ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สธ.ตามตัว-ตรวจซ้ำ แอฟริกาเข้าไทย ยังไม่พบเชื้อโอมิครอน

สธ.ตามตัว-ตรวจซ้ำ แอฟริกาเข้าไทย ยังไม่พบเชื้อโอมิครอน HealthServ.net
สธ.ตามตัว-ตรวจซ้ำ แอฟริกาเข้าไทย ยังไม่พบเชื้อโอมิครอน ThumbMobile HealthServ.net

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย มีผู้เดินทางเข้าประเทศไทยจาก 8 ประเทศที่พบโควิดสายพันธุ์โอไมครอน 333 คน ออกจากประเทศแล้ว 61 คน ครบกำหนด 14 วันแล้ว 105 คน เหลือที่ต้องติดตาม 167 คน และติดตามได้แล้ว 26% ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอน เร่งติดตามเพื่อตรวจหาเชื้อ รักษาและคุมไว้สังเกตจนครบเพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัย ย้ำไม่มีการรับผู้เดินทางเข้ามาเพิ่มเติม


 
 
              3 ธันวาคม 2564 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ว่า ข้อมูลผู้เดินทางเข้าประเทศไทย จาก 8 ประเทศที่พบสายพันธุ์โอไมครอน ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตีนี เลโซโท มาลาวี นามิเบีย แอฟริกาใต้ โมซัมบิก และซิมบับเว ตั้งแต่วันที่ 15 - 27 พฤศจิกายน 2564 ที่เข้ามาในระบบแซนด์บ็อกซ์และระบบกักตัว มีทั้งสิ้น 333 คน พบว่าเดินทางออกจากประเทศไทยไปแล้ว 61 คน อยู่ประเทศไทยจนครบ 14 วันแล้ว 105 คน เหลือที่ต้องติดตามอีก 167 คน ขณะนี้ได้รับรายงานเบื้องต้นว่าติดตามได้แล้วจำนวน 44 คน คิดเป็น 26% เบื้องต้นผลการตรวจ RT-PCR ยังไม่พบเชื้อโควิด 19 และสายพันธุ์โอไมครอน ถือว่ามีความปลอดภัย ได้เร่งติดตามผู้เดินทางจำนวนที่เหลือให้มารับการตรวจ รักษาและคุมไว้สังเกตต่อไป
 
             "ผู้เดินทางเข้าประเทศกลุ่มนี้ แม้จะมาจากพื้นที่ที่พบสายพันธุ์โอไมครอน แต่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มประเทศแอฟริกาจะเข้าประเทศไทยด้วยระบบแซนด์บ็อกซ์และกักตัว ซึ่งมีข้อกำหนดว่าต้องได้รับวัคซีนครบโดส มีผลการตรวจหาเชื้อ RT-PCR เป็นลบก่อนเข้าประเทศ 72 ชั่วโมง ตรวจ RT-PCR ซ้ำตั้งแต่วันแรกที่มาถึง และตรวจ ATK อีกครั้งเมื่ออยู่ในแซนด์บ็อกซ์ครบ 7 วัน จึงเดินทางต่อได้ แต่ที่ต้องติดตามให้มาตรวจหาเชื้อก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น" นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว

 

ระงับ 8 ประเทศขอเข้าประเทศ

                 นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข เสนอให้งดลงทะเบียนขอเข้าประเทศสำหรับผู้ที่จะเดินทางมาจาก 8 ประเทศดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 ส่วนที่ได้รับอนุญาตแล้วสามารถเดินทางเข้ามาได้ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน และให้เข้าสู่ระบบการกักตัว 14 วันทั้งหมดเพื่อตรวจหาเชื้อเป็นระยะ ขณะนี้ยังตรวจไม่พบเชื้อ และตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ห้ามไม่ให้เดินทางเข้าประเทศ ยกเว้นคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ ซึ่งจะส่งเข้าระบบการกักตัว จึงไม่ต้องกังวล ส่วนผู้เดินทางจากประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา กำหนดให้ต้องเข้าสู่ระบบการกักตัว 14 วันและตรวจหาเชื้อ 3 ครั้งเช่นกัน เพื่อความมั่นใจและปลอดภัยสูงสุดสำหรับประชาชนไทย




กรมวิทย์ฯ ตามตรวจเพิ่ม 4 คนไม่พบโควิด-19

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ย้ำ! ระบบตรวจเชื้อสกัด "โอมิครอน" กับผู้เดินทางทางอากาศเข้มงวด ห่วงสุดกรณีชายแดน ขอทุกฝ่ายช่วยสอดส่อง ส่วนการติดตามผู้เดินทางจากแอฟริกาก่อนหน้านี้ 700 กว่าคน ขณะนี้ตามเพิ่มได้ 64 คนไม่พบโควิด-19 ชี้ก่อนหน้านี้อนุญาตให้เข้ามีการตรวจหาเชื้อหมดแล้ว
 

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่างถึงการตรวจหาเชื้อโอไมครอน (Omicron) ในไทย ในกลุ่มผู้เดินทางเข้ามาในประเทศ ว่า ขอยืนยันว่าคนที่เข้ามาแล้วมีผลตรวจ RT-PCR เป็นบวกนั้นจะมีการตรวจหาสายพันธุ์โดยเร็วทั้งหมด วันนี้มีการตรวจมากกว่า 100 ราย ยังไม่พบสายพันธุ์โอมิครอน กรณีที่มีข่าวว่า ผู้เดินทางจากแอฟริกาที่เข้ามาก่อนหน้านี้ 700 กว่าคน ทางกรมควบคุมโรคก็ไปติดตามตัวเพื่อตรวจ RT-PCR ซ้ำแล้ว จากข้อมูลล่าสุดเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (3 ธ.ค.) ตรวจ RT-PCR ซ้ำแล้ว 64 คน ผลออกมาเป็นลบทั้งหมด ไม่พบการติดเชื้อแต่อย่างใด
 

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางกรมควบคุมโรคก็อยู่ระหว่างการติดตามตัวที่เหลือ ทั้งนี้หากมีการหลุดเข้ามาเราสามารถตรวจเจอได้ ซึ่งกรณีการเดินทางเข้ามาทางอากาศนั้น ไม่กังวล เพราะเข้าระบบควบคุมป้องกันโรคอยู่ แต่ที่กังวลคือการลักลอบเข้าตามแนวชายแดน ซึ่งในอดีตที่เราพบสายพันธุ์เบตา เดลตาก็มาจากแบบนี้ทั้งนั้น ไม่ได้มาจากช่องทางที่เราเฝ้า ดังนั้น เราจะรู้ก็ตอนที่เขาเข้าในประเทศแล้ว จึงต้องฝากทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่ต้องเข้มงวด ประชาชนเองก็ต้องร่วมมือ อย่าข้ามไปมาโดยไม่มีความจำเป็น เพราะจะนำเชื้อเข้ามาโดยง่าย อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า บางประเทศเขาไม่มีการตรวจ ก็จะไม่เจอ ก็จะหลุดรอดเข้ามาได้
 

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการตรวจชุดตรวจ ATK ว่าจะสามารถตรวจจับโควิด-19 ได้หรือไม่ หากเป็นการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ยืนยันว่า RT-PCR ตรวจได้ เพราะเราตรวจหลายยีน หลายตำแหน่ง ขณะที่การตรวจ ATK ที่ตรวจโปรตีน โดยเราเอาตำแหน่งของชุดตรวจ กับตำแหน่งไวรัสโอไมครอน ปรากฎว่า ไม่ตรงกัน นั่นหมายความว่า ไม่ได้หายไปในส่วนที่ใช้ตรวจ ค่อนข้างมั่นใจ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความชัดเจน ทางกรมวิทย์และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะขอข้อมูลบริษัทมาแสดงว่า ใช้ตำแหน่งใดในการตรวจ หากพบว่าไม่ได้ เราก็จะถอนออก
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด