ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรคลมชัก (epilepsy) โรคอันตราย แต่ปัจจุบันรักษาให้หายขาดได้

เป็นหนึ่งในความผิดปกติทางระบบประสาทส่วนกลาง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันของคลื่นกระแสไฟฟ้าที่ออกมาจากกลุ่มเซลล์สมองพร้อมๆ กัน

โรคลมชัก (epilepsy)
นพ.พงศกร ตนายะพงศ์  อายุรแพทย์ประสาทวิทยาโรงพยาบาลวิภาวดี
 
โรคลมชัก (epilepsy) เป็นหนึ่งในความผิดปกติทางระบบประสาทส่วนกลางที่พบบ่อย เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันของคลื่นกระแสไฟฟ้าที่ออกมาจากกลุ่มเซลล์สมองพร้อมๆ กันแล้ววิ่งผ่านผิวสมองส่วนต่างๆ ทำให้มีอาการชัก (seizure) ในรูปแบบต่างๆ เช่น อาการเกร็งกระตุก หรือ เหม่อ เป็นต้น ถ้าอาการชักมีมากกว่าหนึ่งครั้งโดยที่ไม่มีเหตุกระตุ้น (unprovoked seizure) จะเรียกผู้ป่วยรายนั้นว่าเป็นโรคลมชัก (epilepsy)
 
อาการชักมีหลายประเภท ได้แก่ การชักที่มีผลต่อทุกส่วนของสมองที่เรียกว่า “Generalized Seizures” และการชักที่มีผลต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของสมองที่เรียกว่า “Partial Seizures”
 
การชักที่มีผลต่อทุกส่วนของสมอง (Generalized Seizures)
หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “ลมบ้าหมู” อาการของลมชักประเภทนี้มักเกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือน อาการแสดงที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคลมชักประเภทนี้ คือ “อาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว” (generalized tonic clonic seizure) โดยช่วงแรกของการชัก ผู้ป่วยจะมีอาการเกร็ง หลังจากนั้นจะตามด้วยอาการกระตุก หรือกล้ามเนื้อมีการหดและคลายเป็นจังหวะ หลังจากการชักผู้ป่วยจะมีอาการหลังชัก (postictal symptoms) ได้แก่ อาการสับสน ปวดศีรษะ เป็นต้น จากนั้นจะกลับสู่สภาวะปกติ นอกจากอาการชักเกร็งทั้งตัวหรือลมบ้าหมูแล้ว ยังมีอาการชักแบบอื่น ๆ อีก ที่จัดเป็นอาการชักที่เกิดจากการทำงานผิดปกติที่ทุกส่วนของสมอง เช่น อาการเหม่อลอย หรือเรียกว่า Absence Seizures
 
การชักที่มีผลต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของสมอง (Partial Seizures)
อาการชักประเภทนี้ สมองจะถูกรบกวนเพียงบางส่วนเท่านั้น อาการแสดงของผู้ป่วยจะขึ้นกับตำแหน่งของสมองที่มีคลื่นกะแสไฟฟ้าประสาทผ่าน การชักชนิดนี้แบ่งเป็น 2ประเภท ตามการรู้ตัวของผู้ป่วยคือ “Simple Partial Seizures” และ “Complex Partial Seizures”    ถ้าผู้ป่วยมีสติขณะชักจัดเป็น “Simple Partial Seizures” ถ้าขณะชักไฟฟ้าสมองรบกวนสมองส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว (primary motor cortex) ผู้ป่วยจะมีอาการชักแบบเกร็งกระตุก ถ้ารบกวนส่วนที่ควบคุมการมองเห็น (visual cortex) ผู้ป่วยอาจเห็นแสง (flashing light) ถ้ารบกวนต่อสมองส่วนควบคุมความรู้สึกสัมผัส (primary somatosensory cortex) ผู้ป่วยจะมีอาการชาตัวหรือหน้า เป็นต้น 
 
ถ้าการชักของผู้ป่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีผลกระทบต่อการรู้ตัวจัดเป็น “Complex Partial Seizures” ผู้ป่วยอาจจำเหตุการณ์ขณะชักได้เล็กน้อยหรือจำไม่ได้เลย การชักอาจแสดงอาการโดยการเปลี่ยนแปลงการรับรู้พร้อมกับการเคลื่อนไหวโดยอัตโนมัติ (automatism) เช่น การจับเสื้อผ้าหรือสิ่งของ การพูดพึมพำ หรือการเคี้ยวซ้ำๆ อย่างไร้จุดหมาย และสับสนบางครั้ง สำหรับผู้ป่วยบางราย การชักที่มีผลต่อส่วนหนึ่งของสมอง หรือ Partial Seizures ทั้ง 2 ประเภทนี้ อาจลุกลามไปมีผลต่อทุกส่วนของสมองได้ซึ่งหากเกิดขึ้นเราจะเรียกภาวะนี้ว่า “Secondarily Generalized Seizure” ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวขณะชัก และถ้าอาการลุกลามอย่างรวดเร็วจนทำให้ป่วยไม่ทราบว่าตัวเองมีอาการชักแบบ Partial นั้นมาก่อนดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อผู้ป่วยมีการชักเกิดขึ้น โดยเฉพาะการชักแบบ Generalized หรือ Complex Partial Seizures ผู้ป่วยอาจจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น ข้อมูลการชักของผู้ป่วยจากบุคคลใกล้ชิดจะเป็นประโยชน์อย่างมาก
 

สาเหตุของโรคลมชัก (Epilepsy)

โดยทั่วไปสาเหตุของโรคลมชักสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1.Symptomatic Epilepsy เป็นโรคลมชักที่มีสาเหตุชัดเจน เช่นการที่สมองได้รับความกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ การติดเชื้อในสมอง หรือ การที่สมองขาดเลือดหรือเลือดออกในสมอง (Stroke) หรือมีรอยแผลเป็นในสมอง โดยทั่ว ๆ ไป การตรวจสแกนสมองมักจะแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น
 
2.Idiopathic Epilepsy เป็นโรคลมชักที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน แต่เชื่อว่าน่าจะมีส่วนมาจากกรรมพันธุ์ โดยที่คนในครอบครัว จะมีความต้านทานต่อการชักในระดับต่ำกว่าปกติ 
 
3.Cryptogenic Epilepsy เป็นสาเหตุที่ไม่สามารถจัดอยู่ใน 2 กลุ่มแรกได้ เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุของการชัก จะจัดผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มนี้ถึงแม้ว่าจะไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าน่าจะมีความผิดปกติทางร่างกาย เมื่อมีอาการดังกล่าวแล้วแพทย์จะวินิจฉัยโรคลมชักจากประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด จากนั้นจะใช้วิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) การถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) เพื่อช่วยสนับสนุนการวินิจฉัย โดยการตรวจอาจมีมากกว่า 1 ครั้งก็ได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องเตรียมตัวมาก่อนตรวจคลื่นสมองทั้งเรื่องการงดดื่มสุรา เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างน้อย 12 ชั่วโมง, สระผมให้เรียบร้อย และแห้งก่อนตรวจ ไม่ควรใส่ครีมนวด หรือสารเคมีใส่ผม ส่วนกรณีถ้าเป็นเด็กเล็ก พ่อแม่ต้องเตรียมขวดนมน้ำ รวมทั้งของเล่นที่เขาชอบ ที่สำคัญควรไม่ให้เด็กนอนหลับมาก่อน เพราะเวลาตรวจจะได้ง่วงหลับไปเองโดยไม่ต้องใช้ยานอนหลับช่วย 
 
แม้ว่าโรคลมชักจะอันตรายก็ตาม แต่ปัจจุบันในผู้ป่วยประมาณ 70%สามารถรักษาให้หายขาดได้ ได้ด้วยการใช้ยา ซึ่งผู้ป่วยต้องรับประทานยาสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการชักเช่น การอดนอน การดื่มสุรา เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยากันชักมาตรฐานตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป ควรได้รับการตรวจประเมินว่าสามารถผ่าตัดนำจุดกำเนิดชักออกได้หรือไม่   เช่นการกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่สิบด้านซ้าย (Vagus nerve stimulation) การรักษาด้วยการควบคุมอาหารแบบ Ketogenic diet วิธีนี้มักใช้ในเด็กถ้าพบคนกำลังมีอาการชัก ให้รีบจับผู้ป่วยนอนตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ไห้สำลักเศษอาหารเข้าปอด ปลดเสื้อผ้าไม่ไห้แน่นเกินไป จัดการสถานที่ให้โปร่งโล่ง หายใจได้สะดวก ไม่จำเป็นต้องเอาสิ่ง ของใดๆ ใส่ปากเพื่อกันผู้ป่วยกัดลิ้น เพราะทำอันตรายให้กับผู้ป่วยมากกว่า อาจจะไปงัดฟันหักหลุดเข้าหลอดลม หรือมือผู้ช่วยเหลืออาจจะถูกกัดได้ และโดยธรรมชาติของผู้ป่วยโรคลมชักทั่วไปจะชักเพียงช่วงสั้นๆ ประมาณ 1-2 นาทีก็จะหยุด แต่ถ้ารายไหนที่ชักนานมากเกิน 5 นาทีขึ้นไป หรือชักซ้ำอีก กรณีนี้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล
                     
                     ด้วยความปรารถนาดี  จากโรงพยาบาลวิภาวดี
 
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด