ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 BA.5 ที่ WHO สั่งเฝ้าระวัง

โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 BA.5 ที่ WHO สั่งเฝ้าระวัง HealthServ.net
โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 BA.5 ที่ WHO สั่งเฝ้าระวัง ThumbMobile HealthServ.net

WHO เตือนนานาประเทศอย่าประมาท ในไทย แพทย์ชี้มีความคล้ายคลึงกับสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดรุนแรงก่อนหน้านี้ ไทยพบผู้ติดเชื้อทั้งสองสายพันธุ์ รวม 49 คน

 
 
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (Center for Medical Genomics) เปิดเผยว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 กับ BA.5 แล้ว 49 คน คาดว่า ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย ส่วนในยุโรปบางประเทศ มีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น 
 
 

พฤติกรรมเหมือนสายพันธุ์เดลต้า

 
ความน่ากังวลคือ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์บริเวณหนาม ทำให้จับกับเซลล์ปอดของมนุษย์ได้ดีขึ้น เหมือนกับสายพันธุ์เดลตาที่ระบาด และมีอาการติดเชื้อรุนแรงก่อนหน้านี้ ซึ่งโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นตัวเชื่อมให้ผนังของหลาย ๆ เซลล์ หลอมรวมเป็นเซลล์เดียว ดึงดูดให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อ เข้ามาทำลาย จนเกิดการอักเสบของปอด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
 
 
แต่ถึงตอนนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 กับ BA.5 จะทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น หรือลดน้อยลง แต่ก็ขอเตือนให้ประชาชนป้องกันตัวเองอย่างเหมาะสม หากอยู่ในที่แออัด ที่ชุมชน ให้สวมหน้ากากอนามัย รวมถึงการฉีดวัคซีนให้ครบโดส และฉีดกระตุ้นด้วย เพื่อลดความรุนแรงของโรค
 
 
 
 

ข้อมูลไม่ชัดเจนเรื่องความรุนแรง

 
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่ข้อความทางสื่อโซเชียลว่าเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 มีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลตา 5 เท่า และมีอัตราเสียชีวิตสูง ว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่มีหลักฐานและแหล่งที่มาของข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวลต่อข้อมูลดังกล่าว 
 
ทั้งนี้ เชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 แม้องค์การอนามัยโลกจะจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลและต้องเฝ้าระวัง (VOC lineages under monitoring :VOC-LUM) เนื่องจากความสามารถในการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น หลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่ามีความรุนแรงมากขึ้น
 
สำหรับสถานการณ์ของทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ องค์การอนามัยโลกให้ความเห็นว่าต้องเฝ้าระวัง BA.5 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากแอนติบอดีที่จะทำลายฤทธิ์ของเชื้อใช้ได้น้อย ยารักษาตอบสนองน้อยลง แต่ยังสรุปไม่ได้ว่ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม 
 
 
ขณะที่ฐานข้อมูลโลก GISAID พบ BA.5 สะสม 31,577 ตัวอย่าง ใน 62 ประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 25% ส่วน BA.4 พบสะสม 14,655 ตัวอย่าง แนวโน้มลดลงจาก 16% เหลือ 9%
 


 

เฝ้าระวังในประเทศอย่างต่อเนื่อง

 
สำหรับประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยังพบ BA.4 และ BA.5 ในกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศในสัดส่วนสูงกว่าผู้ติดเชื้อในประเทศ และจะมีการศึกษาในผู้ป่วยอาการหนักว่ามีความสัมพันธ์กับ 2 สายพันธุ์นี้หรือไม่ 
 
อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงนี้จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ขอให้ยังคงมาตรการป้องกันตนเองที่เหมาะสม เพื่อช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อทุกสายพันธุ์ 
 
นอกจากนี้ การที่ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอยังเป็นเรื่องที่สำคัญและมีความจำเป็น เพราะจะทำให้ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อและป้องกันอาการรุนแรงได้
 
 
 

โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 BA.5 ที่ WHO สั่งเฝ้าระวัง HealthServ
 
 

กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวัง

 
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 และการกลายพันธุ์ของเชื้อ ว่า โควิด 19 สายพันธ์โอมิครอน เป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดทั่วโลก องค์การอนามัยโลกจัดให้ BA.4 และ BA.5 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตาดู (VOC-LUM) ในหลายประเทศพบสัดส่วนของ BA.5 เพิ่มขึ้น 
 
จากการสุ่มเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดในประเทศไทย ขณะนี้ ร้อยละ 53.79 ยังคงเป็นเชื้อโอมิครอน BA.2 รองลงมา คือ โอมิครอน BA.4/BA.5 ร้อยละ 45.71 และร้อยละ 0.51 เป็นเชื้อโอมิครอน BA.1
 
 
ข้อมูลระหว่างวันที่ 18 – 22 มิถุนายน 2565 สุ่มพบสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 ในประเทศไทย จากการตรวจเบื้องต้น 181 ราย ซึ่งมีการตรวจยืนยันด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว (WGS) และรายงานเข้าสู่ระบบฐานกลาง GISAID 81 ราย 
 
ส่วนใหญ่พบผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการสุ่มตัวอย่างมาตรวจมากที่สุด 
 
ทำให้จำนวนรวมตั้งแต่ 14 พฤษภาคม – 22 มิถุนายน พบ BA.4 และ BA.5 ในประเทศไทยแล้ว 214 ราย ซึ่งต้องดูแนวโน้มไปอีก 2 – 3 สัปดาห์ต่อจากนี้ โดยจะร่วมมือกับกรมการแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้ออาการหนักเข้ารักษาในโรงพยาบาลขอให้ส่งตัวอย่างเชื้อมาถอดรหัสพันธุกรรมที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 
 
 
อย่างไรก็ตาม หากต่อจากนี้มีการพบผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญก็อาจจะต้องทำให้มีการพิจารณามาตรการบางอย่างที่เข้มขึ้น
 
 
เชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่พบการกลายพันธ์ในสายพันธ์เดลต้า จากข้อมูลพบว่ามีความสามารถในการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น และหลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น ส่วนความรุนแรงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ารุนแรงขึ้น 
 
อย่างไรก็ตามข้อมูลจากผลวิจัยทางห้องปฏิบัติการพบว่า เชื้อ BA.4 และ BA.5 ทำลายปอดและมีอาการปอดอักเสบได้ง่ายขึ้น แต่ข้อมูลทางคลินิกยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ
 
ในหลายประเทศ พบการเพิ่มจำนวนของ BA.5 เพิ่มขึ้น ส่วน BA.4 และ BA.2.1.2 มีแนวโน้มลดลง ส่วนอัตราการแพร่เร็วของสายพันธุ์ BA. 4 และ BA.5 ข้อมูลที่มีในปัจจุบัน พบชัดเจนว่าสายพันธุ์ดังกล่าวแพร่เร็วกว่าเดิม ประมาณ 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับ BA.2 เป็นการพบในห้องปฏิบัติการ โดยพบอีกว่า แอนตี้บอดี้ทำลายเชื้อ BA. 4 และ BA.5 ได้น้อยลง ส่งผลทำให้ยารักษาบางชนิด ที่ต้องตอบสนองกับยาที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันน้อยลงไปด้วย
 
 
 

ติดโควิดแล้ว มีโอกาสติดซ้ำได้

 
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า คนที่เคยติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์อื่นก่อนหน้านี้ อาจจะติดเชื้อซ้ำสายพันธุ์ BA .4 และ BA.5 ได้ แต่หากได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นจะทำให้ร่างกายมีภูมิสู้กับเชื้อได้ดีกว่าคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ดังนั้นการมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอยังมีความจำเป็น ช่วยลดความรุนแรงของเชื้อได้ รวมถึงมาตรการการป้องกันตนเองที่เหมาะสม เช่น การสวมหน้ากากในสถานที่แออัด การล้างมือ
 
อย่างไรก็ตาม ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนกและกังวลจนเกินไป เพราะกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุขได้มีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการรายงานผลการตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์ขึ้นระบบฐานข้อมูลกลาง GISAID โดยไม่ได้มีการปกปิดข้อมูล
 
 
 

WHO เตือนนานาประเทศ ไม่ควรประมาท

 
ดร.มาเรีย ฟาน เคอร์คอฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคของ COVID-19 แห่งองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวถึงสถานการณ์ของเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ด้วยท่าทีกังวล ว่า 
 
"เรากำลังเล่นอยู่กับไฟ (ไวรัสโคโรนา 2019) บางครั้งไฟเหมือนกำลังจะหมอด แต่ก็ยังประมาทไม่ได้ เพราะอาจกลับโหมลุกโชนขึ้นมาอีก โอไมครอนไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้ายที่จะระบาด"
 
WHO กังวลเนื่องจากแต่ละประเทศได้ลดการตรวจ PCR และการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 ลงในทันทีทันใด ทำให้มองไม่เห็นการระบาดของเชื้อเปรียบเสมือนไฟได้หมอนลงแล้วหรืออาจเป็นไฟอ่อนๆคุกรุ่นที่มองไม่เห็น พร้อมจะลุกโชนขึ้นมาใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
 
WHO  ประสงค์ให้สถาบันการแพทย์และสาธารณสุขในทุกประเทศยังคงร่วมด้วยช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจีโนมโดยเฉพาะโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย  BA.4, BA.5 และ  BA.2.12.1  จากนั้นรีบแชร์ขึ้นฐานข้อมูลโควิดโลก "GISAID" เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจาก WHO และทั่วโลกสามารถนำข้อมูลไปใช้วางแผนป้องกัน  ติดตาม และรักษาโรคโควิด-19 ได้ทันท่วงที [WHO]
 
 
 
 
 
โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 BA.5 ที่ WHO สั่งเฝ้าระวัง HealthServ
 

รู้จักโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 

 
โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามเพื่อให้เข้าจับกับเซลล์ปอดของมนุษย์ได้ดีขึ้น เหมือนกับสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดและมีอาการติดเชื้อที่รุนแรงในอดีต ต่างจากโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 และ BA.2   ซึ่งไม่พบการกลายพันธุ์ในบริเวณดังกล่าว  
 
ส่วนหนามของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1  ที่เปลี่ยนแปลงไปสามารถเป็นตัวเชื่อมให้ผนังของหลายเซลล์หลอมรวมเป็นเซลล์เดียว (cell fusion หรือ syncytia formation) ดึงดูดให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อเข้ามาทำลายเกิดการอักเสบ (ของปอด) ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ (life-threating) 
 
BA.4 และ BA.5 ขณะนี้กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในยุโรป โดยเฉพาะในอังกฤษเกิดความตื่นตระหนกเป็นพิเศษในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสืบเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองใหญ่ 4 วันระหว่างวันที่ 2-5 มิถุนายน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการพบปะสังสรรค์ใกล้ชิดโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน นำมาสู่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43 ในสัปดาห์ถัดมา
 
ในทวีปอเมริกาเหนือ สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ดูเหมือนจะแพร่ระบาดได้ดีกว่า BA.2.12.1 และมีความเป็นไปได้สูงที่จะระบาดเข้าไปแทนที่ BA.2.12.1 ที่กำลังระบาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา 
 
 
+++++
 
 
การกลายพันธุ์บนสายจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 บริเวณยีนที่สร้างหนาม (Spike gene) ณ. ตำแหน่ง "452" อาจเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ "โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1" ที่ WHO ให้เฝ้าระวังมีความสามารถที่จะแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น (high transmissibility) อีกทั้งอาจจะมีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อผนังเซลล์ (ปอด) จากหลายเซลล์เข้ามาเป็นเซลล์เดียว (fusogenicity หรือ multinucleated syncytial pneumocytes) ก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดได้ เช่นเดียวกับการติดเชื้อสายพันธุ์ "เดลตา" ที่ระบาดในอดีต
 
 
จากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจีโนมพบการเปลี่ยนแปลงบริเวณส่วนหนามตำแหน่งที่ "452" จากกรดอะมิโน "ลิวซีน (L)" เปลี่ยนมาเป็น "อาร์จีนีน (R)" หรือ "กลูตามีน (Q)" (ภาพ 1) ทำให้ส่วนหนามมีคุณสมบัติที่สามารถเชื่อมต่อผนังเซลล์ที่อยู่ข้างเคียง หลอมรวมเป็นเซลล์เดียว (cell fusion หรือ syncytia formation) ส่งผลให้ไวรัสสามารถแพร่ไประหว่างเซลล์ต่อเซลล์ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องออกมานอกเซลล์ให้สุ่มเสี่ยงที่จะถูกจับและทำลายด้วย "แอนติบอดี" ที่ถูกสร้างในร่างกายผู้เคยติดเชื้อตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีน บรรดาเซลล์ปอดติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่หลอมหลวมรวมเป็นเซลล์เดียว(infected multinucleated syncytial pneumocytes) จะกลายเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ภายในเซลล์มีหลายนิวเคลียส ดีเอ็นเอภายในเซลล์ดังกล่าวถูกทำลายแตกหัก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ติดเชื้อมองเป็นสิ่งแปลกปลอมและเข้ามาทำลายเซลล์ที่มีหลายนิวเคลียส(syncytial pneumocytes) เหล่านั้น เกิดการอักเสบ และบางรายลุกลามเกิดเป็นปอดบวมอันอาจทำให้ผู้ติดเชื้อเจ็บป่วยรุนแรง
 
สายพันธุ์ "เดลตา" มีการกลายพันธุ์ของหนามเป็น "R452" (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบแดง) ก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง (high pathogenicity) ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากเกิดอาการปอดอักเสบจากการหลอมหลวมของเซลล์ติดเชื้อหลายเซลล์เข้ามาหลอมรวมเป็นเซลล์เดียวกัน (syncytial pneumocytes)
 
ตรงกันข้ามกับสายพันธุ์โอไมครอนดั้งเดิม (B.1.1529) เช่น BA.1, BA.1.1 และ BA.2 ไม่มีการกลายพันธุ์บริเวณดังกล่าว กรดอะมิโนยังคงเป็น "L452" (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบเขียว) ซึ่งสอดคล้องกับอาการทางคลินิกของโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อาการไม่รุนแรง สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่เกิด syncytial pneumocytes ในเซลล์ปอดที่ติดเชื้อ
 
แต่ที่น่ากังวลคือทั้งโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย   "BA.4" และ "BA.5" ที่ WHO ประกาศให้เฝ้าระวังเพราะกำลังมีการระบาดในประเทศแอฟริกาใต้กลับมีการกลายพันธุ์เป็น R452 (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบฟ้า) ส่วนสายพันธุ์ย่อย   BA.2.12.1 ที่ระบาดในสหรัฐอเมริกาก็มีการกลายพันธุ์เป็น "Q452" (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบเหลือง) กลับไปเหมือนกับสายพันธุ์ "เดลตา" (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบแดง) อันอาจก่อให้เกิดเซลล์ติดเชื้อหลายเซลล์เข้ามาหลอมรวมเป็นเซลล์เดียวกัน (syncytial pneumocytes)
 
ส่วนโปรตีนหนาม (Spike protein) ของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย  BA.2 จะมีความเหมือนกับสายพันธุ์ย่อย   BA.2.12.1, BA.4, และ BA.5 มากกว่า สายพันธุ์ย่อย  BA.1 (ภาพ 2) ทำให้ภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย   BA.2 น่าจะป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย   BA.2.12.1, BA.4, และ BA.5 ได้มากกว่าจากการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย   BA.1 โดยทั้งในประเทศแอฟริกาใต้และสหรัฐอเมริกาแม้จะมีการระบาดของสายพันธุ์ย่อย  BA.1 ตามมาด้วยสายพันธุ์ย่อย   BA.2 อย่างยาวนาน แต่กระนั้นสายพันธุ์ย่อย   BA.4 และ BA.5 ยังสามารถระบาดได้ในแอฟริกาใต้ และสายพันธุ์ย่อย   BA.2.12.1 ก็สามารถระบาดได้ในสหรัฐอเมริกา (ภาพ 3) อันแสดงว่าการกลายพันธุ์บนสายจีโนมของสายพันธุ์ย่อย   BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1" ณ. ตำแหน่ง "452" น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการแพร่ระบาด
 
ดังนั้นมีแนวโน้มที่โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, BA.2.12.1 อาจจะมีการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงกว่าโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม โดย WHO และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเฝ้าติดตามอาการทางคลินิกจากการติดเชื้อ BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 จากประเทศแอฟริกาใต้และสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีการกลานพันธุ์ ณ. ตำแหน่ง 452 เหมือนสายพันธุ์เดลตา คาดว่าจะทราบผลอาการทางคลินิกจากผู้ติดเชื้อในพื้นที่ใน 2-4 สัปดาห์จากนี้ โดยข้อมูลอัปเดตล่าสุดพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของสองประเทศเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นแล้ว แต่อัตราผู้เสียชีวิตยังคงเดิม
 
ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีนหากยังไม่ได้ฉีดและฉีดเข็มกระตุ้นเมื่อครบกำหนดเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำหากมีการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 เข้ามาในประเทศไทย เพราะภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือจากวัคซีนเข็มสุดท้ายที่ฉีดนานกว่า 4 เดือนอาจมีประสิทธิภาพในการปกป้องเรามากจากโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ลดลง 
 
ศาสตราจารย์ อเล็กซ์ ซิกัล (Alex Sigal) นักไวรัสวิทยาที่สถาบันวิจัยสุขภาพแอฟริกาในแอฟริกาใต้ ผู้พบไวรัสโคโรนา  2019 สายพันธุ์เบต้า และโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ระบุว่าจากผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการพบว่าการฉีดวัคซีนและเข็มกระตุ้นแล้วมีการติดเชื้อจะช่วยลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อีกทั้งยังก่อให้เกิดเป็นภูมิคุ้มกันลูกผสม (hybrid immunity) ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่กว้างกว่า (broader) ไม่จำเพาะต่อสายพันธุ์ที่เป็นตัวกระตุ้นภูมิเท่านั้น "ภูมิคุ้มกันลูกผสม" แบบนี้สามารถต่อสู้กับโอไมครอนสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งอุบัติขึ้นมาได้ดีกว่า
 
Center for Medical Genomics 

 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด