ศูนย์โรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง เกิดจากความคิดริเริ่มของผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ในสมัยแพทย์หญิงปรียา กุลละวิชย์ ซึ่งมีความเห็นว่า มีผู้ป่วยต่างจังหวัดประมาณร้อยละ 35-40 เข้ามารับบริการที่สถาบันโรคผิวหนัง กรุงเทพมหานคร จึงเห็นควรจะขยายการให้บริการไปยังส่วยภูมิภาค ลำดับแรกคือภาคใต้ เนื่องจากภาคใต้มีสภาพภูมิอากาศแตกต่างจากอื่น กล่าวคือ มีลักษณะภูมิอากาศที่ร้อนชื้น มีฝนตกเกือบตลอดปี มีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูฝน กับฤดูร้อน อุณหภูมิเฉลี่ย 27.2 องศาเซลเซียส ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพ ทำสวน และประมง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อเกิดโรคทางด้านผิวหนังได้ง่าย จึงได้จัดตั้งศูนย์โรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรังขึ้นตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีในสมัย นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อขยายงานวิชาการด้านโรค ผิวหนังออกสู่ภูมิภาค รวมทั้งให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วถูกต้อง อย่างทั่วถึงและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
กระทรวงสาธารณสุข ได้อนุมัติให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์โรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ ตั้งอยู่ ณ ทุ่งช่องกิวหรือทุ่งหวัง หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ในพื้นที่ 65 ไร่ งบประมาณค่าก่อสร้าง เป็นเงินจำนวน 119,200,000.00 บาท ใช้ระยะเวลาการก่อสร้าง 890 วัน (เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2538 ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2540)
โดยได้รับการช่วยเหลือในการจัดหาสถานที่ในการก่อสร้างโดย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง, นายแพทย์วิเชียร แก่นพลอย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง ในสมัยนั้น และนายแพทย์วิรัช เกียรติเมธา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง คนปัจจุบัน เนื่องจากที่ดินในการก่อสร้างเป็นที่สาธารณประโยชน์ แต่ได้มีประชาชนบุกรุก ทำให้ต้องมีการฟ้องร้อง ดำเนินคดีความ จนชนะคดีในที่สุด