ประวัติโรงพยาบาลหนองบัว
โรงพยาบาลหนองบัวตั้งอยู่เลขที่ 265/5 หมู่ 3 ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เดิมเป็น “สุขศาลาชั้นสอง กิ่งอำเภอหนองบัว” เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นสถานีอนามัย ซึ่งบริการที่ทำได้ขณะนั้นคือ งานส่งเสริมสุขภาพ งานป้องกันโรคและงานรักษาพยาบาลเบื้องต้น
ใน พ.ศ.2502 มีชาวต่างชาติเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในอำเภอหนองบัว พร้อมกับเปิดสถานพยาบาล ให้การรักษาโรคเรื้อน โรคทั่วไป โดยใช้ชื่อว่า “โรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัว”
พ.ศ.2524 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 7,242,181 บาท เพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง โดยใช้สถานที่ตั้งของสถานีอนามัย รวมทั้งได้ขอขยายพื้นที่เพิ่มอีก 5 ไร่ จากนั้นได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2524 ตามสัญญาเลขที่ 1/2524 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2524 ลงนามระหว่าง สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยนายประมวล จันทร์จำนง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เป็นผู้รับมอบอำนาจ และห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.อุดมชัย เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
1 กรกฎาคม พ.ศ.2525 ได้เปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งบุคลากรผู้ให้บริการขณะนั้นมีเพียงแพทย์ 1 ท่าน และพยาบาลวิชาชีพ 3 ท่าน , พยาบาลเทคนิค 3 ท่าน , ผดุงครรภ์ 3 ท่าน และทันตภิบาล 1 ท่าน ต่อมาได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2526 ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการแล้วมีประชาชนมารับบริการเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และในปีเดียวกันนั้นเองโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัว ได้ปิดกิจการลงแต่องค์การเผยแพร่ศาสนาของคริสเตียนมีความ เห็นว่าอาคารของโรงพยาบาลคริสเตียน หนองบัวยังอยู่ในสภาพที่ดีสามารถใช้งานต่อได้ จึงได้มอบอาคารของโรงพยาบาลให้กับรัฐบาล ดังนั้นเมื่อโรงพยาบาลหนองบัวย้ายมาเปิดดำเนินการ ณ โรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัวเดิม พร้อมทั้งยกฐานะเป็น โรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2526 ต่อมาผู้รับบริการมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จำนวนเตียงที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับการให้บริการ กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดสรรงบประมาณให้ก่อสร้างอาคาร ตึกผู้ป่วยใน 30 เตียง ประกอบด้วยเตียงสามัญ 24 เตียง และห้องพิเศษ 6 ห้อง โดยเปิดบริการตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2529 เป็นต้นมา
ปีงบประมาณ 2537 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก 2 ชั้น และก่อสร้างแล้วให้บริการเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2538 ปีงบประมาณ 2540 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน เพิ่มอีก 30 เตียง โดยเริ่มสร้างตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2540 และได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง ซึ่งจัดเป็นโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ที่รองรับอุบัติเหตุ เมื่อปี พ.ศ.2542 แต่เปิดบริการ 60 เตียง สมบูรณ์ ปี พ.ศ.2544