ข้อมูลทั่วไป
1.1 ข้อมูลทั่วไปของเครือข่าย
อำเภอท่าตะโกเป็นเมืองเก่าโบราณสมัยทวาราวดีจากการสำรวจหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี พบว่าเมืองดอนคา เมืองหัวถนน อำเภอท่าตะโก เป็นชุมชนโบราณสมัยทวาราวดี พบร่องรอยลักษณะของเมืองที่มีคูน้ำคันดิน ทั้งแบบชั้นเดียว และคล้ายคลึงหรือมีลักษณะร่วมสมัยกับเมืองสมัยทวาราวดีอื่นๆ
นอกจากนี้ตามหลักฐานทางโบราณคดี ยังขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้ ที่เป็นโลหะและหล่อสำริด พบแว ดินเผา (เครื่องปั่นด้าย) และเครื่องประดับที่ทำจากเปลือกหอย และหินมีค่า เช่นลูกปัดแก้ว ที่บ้านทำนบ และบ้านเขาล้อ
ปัจจุบันอำเภอท่าตะโกเป็นอำเภอหนึ่งใน 15 อำเภอ ของจังหวัดนครสวรรค์ มีตราสัญลักษณ์ อำเภอท่าตะโก เป็นรูปทรงข้าวบิณฑ์ มีลักษณะคล้ายหยดน้ำ หรือ ดอกบัวตูม มีคำขวัญของอำเภอท่าตะโกดังนี้
หลวงพ่อศิลางามเลิศ ถิ่นกำเนิดนครจำปา
งามสง่าเขาโคกเผ่น วัฒนธรรมเด่นไทยทรงดำ
1.2 ขนาดและที่ตั้ง
อำเภอท่าตะโก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดนครสวรรค์ ห่างจากจังหวัดนครสวรรค์ ระยะทางโดยทางรถยนต์ ประมาณ 48 กิโลเมตร พื้นที่ประมาณ 724.63 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 452,894 ไร่
มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อ อำเภอหนองบัว และอำเภอชุมแสง
ทิศใต้ ติดต่อ อำเภอตากฟ้า และอำเภอพยุหะคีรี
ทิศตะวันออก ติดต่อ อำเภอไพศาลี
ทิศตะวันตก ติดต่อ อำเภอเมืองนครสวรรค์และอำเภอพยุหะคีรี
1.3 ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบเอียง จากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตกสู่บึงบอระเพ็ด มีภูเขาเนินเตี้ยสลับเล็กน้อย สภาพพื้นที่โดยส่วนใหญ่เป็นที่ราบค่อนข้างสูง และลาดเอียงลงสูงบึงบอระเพ็ด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ และสำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ มีลำคลองและห้วยที่สำคัญ ได้แก่ ลำคลองท่าตะโก ซึ่งไหลผ่านมาจากเขตอำเภอไพศาลี ผ่านตอนกลางของอำเภอ คือตำบลท่าตะโก ตำบลทำนบ และตำบลวังมหากร
ลำห้วยธารทหาร ไหลมาจากเขตอำเภอหนองบัวไหลผ่านมาทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอท่าตะโกผ่านตำบลสายลำโพงและตำบลวังใหญ่
ลำห้วยท่าตะโก ไหลจากเขตอำเภอไพศาลี ผ่านตำบลดอนคาและตำบลทำนบ ลงลำคลองท่าตะโก
นอกจากนี้ยังมีลำห้วยอื่นๆ อีก เช่น ลำห้วยคลองบอน เป็นต้น
1.4 ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศ เป็นแบบมรสุมเขตร้อน แบ่งออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน อากาศแห้งแล้ง และร้อนจัด ระหว่างเดือน มีนาคม – พฤษภาคม ฤดูฝนมีฝนตกหนัก พอสมควร ระหว่างเดือน มิถุนายน – กันยายน ปริมาณน้ำฝนตกมากที่สุดในราวเดือน สิงหาคม ส่วนใหญ่จะไม่ตกต้องตามฤดูกาล ฤดูหนาวส่วนใหญ่จะหนาวในช่วงตอนกลางคืนระหว่างเดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์
ประวัติโรงพยาบาลท่าตะโก
โรงพยาบาลท่าตะโกมีประวัติความเป็นมาดังนี้
พ.ศ. 2480 หน่วยงานราชการและประชาชน ชาวอำเภอท่าตะโก ได้ร่วมกันสร้างสุขศาลาชั้นสองขึ้นที่ริมคลองท่าตะโก (บริเวณตลาดสดในปัจจุบัน)
พ.ศ. 2499 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดสรรงบประมาณสร้างสถานีอนามัยชั้นหนึ่ง โดยย้ายมาสร้างที่บริเวณเชิงเขาท่าตะโก (โรงพยาบาลท่าตะโกปัจจุบัน) มีแพทย์ประมวล ถมังรักษ์สัตว์ เป็นหัวหน้าสถานีอนามัยขั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นแพทย์คนแรกของอำเภอท่าตะโก
พ.ศ.2516 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดสรรงบประมาณสร้างศูนย์การแพทย์และสถานีอนามัย (โรงพยาบาลขนาด 10 เตียง)
พ.ศ.2520 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดสรรงบประมาณให้อำเภอท่าตะโก รวมกับเงินบริจาคสร้างโรงพยาบาลท่าตะโกขนาด 30 เตียง ในเนื้อที่ 29 ไร่ 92 ตารางวา
พ.ศ.2536 พระครูวิยุทธธรรมประวิตร (หลวงปู่ฮวด) พร้อมด้วยประชาชน ได้จัดสร้างอาคารผู้ป่วยใน 1 หลัง พร้อมครุภัณฑ์และรถ Ambulance 1 คัน บริจาคให้โรงพยาบาลท่าตะโก ต่อมาปี พ.ศ. 2536 ได้รับยกระดับเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง ในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2536
พ.ศ. 2553 โรงพยาบาลท่าตะโกขอยกระดับฐานะโรงพยาบาลชุมชนให้มีขนาดเตียงสูงขึ้นเป็น 90 เตียง ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553
พ.ศ. 2553 สร้างอาคารแพทย์แผนไทยและกายภาพบำบัด
พ.ศ. 2557 สร้างอาคารผ่าตัดและอำนวยการ 1 หลัง
พ.ศ. 2560 สร้างอาคารหอผู้ป่วยใน 3 หลัง จนถึงปัจจุบัน