ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

แม็คโครไบโอติกส์ (Macrobiotics)

การรับประทานอาหารของแม็คโครไบโอติกส์จะเป็นการรับประทานอาหารให้สอด คล้องกับสภาวะของยินและหยางในธรรมชาติที่เปลี่ยนไป ตามกาลเวลาและสถานที่

แม็คโครไบโอติกส์ (Macrobiotics)

     คำว่า แม็คโครไบโอติกส์ มาจากคำว่า “แม็คโคร” ในภาษากรีก ซึ่งแปลว่า “ใหญ่หรือยิ่งใหญ่” ส่วนคำว่า “ไบโอส์ (bios)” หมายถึง “ชีวิต” จอร์จ โอซาวา (1893-1966) เป็นคนแรกที่ใช้คำว่าแม็คโครไบโอติกส์

 

แมคโครไบโอติกส์คืออะไร?

แมคโครไบโอติกส์ (Macrobiotics) มาจากภาษากรีก โดยฮิปโปเครตีสบิดาแห่งการแพทย์ เมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว คำว่าแมคโคร (macro) หมายถึงยืนยาว (long) หรือยิ่งใหญ่ (great) และไบโอติก (biotic) หมายถึงเกี่ยวกับชีวิต (life) หรือแนวทางของชีวิต (way of life) โดยรวมแล้วแมคโครไบโอติกส์จึงหมายถึงแนวทางอันยิ่งใหญ่ของชีวิต หรือทัศนะการมองชีวิตที่กว้างใหญ่ ความคิดพื้นฐานของแมคโครไบโอติกส์คิดว่าทุกๆ สิ่งล้วนกำเนิดมาจากอนันต์อันไม่สิ้นสุดและมันกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่งตลอดเวลา ชี้ว่าเราควรจะผ่อนคลายทัศนะการมองโลกอย่างแคบๆตายตัว เพื่อว่าจะได้รับรู้สึกถึงความเป็นเอกภาพกับธรรมชาติอันเป็นหลักพื้นฐานสำคัญได้ 1-3 ดังนั้นแมคโครไบโอติกส์ คือ การสร้างความสมดุลทุกด้านของชีวิตและธรรมชาติ ทั้งด้านกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม ชีวะวิทยา นิเวศวิทยา เป็นการดำเนินวิถีชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเรื่องการดื่ม การกินให้สอดคล้องกับธรรมชาติที่อยู่อาศัย เพื่อให้มีสุขภาพดี เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งชีวิต (Vitality) มีชีวิตชีวา มีความสุขและมีอิสรภาพ หากใครสามารถดื่ม กินในชีวิตประจำวันตามกฎของธรรมชาติ ชีวิตย่อมประสบกับสุขภาพดีและมีความสุข ในทางตรงกันข้าม หากใครไม่ดื่ม กินในชีวิตประจำวันตามกฎของธรรมชาติ คนผู้นั้นย่อมประสบกับทุกขภาพ อันได้แก่ โรคภัย ความเจ็บปวด ภัยพิบัติ ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ ไร้อิสรภาพ นี่คือความยุติธรรมของธรรมชาติ 1-4, 6, 9 ปัจจุบันคนมากมายกำลังสนใจการดูแลสุขภาพในแนวแมคโครไบโอติกส์ เพราะคิดว่ามันเป็นการดูแลสุขภาพของการแพทย์แห่งจักรวาล มีจุดมุ่งหมายคือการช่วยเหลือมนุษย์แต่ละคน ให้ดำรงชีวิตอย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทำให้แต่ละบุคคลได้รับการส่งเสริมให้บรรลุถึงความเป็นมนุษย์ที่มีสุขภาพดี และมีจุดมุ่งหมายเกินเลยยิ่งไปกว่าการบรรเทาอาการป่วยแต่ละอย่างๆ โดยให้ความห่วงใยกับการสร้างสุขภาพ สันติภาพ และเสรีภาพ ในระดับครอบครัว ชุมชน ชาติและกระทั่งระดับโลก โดยเท่าเทียมกัน 2-4, 6-7

สุขภาพ

การประเมินภาวะสุขภาพตามแนวทางของแมคโครไบโอติกส์นั้นแตกต่างจากศาสตร์อื่นๆ อย่างสิ้นเชิง โดยโอซาว่าได้เสนอแนวทางการประเมินสุขภาพไว้ 7 ข้อ ต้องประเมินสุขภาพของตนเองก่อนที่จะเริ่มกินอาหารแบบแมคโครไบโอติกส์ เงื่อนไข 3 ข้อแรกเป็นเงื่อนไขทางกาย ข้อละ 5 คะแนน ข้อ 4, 5 และ 6 เป็นเงื่อนไขทางจิตวิทยา ข้อละ10 คะแนน ข้อ 7 เป็นเงื่อนไขสูงสุดทางปัญญามีคะแนน 55 คะแนน รวมทั้งสิ้น 100 คะแนน เมื่อรับประทานอาหารแบบแมคโครไบโอติกส์ได้สัก 1-2 เดือนควรประเมินตนเองอีกครั้ง1-9
  1. ไม่รู้จักเหนื่อยล้า ไม่เคยเป็นหวัด พร้อมที่จะทำงานเสมอ
    ความรู้สึกเหนื่อยอ่อนเพลีย แมคโครไบโอติกส์ถือว่าเป็นรากเหง้าแท้ของโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง เพียงมีข้ออ้างว่า “มันยากเกินไป ทำไม่ได้ หรือฉันยังไม่พร้อมสำหรับเรื่องเหล่านี้” หรือพยายามหลีกเลี่ยงความยุ่งยาก ปัญหา อุปสรรคนี่ก็เป็นอาการแสดงของความเหน็ดเหนื่อย คนที่สุขภาพดีนั้นต้องเป็นนักเผชิญโชคชะตาในชีวิต ยิ่งมีความยากลำบากใหญ่หลวงเพียงใดก็ยิ่งยินดีมากขึ้นเท่านั้น และสามารถขับไล่ ต่อสู้กับความยากลำบากทั้งหลายออกไปได้อย่างแล้วอย่างเล่า ท่าทีเช่นนี้คือความเป็นอิสระจากความเหนื่อยล้า
  2. รับประทานอาหารได้ดี มีความสุขกับอาหารที่เรียบง่าย
    สามารถที่จะกินข้าวกล้องเปล่าๆ ขนมปังโฮลวีทธรรมดาๆ หรืออาหารอื่นใดที่ไม่ได้ปรุงแต่งหน้าตาและรสชาติของอาหารให้น่ากิน ด้วยความอร่อยและรู้สึกขอบคุณ แสดงความกตัญญูอย่างลึกซึ้งต่อธรรมชาติที่ได้มอบอาหารให้เราได้กินเพื่อดำเนินชีวิตต่อไป ท่าทีเช่นนี้แสดงว่ามีกระเพาะอาหารที่แข็งแรงและมีความอยากอาหารดี รวมถึงการมีความต้องการ และมีความสุขทางเพศ หากชายหรือหญิงไม่มีความต้องการหรือความสุขทางเพศนั่นหมายความว่าได้ละเมิดกฎของหยิน-หยาง ถึงแม้จะเป็นการละเมิดด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาก็ตาม จะนำไปสู่ความเจ็บป่วยและวิกลจริต ไม่สามารถที่จะมีสุขภาพดีและมีความสุขได้
  3. หลับเร็ว หลับลึกและหลับสนิทไม่ฝัน
    สามารถนอนหลับได้ภายใน 3 นาทีหลังเข้านอนหรือหัวถึงหมอนไม่ว่าในสภาพใด หรือเวลาใด และตื่นหลังจากนอน 4-5 ชั่วโมง สามารถตื่นในเวลาที่กำหนดไว้ในใจก่อนเข้านอน ระหว่างหลับไม่ฝันหรือมีการเคลื่อนไหวอย่างอยู่ไม่สุข เมื่อตื่นแล้วจะลุกทันทีไม่นอนต่อ
  4. มีความจำดี
    ไม่ลืมสิ่งที่ได้พบเห็นและได้ฟังมา พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สามารถจำได้และมองเห็นได้แม้อดีตชาติของท่านเอง คนปัจจุบันมีโรคที่ทำให้ความจำเสื่อมมากมาย เช่นเบาหวาน อัลไซม์เมอร์ เป็นต้น
  5. มีอารมณ์ดี ไม่รู้จักโกรธ
    มีความสุข ร่าเริงแจ่มใส มีความซาบซึ้ง ไม่จู้จี่ ขี้บ่น ขอบคุณต่อทุกสิ่งแม้คำวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่เช้าจนกลางคืนและมีความสุข ร่าเริงมากยิ่งขึ้นเมื่อได้แบ่งปันความสุขให้คนอื่นอย่างไม่สิ้นสุด หรือแม้แต่ต้องเผชิญกับศัตรูและความยุ่งยากก็จะปราศจากความกลัวและความทุกข์ และยิ่งมีความสุข ขอบคุณที่ได้เผชิญความยุ่งยากนั้นๆ
  6. คล่องแคล่วในการคิดและการกระทำ
    สามารถตัดสินใจและทำอย่างถูกต้อง ฉับไว ด้วยสติปัญญา พร้อมที่จะตอบสนองการท้าทาย อุบัติเหตุหรือความจำเป็นทุกอย่าง มีระเบียบวินัยในตัวเอง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่เห็นแก่ตัว อุทิศชีวิตให้แก่สัจจธรรมและความสุขของคนอื่น
  7. มีศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยมในความชอบธรรม คนทีบรรลุถึงขั้นนี้จะมีลักษณะการคิดดังนี้ 
    • ไม่พูดปดเพื่อปกป้องตนเอง
    • เป็นคนเที่ยงตรงและตรงต่อเวลา
    • ไม่เคยพบคนที่เขาไม่ชอบ
    • ไม่กังขาในสิ่งที่คนอื่นๆพูด
    • มีชีวิตเพื่อหาคุณค่าอันเป็นอมตะสูงสุดของชีวิต
    • มีความสุขมากที่สุดเมื่อหยั่งรู้กฎของจักรวาลในชีวิตประจำวันและในสิ่งเล็กน้อยที่มองไม่เห็น
    • ไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อหาเงิน แต่เพื่อสิ่งที่ต้องการจะทำจริงๆ เท่านั้น
    • ใช้ชีวิตทั้งหมดในการถ่ายทอดปาฏิหาริย์แห่งชีวิต คือกฎของจักรวาลสู่คนอื่น

ความสุข 1-9

จอร์จ โอซาว่า บิดาแห่งแมคโครไบโอติกส์มีแนวคิดว่ามนุษย์เกิดมาแล้วต้องมีความสุข โดยเขียนไว้ว่า “หากใครไม่มีความสุข ไม่สมควรกิน เพราะมันเป็นความผิดของเขาเอง” ทั้งความสุขและการกินนั้นสามารถหาได้ในชีวิตประจำวันที่เป็นที่เป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล โดยการศึกษาจากปรัชญาของ หยิน-หยาง ในคัมภีร์อี้จิงของจีนเมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว และหลักการของหยิน-หยางนี่เองจะเป็นเข็มทิศนำทางของเรา ทำให้เรามองเห็นทิศทางชีวิตของเราเอง ช่วยให้เราหาจุดยืนของเราในจักรวาลอันไม่มีที่สิ้นสุด และนำเราไปสู่สุขภาพและความสุข ช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการที่เรากินเข้าไป มันจะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของเราอย่างไร
 

ความสุขคืออะไร?

นักปราชญ์จีนเมื่อหลายพันปีมาแล้วได้ร่วมกันให้คำนิยามความสุขไว้ดังนี้
  1. การมีชีวิตอยู่อย่างมีประโยชน์ สนุกสนาน อายุยืนยาว เบิกบานโดยไม่รู้จักวัยชรา
  2. ไร้ความวิตกกังวลเรื่องเงินทอง
  3. มีความสงบเงียบในจิตใจ ไม่โกรธหรืออารมณ์เสียด้วยเรื่องอุบัติเหตุหรือโศกนาฏกรรม หรือความยากลำบาก การขาดความสงบอาจเป็นเหตุให้ตายก่อนกำหนด
  4. มีความกตัญญูกตเวที มีระเบียบวินัย เป็นนักจัดการที่ดี เป็นคนโอบอ้อมอารี ชอบให้
  5. ไม่เป็นที่หนึ่ง เพราะต่อไปจะกลายเป็นคนสุดท้าย เป็นคนสุดท้ายซึ่งจะกลายเป็นที่หนึ่งในบั้นปลายและตลอดไป มีความเจียมตัว อ่อนน้อมถ่อมตน และเดินสายกลาง
 
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้สอนเรื่องความทุกข์ 8 ประการ คือ
 
  1. ความทุกข์ทางสังขาร ได้แก่
    1.1 การมีชีวิตอยู่เป็นทุกข์
    1.2 ความเจ็บป่วยเป็นทุกข์
    1.3 ความชราเป็นทุกข์
    1.4 ความตายเป็นความเจ็บปวดและเป็นทุกข์
  2. ความทุกข์ทางจิตใจ ได้แก่
    2.1 การพลัดพรากจากคนที่รักเป็นทุกข์
    2.2 ความเกลียดเป็นทุกข์
    2.3 ความอยากได้ในสิ่งที่ยั่วยวนทั้งหลายในโลกนี้เป็นทุกข์
    2.4 การไม่ได้รับในสิ่งที่ตนต้องการเป็นทุกข์
เพื่อขจัดความทุกข์แปดประการของมนุษย์ให้หมดไป พระพุทธเจ้าได้สอนแนวทางในการดับทุกข์คืออริยะมรรคแปดประการ เพื่อให้บรรลุถึงบรมสุขคือ “นิพพาน” หรือ “ซาตอริ”1 นิยามความสุขของจอร์จ โอซาว่า คือทำอะไรก็ได้ที่เราต้องการทำและสนุกสนานกับมันทั้งวันทั้งคืน จนกระทั่งถึงที่สุดแห่งชีวิต ทำอย่างที่ฝันได้ทั้งหมด และเป็นที่รักของทุกคนระหว่างมีชีวิตอยู่และแม้หลังจากตายไปแล้ว ชีวิตเช่นนี้คือความสุข วิถีชีวิตแบบแมคโครไบโอติกส์เป็นวิถีชีวิตที่จะให้ความสุขเช่นนี้ได้9
 

หลักการหยิน-หยาง

หยิน-หยางจึงเป็นสัญลักษณ์ทีใช้อธิบายจังหวะของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและจักรวาลอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นหยิน-หยาง จึงครอบคลุมปรากฏการณ์ทั้งมวล และก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวหรือแนวโน้มทั้งที่ออกจากศูนย์กลางและเข้าสู่ศูนย์กลาง หยิน คือ การเคลื่อนที่ออกจากศูนย์กลางก่อให้เกิดการขยายตัว หยาง คือ การเคลื่อนที่เข้าหาศูนย์กลางทำให้เกิดการหดตัว เราสามารถเห็นปรากฏการณ์หยิน-หยางได้ในร่างกายของเราเองตลอดเวลา เช่นการขยายตัวและหดตัวของหัวใจและปอด ในกระเพาะอาหาร และในลำไส้ระหว่างกระบวนการย่อยและดูดซึมอาหาร ในทางดาราศาสตร์และฟิสิกส์แรงสองแรงนี้ปรากฏในรูปของการดิ่งลง แรงดูดเข้าหาศูนย์กลางคือแรงหยาง ซึ่งพุ่งเข้าสู่ใจกลางของโลกโดยดวงอาทิตย์ ดวงดาว และกาแล็คซี่อันไกลโพ้น และแรงพุ่งขึ้น หมุนออกคือแรงหยิน ซึ่งเหวี่ยงออกตามการหมุนของโลก ปรากฏการณ์บนโลกนี้ล้วนเกิดขึ้นและคงอยู่อย่างสมดุลด้วยแรงทั้งสองนี้ คนโบราณถือว่าเป็นของสวรรค์และโลก1-8
 
ปรากฏการณ์ทุกอย่าง สามารถวิเคราะห์ภายใต้เงื่อนไขของหยิน-หยาง ที่เปลี่ยนแปลงและสัมพันธ์กันตลอดเวลา เช่นสี จักรวาลทั้งหมดคือสนามแม่เหล็กที่ประกอบด้วยประจุบวกและลบทีสั่นสะเทือนตลอดเวลา ก่อให้เกิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า คลื่นเหล่านี้ในบางช่วงความถี่เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ และสมองของเราก็แปลไปเป็นแถบของสีที่มองเห็นได้ เรียงลำดับจากหยินไปสู่หยางดังนี้ ใต้แดง แดง ส้ม เหลือง เขียว น้ำเงิน คราม ม่วง เหนือม่วง สีแดงให้ความรู้สึกที่อบอุ่นและตื่นเต้นเป็นหยาง สีม่วงให้ความรู้สึกเย็นสงบเป็นหยิน โลกของพืชมีสีเขียวเป็นตัวแทน โดยมองจากสีของคลอโรฟิลด์ โลกของสัตว์แทนด้วยสีแดง โดยมองจากสีของฮีโมโกลบินและเลือด เมื่อตัดสินใจโดยใช้แผนภูมิของสีดังกล่าว โลกของสัตว์จึงเป็นหยาง เมื่อเปรียบเทียบกับโลกของพืชซึ่งมีความเป็นหยินมากกว่า สีเนื้อเยื่อของมนุษย์จะอยู่ระหว่างแดงถึงเหลือง ดังนั้นมนุษย์จึงเป็นหยาง นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราถูกดึงดูดไปหาหยิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรากินอาหารหยาง หยางดึงดูดหยิน จึงไม่ต่างอะไรกับการดึงดูดกันระหว่างขั้วที่ตรงกันข้ามกันของแม่เหล็กสองอัน
 
 

ธรรมชาติของเลือดตามทฤษฎีแมคโครไบโอติกส์

แนวคิดของแมคโครไบโอติกส์นั้นเลือดเป็นพื้นฐานที่สำคัญ เพราะเลือดเป็นทะเลของชีวิต 10 สามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายใน 10-15 วันหลังจากร่างกายได้รับอาหารที่สมดุลเข้าไป ลำไส้เล็กเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการดูดซึมสารอหารที่จำเป็นสำหรับบำรุงหล่อเลี้ยงร่างกาย กินพื้นที่ส่วนใหญ่โดยขดไปขดมาอยู่ในช่องท้อง เริ่มจากบริเวณที่ดูโอดินั่มต่อกับเจจูนั่ม และเริ่มขดกลายเป็นไอเลียม ภายในผนังของลำไส้เล็กทั้งหมดประกอบไปด้วยวิลไลรูปร่างคล้ายนิ้วมือ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร เป็นจุดที่ดูดซึมสารอาหารหล่อเลี้ยงร่างกาย ทฤษฎีแมคโครไบโอติกส์เชื่อว่าอาหารที่ถูกย่อยมาอย่างดีแล้ว จะถูกดูดซึมที่วิลไล และจะแปรเปลี่ยนเป็นสารจำเป็นบางส่วน ทำให้ตับทำหน้าที่แปรเปลี่ยนต่อได้อย่างสมบูรณ์ คือเม็ดเลือดแดง (Erythrocyte) ซึ่งเป็นไปตามหยิน-หยาง โดยอาหารที่เป็นก้อน (หยาง) ถูกย่อยเป็นมันเหลว (Liquid chime, หยิน) เคลื่อนจากส่วนบนของร่างกาย (หยิน) สู่ส่วนกลาง (หยาง) ในแนวดิ่ง (หยาง) วิลไลยื่นเข้าไป)ภายในรูของลำไส้เล็ก เคลื่อนไหวตลอดเวลา (หยาง) จึงดูดซึมมันเหลว (หยิน) โดยวิลไลทำให้เป็นมันข้น (หยาง) เรียกว่าโมนีรา11 ไหลเข้าไปในเส้นเลือดฝอยของวิลไล โมนีราเป็นหยินกว่าเม็ดเลือดแดง แปรเปลี่ยนหลายขั้นตอนเป็นนิวโทรฟิลซึ่งหยินกว่า เบโซฟิล โมโนไซต์ และลิมโฟไซต์ ซึ่งมีนิวเคลียส ลิมโฟไซต์แปรเปลี่ยนไปเป็นเม็ดเลือดแดงที่หยางกว่าและไม่มีนิวเคลียสโดยการดันนิวเคลียสออกไป การแปรเปลี่ยนเป็นเม็ดเลือดแดงนี้เกิดโดยสมบูรณ์ในตับ ขบวนการแปรเปลี่ยนเป็นเม็ดเลือดขาวทั้งหมดตั้งแต่ นิวโทรฟิล เบโซฟิล โมโนไซต์ และลิมโฟไซต์ เกิดในวิลัสของลำไส้เล็ก ที่บริเวณระบบน้ำเหลืองและแลคเตียลใจกลางของวิลลัส12
 

พยาธิสภาพของโรคภูมิแพ้ตามแนวคิดของแมคโครไบโอติกส์

เกิดจากร่างกายมีสภาพเป็นหยินมาก เนื่องจากรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดสภาพเป็นกรด (หยิน) ได้แก่เนื้อสัตว์ น้ำตาลและขนมหวาน เครื่องดื่มกระป๋อง เครื่องเทศ อัลกอฮอล์ อาหารที่ปลูกโดยสารเคมี อาหารผลิตโดยกระบวนการเคมี นมและผลิตภัณฑ์จากนม อาหารมีไขมันสูง ไขมันสัตว์ รสหวานสังเคราะห์ อาหารผ่านการขัดสี อาหารประเภทแป้ง ผักและผลไม้สด อาหารแช่เย็นเช่นไอศครีม น้ำเย็น น้ำแข็ง ร่างกายจึงพยายามขับส่วนเกินออกมาในรูปของอาการไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ผื่นคัน หอบหืดเป็นต้น
 

การรักษาโรคภูมิแพ้ตามแนวทางแมคโครไบโอติกส์

โดยรวมโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากสภาวะร่างกายเป็นหยิน อาการแสดงมากน้อยแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล ดังนั้นการรักษานั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนตามสภาพของแต่ละบุคคล ตามภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม อาชีพการงาน กิจกรรมของร่างกายในแต่ละวันเป็นต้น ผลที่ได้รับเร็วช้าต่างกันเช่นเดียวกัน แต่โดยทั่วไปร่างกายจะเริ่มปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นภายใน 10 วัน บางคนอาจใช้เวลา 3-4 เดือนอาการต่างๆ จะดีขึ้น หลังจากนั้นให้ปรับอาหารให้กว้างขึ้น จนกระทั่งเป็นที่พอใจในสุขภาพของตนเอง ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำการเลือกอาหาร การเตรียมอาหาร แบบกว้างๆ สำหรับโรคภูมิแพ้
  1. ไม่รับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นหยินสุดขั้ว เช่น น้ำตาล ชอคโคแลต น้ำผึ้ง เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีรสหวาน นม เนย ครีม ไอศกรีม โยเกิร์ต ข้าวขาว แป้ง (และผลิตภัณฑ์จากแป้ง) ธัญพืชที่ผ่านการขัดสีทุกชนิด ผลไม้ มันฝรั่ง มะเขือเทศ พริกไทยและเครื่องเทศ พริก กาแฟ เครื่องดื่มสำเร็จรูปที่กระตุ้นร่างกาย อัลกอฮอล์
  2. ไม่รับประทานอาหารที่หยางสุดขั้ว เช่น เนื้อสัตว์ รวมถึงเนื้อวัว ควาย แพะ แกะ หมู ไก่ ไก่งวง อาหารทะเล
  3. ไม่รับประทานขนมปัง แครกเกอร์ คุกกี้ ขนมอบแห้งต่างๆ จนกว่าอาการต่างๆ จะดีขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ
  4. หลีกเลี่ยงอาหารที่ผ่านกระบวนการทางเคมี อาหารที่ผ่านการฉายแสง การตัดต่อทางพันธุกรรม เครื่องปรุงแต่งอาหารสังเคราะห์
  5. หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงหรือเตรียมโดยเครื่องใช้ไฟฟ้า ไมโครเวฟ ให้ใช้แหล่งพลังงานจากธรรมชาติเช่นแก๊ส ฟืน ถ่านเป็นต้น
  6. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำมันในช่วง 1-2 เดือนแรก เมื่ออาการดีขึ้นให้ใช้น้ำมันงาขาวสกัดสดไม่ใช้ความร้อนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
  7. หลีกเลี่ยงผักสดทุกชนิด (ยกเว้นใบผักชีจีน) 1-2 เดือน หรือจนกว่าอาการดีขึ้น
  8. งดอาหารที่เย็น แช่เย็น น้ำแข็ง
  9. อาหารควรเตรียมโดยทำให้หยางมากขึ้น ซึ่งเตรียมได้โดยใช้หม้ออัดแรงดัน ใช้ไฟแรง ระยะเวลาในการหุงต้มนานขึ้น ปรุงรสด้วยเกลือทะเลไม่ขัดสี กระปิเจ ซีอิ๊ว (หมักธรรมชาติ) ให้มีรสชาติบ้างเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับเค็ม
  10. รับประทานธัญพืชที่ไม่ขัดสีเป็นหลักสัดส่วนประมาณ 60% ของอาหารทั้งหมด ธัญพืชไม่ขัดสีทีใช้ในระยะแรก เช่น ข้าวกล้อง ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เล่ย์ ข้าวกล้องดอย
  11. รับประทานซุป 1-2 ถ้วยต่อวันประมาณ 5-10% ของอาหารทั้งหมด ซุปประกอบไปด้วยสาหร่ายวากาแม่ แครอท หอมหัวใหญ่ ผักใบที่ไม่หยินมาก ปรุงด้วยซีอิ๊ว หรือกะปิเจไม่เค็ม
  12. รับประทานผักที่ผ่านการปรุงสุกโดยลวก ต้ม อบ นึ่งประมาณ 25-30%
  13. รับประทานถั่วประกอบไปด้วย ถั่วลูกไก่ ถั่วเลนทิล ถั่วแดงเล็ก (อะซูกิ) ถั่วดำ หุงด้วยหม้ออัดแรงดัน กับถั่วคอมบุ ปรุงรสด้วยกะปิเจและเกลือทะเลไม่ขัดสี
  14. เครื่องปรุงรสเตรียมโดยใช้งาขาวไม่ขัดสีคั่วกับเกลือทะเลไม่ขัดสีสัดส่วนเกลือทะเล 1 ส่วนต่องาขาวไม่ขัดสี 16-18 ส่วน ใช้สำหรับปรุงรสอาหาร
  15. หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ ระยะแรกถ้ารู้สึกอยากจนทนไม่ได้ ให้รับประทานเนื้อปลาสีขาวสัปดาห์ละครั้งมื้อเที่ยง สัดส่วนไม่เกิน 10%
  16. หลีกเลี่ยงผลไม้ น้ำผลไม้ในระยะ 3 เดือนแรก หรือจนกว่าอาการดีขึ้น
  17. หลีกเลี่ยงเมล็ดผลไม้ที่มีเปลือกแข็ง
  18. ดื่มก้านชาแก่ (ชาบันชา) หรือชาเขียวใบหม่อนที่อบไอน้ำและตากแห้งปราศจากคาเฟอีนและแทนนิล ดื่มเท่าที่จำเป็นตามร่างกายต้องการ ไม่มากเกินไป
  19. เคี้ยวให้ละเอียด 50-100 ครั้งต่อคำ
  20. รับประทานเพียง 70% ของความหิว หลีกเลี่ยงการรับประทานจนอิ่มเกิน วันละ 1-3 ครั้ง
  21. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อเย็นหลัง 20.00 น. หรือมื้อเย็นควรรับประทานก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง

นอกจากนั้นต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตดังนี้

  1. มีกิจกรรมของร่างกายกลางแจ้ง เช่นปลูกผัก แต่งสวน เดินออกกำลังกาย รำมวยจีน โยคะเป็นประจำ
  2. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำเย็น และอาบน้ำใช้เวลานาน ใช้ผ้าฝ้ายธรรมชาติเช็ดถูตามตัวแรงจนผิวหนังแดง
  3. หลีกเลี่ยงการนอนในห้องที่อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์เครื่องนอนทำมาจากธรรมชาติ
  4. หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องไฟฟ้าเช่นโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
  5. หลีกเลี่ยงเครื่องใช้ในบ้านและครัวเรือนที่ผลิตโดยมีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ
  6. นวดตัวเองทุกเช้าและเย็นครั้งละ30 นาที
  7. สวดมนต์ ทำสมาธิภาวนา
 
การรักษาโรคต่างๆ ตามแนวทางแมคโครไบโอติกส์นั้นเน้นการช่วยเหลือและพึ่งพาตนเอง โดยต้องมีความเห็นที่ถูกต้องต่อการเจ็บป่วยของตนเอง ยอมรับในการเจ็บป่วยนั้นและใช้สติปัญญาหาสาเหตุและแก้ไขปัญหานั้นๆ ด้วยศรัทธา ที่มุ่งมั่นรักษาตนเองด้วยตนเองและเพื่อตนเอง จงรำลึกเสมอว่าเราเป็นผู้ที่ทำให้ตนเองเจ็บป่วยไม่มีใครทำให้เรา ดังนั้นหากต้องการหายป่วยและมีสุขภาพดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับนั้น มีแต่ตนเองเท่านั้นที่จะช่วยได้ และทำได้ง่ายมากเพียงปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ปรองดองกับธรรมชาติ ไม่ฝืนกฎของธรรมชาติ เริ่มตั้งแต่การดื่มกิน เมื่อเราปฏิบัติจนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติได้แล้วสุขภาพที่ดี และความผาสุกของชีวิตย่อมปรากฏให้เห็นและเป็นประจักษ์ด้วยตนเอง

 

สัดส่วนการรับประทานอาหารในแต่ละวัน ประกอบด้วย*

  1. ธัญพืชไม่ขัดสีอย่างข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ตหรือพวกขนมปังนานๆครั้ง ร้อยละ 40-60
  2. ผักใบและพืชหัวชนิดต่างๆร้อยละ 20-30 รวมถึงพวกผักดอง สาหร่ายทะเลชนิดต่างๆอีกเล็กน้อย
  3. ถั่วชนิดต่างๆ เช่น ถั่วเลินทิล ถั่วชิกพี รวมถึงผลิตภัณฑ์จากถั่วอย่างพวกเต้าหู้และนัตโตะ
  4. ใช้เครื่องปรุงอย่างเกลือทะเล ซอสถั่วเหลืองหรือมิโซะเล็กน้อย
  5. ใช้น้ำมันพืชเพียงเล็กน้อยเท่าที่จำเป็น

อาหารที่แนะนำให้รับประทานรายสัปดาห์หรือตามโอกาส ได้แก่*

  1. ผลไม้ที่ปลูกในท้องถิ่นตามฤดูกาล
  2. ปลาเนื้อขาวและอาหารทะเล
  3. เมล็ดพืชและถั่วเปลือกแข็ง
  4. ขนมหวานที่ทำจากธัญพืชหรือผลไม้

อาหารที่แนะนำให้รับประทานรายเดือน รับประทานน้อยครั้งได้แก่*

  1. นมและผลิตภัณฑ์จากนม
  2. ไข่ไก่และสัตว์เนื้อแดง
อาหารตามหลักแมคโคไบโอติกส์มักมีพลังงานต่ำ เนื่องจากรับประทานอาหารประเภทไขมันจากสัตว์น้อยและลดการรับประทานน้ำตาล และเพิ่มการรับประทานผักและถั่วชนิดต่างๆ ร่วมกับการดื่มชาเป็นหลัก ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้อาหารตามแบบแมคโครไบโอติกส์มีพลังงาน ไขมันอิ่มตัวและน้ำตาลต่ำ และมีปริมาณใยอาหาร โฟเลท วิตามินชนิดต่างๆ เบตาแคโรทีน ธาตุเหล็ก สังกะสี โซเดียมและโปแตสเซียมสูงกว่าอาหารทั่วไป  ทำให้มีผู้นำรูปแบบการรับประทานอาหารแบบแมคโครไบโอติกส์ไปใช้ในการลดน้ำหนักและลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และมีการศึกษาติดตามผู้ที่รับประทานอาหารแบบแมคโครไบโอติกส์ พบว่าผู้เข้าร่วมมีน้ำหนักตัวลดลง ความดันโลหิตลดลง ระดับคอเรสเตอรอลรวม คอเลสเตอรอลชนิด LDL และไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลดลง ขณะที่คอเรสเตอรอลชนิดที่ดี หรือ HDL เพิ่มขึ้น
 
การรับประทานอาหารตามหลักแมคโครไบโอติกส์อาจจะเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่สนใจรูปแบบการรับประทานอาหารที่ช่วยลดน้ำหนักและป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆอย่างปลอดภัย 
มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
บรรณานุกรม
  1. Ohsawa G. Zen Macrobiotics. George Ohsawa Macrobiotic Foundation, Oroville, California. 1995.
  2. Kushi M. The Book of Macrobiotics: The Universal Way of Health and Happiness. Japan Publications, New York, NY. 1977.
  3. Kushi M & Jack A. The Book of Macrobiotics: The Universal Way of Health, Happiness, and Peace. Japan Publications, New York, NY. 1986.
  4. Kushi M & Jack A. The Macrobiotic path to total health. Ballantine Book, New York, NY. 2003.
  5. Ohsawa G. Macrobiotics: The Way of Healing. George Ohsawa Macrobiotic Foundation, Oroville, California. 1984.
  6. Aihara H. Basic Macrobiotic Principles. George Ohsawa Macrobiotics Foundation, Oroville, California. 1984.
  7. Kushi M & Jack A. The cancer prevention diet: Mishio Kushi’s Macrobiotics Blueprint for the Prevention and Relief of Disease. St. Martin’s Press, New York, NY. 1993.
  8. George Ohsawa, Philosophy of Oriental Medicine: Key to your personal judging ability. George Ohsawa Foundation, Oroville, California. Eighth Edition. 1991
  9. Ohasawa G. Macrobiotic Guidebook for Living. George Ohsawa Foundation, Oroville, California. 1985.
  10. Liangsheng Wu N, Qi Wu A. Yellow Emperor’s Cannon Internal Medicine. China science & Technology Press. 1997.
  11. Kervran L, Ohsawa G. Biological Transmutation. George Ohsawa Foundation, Oroville, California. 1976.
  12. Bursell K. The End of Medicine. Transtana Alchemysts, Albany, California. 2000.
 
ที่มา : เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการการแพทย์ทางเลือก 
เรื่อง “การแพทย์ผสมผสานในการดูแลผู้ป่วยโรคภูมิแพ้”
วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2550 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต ปทุมธานี

  • แม็คโครไบโอติกส์ วิถีแห่งสุขภาพและความผาสุก โดย จอร์จ โอซาวา
  • แนวคิดพื้นฐานและการเรียนรู้ด้วยตัวเอง : ภัทรชัย อมรธรรมเขียน
  • ความรู้เบื้องต้นแมคโรคไบโอติกส์ (Introduction to Macrobiotics) โดย นพ.โอภาส หว่านนา พบ. วว.วิสัญญี

Reference กองการแพทย์ทางเลือก
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด