เป็นคำกล่าวของ ทันตแพทย์อับดุลกอเดร์ ยูโซะ กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิโรรสยะลา ที่บอกเล่าถึงการก่อสร้างโรงพยาบาลสิโรรสปัตตานี ที่ถนนหนองจิก อ.เมืองปัตตานี เป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาด 30 เตียง
“โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นโรงพยาบาลที่รักษาโรคทั่วไป กลุ่มสูตินรีเวช อายุรกรรม เด็ก ผ่าตัดและกระดูก รวมทั้งคลินิกโรคหัวใจ โดยมีแพทย์ประจำ 5 คน มีบุคลากรและอุปกรณ์ต่างๆ ครบถ้วน เงินลงทุนได้ทั้งหมด 100 ล้านบาท รวมค่าก่อสร้าง เวชภัณฑ์ต่างๆ และบุคลากรทั้งหมด 80 คน ซึ่งจะมาจากการจ้างงานใหม่ ส่วนผู้บริหารโรงพยาบาลสิโรรสปัตตานีเป็นผู้บริหารจากโรงพยาบาลสิโรรสยะลา”
ทันตแพทย์ อับดุลกอเดร์ อธิบายในรายละเอียด ก่อนจะบอกว่าหลังจากเปิดให้บริการ คาดว่าจะมีคนไข้ใน (นอนพักในโรงพยาบาล) วันละไม่ต่ำกว่า 15 คน คนไข้นอกไม่ต่ำกว่าวันละ 50 คน สำหรับการให้บริการจะเป็นมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลเอกชนทั่วไป
การขยายสาขาของโรงพยาบาลสิโรรส ทันตแพทย์อับดุลกอเดร์ แยกมองเป็น 2 มิติ
หนึ่ง คือ มิติทางธุรกิจ เห็นได้ชัดว่าปัตตานีมีความตื่นตัวและการขยายของธุรกิจในหลายๆ ด้านเป็นอย่างมาก ประชาชนมีความหลากหลายด้านอาชีพ มีกำลัง มีความสามารถในการรักษาพยาบาล ทำให้เห็นโอกาสในการลงทุนธุรกิจสถานพยาบาลของเอกชนซึ่งยังไม่มีในพื้นที่นี้
สอง คือ มิติทางสังคม ถือว่าเป็นการช่วยแบ่งเบาจำนวนผู้ป่วยจากโรงพยาบาลรัฐได้ส่วนหนึ่ง ทำให้ผู้ป่วยอื่นได้เข้าถึงการบริการของรัฐมากขึ้น
“หากเราไม่ทำแล้วใครจะทำ ด้วยสถานการณ์ (ความรุนแรง) ที่มีอยู่ ทำให้ไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่จากกลุ่มทุนต่างๆ” ทันตแพทย์ อับดุลกอเดร์ กล่าว และว่าด้วยทำเลติดถนน ใกล้สามแยก จะทำให้มีคนไข้เข้าใช้บริการเป็นจำนวนมาก
“การลงทุนด้วยเม็ดเงิน 100 ล้านบาทนี้ เป็นการลงทุนด้านการก่อสร้าง อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการเช่าที่ดินระยะเวลา 15 ปี เพราะที่ดินราคาแพงมาก เกือบร้อยล้าน คิดว่าเอาเงินตรงนั้นมาออกแบบอาคารให้เหมาะสม ใช้งานได้ทุกตารางนิ้ว และจ้างงานดีกว่า เมื่อหมดสัญญาอาคารนี้ก็ยังคงอยู่ สามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อโดยไม่ต้องทุบทิ้ง”
“ส่วนการขยับขยายคงต้องรอดูสัญญาณประมาณ 3-6 เดือน หากได้รับการตอบรับที่ดีจากพี่น้องในพื้นที่ เชื่อว่าอีก 3-4 ปี จะได้เห็นสิโรรสปัตตานีในรูปแบบใหม่อย่างแน่นอน” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิโรรสยะลา กล่าว
นอกจากการก่อสร้างโรงพยาบาลสิโรรสปัตตานีแล้ว ยังมีโครงการจัดสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่ จ.นราธิวาส ด้วย
“เนื่องจากนราธิวาสมีประชาชนจำนวนมาก มีสนามบินรองรับ เป็นเมืองชายแดน มีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ที่ผลิตแพทย์และมีอาจารย์แพทย์ที่ต้องจูงใจให้ทำงานอยู่ในพื้นที่ คาดว่าราวปี 2561 โครงการโรงพยาบาลราษฎร์นรา จ.นราธิวาส เกิดขึ้นแน่นอน” ทันตแพทย์ อับดุลกอเดร์ ระบุ
ด้าน แพทย์หญิงพรพิชญ์ พัฒนกุลเลิศ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงพยาบาลสิโรรสปัตตานี บอกว่า เป็นความโชคดีของคนปัตตานี และคนที่มีประกันสุขภาพ เพราะไม่ต้องไปถึงหาดใหญ่หรือยะลา สามารถเข้ารับการรักษาที่ปัตตานีได้เลย ถือว่าช่วยผ่อนคลายและลดความเสี่ยงในการเดินทาง แพทย์ที่ให้บริการก็มีคุณภาพเท่าเทียมโรงพยาบาลเอกชนอื่น
“เรามีกุมารแพทย์ 1 คน อายุรแพทย์ 2 คน ศัลยแพทย์ ด้ากระดูกและข้อ 1 คน ประจำทุกวันเพื่อให้บริการ ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยเด็ก ผู้ใหญ่ อุบัติเหตุ กระดูกและข้อ รวมถึงแพทย์ด้านโรคหัวใจ และกำลังจะมีสูตินรีแพทย์มาประจำอีกด้วย คำสั่งแพทย์และการสั่งยาใช้ทางคอมพิวเตอร์อย่างมีระบบและเชื่อถือได้”
“ในความเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง เราแบ่งเป็นห้องพิเศษเด็ก 10 ห้อง ห้องพิเศษผู้ใหญ่ 14 ห้อง ห้องผู้ป่วยรวม 6 เตียง เพื่อไว้รอดูอาการและส่งต่อ มีแพทย์ประจำห้องฉุกเฉินตลอดเวลา เคสอุบัติเหตุมีแพทย์ดูแลโดยตรง เราเน้นระบบการส่งต่อ มั่นใจและสบายใจได้ว่าเมื่อมาที่นี่แล้วห้องเต็ม หรือต้องส่งต่อ จะส่งไปยังสิโรรสยะลา หรือโรงพยาบาลราษฎร์ยินดีที่หาดใหญ่ (จ.สงขลา)"
“โรงพยาบาลสิโรรสปัตตานีเน้นภาพลักษณ์ที่ดูดี สะอาดตา เพื่อให้ผู้มาใช้บริการรู้สึกประทับใจและอยากกลับมาซ้ำ เราต้องมี 5 ส. ตลอดเวลา บุคลากรต้องมีบุคลิกดี ทั้งพุทธและมุสลิม รักงานบริการ ยิ้มด้วยหัวใจ มีเจตคติและพฤติกรรมที่ดี ให้บริการเหมือนกับคนในครอบครัวอย่างเกินความคาดหมาย และมีผลิตภัณฑ์ที่ดีด้วยยาและเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพ สามารถอธิบายให้ผู้มาใช้บริการได้ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง เราอยากให้เป็น Family Hospital มาที่นี่แล้วครบวงจร จะสร้างฟิตเนสด้านหลังให้ได้มาใช้ออกกำลังและผ่อนคลายกัน รวมทั้งมีสนามเด็กเล่นด้านนอก ซึ่งสามารถมาใช้บริการได้แม้ไม่ใช่คนไข้ของโรงพยาบาล”
“เราภูมิใจที่ได้สร้างงานให้บุคลากรในพื้นที่จำนวน 79 คน รวมทั้งมีแพทย์พาร์ทไทม์จากโรงพยาบาลรัฐมาร่วมงานหลังเลิกงานและวันหยุด เป็นกุศโลบายในการดึงให้แพทย์อยู่ในพื้นที่ แทนที่จะไปเปิดคลินิกเอง หรือเมื่อใช้ทุนหมดก็ไปอยู่พื้นที่อื่น และแพทย์จากโรงพยาบาลชุมชนได้มาอยู่เวร มาช่วยกัน ราษฎร์กับรัฐเกื้อกูลกัน” แพทย์หญิงพรพิชญ์ กล่าว
การเปิดโรงพยาบาลสิโรรสปัตตานี คือสิ่งที่รับประกันว่า เศรษฐกิจชายแดนใต้ไม่ได้ชะงักงัน และคนในพื้นที่ยังมีกำลังซื้อ มีกำลังจับจ่าย และมีมากพอสำหรับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ
เรื่องจาก สำนักข่าวอิศรา
5 ธันวาคม 2559