเทศในยุโรปและเอเชีย รวมถึงประเทศไทยเริ่มใช้มาตรการต่าง ๆ รวมถึงการคุมเข้มการเดินทางจากประเทศ ในทวีปแอฟริกาใต้ ซึ่งมีการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน สําหรับประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนรายแรก ในวันที่ 6 ธันวาคม 2564 เป็นชายไทย เดินทางมาจากสเปน และมีการติดเชื้อในประเทศรายแรก ซึ่งเป็นภรรยาของชายคนดังกล่าว ประกอบกับพบผู้เชื้อที่เดินทางเข้าประเทศในรูปแบบ Test and Go เพิ่มขึ้น 2 เท่า จึงมีการระงับการลงทะเบียนเข้าราชอาณาจักรในรูปแบบ Test and Go ตั้งแต่ วันที่ 22 ธันวาคม 2564

 
 
 วันที่ 27 ธันวาคม 2564 พบการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน 92 ราย กระทรวงสาธารณสุขแถลงเตือนภัยโรคโควิด 19 ในระดับ 3 โดยเป็นสัญญาณเตือนว่ามีการติดเชื้อจากต่างประเทศ และวันที่ 1 มกราคม 2565 ได้ปรับพื้นที่สีของจังหวัดตามระดับสถานการณ์ ปรับมาตรการเข้าราชอาณาจักรและการตรวจหาเชื้อโควิดทั้งในรูปแบบ Sandbox Programme และ Test and Go และได้ยกระดับการเตือนภัยโรคโควิด 19 เป็นระดับที่ 4 ในวันที่ 9 มกราคม 2565 โดยมีการปรับพื้นที่สีของจังหวัดตามระดับสถานการณ์ ให้สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ เปิดในรูปแบบร้านอาหารได้โดยต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ต่อมามีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนในจังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดอุบลราชธานี และพบการแพร่ระบาดไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ พบว่าอาการของผู้ป่วยโควิด 19 สายพันธุ์โอไมครอน ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาจไม่จําเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยในของโรงพยาบาล หรืออยู่โรงพยาบาลเพียงระยะสั้น ๆ แล้วไปพักฟื้นต่อที่บ้านหรือสถานที่รัฐจัดให้ จึงปรับการบริหารจัดการโรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic) ด้วย 4 มาตรการหลัก คือ มาตรการสาธารณสุขมีเป้าหมายเพื่อให้อัตราการติดเชื้ออยู่ในระดับที่สามารถรองรับได้และประชากรมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น


 
การระบาดระลอกมกราคม 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 29 มีนาคม 2565 พบผู้ติดเชื้อในประเทศรวม 1,351,963 ราย เสียชีวิต 3,260 ราย (ร้อยละ 0.24) หายป่วยสะสม 1,136,792 ราย ผู้ป่วยกําลังรักษา 245,154 ราย สถานการณ์โรคโควิด 19 ประเทศไทย มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อในระดับสูงคงตัวแนวโน้มสถานการณ์ยังสอดคล้องกับการคาดการณ์ตามฉากทัศน์ ยังคงระดับการเตือนภัยในระดับที่ 4 ทั่วประเทศ และเร่งดําเนินมาตรการ SAVE 608 by booster dose รวมทั้งกํากับมาตรการป้องกันควบคุมโรค VUCA โดยเฉพาะในสถานที่เสี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการระบาดเป็นวงกว้าง หรือแพร่โรคไปยังกลุ่มเสี่ยง
 
 
ประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่งผลต่อประชาชนทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ สําหรับประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อในประเทศรวม 3,575,398 ราย ผู้เสียชีวิต 24,958 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.7 (ข้อมูล ณ 29 มีนาคม 2564) อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรคโควิด 19 ประเทศไทย มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ในขณะที่การเปรียบเทียบอัตราป่วยตาย หรืออัตราส่วนผู้ติดเชื้อต่อผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด 19 สายพันธุ์ Omicron ต่ํากว่า สายพันธุ์ Delta ถึง 4 เท่า ประกอบกับความครอบคลุมในการฉีดวัคซีน ซึ่งให้บริการฉีดวัคซีนแล้ว 126,431,235 โดส ความครอบคลุมเข็ม 1 ร้อยละ 79.5 เข็ม 2 ร้อยละ 72.2 และเข็ม 3 ขึ้นไป ร้อยละ 33.3 (ข้อมูลกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 28 มีนาคม 2565) รวมทั้งประชาชนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล เป็นอย่างดี กระทรวงสาธารณสุข จึงปรับการบริหารจัดการโรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic) เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ 

บทที่ 2 นโยบายการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น

องค์การอนามัยโลก ได้กําหนดระยะการเปลี่ยนผ่านจาก COVID –19 Pandemic สู่ Endemic Disease แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะ Pre-Pandemic เป็นระยะเริ่มต้นจากโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ระยะต่อมาเป็น Pandemic ซึ่งเกิดการระบาดทั่วโลก ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้โรคโควิด 19 เป็น Pandemic เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 และเมื่อการแพร่ระบาดเริ่มลดลงจะเข้าสู่ระยะ Post-Pandemic กลายเป็นโรคประจําถิ่นหรือโรคติดต่อทั่วไป ประเทศที่เตรียมการเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจําถิ่น เช่น ประเทศสเปน ประเทศอินเดีย รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
 
 
การวางแผนรองรับสถานการณ์เมื่อการแพร่ระบาดเริ่มลดลงจะเข้าสู่ระยะ Post-Pandemic
กลายเป็นโรคประจําถิ่นหรือโรคติดต่อทั่วไปการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 องค์การอนามัยโลก ได้มีการวางแผนโดยใช้ 3 ฉากทัศน์ดังนี้
 
ฉากทัศน์ที่ 1 โรคโควิด 19 กลายเป็นโรคประจําถิ่นหรือโรคติดต่อทั่วไปของไวรัสโคโรนาตัวที่ 5 (The 5th endemic coronavirus) ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้สูง เนื่องมาจากมีความครอบคลุมการฉีดวัคซีนในประชากรมากในระดับโลก
 
ฉากทัศน์ที่ 2 พฤติกรรมการเกิดโรคโควิด 19 เหมือนไข้หวัดตามฤดูกาล (Flu-Like) มีลักษณะการระบาดเป็นครั้งคราวตามฤดูกาล เพราะตัวไวรัสมีการเปลี่ยนแปลง

ฉากทัศน์ที่ 3 เกิดการระบาดใหญ่อย่างต่อเนื่องจากไวรัสตัวใหม่ของสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Ongoing pandemic through new VOCs) เป็นสายพันธุ์ที่สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้
 
เมื่อพิจารณาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ณ วันที่ 13 มีนาคม 2565 (รายงานจํานวนผู้ติดเชื้อ องค์การอนามัยโลก) พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลกอยู่ในช่วงขาลง ในขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย พบว่า มีการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ซึ่งอยู่ในช่วงขาขึ้น ทั้งนี้ จํานวนผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทยสูงกว่าสายพันธุ์เดลต้าไม่มาก ประกอบกับ ข้อมูลความรุนแรงระหว่าง โรคโควิด 19 และไข้หวัดใหญ่ประจําฤดูกาลของประเทศอังกฤษ ในช่วงปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา มีการระบาดโรคโควิด 19 สายพันธุ์แอลฟา ซึ่งในขณะนั้นความครอบคลุมการฉีดวัคซีนโควิด 19 ยังไม่มาก จึงพบว่าอัตราป่วยตายสูง ประมาณร้อยละ 1 ต่อมาในช่วงกลางปี 2564 มีความครอบคลุมการฉีดวัคซีนโควิด 19 มากขึ้น ทําให้อัตราป่วยตายลดลงเหลือร้อยละ 0.2 และช่วงปลายปี (พฤศจิกายน – ธันวาคม 2564) เริ่มมีการระบาดโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งขณะนั้นมีการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น ทําให้อัตราป่วยตายลดลงต่ํากว่าร้อยละ 0.1 ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการป่วยตายของไข้หวัดใหญ่ประจําฤดูกาล ประเด็นที่น่าสนใจ คือ อัตราป่วยตายที่ลดลงจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นประมาณร้อยละ 50 ของประชากรอัตราป่วยตายจากโรคโควิด 19
 
 
เมื่อพิจารณาข้อมูลอัตราป่วยตายจากโรคโควิด 19 ของประเทศอังกฤษ แยกตามกลุ่มอายุ พบว่าการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โรคประจําถิ่น ควรต้องเร่งฉีดวัคซีน ในประชากรกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปเนื่องจากอัตราป่วยตายยังเกินร้อยละ 0.1 อยู่เล็กน้อย ในขณะที่กลุ่มประชากรที่อายุต่ํากว่า 60 อัตราป่วยตายต่ํากว่าไข้หวัดใหญ่มาก (ภาพรวมเฉลี่ยอัตราป่วยตายของประชากรทุกช่วงอายุร้อยละ 0.1) 
 
 
สําหรับประเทศไทย การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โรคประจําถิ่นจําเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนในประชากรกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากอัตราป่วยตายยังเกินร้อยละ 0.1 อยู่เล็กน้อย ในขณะที่กลุ่มประชากรที่อายุต่ํากว่า 60 อัตราป่วยตายต่ํากว่าร้อยละ 0.1 มาก และจากข้อมูลการฉีดวัคซีนของประเทศอังกฤษ พบว่ามีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นประมาณร้อยละ 50 ขณะที่ตอนนี้ประเทศไทยได้ทําการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่าร้อยละ 30 จึงคาดว่าจะสามารถลดอัตราป่วยตายให้เป็นไปตามเป้าหมายได้โดยได้คาดการณ์สถานการณ์หากพบการระบาดสายพันธุ์ Omicron ภายในประเทศ แพร่โรคในวงกว้างและรวดเร็ว ดังนี้ โดยขณะนี้ได้ดําเนินการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่าร้อยละ 30 ของประชากร
 


การบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น ประเทศไทย มุ่งหวังให้ประชาชน
สามารถดําเนินชีวิตอยู่ร่วมกับโควิดได้ ภายใต้การใช้ชีวิตวิถีปกติใหม่ ขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศให้บรรลุเป้าหมายที่กําหนดไว้ โดยภาพรวมกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจําถิ่น แบ่งระยะดําเนินการออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

ระยะ Combatting (12 มีนาคม - ต้น เมษายน 2565)

ระยะ Plateau (เมษายน - พฤษภาคม 2565)

ระยะ Declining (ปลาย พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2565)

ระยะ Post – pandemic (1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป)


โดยจําเป็นต้องมีมาตรการรองรับทั้งด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและสังคม และด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ จําเป็นต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจรูปแบบในการใช้ชีวิตวิถีปกติใหม่ ซึ่งจะเน้นให้ใกล้เคียงการใช้ชีวิตปกติ และปกป้องกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นต้น

บทที่ 3 แผนและมาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19)

แผนและมาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic
Approach to COVID-19) เป็นกรอบแนวทางการดําเนินงานเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและสร้างความสมดุลทางสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ โดยการจะดําเนินการให้สําเร็จลุล่วงได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมทั้งต้องมีการควบคุม กํากับ มาตรการอย่างมีประสิทธิภาพ
 
3.1 เป้าหมาย
การบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น มีเป้าหมายในการดําเนินงานที่สําคัญ 2 ประการ หรือเรียกว่า 2U ได้แก่ Universal Prevention คือ การป้องกันตนเองแบบครอบจักรวาล และ Universal Vaccination คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย และกลุ่ม โรคเรื้อรัง ให้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และได้รับเข็มกระตุ้นตามระยะเวลาที่กําหนด แผนและมาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) มีเป้าหมาย ดังนี้
 
3.1.1 การเข้าถึงการดูแลรักษาได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ อัตราป่วยตาย ไม่เกิน ร้อยละ 0.1
3.1.2 ความครอบคลุมวัคซีนเข็มกระตุ้น ≥ ร้อยละ 60
3.1.3 สร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องและความร่วมมือของประชาชน ในการรับมือ และปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด 19 จาก Pandemic สู่ Endemic อย่างปลอดภัย
 
3.2 ระยะดําเนินการ
ระยะดําเนินการ แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่
3.2.1 ระยะ Combatting (12 มีนาคม – ต้น เมษายน 2565) เป็นระยะต่อสู้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงลง จะมีมาตรการต่างๆ ออกไป การดําเนินการให้กักตัวลดลง
3.2.2 ระยะ Plateau (เมษายน – พฤษภาคม 2565) เป็นการคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น ให้เป็นระนาบจนลดลงเรื่อย ๆ
3.2.3 ระยะ Declining (ปลาย พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2565) เป็นการลดจํานวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1,000-2,000 คน
3.2.4 ระยะ Post-pandemic 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป คือ ออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรค
ประจําถิ่น
3.3 ยุทธศาสตร์
3.3.1 ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ด้านสาธารณสุข
3.3.2 ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ด้านการแพทย์
 
 
3.3.3 ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ด้านกฎหมายและสังคม
3.3.4 ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์

 
ภาพที่ 7 แสดงระยะดําเนินการแผนและมาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19)
 
โดยมีรายละเอียด แผนและมาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 บริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ด้านสาธารณสุข

 ยุทธศาสตร์ที่ 1 บริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ด้านสาธารณสุข
กลยุทธ์
1. เร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ≥60%
2. ปรับระบบการเฝ้าระวัง เน้นการระบาดเป็นกลุ่มก้อนและผู้ป่วยปอดอักเสบ
3. ผ่อนคลายมาตรการสําหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ
4. ปรับแนวทางแยกกักผู้ป่วย และกักกันผู้สัมผัส
โดยมีรายละเอียดมาตรการแบ่งตามระยะดําเนินการ ดังนี้
 
 
 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 บริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ด้านการแพทย์

 ยุทธศาสตร์ที่ 2 บริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ด้านการแพทย์
กลยุทธ์
1. ปรับแนวทางการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD)
2. ดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงอาการรุนแรง และมีอาการรุนแรงรวมทั้งภาวะ Long COVID
โดยมีรายละเอียดมาตรการแบ่งตามระยะดําเนินการ ดังนี้
 
 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 บริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ด้านกฎหมายและสังคม

 
กลยุทธ์
1. บริหารจัดการด้านกฎหมายในทุกหน่วยงาน ให้สอดคล้องกับการปรับตัวเข้าสู่ Post - pandemic
2. ผ่อนคลายมาตรการทางสังคม ลดการ “จํากัดการเดินทางและการรวมตัวของคนหมู่มาก”
3. ทุกภาคส่วนส่งเสริมมาตรการ UP, COVID Free Setting
โดยมีรายละเอียดมาตรการแบ่งตามระยะดําเนินการ ดังนี้
 
 
 
 
 

ยุทธศาสตร์ที่ 4 บริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์

กลยุทธ์
1. ทุกภาคส่วนร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจ และพฤติกรรม ให้ประชาชนสามารถดําเนินชีวิตร่วมกับโควิด 19 อย่างปลอดภัย (Living with COVID-19)

2. สื่อสารประชาสัมพันธ์ เชิงรุก อย่างครอบคลุม ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และสร้างความร่วมมือของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา
โดยมีรายละเอียดมาตรการแบ่งตามระยะดําเนินการ ดังนี้
 
 
สรุปแผนและมาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 สู่โรคประจําถิ่น (Endemic Approach to COVID-19)
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด