ประวัติโรงพยาบาลตาพระยา
พ.ศ.2521 ได้จัดตั้งศูนย์การแพทย์ตาพระยา ( ประชาชน อำเภอตาพระยา เรียกศูนย์นี้ว่า โรงพยาบาลอิตาลี ) โดยรัฐบาลอิตาลี ได้ส่งทีมแพทย์พร้อมเครื่องมือ เพื่อให้การรักษาพยาบาล ประชาชน อำเภอตาพระยา และผู้บาดเจ็บจากภัยสงคราม พ.ศ. 2518 – 2522 เกิดสงครามภายในประเทศกัมพูชา มีการสู้รบตามแนวชายแดน มีการอพยพประชาชน ทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชา สงครามสงบ ทีมแพทย์ชาวอิตาลีจึงได้กลับประเทศ และศูนย์การแพทย์ตาพระยาจึงได้เปลี่ยนเป็นศูนย์สงเคราะห์ผู้พิการชายแดน
พ.ศ.2525 โรงพยาบาลตาพระยาเปิดให้บริการเป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 10 เตียงเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2525 มีพื้นที่ 25 ไร่ 33 ตารางวา ซึ่งได้รับบริจาคที่ดินจากคนจีนชื่อ แปะเล้า โรงพยาบาลตาพระยา ตั้งอยู่ 681 หมู่ 1 ตำบลตาพระยา อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี ( ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นจังหวัดสระแก้ว ) เมื่อ พ.ศ. 2537 (เริ่มแรกเป็นโรงพยาบาล 10 เตียง) ได้เปิดให้บริการรักษาพยาบาลประชาชน โดยมีนายแพทย์กนกศักดิ์ พูนเกษร เป็นแพทย์และผู้อำนวยการคนแรกของโรงพยาบาล
วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2525 ได้มีพิธีเปิดโรงพยาบาลตาพระยาอย่างเป็นทางการโดย ฯ พณฯ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธี ต่อมาได้ถือเอาวันนี้เป็นวันสถาปนาโรงพยาบาลและมีการทำบุญตลอดจนการทำกิจกรรมต่างๆในวันดังกล่าวเป็นประจำทุกปี
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนแรก คือ นายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร บัณฑิตแพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้บุกเบิกโรงพยาบาลในช่วงเริ่มแรก โดยมีนายแพทย์เพียงคนเดียว และเจ้าหน้าที่อีกไม่กี่คน และนายแพทย์กนกศักดิ์เป็นผู้บริหารที่ประสบปัญหา อุปสรรคนานัปการ เนื่องจากเป็นช่วงที่เกิดความไม่สงบตามแนวชายแดน ในขณะนั้นได้มีเหตุการณ์รุนแรงตามแนวชายแดนตลอดเวลาและโรงพยาบาลได้จัดเตรียมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน การรองรับผู้อพยพ การตรวจรักษาผู้ป่วยที่อพยพเข้ามาในจุดรับผู้อพยพ ได้แก่ วัด และโรงเรียน ที่ถัดเข้ามาจากแนวชายแดน รวมทั้งการจัดเตรียมเวชภัณฑ์ที่จำเป็น และรถพยาบาลในการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บตามแนวชายแดน ซึ่งเป็นงานที่หนักมาก
นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการพัฒนาโรงพยาบาล โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน หน่วยราชการต่าง ๆ ทหาร ตำรวจ ตลอดจนพ่อค้าประชาชนซึ่งให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาโรงพยาบาล จนโรงพยาบาลมีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจของประชาชนในอำเภอตาพระยา
แม้แต่โรงพยาบาลเองก็จำเป็นต้องมีการก่อสร้างหลุมหลบภัย สำหรับหลบกระสุนปืนใหญ่ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของข้าราชการและลูกจ้างในโรงพยาบาลแต่ก็ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่กระสุนปืนใหญ่จะเข้ามาตกในเขตโรงพยาบาล
ด้วยการนำของผู้อำนวยการโรงพยาบาล ของเจ้าหน้าที่ชาวโรงพยาบาล ได้มีกิจกรรมต่าง ๆ ในการพัฒนาโรงพยาบาลในหลาย ๆ ด้าน นอกจากงานทางด้านการรักษาพยาบาล ที่เป็นงานหลักแล้วยังมีการพัฒนาในส่วนอื่น ๆ อีก เช่น
การปรับพื้นที่ภายในโรงพยาบาล
การสร้างศาลากลางน้ำ
การปลูกและทำสนามหญ้า
การถากหญ้า ขุดดิน ฯลฯ
ในปี พ.ศ. 2527 วันที่ 28 สิงหาคม 2527 เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็ได้เกิดขึ้นเมื่อนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร ได้ถูกลอบสังหาร โดยมีกลุ่มโจรได้ซุ่มยิง อาร์ พี จี ใส่รถยนต์ส่วนตัว บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 14 ถนนสายตาพระยา- อรัญประเทศ ก่อนถึงศูนย์อพยพเขาอีด่างจนเสียชีวิต จนขณะนี้ยังเป็นปริศนาดำมืด เพราะเหตุใด ทำไม จึงต้องสังหารหมอซึ่งไม่สามารถจับตัวคนร้ายมาลงโทษได้เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นป่าและมีพื้นที่ติดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ยากต่อการติดตามจับคนร้ายมาลงโทษตามกฎหมายบ้านเมืองได้ นับเป็นการสูญเสียบุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญยิ่ง
ด้วยใจที่รักงานและการพัฒนางานที่เริ่มต้น โดยมิได้หวั่นเกรงต่อภัยชายแดนท่านต้องมาเสียชีวิต ณ อำเภอแห่งนี้ นับว่าเป็นบุคคลตัวอย่างที่ควรสรรเสริญยกย่องเป็นผู้มีความเสียสละ นึกถึงประโยชน์สุขของชาวบ้าน จนตัวเองต้องมาจบชีวิตลง
ต่อมากระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิแพทย์ชนบท จึงร่วมกันรวบรวมเงินบริจาคตั้งเป็นกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร ขึ้นในนามของมูลนิธิแพทย์ชนบท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 กองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงคุณงามความดี ความกล้าหาญ เสียสละและอดทนของนายแพทย์กนกศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ซึ่งถูกลอบยิงโดยอาวุธสงครามเสียชีวิต ในระหว่างเดินทางกลับจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ
1. เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดี ความเสียสละกล้าหาญ และอดทนของนายแพทย์กนกศักดิ์
2. เพื่อสรรหาแพทย์หนุ่มสาวที่ปฏิบัติงานในชนบทเสี่ยงภัยและทุรกันดาร ด้วยความกล้าหาญ เสียสละ และอดทน เฉกเช่นเดียวกับนายแพทย์กนกศักดิ์ และมอบรางวัลกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ฯ ให้เพื่อเป็นเกียรติยกย่องเชิดชูเกียรติ
โดยได้เริ่มมีการมอบรางวัลแก่แพทย์ชนบท ในเขตเสี่ยงภัยและทุรกันดารที่มีผลการปฏิบัติงานดี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมาและกระทำมาทุก ๆ ปี โดยมีการมอบรางวัลดังกล่าวในการประชุมประจำปีของผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และสมาชิกชมรมแพทย์ชนบทแห่งประเทศไทย
พ.ศ.2534 ได้ยกระดับ เป็นโรงพยาบาล 30 เตียงดำเนินการให้การดูแลผู้ป่วยด้าน ส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู