ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โควิดยังไม่หมด อย่ารีบปลดหน้ากาก - นิธิพัฒน์ เจียรกุล

โควิดยังไม่หมด อย่ารีบปลดหน้ากาก - นิธิพัฒน์ เจียรกุล HealthServ.net
โควิดยังไม่หมด อย่ารีบปลดหน้ากาก - นิธิพัฒน์ เจียรกุล ThumbMobile HealthServ.net

ผู้เชี่ยวชาญโควิดแห่งม.มหิดล อ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ปักป้ายแท็กไลน์ #โควิดยังไม่หมดอย่ารีบปลดหน้ากาก สื่อตรงๆ ชัดเจนว่า โควิดยังไม่หมดไป แม้รัฐจะประกาศเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว ผ่อนคลายการสวมหน้ากากอนามัย แต่สถานการณ์กลับเริ่มเขม็งเกลียว ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยจริง พุ่งถึงระดับ 50,000 รายแล้ว (ขณะที่รายงานประจำวันอยู่ที่หลักพัน) และทิ้งท้ายว่า ภาครัฐต้องบอกความจริง และออกมาเตือนให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือ


นิธิพัฒน์ เจียรกุล 

ต้องขอออกมาเตือนกันให้ดังๆ ว่า สถานการณ์โควิดขณะนี้เขม็งเกลียวขึ้นมาใหม่ ทุกคนและทุกฝ่ายต้องช่วยกันประคองภาพรวมไม่ให้กลับไปทรุดหนักอีกรอบ แล้วรอลุ้นให้เกิดการปรับฐานโรคซาลงเองในช่วงอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อจะได้ร่วมเดินหน้าผลักดันประเทศที่กะปลกกะเปลี้ยกันต่อไป
 
สถานการณ์ที่บ้านริมน้ำเริ่มตึงมือมากว่าสัปดาห์แล้ว จำนวนผู้ป่วยโควิดที่จำเป็นต้องรับเข้าโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งส่วนน้อยที่ป่วยจากโควิดโดยตรง และส่วนใหญ่ที่ป่วยจากโรคอื่นแต่มีการติดเชื้อโควิดร่วมด้วย จนทำให้บุคลากรด่านหน้าที่กันไว้จำนวนหนึ่งสำหรับงานโควิด ต้องกลับมาทำงานกันหนักขึ้นจากเดิมกว่าเท่าตัว และต้องวิ่งวุ่นหมุนเตียงกันมือระวิง เพื่อลดจำนวนคนไข้ที่ตกค้างรอรับไว้ในโรงพยาบาล สภาพเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลใหญ่อีกหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สวนทางกับตัวเลขรายวันที่แจ้งว่ายังมีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดเหลืออีกมาก ตัวเลขที่ว่านั้นเป็นแค่กรอบจำนวนเตียงที่จะขยายขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไข แต่ที่มีใช้งานอยู่จริงตอนนี้เริ่มร่อยหรอเต็มที ส่วนกรอบที่จะขยายได้ก็ถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่โควิดจนเกือบไม่เหลือหรอแล้ว
 
 

ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยจริง วันละห้าหมื่น




จากข้อมูลที่รับทราบมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยจริงเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน น่าจะอยู่ที่ราววันละห้าหมื่นคนแล้ว ต่างกับตัวเลขรายวันที่เราเห็นกันในรายงาน แถมยังมีปรากฏการณ์ยอดตกช่วงต้นสัปดาห์เช่นดังรูปของวันนี้ ซึ่งเป็นผลจากระบบการตรวจหาเชื้อและรายงานผลช่วงวันหยุด ส่วนตัวเลขผู้ป่วยอาการรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจาก 600 แล้วมาหยุดแถวก่อน 700 ดังในอีกรูปนั้น ก็เป็นผลจากระบบการรายงานที่จะมียอดวิ่งเข้ามาเป็นก้อนๆ ไม่ได้สม่ำเสมอในทุกวัน
 
 

วันสุดท้ายระบบเบิกจ่ายโควิด-19 แบบเดิม


วันนี้เป็นวันสุดท้ายของระบบการเบิกจ่ายเงินค่าตรวจรักษาโรคโควิด-19 ในรูปแบบเดิม เพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รูปแบบปกติของระบบสุขภาพพื้นฐาน เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้าเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ที่ได้เตรียมการรองรับกันไว้มานานก่อนหน้าแล้ว เมื่อประกอบกับสถานการณ์การระบาดที่กลับปะทุขึ้นใหม่ แม้จะยังไม่แรงถึงครึ่งหนึ่งของช่วงพีคโอไมครอนครั้งก่อน แต่ต้นทุนประเทศในการดูดซับปัญหาเราร่อยหรอยอบแยบเต็มที ทั้งด้านงบประมาณและด้านบุคลากร หากไม่ออกแรงฮึดช่วยกันชะลอควบคุมการระบาดให้อยู่มือ อาจเห็นมีผู้ป่วยอาการรุนแรงตกค้างในชุมชนและจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น แล้วคงหลีกเลี่ยงดราม่าครั้งใหม่ไม่พ้นแน่ 
 
ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องบอกความจริง และออกมาเตือนให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือ ไม่ใช่คอยแต่ให้ท้ายเพื่อปลดหน้ากากหรือเพิ่มกิจกรรมทางสังคมที่เสี่ยงแต่เพียงด้านเดียว 

4 กรกฏาคม 2565

โควิดยังไม่หมด อย่ารีบปลดหน้ากาก - นิธิพัฒน์ เจียรกุล HealthServ
 

จับตาสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 


พรุ่งนี้ (1 ก.ค. 65) ก็จะย่างเข้าหมุดหมาย ที่หลายคนเคยตั้งเป้าไว้ให้โรคโควิด-19 เริ่มเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านเป็นโรคประจำถิ่น แต่ดูเหมือนว่าเขายังมีแรงฮึด ผงกหัวขึ้นมาต้านอย่างแข็งขัน จนทำให้คงต้องชะลอแผนการกันต่อไปอีกระยะหนึ่ง อย่างน้อยคงไม่เร็วกว่าจนถึงสิ้นเดือนหน้า
 

สาเหตุสำคัญ มาจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ย่อยที่ต้องจับตาคือ BA.4 และ BA.5 ซึ่งค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า สามารถเข้าครอบครองพื้นที่สำคัญในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ๆ ได้แล้ว จากการสุ่มตรวจที่บ้านริมน้ำเมื่อหลายวันก่อน พบราว 40% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ ถึงวันนี้คงแซงหน้าเป็นขาใหญ่จนเกินครึ่งไปตามคาด และคงเป็นต้นตอการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้นชัดเจนมาตั้งแต่ต้นเดือนนี้ โดยเฉพาะการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียน สถานที่ทำงาน และนำไปสู่การระบาดในครอบครัวตามมา สถานการณ์เช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นมาแล้วในทุกภูมิภาคทั่วโลก

 
ที่ยังห่วงกันคือความรุนแรงของโรค ถ้าจำกันได้ตอน BA.2 มาแทนที่ BA.1 ทั้งในบ้านเราและในประเทศอื่น ช่วงระบาดใหม่ๆ มียอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นเร็ว ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงปรับตัวขึ้นตาม ควบคู่ไปกับตัวเลขผู้เสียชีวิต พอสักพักหนึ่งตัวเลขก็ค่อยปรับฐานลง และสัดส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงต่อผู้ติดเชื้อก็ค่อยๆ ลดลงมาตามลำดับ คาดว่าการระบาดของ BA.4/BA.5 ในบ้านเราตอนนี้ ก็น่าจะเดินตามเส้นทางเดิม แต่ถ้าไม่ใช่เช่นนั้นแล้ว คงต้องมาวุ่นวายตามล้างตามเช็ดกันอีกรอบ

 

ตัวเลขผู้ป่วยอาการรุนแรงค่อยๆ เพิ่มขึ้น

 
ตัวเลขผู้ป่วยอาการรุนแรงค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากหลัก 600 ไปเป็นใกล้ 700 แล้วในเวลาไม่กี่วันดังรูป และคงไปต่อจนอาจถึง 1,000 ซึ่งจะตามมาด้วยผู้เสียชีวิตอาจกลับไปแตะหลัก 50 คนต่อวันได้อีกครั้ง แต่เราพอจะช่วยชะลอกันได้ ถ้าทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในมาตรการควบคุมโรคที่ยังละเลยไม่ได้ สำหรับคนที่เคยติด BA.1 เมื่อ 4-6 เดือนก่อน ยังมีโอกาสติด BA.4/BA.5 ซ้ำได้อยู่ ที่น่าห่วงและรอข้อมูลกันอยู่คือ คนที่ติด BA.2 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ถ้าเกิดติด BA.4/BA.5 ซ้ำได้อีก จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงมากขึ้น

 
ที่น่ากังวลเพิ่มคือการผ่อนคลายประเทศซึ่งจะเริ่มต้นวันพรุ่งนี้ อาจเป็นตัวเร่งเชื้อไฟให้ลุกลามได้ง่าย โดยเฉพาะถ้ายังมีภาคการเมืองออกมาให้ข่าวเพียงด้านเดียว เน้นแต่การผ่อนคลายเช่น “ถอดหน้ากากได้แล้ว” “เปิดสถานบันเทิงได้เสรี” โดยละเลยความสำคัญของการควบคุมโรคควบคู่กันไปเช่น “ยังควรใส่หน้ากาก” “ผ่อนคลายให้สถานบันเทิงเปิดได้อย่างระมัดระวัง” คงไม่ถึงขั้นต้องทบทวนมาตรการกันตอนนี้ แต่ภาครัฐต้องแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบไว้ก่อนว่า ถ้าสถานการณ์การระบาดแย่ลง หนีไม่พ้นคงต้องกลับไปเข้มงวดกันใหม่

 
ช่วงนี้ภาคการแพทย์ถูกรานน้ำใจกันไปพอสมควร ไหนจะงานบริการทั่วไปในหน้าที่ที่กลับมาเท่าเดิมแต่งานโควิดยังไม่ลดมากตามคาด ไหนจะการโหมประโคมเรื่องถอดหน้ากากทั้งที่ยังไม่พ้นระยะอันตราย ไหนจะการตามแก้ปัญหาสุขภาพจากการเปิดกัญชาเสรีที่ไม่ใช่เพื่อผลทางการแพทย์ตามที่ตกลงกันไว้ แน่นอนเป็นเพราะภาคการเมืองที่ทำให้ส่วนหัวภาคการแพทย์ยอมก้มหัวไม่เอ่ยปากค้าน แต่เชื่อว่าสมาชิกแวดวงแพทย์ส่วนใหญ่ซึ่งยังยึดติดกับศักดิ์ศรีและจรรยาแห่งวิชาชีพ ไม่ได้เห็นคล้อยตามและยินยอมสยบด้วยแน่  

30 มิถุนายน

โควิดยังไม่หมด อย่ารีบปลดหน้ากาก - นิธิพัฒน์ เจียรกุล HealthServ
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด