โรคหลอดเลือดสมอง (Acute Stroke) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 และพิการเป็นอันดับ 3 ของคนทั่วโลก แม้จากการสำรวจจะพบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่ร้อยละ 80 ของผู้ที่มีความเสี่ยงและสามารถป้องกันได้ โดยพบว่าในปี 2563 มีประชากรโลกป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองกว่า 80 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคน และพบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นถึง 14.5 ล้านคนต่อปี 1 ใน 4 เป็นผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก สำหรับข้อมูลในประเทศไทยในปี 2563 พบผู้ป่วยที่เป็น โรคหลอดเลือดสมอง มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปและ อัตราการเกิดโรคประมาณ 328 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น และตามมาด้วยภาวะทุพพลภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก
โรคหลอดเลือดสมองมักเกิดขึ้นเฉียบพลันถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจถึงชีวิต หรืออาจจะต้องอยู่ในภาวะทุพพลภาพไปตลอดชีวิต ซึ่งทำให้เกิดความยากลำบากทั้งต่อตัวผู้ป่วยเองและผู้ดูแล องค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization : WSO) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญจึงได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันหลอดเลือดสมองโลกหรือวันอัมพาตโลก”
นพ.วัชรพงศ์ ชูศรี อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเกิดตีบ อุดตัน หรือแตก ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดและเนื้อสมองถูกทำลาย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วน ขาดการออกกำลังกาย บริโภคอาหารไม่เหมาะสม สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลที่ตามมาหลังจากการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้แก่ ภาวะอ่อนแรงของร่างกายซีกใดซีกหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ทำให้เกิดการพูดลำบาก กลืนลำบาก สำลักอาหารได้ง่าย ภาวะการรับรู้สติที่แย่ลงในโรคหลอดเลือดสมองทั้งตีบและแตกที่มีขนาดใหญ่ทำให้เกิดภาวะสมองบวมและเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจจะจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดนอกเหนือจากการใช้ยา ซึ่งกลุ่มบุคคลหรือผู้ป่วยเหล่านี้ท้ายที่สุดอาจมีโอกาสเสียชีวิตหรือทุพทลภาพอย่างถาวรได้
โดยโรคหลอดเลือดสมองสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
1.Ischemic Stroke เป็นภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน หรือ ภาวะสมองขาดเลือด พบได้ประมาณ 80% ของโรคหลอดเลือดสมอง มีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดจากการสะสมของคราบไขมัน หินปูน ที่ผนังหลอดเลือดชั้นในจนหนานูน แข็ง ขาดความยืดหยุ่น ทำให้ผนังหลอดเลือดด้านในค่อย ๆ ตีบแคบลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการลำเลียงเลือดลดลง หรืออาจเกิดจากลิ่มเลือดจากหัวใจ หรือการปริแตกของผนังหลอดเลือดหลุดมาอุดตันหลอดเลือดในสมอง
2.Hemorrhagic Stroke เป็นภาวะหลอดเลือดสมองแตก หรือ ภาวะเลือดออกในสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บจากการมีเลือดคั่งในเนื้อสมอง ทำให้เนื้อสมองตายมักพบในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดมีความเปราะและโป่งพอง นอกจากนี้ สาเหตุอื่นที่พบได้ เช่น ภาวะโป่งพองของหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น โรคเลือด โรคตับ การรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด การได้รับสารพิษ การใช้สารเสพติด เป็นต้น
3.Transient ischemic attack (TIA) เป็นภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว มีอาการคล้ายโรคสมองขาดเลือด แต่มีอาการชั่วคราวมักเป็นไม่เกิน 24 ชั่วโมง ประมาณ 15% ของผู้ป่วยที่มีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว จะมีภาวะโรคหลอดเลือดสมองตามมาจึงถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบส่งโรงพยาบาล เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
หลักการ BEFAST
แม้โรคหลอดเลือดสมองมักเกิดขึ้นเฉียบพลัน แต่ก็สามารถสังเกตอาการเตือนได้ตามหลักการ BEFAST รู้ไว ปลอดภัยจากโรคหลอดเลือดสมอง โดย
B : Balance : ทรงตัวไม่ได้ เวียนศีรษะ
E : Eyes : ตามัวมองไม่เห็น เห็นภาพซ้อน
F : Face : ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยว ด้านใดด้านหนึ่ง
A : Arm : แขนขาอ่อนแรง ด้านใดด้านหนึ่ง
S : Speech : พูดติดขัด พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก
T : Time : รีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
สิ่งที่ต้องเน้นย้ำและสำคัญอย่างมากเมื่อเกิดโรคหลอดเลือดสมองแล้ว คือ ความรวดเร็วในการเข้ารับการรักษา เมื่อเกิดอาการของโรคผู้ป่วยต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือดภายใน 4.5 ชั่วโมง นับจากเริ่มมีอาการ หรือ Stroke Onset และกรณีที่จำเป็นต้องทำการใส่สายสวนเอาก้อนเลือดที่อุดตันออกจากเส้นเลือดสมอง (Endovascular) ภายใน 6 ชั่วโมง ซึ่งจะเห็นได้ว่า เวลาถือเป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินความเป็นความตายในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ ก่อนที่สมองจะเสียหายจากการขาดเลือด จึงนับว่าเป็นช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
เพราะการป้องกันเป็นการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุด ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมันและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เลิกสูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารรสจัด และอาหารที่มีไขมันสูง รับประทานผักและผลไม้ ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายสม่ำเสมอ พฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ปรึกษาอาการ Stroke กับทีมแพทย์พยาบาลเฉพาะทาง
ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลผ่าน Line OA โทร. 02-310-3011 Contact center โทร.1719