มะเร็งปอดเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการสูบบุหรี่ โดยผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 20-30 เท่า ซึ่งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็งที่ค่อนข้างสูงและเป็นภาระของทั้งผู้ป่วยและภาครัฐ
ดังนั้น การเพิ่มการเข้าถึงยาอดบุหรี่ให้สามารถเบิกจ่ายได้ในระบบหลักประกันสุขภาพผ่านบัญชียาหลักแห่งชาติ จะเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปอดสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันไทยมียา 5 รายการ ที่ใช้สำหรับเลิกบุหรี่ ได้แก่ ยาเม็ด Varenicline, ยาเม็ด Bupropion , นิโคตินทดแทน (Nicotine replacement therapy), ยาเม็ด nortriptyline และยาชงสมุนไพรหญ้าดอกขาว และมีเพียงยาเม็ด nortriptyline และยาชงสมุนไพรหญ้าดอกขาว ที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้พิจารณาทบทวนรายการยากลุ่มรักษาภาวะติดนิโคตินหรือยาอดบุหรี่ พบว่า ยาแผนปัจจุบันที่ใช้อยู่บางรายการมีราคาแพง มีอาการข้างเคียงสูง ทำให้เกิดปัญหาในการเข้าถึงยาของผู้ป่วย
ดังนั้น จึงได้คัดเลือกยาเม็ดไซทิซีน (cytisine) เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ในบัญชียาพื้นฐาน (บัญชี ก) สำหรับรักษาภาวะติดนิโคติน เนื่องจากเป็นยาที่มีข้อมูลการใช้ในต่างประเทศมานาน มีความปลอดภัยสูง ผลข้างเคียงน้อย และราคาไม่แพง
นอกจากนี้ อย.ยังได้อนุมัติทะเบียนตำรับยา เลขทะเบียน 1A 15006/66 (NC) ชื่อการค้า
Cytisine GPO รูปแบบยาเม็ดสำหรับกิน ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม พร้อมปลดจากยาควบคุมพิเศษเป็นยาอันตราย ส่งผลให้สามารถจำหน่ายยาได้ในร้านยาและสามารถเบิกจ่ายได้ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินเอง ขอให้ประชาชนมั่นใจ อย. มุ่งมั่นในการดำเนินงานให้ประชาชนเข้าถึงยาป้องกันและรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพในราคาที่เหมาะสม
เริ่มผลิตจำหน่ายมกราคม 2567
พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม ได้วิจัยและพัฒนายาเลิกสูบบุหรี่ชนิดใหม่ คือ ยาเม็ด ไซทิซิน จีพีโอ (1.5 มิลลิกรัม) เป็นรายแรกในประเทศไทย สำหรับยาเม็ดไซทิซิน จีพีโอ โดยองค์การเภสัชกรรม ร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ศึกษาวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ ผลการวิจัยมีความปลอดภัย และมีประสิทธิผลดี ซึ่งอยู่ระหว่างการขออนุมัติทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเภทยาควบคุมพิเศษที่จำหน่ายได้ในสถานพยาบาลเท่านั้น
หากเปลี่ยนมาใช้ยาเม็ดไซทิซิน จีพีโอ มาใช้ในการรักษาแทนการรักษาในปัจจุบันที่ใช้ยาเม็ด Varenicline จะทำให้ประหยัดงบประมาณค่ายาต่อคอร์สและลดระยะเวลาในการรักษาได้ 3-4 เท่า รวมทั้งลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ประมาณ 12 ล้านบาทต่อปี โดยองค์การเภสัชกรรม จะเริ่มผลิตจำหน่ายยาในเดือน มกราคม 2567