ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

แพทย์ชี้โรคฝีดาษวานร หายได้เอง ใน 4 สัปดาห์ ในไทยพบเพียง 2 รายเท่าเดิม

แพทย์ชี้โรคฝีดาษวานร หายได้เอง ใน 4 สัปดาห์ ในไทยพบเพียง 2 รายเท่าเดิม HealthServ.net
แพทย์ชี้โรคฝีดาษวานร หายได้เอง ใน 4 สัปดาห์ ในไทยพบเพียง 2 รายเท่าเดิม ThumbMobile HealthServ.net

แพทย์เผยโรคฝีดาษวานรติดจากสัมผัสใกล้ชิด หายได้เอง ใน 4 สัปดาห์ อาการไม่รุนแรงรักษาตามอาการ แต่ถ้าอาการรุนแรง เรามีความพร้อมในการรักษา ย้ำตื่นตัวแต่อย่าตื่นตระหนก

 
 
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากการที่กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่สอบสวนผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรซึ่งเป็นผู้ป่วยรายที่ 2 ของประเทศไทย อาศัยในกรุงเทพมหานคร  พบว่าเป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 47 ปี ประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชายต่างชาติ โดยผู้ป่วย เริ่มมีอาการปวดเมื่อยตามตัวประมาณ 1 สัปดาห์ก่อน พบมีตุ่มหนองที่ตามตัว และ  อวัยวะเพศ  ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน โรงพยาบาลเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ   ส่วนผู้สัมผัสร่วม 10 ราย      กรมควบคุมโรคได้มอบให้ ทีมสอบสวนโรคโรคติดตามผู้สัมผัสอย่างใกล้ชิด  
 
 
โรคฝีดาษวานรหรือโรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส (POX Virus) กลุ่มเดียวกับโรคไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า  สถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.ค. 65) ผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 20,849 ราย พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นเป็น 74 ประเทศ โดยพื้นที่การแพร่ระบาดส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบทวีปยุโรป ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 4,639 ราย สเปน 4,001 ราย เยอรมัน 2,459 ราย สหราชอาณาจักร 2,367 ราย และฝรั่งเศส 978 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชายเกือบทั้งหมด และมีผู้เสียชีวิต 5 รายซึ่งอยู่ในแอฟริกาทั้งหมด  ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากไข้ทรพิษพบว่ามากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วย 
 
แพทย์หญิงนฤมล  สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การติดต่อและการแพร่กระจายของโรค พบว่า ส่วนมากติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากตุ่มหนอง สะเก็ดแผล (Contact) ของผู้ป่วย ถ้าอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยในระยะประชิด เช่น กินข้าวหรือ อยู่ห้องเดียวกัน หรืออาศัยนอนด้วยกัน การแพร่กระจายอาจติดต่อทางฝอยละออง (Droplet) ได้ ไวรัสฝีดาษลิง มีเปลือกหุ้ม ธรรมชาติเป็นไวรัสที่ไม่แข็งแรง โดนสบู่ล้างก็ตาย แต่เชื้อจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานหรือไม่ ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ จริงๆ ไวรัสตัวนี้ไม่ได้ติดง่าย แต่ก็ไม่ยาก หากใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก็มีโอกาส แต่ถ้าล้างมือบ่อยๆ ป้องกันตัวเอง สวมหน้ากาก จะลดโอกาสการสัมผัสเชื้อ  ระยะฟักตัวของโรคขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน โดยทั่วไปที่     ระยะฟัก อยู่ ระหว่าง 7- 21 วัน แต่บางรายก็มีระยะฟักตัวนานกว่านั้น
 
  อาการที่พบในผู้ป่วยฝีดาษวานร นอกจากมีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างการ ต่อมน้ำเหลืองโตแล้ว มีรายงานการศึกษาใน วารสารทางการแพทย์ พบว่า ผู้ป่วยจะมีผื่นหรือแผลตามผิวหนองหรือเยื่อบุในอวัยวะต่างๆ ผื่น ตุ่ม หรือแผลนั้นเกิดที่อวัยวะเพศ 56.3%, บริเวณทวารหนัก 41.6% ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (86%) จะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือปวดกล้ามเนื้อ โดยอาการเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนมีผื่น หรือหลังผื่นขึ้นก็ได้ มีผู้ป่วยบางส่วน ที่มีผื่น โดยไม่มีอาการร่วมอื่นๆ เลย อาการผิดปกติอื่นที่พบ คือ ปวดทวารหนัก เจ็บคอ แผลในช่องปาก และองคชาติบวม มีผู้ป่วยถึงหนึ่งในสามที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย อาการหายได้เองภายในระยะ 2-4 สัปดาห์ การรักษาเน้นการรักษาแบบประคับประคอง เป็นการรักษาตามอาการ เช่น มีไข้ ให้ยาลดไข้ ส่วนยารักษาเฉพาะ ยังไม่มียารักษาเฉพาะ มียาที่ใช้รักษาผู้ป่วยไข้ทรพิษ ในต่างประเทศนำมาศึกษาวิจัยในการดูแลผู้ป่วยฝีดาษวานรที่มีอาการรุนแรง  ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้ร่วมกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ จากสมาคมโรคผิวหนัง สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กและผู้ใหญ่​ ราชวิทยาลัย กรม​ควบคุมโรค กรมวิท​ยาศาสตร์การแพทย์ หารือถึงแนวทางการรักษาพยาบาลโรคฝีดาษลิง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วและอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน หรืออีโอซี (EOC) ระดับกระทรวง เพื่อพิจารณาอนุมัติในวันจันทร์ที่ 1 สิงหาคมนี้ ดังนั้นฝีดาษวานร ไม่ติดต่อง่าย       ต้องสัมผัสใกล้ชิด ส่วนใหญ่หายได้เอง รักษาตามอาการของโรค อย่าตื่นตระหนก  #กรมการแพทย์ #ฝีดาษวานร -30 ก.ค. 65
 

กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังเข้ม


 กรมควบคุมโรค เข้มมาตรการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ พร้อมเตือนกลุ่มเสี่ยงลดการสัมผัสใกล้ชิดและมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก จะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรได้ แนะประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention เน้นล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย และลดการสัมผัสใกล้ชิดคนแปลกหน้า
 
​          30 กรกฎาคม 2565 นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคฝีดาษวานรพบการระบาดในยุโรปส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มชายรักชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีคู่นอนหลายคน ซึ่งหากมีการป้องกันที่ถูกต้องและปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงโดยการไม่สัมผัสใกล้ชิดและมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า จะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรได้  สถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.ค. 65) มีผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 22,485 ราย พบเพิ่มขึ้นเป็น 79 ประเทศ โดยพื้นที่การแพร่ระบาดส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบทวีปยุโรป ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 4,906 ราย สเปน 4,298 ราย เยอรมัน 2,595 ราย สหราชอาณาจักร 2,546 ราย ฝรั่งเศส 1955 ราย และมีผู้เสียชีวิต 5 ราย อยู่ในแอฟริกาทั้งหมดซึ่งเป็นผู้ที่มีโรคร่วม

 

สถานการณ์ฝีดาษวานรในประเทศไทย

 
​          สำหรับสถานการณ์ฝีดาษวานรในประเทศไทย ผู้ป่วยรายที่ 1 เป็นชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี เริ่มป่วย วันที่ 9 ก.ค. 65 ผลตรวจยืนยันวันที่ 18 ก.ค. 65 และหลบหนีไปกัมพูชาวันที่ 21 ก.ค. 65 ปัจจุบันแผลแห้งตกสะเก็ดแล้ว ผลตรวจเป็นสายพันธุ์ Western African A.2 และจากการเฝ้าระวังผู้สัมผัสโรคในพื้นที่ภูเก็ตและผู้ที่พบปะในสถานบันเทิงรวมกว่า 50 ราย ยังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่
 
​          ส่วนผู้ป่วยรายที่ 2 เป็นชายไทยอายุ 47 ปี ติดเชื้อจากชายต่างชาติ มีอาการวันที่ 15 ก.ค. 65 เป็นตุ่มหนองที่อวัยวะเพศและใบหน้าแขนขา วันที่ 26 ก.ค. 65 ไปรักษาที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล วันที่ 27 ก.ค. 65 ผลตรวจ PCR ยืนยันโรคฝีดาษวานรวันที่ 28 ก.ค. 65 และผลตรวจวิเคราะห์พบเป็นสายพันธุ์ Western African B.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในแถบประเทศยุโรป กำลังติดตามชายชาวยุโรปที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยและคาดว่าเป็นผู้แพร่เชื้อโดยขณะนี้ทีมสอบสวนโรคได้ทำการฆ่าเชื้อในบ้านของผู้ป่วยแล้ว พร้อมเก็บตัวอย่างจากผู้สัมผัสในบ้าน 2 หลัง   รวม 17 คน เพื่อส่งตรวจในวันที่ 29 ก.ค. 65 ผลตรวจออกมาแล้ว 16 ราย ผลเป็นลบ และรอผลตรวจอีก 1 ราย ทั้งนี้ต้องเฝ้าระวังต่อจนครบ 21 วัน
 
​          นายแพทย์โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้กำชับไปยังกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กรมควบคุมโรค และด่านควบคุมโรคติดต่อท่าอากาศยานนานาชาติ ให้ตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าประเทศอย่างเข้มงวด โดยกองด่านควบคุมโรคติดต่อฯ รายงานผลการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรคฝีดาษวานร (ข้อมูลประจำวันที่ 29 ก.ค. 65) ทำการคัดกรองทั้งหมด 2,527 ราย แบ่งเป็นผู้เดินทางจากโซนยุโรป จำนวน 2,389 ราย ผู้เดินทางจากแอฟริกา จำนวน 138 ราย พร้อมแจกบัตรคำเตือนสุขภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่พบผู้มีอาการสงสัยป่วยโรคฝีดาษวานร
 
​          ทั้งนี้ โรคฝีดาษวานร ไม่ได้ติดต่อง่าย ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention : UP  ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย และโดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า หรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่รู้จัก เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษวานร หากมีอาการป่วยสงสัย สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด