จากกรณีที่ประเทศญี่ปุ่นจะเริ่มปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2566 แม้ได้รับการรับรองจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ ว่า การปล่อยน้ำเสียดังกล่าวจะปลอดภัยและสอดคล้องกับมาตรฐานโลก แต่แผนดังกล่าวของญี่ปุ่นเผชิญกับการต่อต้านจากทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารทะเล และสุขภาพของผู้บริโภค
24 สิงหาคม 2566) ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค เรียกร้องให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมประมง เร่งออกชี้แจงถึงมาตรการป้องกันและตรวจสอบ พร้อมทั้งแนวทางการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งต้องสุ่มตรวจอาหารทะเลที่หน้าด่านและในท้องตลาดที่นำเข้าจากน่านน้ำต่างประเทศหลังการปล่อยน้ำเสียเพื่อนำมาตรวจวัดกัมมันตภาพรังสี และขอให้แจ้งประชาสัมพันธ์การดำเนินการดังกล่าวให้ผู้บริโภคทราบด้วย เพื่อเป็นการจัดการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และคลายความกังวลของผู้บริโภคกรณีอาหารที่มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี ที่แม้ไม่เกิดอาการทันทีแต่อาจจะส่งผลอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้
ทั้งนี้ จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ได้ออกมาตรการงดการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากประเทศญี่ปุ่น โดยงดผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทั้งมีชีวิต แช่แข็ง แช่เย็น อบแห้ง รวมถึงเกลือทะเล รวมถึงสาหร่ายทะเล แต่จนถึงขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไรทั้งที่เป็นประเทศนำเข้าสินค้าประมงจากญี่ปุ่นอันดับต้นๆ
“สารปนเปื้อนกัมมันตรังสีเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และผู้บริโภคไม่สามารถรับรู้ได้เองว่าเนื้อสัตว์ที่รับประทานเข้าไปนั้นมีการปนเปื้อนหรือปลอดภัยหรือไม่ และการที่จะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้นั้น หน่วยงานกำกับดูแลควรออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และข้อควรปฏิบัติแก่ผู้บริโภค เพื่อความปลอดภัยด้านอาหารและสุขภาพของผู้บริโภค” ภก.ภาณุโชติ ระบุ
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีปริมาณนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศญี่ปุ่น ในปี 2565 (ข้อมูลเดือนมกราคม – ตุลาคมของกรมประมง) พบว่ามีการนำเข้า 128,079.88 ตัน มีมูลค่า 6,401.72 ล้านบาท และ การประมวลผลข้อมูลจากกรมศุลกากรจะเห็นว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศญี่ปุ่นกว่าแสนตัน เป็นไปได้ว่า อาหารนำเข้าเหล่านี้จะถูกนำไปแปรรูปหรือนำไปวางจำหน่ายที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า หรือร้านอาหารต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในปี 2565 ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีจำนวน 5,325 ร้าน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด หากผู้จำหน่ายและร้านอาหารเหล่านั้น รับสินค้าประมงที่มีการปนเปื้อน ผู้บริโภคอาจได้รับความเสี่ยงจากการบริโภคสินค้าปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี มาตรการตรวจสอบจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งจนกว่าสถานการณ์ความเสี่ยงจะลดลง