ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรคเกาต์ vs โรคเกาต์เทียม

โรคเกาต์ vs โรคเกาต์เทียม HealthServ.net
โรคเกาต์ vs โรคเกาต์เทียม ThumbMobile HealthServ.net

โรคเกาต์ (gout) คือโรคที่เกิดจากภาวะกรดยูริก (uric acid) ในเลือดสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โรคเกาต์เทียมเป็นโรคข้ออักเสบจากผลึกเกลือชนิดหนึ่ง สามารถก่อให้เกิดการอักเสบเลียนแบบโรคเกาต์ได้ จึงเรียกว่าโรคเกาต์เทียม

โรคเกาต์ vs โรคเกาต์เทียม HealthServ

โรคเกาต์คืออะไร

 
โรคเกาต์ (gout) คือโรคที่เกิดจากภาวะกรดยูริก (uric acid) ในเลือดสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยภาวะกรดยูริกสูงหมายถึงระดับกรดยูริกมากกว่า 7 มก./ดล. ในเพศชาย และ 6 มก./ดล. ในเพศหญิง โรคเกาต์พบบ่อยในชายวัยกลางคนขึ้นไป หรือหญิงในวัยหมดประจำเดือน
 
การสะสมของกรดยูริกในร่างกายเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคเกาต์ขึ้นได้ โดยสามารถเกิดโรคได้ในหลายอวัยวะ ได้แก่ ข้อ ผิวหนัง และไต อาการที่พบบ่อยที่สุด คืออาการทางข้อ ได้แก่ ข้ออักเสบเฉียบพลัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดอย่างรุนแรงและฉับพลันทันทีทันใด ข้อที่เป็นจะบวมขึ้น มีสีแดงรอบ ๆ ข้อ หากคลำดูจะพบว่าอุ่นกว่าข้อเดียวกันในข้างตรงข้าม ข้อที่อักเสบในช่วงแรก มักเป็นที่ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า หรือข้อเท้า หากทิ้งไว้นาน โดยไม่ได้รับการรักษา อาจมีการอักเสบที่ข้ออื่นได้ด้วย เช่น ข้อเข่า ข้อศอก ข้อมือ เป็นต้น
 
ในระยะแรก ๆ ข้ออักเสบเกาต์อาจหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่มีการอักเสบครั้งแรก ๆ มักไปหาซื้อยารับประทานเอง ทำให้ข้ออักเสบหายเร็วกว่านั้น (ยาแก้ปวด ลดอักเสบที่ผู้ป่วยไปหาซื้อรับประทานเองนั้น อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะ โรคตับหรือโรคไตได้)
 
หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ต่อมาการอักเสบระยะหลัง ๆ จะเป็นรุนแรงขึ้นและนานขึ้นในแต่ละครั้ง จนอาจกลายเป็นข้ออักเสบเรื้อรัง ไม่หายสนิท ทำให้ยากต่อการรักษา ดังนั้นผู้ป่วยที่มีข้ออักเสบทุกรายจึงควรมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง
 
นอกจากอาการทางข้อแล้ว หากโรคเกาต์ถูกละเลยอยู่นาน อาจเกิดการสะสมของกรดยูริกที่บริเวณผิวหนัง เรียกว่า ก้อนโทฟัส 
 
 
โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น หากผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ก็คือ โรคไต ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างในผู้ป่วยโรคเกาต์ที่อาจทำให้เกิดโรคไต เช่น การซื้อยาแก้ปวดกินเอง โดยไม่เคยตรวจค่าการทำงานของไต, นิ่วในทางเดินปัสสาวะซึ่งอาจเกิดจากการรวมตัวกันของกรดยูริก, ภาวะไตวายเฉียบพลันจากกรดยูริกจำนวนมากที่ถูกขับออกทางไต (มักพบในผู้ป่วยมะเร็งบางชนิดที่ได้รับยาเคมีบำบัด) และท้ายที่สุดคือ โรคไตวายเรื้อรังจากการสะสมของกรดยูริกในเนื้อไต นอกจากนี้โรคที่พบร่วมได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเกาต์ เช่น ภาวะอ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือเบาหวาน ก็อาจเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดโรตไตได้เช่นกัน ดังนั้นภาวะเหล่านี้ควรได้รับการตรวจหาและรักษาไปพร้อมกันในผู้ป่วยโรคเกาต์
 
 
 

โรคเกาต์เทียมคืออะไร ?

โรคเกาต์เทียมเป็นโรคข้ออักเสบจากผลึกเกลือชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่าแคลเซียมไพโรฟอสเฟต (calcium pyrophosphate) สามารถก่อให้เกิดการอักเสบเลียนแบบโรคเกาต์ได้ จึงเรียกว่าโรคเกาต์เทียม
 

โรคเกาต์เทียมพบได้ในผู้ใดบ้าง ?

โรคนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย นอกจากนี้สามารถพบได้ในผู้ที่มีความผิดปกติทางระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซั่มบางอย่าง เช่น ฮีโมโครมาโตซิส พาราธัยรอยด์ฮอร์โมนสูง แมกนีเซียมในเลือดต่ำ เป็นต้น
 
 
โรคนี้มีอาการและอาการแสดงอย่างไรบ้าง ?
 
ผู้ป่วยโรคนี้อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการและอาการแสดงต่างๆ กันออกไป เช่น
 
1. บางรายมาด้วยอาการข้ออักเสบเฉียบพลันแบบเป็นๆ หายๆ เลียนแบบโรคเกาต์
2. บางรายอาจมาด้วยอาการปวดข้อเรื้อรังแบบโรคข้อเข่าเสื่อม หรืออาจพบร่วมกับโรคข้อเข่าเสื่อมได้
3. บางรายอาจมาด้วยอาการข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหลายข้อเลียนแบบโรครูมาตอยด์ได้
4. บางรายอาจมาด้วยอาการข้ออักเสบเรื้อรังและมีการทำลายข้อได้
5. บางรายอาจไม่มีอาการแต่สามารถตรวจพบได้ทางภาพรังสี
 
 

การวินิจฉัยโรคเกาต์เทียม
 
การวินิจฉัยโรคนี้จำเป็นต้องอาศัยการตรวจน้ำไขข้อซึ่งจะพบผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟต ซึ่งแยกได้จากผลึกยูเรตในโรคเกาต์ ส่วนการตรวจทางภาพรังสีมักจะพบลักษณะหินปูนจับที่แนวกระดูกอ่อน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้
 

การรักษาโรคเกาต์เทียม
 
ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถไปละลายหินปูนออกจากกระดูกอ่อนได้ ดังนั้นการรักษาโรคนี้ส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่การรักษาอาการอักเสบของข้อ การป้องกันการเป็นซ้ำ และการตรวจหาโรคร่วมที่อาจพบร่วมกับโรคเกาต์เทียม พร้อมให้การรักษาควบคู่กันไป
 
 
การรักษาทางยา
 
ในรายที่มีข้ออักเสบเฉียบพลัน แพทย์จะใช้ยาลดการอักเสบ เช่น ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรืออาจใช้ยาโคลชิซิน เหมือนกับการรักษาในโรคเกาต์

ในรายที่มีน้ำไขข้อมาก การดูดเอาน้ำไขข้อออกจะสามารถช่วยลดการอักเสบของข้อได้
ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อยารับประทาน อาจจำเป็นต้องใช้ยาฉีดเข้าข้อ ซึ่งการรักษาแบบนี้ไม่ควรจะกระทำบ่อยๆ
 
 

การทำกายภาพบำบัด
 
เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ ควรทำกายภาพในช่วงที่ข้ออักเสบทุเลาลงแล้ว
 
 

 คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์

 
1. หากมีอาการข้ออักเสบ กล่าวคือ ปวดและบวมที่ข้อ ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง แพทย์อาจสั่งตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือเจาะเอาน้ำในข้อที่อักเสบมาตรวจ ตามแต่กรณี เนื่องจากมีโรคข้ออักเสบบางชนิดที่แสดงอาการคล้าย ๆ กันกับโรคเกาต์ แต่ต้องได้รับการรักษาที่แตกต่างออกไป
 
2. เมื่อแพทย์ได้บอกการวินิจฉัยโรคว่าเป็นโรคเกาต์แล้ว ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด กรณีที่แพทย์สั่งยาประจำให้ ห้ามหยุดยาเองเนื่องจากยาบางชนิดยังต้องรับประทานอยู่แม้ว่าหายปวดแล้ว เพราะโรคเกาต์เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูงมาเป็นเวลานานหลายปีก่อนเกิดอาการ จัดเป็นภาวะเรื้อรัง ดังนั้นการรักษาที่จะได้ผลดี จึงต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง
 
3. ปรับทัศนคติเกี่ยวกับแนวทางการรักษาโรคเกาต์ให้ถูกต้อง เช่น มีความเชื่อที่ว่าการควบคุมอาหารทำให้หายจากโรคเกาต์โดยไม่ต้องใช้ยา ซึ่งแท้จริงแล้ว ขบวนการในการเกิดโรคเกาท์นั้นซับซ้อนมาก จริงอยู่ที่ว่าโรคเกาต์ในรายที่ไม่รุนแรง มีการกำเริบไม่บ่อย และระดับกรดยูริกในเลือดไม่สูงมากนัก การควบคุมอาหารและหยุดสุราอาจเพียงพอ แต่พบว่าในผู้ป่วยโรคเกาต์ส่วนใหญ่การควบคุมอาหารเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการรักษา จึงจำเป็นต้องใช้ยาลดกรดยูริกร่วมด้วย การที่จะรักษาโรคเกาต์ให้ได้ผลดีนั้น ต้องลดระดับกรดยูริกในเลือดให้อยู่ในระดับต่ำติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้นการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการรักษา
 
4. ปรับทัศนคติเกี่ยวกับยาให้ถูกต้อง เนื่องจากมีความเชื่อผิด ๆ จำนวนมาก เช่น “กินยานาน ๆ แล้วยาจะไปสะสมที่ตับ ไต” ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ยาที่แพทย์สั่งให้รับประทานอย่างต่อเนื่องนั้น มักจะปลอดภัยต่อตับแตะไต อีกทั้งแพทย์ยังมีการตรวจค่าการทำงานของตับและไตเป็นระยะให้ด้วย ในทางตรงกันข้ามยาที่รับประทาน แล้วทำให้เกิดตับอักเสบหรือไตวายนั้นมักเป็นยาแก้ปวดที่ผู้ป่วยซื้อรับประทานเองมากกว่า
 
5. หยุดบุหรี่และสุรา (หากไม่สามารถหยุดสุราได้ อาจดื่มไวน์ได้ไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน)
 
6. ดื่มน้ำให้มาก (มากกว่า 2 ลิตรต่อวัน) ยกเว้นในกรณีที่แพทย์สั่งไม่ให้ดื่มน้ำมากในบางโรค เช่น โรคหัวใจวาย
 
7. หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มหวานจัด/อาหารเค็มจัด/เครื่องในสัตว์/อาหารทะเลบางชนิด เช่น ปลาซาร์ดีน กุ้ง หอย และปลาหมึก/เนื้อแดง (หมายความถึงสัตว์ปีก เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแพะ เนื้อแกะ)
 
8. ดื่มผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำให้มากขึ้น (Low-fat or non-fat dairy products) รับประทานผักให้มากขึ้น (ความเชื่อที่ว่าผักบางชนิด เช่น หน่อไม้ ควรงดในผู้ป่วยโรคเกาท์นั้น ไม่ได้มีการพิสูจน์ทางการแพทย์ที่ชัดเจน และไม่ได้มีคำแนะนำจากสมาคมทางการแพทย์ใด ๆ ว่าให้งดผักเหล่านั้นในผู้ป่วยโรคเกาต์)
 
9. รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ด้วยการจำกัดอาหารแคลอรีสูงและออกกำลังกาย
 
10. มาตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ตรวจเลือดเป็นระยะตามที่แพทย์สั่ง เพื่อดูประสิทธิภาพของยา และเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยา รวมถึงตรวจหาโรคร่วมที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคเกาต์ ได้แก่ โรคอ้วนลงพุง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคไขมันเกาะตับ และโรคไต
 
 
โดย นพ.สิทธิ์ หงษ์ทรงเกียรติ
อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม (Rheumatologist)
สมาคมรูมาติสซั่ม แห่งประเทศไทย
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด