อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจกลับมาได้อย่างช้าๆ และการฟื้นตัวยังคงมีความเสี่ยงอยู่โดยเฉพาะจากการระบาดรอบใหม่ การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวจาก 63 ประเทศที่เริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ นับเป็นการปรับเปลี่ยนทิศทางเชิงนโยบายครั้งสำคัญของภาครัฐ จากก่อนหน้านี้ที่มาตรการด้านโควิด-19 ถูกมองว่าสร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจและกระทบวิถีชีวิตโดยปกติของประชาชน แม้ไทยจะเป็นประเทศในลำดับต้น ๆ ของภูมิภาคที่เริ่มเปิดประเทศ แต่ข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่มาก ทั้งมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกเพื่อการท่องเที่ยวของประเทศต้นทาง จำนวนเส้นทางบินที่ลดลงจากธุรกิจการบินที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงโควิด-19 รวมถึงนักท่องเที่ยวจีนที่จะยังคงหายไปตลอดช่วงครึ่งปีแรกเป็นอย่างน้อย จะส่งผลให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นไปได้อย่างจำกัดในระยะแรก ก่อนที่การท่องเที่ยวจะทยอยกลับมาคึกคักมากขึ้นช่วงครึ่งหลังของปี 2022 โดยคาดว่ามีนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งปีประมาณ 5.8 ล้านคน ต่ำกว่าระดับ 40 ล้านคนในปี 2019
KKP Research ปรับประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าเป็น 3.9% (รูปที่ 1) จากเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะชะลอตัวลง โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในครึ่งปีแรก และน่าจะเริ่มกลับมาคึกคักในช่วงครึ่งปีหลัง (รูปที่ 2) โดยการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัว และยังมีประเด็นเพิ่มเติมอีก 3 ประการที่ต้องจับตา ได้แก่ (1) ความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว (2) ทิศทางอัตราดอกเบี้ยไทยที่อาจถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา และ (3) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ไทยเดินหน้าเปิดประเทศ แม้โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย
การเปิดประเทศรวมถึงมาตรการผ่อนคลายการเดินทางในประเทศเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับสูงกว่าการแพร่ระบาดในรอบก่อน ๆ การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ Delta ระลอกล่าสุดที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนเมษายนและรุนแรงยิ่งขึ้นในเดือนกรกฎาคม นับว่าเป็นการระบาดระลอกใหญ่ที่สุด โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมจนถึงปัจจุบันกว่า 1.9 หมื่นคน และมีจำนวนผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 1.9 ล้านคน (รูปที่ 3) อย่างไรก็ตาม อัตราการหาตรวจเชื้อที่ต่ำกว่าเกณฑ์ และอัตราการพบเชื้อ (positive rate) ที่ยังสูงกว่าปกติ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าไทยอาจมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จริงสูงกว่าที่มีการตรวจพบหลายเท่าตัว สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงอาจดำเนินอยู่ต่อไป และมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มสูงขึ้นหลังมีการผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ เนื่องจากจำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบจำนวนโดส (2 เข็ม) ทั่วประเทศ (full vaccination rate) ยังคงอยู่เพียงราว 47% ของประชากร (ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2021) และจากประสบการณ์ในต่างประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงกว่านี้ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดรอบใหม่ได้อีก อย่างไรก็ตาม อัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้นเป็นลำดับจะช่วยลดความเสียหายและแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขได้ โดยปัจจุบันมีเพียงกรุงเทพมหานครและจังหวัดภูเก็ตเท่านั้นที่สามารถฉีดวัคซีนครบจำนวนโดสเกินกว่า 70% ของประชากร ทั้งนี้ KKP Research มองว่า ด้วยอัตราการฉีดวัคซีนที่เริ่มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน ภายในสิ้นปีนี้ ไทยจะมีอัตราการรับวัคซีนครบจำนวนโดสราว 60% ของประชากร และสามารถฉีดวัคซีนครบจำนวนโดสถึงระดับ 70-80% ประชากรภายในไตรมาส 1 ของปี 2022 (รูปที่ 4)
KKP Research ประเมินว่าไทยจะไม่กลับไปปิดประเทศอีก การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นการปรับเปลี่ยนด้านนโยบายไปสู่การอยู่ร่วมกับโควิด-19 (Living with Covid) เช่นเดียวประเทศอื่นที่พึ่งพาเศรษฐกิจภาคบริการและภาคการท่องเที่ยวในระดับสูง ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่จะสามารถเดินทางเข้าประเทศได้จำเป็นต้องได้รับวัคซีนครบจำนวนโดสแล้ว และยังต้องมีผลตรวจเชื้อทั้งก่อนและหลังการเดินทาง จึงอาจพอประเมินได้ว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวจะไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของโควิด-19 มากไปกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศในปัจจุบันมากนัก แม้ว่าจะมีความเสี่ยงในการระบาดของเชื้อสายพันธุ์ใหม่อยู่บ้าง ในขณะที่เป้าหมายทางสาธารณสุขขยับออกจากการกดจำนวนผู้ติดเชื้อ (infection rate) ไปสู่การคงความสามารถของสถานพยาบาล (hospitalization capacity) ในการรองรับผู้ป่วยอาการหนัก ที่มีแนวโน้มจะลดน้อยลงเป็นลำดับตามอัตราการได้รับวัคซีนของประชากรที่เพิ่มขึ้น (รูปที่ 5) ทั้งนี้ ยังมีความจำเป็นในการออกแบบมาตรการในการลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด การตรวจหาเชื้อ การเฝ้าระวังเชื้อสายพันธุ์ใหม่ การแยกผู้ติดเชื้อ และมาตรการรับมือกรณีการระบาดมีความรุนแรงจนสร้างความเสี่ยงต่อศักยภาพในการรักษาพยาบาล
3 ปัจจัยสำคัญกำหนดทิศทางเศรษฐกิจปี 2022
ท่องเที่ยวจะยังไม่ฟื้นตัวตลอดครึ่งปีแรก
KKP Research คงคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 5.8 ล้านคนในปี 2022 โดยมองว่าการฟื้นตัวจะค่อนข้างจำกัดตลอดช่วงครึ่งปีแรก และจะทยอยกลับมาคึกคักได้ในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ โดยนักท่องเที่ยวจากยุโรป อเมริกา และโอเชียเนีย มีแนวโน้มจะฟื้นกลับมาเร็วกว่านักท่องเที่ยวเอเชียที่เคยคิดเป็นถึง 75% ของนักท่องเที่ยวหลักที่เข้ามายังไทย (รูปที่ 6) ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวกระทั่งปี 2024 กว่าที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด จากเหตุผล 3 ประการ
ประการแรก
ประเทศนักท่องเที่ยวหลักของไทยในฝั่งเอเชียยังคงมีนโยบายปิดประเทศอยู่ ในภาวะปกติก่อนสถานการณ์โควิด-19 นักท่องเที่ยวเอเชีย (อาเซียน เอเชียตะวันออก และเอเชียใต้) มีจำนวนถึง 30 ล้านคนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมด 40 ล้านคน อย่างไรก็ตาม นโยบายควบคุมการติดเชื้อที่เข้มงวดของชาติต่าง ๆ ส่วนใหญ่ในเอเชีย ส่งผลให้ประเทศต้นทางหลักของนักท่องเที่ยวเอเชียที่เข้ามาในไทยยังคงมีนโยบายปิดประเทศต่อการท่องเที่ยว ซึ่งหมายถึงความยุ่งยากที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ที่อาจจำเป็นต้องกักตัวในสถานที่ที่กำหนดเมื่อเดินทางกลับจากไทยไปยังประเทศตนเอง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเอเชียจะยังเลือกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก
ในปัจจุบัน สิบประเทศหรือดินแดนต้นทางหลักในเอเชียที่มีนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังไทยล้วนยังปิดประเทศต่อการท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่สิงคโปร์เริ่มผ่อนคลายการเดินทางจาก 15 ประเทศหรือดินแดน แต่ยังคงไม่อนุญาตให้มีการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวจากไทย (รูปที่ 7) ในทางกลับกัน แม้ประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการเข้าออกประเทศเพื่อการท่องเที่ยวไปบ้างแล้ว แต่หลายประเทศยังคงจัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศ “เสี่ยงสูง” และไม่แนะนำให้พลเมืองของตนเองเดินทางมายังไทยในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม KKP Research เชื่อว่าข้อจำกัดเหล่านี้น่าจะได้รับการผ่อนคลายเมื่อมีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น และสถานการณ์การติดเชื้อปรับตัวดีขึ้น
ประการที่สอง
นักท่องเที่ยวจีนจะยังไม่กลับมาไทยกระทั่งปลายปีหน้า นับตั้งแต่การอุบัติของโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่น ทางการจีนได้ใช้นโยบายกดจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ (Zero Covid) อย่างเข้มข้น ซึ่งรวมถึงการปิดพรมแดน ปิดรับการท่องเที่ยวทั้งขาเข้าและขาออกประเทศ โดยจีนมองว่าด้วยกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางในต่างประเทศที่มีมหาศาลจะสามารถผันกลับมาเสริมสร้างการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศและนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวในจีนได้ ทั้งนี้ KKP Research ประเมินว่าทางการจีนจะยังคงมาตรการเข้าออกเมืองที่เข้มงวดต่อไปตลอดครึ่งปีแรกของปีหน้า โดยในช่วงต้นปีจะมีงานสำคัญเกิดขึ้นในกรุงปักกิ่ง 2 งาน ได้แก่ มหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว (Winter Olympics 2022) ในเดือนกุมภาพันธ์ และการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress) ที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ ในไตรมาส 4 ของปี 2022 จะยังมีการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (20th National Congress of Chinese Communist Party) ที่คาดกันว่าจะเป็นการประชุมเพื่อขยายวาระประธานาธิบดี Xi Jinping เป็นสมัยที่สาม ทางการจีนจึงมีแนวโน้มจะยังคงมาตรการเข้าออกเมืองที่ยังเข้มข้นต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่จะกระทบต่อสาธารณสุข ชื่อเสียงของประเทศ และอาจส่งผลต่อเนื่องในเชิงการเมืองได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว KKP Research มองว่า การผ่อนคลายมาตรการเข้าเมืองของจีนอาจเริ่มต้นในช่วงกลางปี แต่จะเป็นไปอย่างระมัดระวังและค่อยเป็นค่อยไป และกว่าที่นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาเที่ยวไทยจะอยู่ในช่วงปลายปีไปแล้ว
ประการที่สาม
การเดินทางโดยเครื่องบินยังเป็นอุปสรรคสำคัญ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ธุรกิจสายการบินประสบภาวะขาดทุนและมีมูลหนี้เพิ่มขึ้นสะสมกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ IATA (2021) คาดการณ์ว่าอาจต้องใช้เวลาถึง 1 ทศวรรษกว่าที่ธุรกิจการบินจะมีมูลหนี้ลดลงไปอยู่ในระดับเดิมก่อนโควิด-19 ภาวะการเงินที่ย่ำแย่ส่งผลให้สายการบินต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับลดเส้นทางบินลง โดยเฉพาะเส้นทางบินระยะไกล (long-haul flights) ที่มีแนวโน้มจะขาดทุนสูงจากการเดินทางทางธุรกิจ (business travel) ที่เคยเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญหดหายไป ขณะที่ราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นจากการตึงตัวของอุปทานน้ำมันโลกจะกระทบต่อต้นทุนของเที่ยวบินในสัดส่วนที่สูงกว่าเที่ยวบินระยะสั้น ดังนั้น แม้นักท่องเที่ยวระยะไกลจากประเทศในฝั่งยุโรปและอเมริกาจะมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่านักท่องเที่ยวในฝั่งเอเชียจากมาตรการเปิดประเทศที่ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ด้วยเส้นทางบินระยะไกลที่จะถูกปรับลดลงไปอย่างมากจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งหายไปด้วยเหตุผลด้านอุปทาน นอกจากนี้ จากข้อมูลล่าสุดในเดือนตุลาคมพบว่าจำนวนที่นั่ง (seat capacity) ในเที่ยวบินที่ขึ้น-ลงในอาเซียนยังคงหดตัวหนักกว่าเส้นทางบินอื่นทั่วโลก โดยหายไปถึง 68% จากช่วงก่อนโควิด-19 (รูปที่ 8) ขณะที่สนามบินในอาเซียนที่เคยติด 20 อันดับสนามบินที่คับคั่งที่สุดในช่วงก่อนโควิด-19 ถึง 4 แห่ง ได้แก่ จาการ์ตา สิงคโปร์ กรุงเทพฯ และกัวลาลัมเปอร์ กลับไม่ติด 20 อันดับแรกเลยแม้แต่แห่งเดียว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า อาเซียนอาจเป็นจุดหมายปลายทางแห่งท้าย ๆ ที่จะฟื้นกลับมาเป็นปกติในแง่ของกิจกรรมการบินระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ในระยะแรก นักท่องเที่ยวอาจจะระมัดระวังในการเดินทางในเส้นทางบินระยะไกลที่เพิ่มความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ดังนั้น การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวต่างประเทศของไทยจำเป็นต้องเริ่มจากการกลับมาเป็นปกติของเส้นทางบินในระยะใกล้ ๆ ก่อน
เงินเฟ้อมีความเสี่ยงปรับสูงขึ้น แม้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น
ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องกระทบค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันดิบ (Brent) ที่เพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเป็นผลมาจากกำลังการผลิตน้ำมันที่เร่งขึ้นไม่ทันอุปสงค์โลกที่เริ่มฟื้นตัวในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ในระยะต่อไปราคาน้ำมันอาจมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากแนวโน้มการลดการปล่อยคาร์บอนและพันธสัญญาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ที่ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันชะลอการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งแตกต่างจากวิกฤตราคาน้ำมันครั้งก่อน ๆ ที่เมื่อราคาน้ำมันโลกปรับเพิ่มสูงขึ้นมากจะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตน้ำมันเร่งการผลิตเพิ่มมากขึ้นและทำให้ราคาน้ำมันและพลังงานปรับลดลง ทั้งนี้ ราคาพลังงานคิดเป็นถึง 12-13% ของตะกร้าสินค้าและบริการของไทย (รูปที่ 9) และยังมีผลต่อเนื่องไปยังค่าขนส่งและราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ โดย KKP Research พบว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยมีความสัมพันธ์ในระดับสูงกับราคาน้ำมันดิบโลก (รูปที่ 10) และการเพิ่มขึ้นทุก 10% ของราคาน้ำมันจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทยเพิ่มขึ้นราว 0.5%
KKP Research คาดอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.6% ตลอดปี 2022 แต่เงินเฟ้อและสถานะกองทุนน้ำมันยังมีความเสี่ยง การปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ฐานที่ต่ำ และราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตามหากราคาน้ำมันดิบโลกยังคงอยู่สูงต่อเนื่อง จะมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าที่ประเมินไว้และเข้าใกล้ระดับ 2% หรือสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2014 นอกจากนี้กองทุนน้ำมันที่ปัจจุบันยังคงอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลและราคา LPG อยู่อาจขาดสภาพคล่อง และรัฐจำเป็นต้องกู้เงินเพื่ออุดหนุนเพิ่มเติม หรืออาจต้องลอยตัวราคาน้ำมันในที่สุด ในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบโลกแตะ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หากต้องมีการยกเลิกการอุดหนุนและปล่อยให้มีการลอยตัวราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดีเซล B7 อาจพุ่งสูงขึ้นแตะ 36 บาทต่อลิตร (รูปที่ 11) ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต และมีการปรับราคาสินค้าและค่าจ้างขึ้นอย่างรวดเร็ว (wage-price spiral) ในภาวะที่อุปสงค์ในประเทศยังไม่ฟื้นตัวดีเป็นปกติ จนอาจสร้างความเสี่ยง “เงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจแย่” หรือ stagflation risk ครั้งใหม่ได้
ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นและเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี ไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ โดยในช่วงก่อนโควิด-19 ไทยนำเข้าน้ำมันดิบเทียบเท่าประมาณ 6% ของ GDP ขณะที่ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเพียง 1-2% ของ GDP ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจึงส่งผลลบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดไทย KKP Research ประเมินว่าจากนักท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถกลับเข้ามาได้และค่าขนส่งสินค้าที่อยู่ในระดับสูงจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 2022 ยังคงขาดดุลอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งอาจกดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อเนื่อง และส่งผ่านผลกระทบเพิ่มเติมต่ออัตราเงินเฟ้อ
ในทางกลับกัน แม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสุทธิ ซึ่งโดยปกติราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะราคายางจะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรในปัจจุบันเริ่มมีทิศทางชะลอลงสวนทางกับราคาน้ำมัน (รูปที่ 12) จึงไม่อาจช่วยบรรเทาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้
ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากต้นทุนประกอบการที่สูงขึ้น นอกจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนจะถูกกระทบแล้ว ราคาพลังงานและวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นยังเป็นต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจที่ยังมีงบดุลอ่อนแอมาจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งอำนาจต่อรองและความสามารถในการส่งผ่านภาระต้นทุนมีแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม โดย KKP Research ประเมินว่า ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่อยู่ต้นน้ำ (upstream sectors) จะสามารถส่งผ่านภาระต้นทุนเพื่อรักษาส่วนต่างกำไร (profit margin) ได้ดีกว่าธุรกิจที่อยู่ปลายน้ำ (downstream sectors) ที่ยังถูกกดดันจากอุปสงค์ขั้นปลายที่ยังค่อนข้างอ่อนแอตามภาวะเศรษฐกิจ (รูปที่ 13) นอกจากนี้ ธุรกิจปลายน้ำยังอาจมีความเสี่ยงจากมาตรการควบคุมราคาสินค้าของภาครัฐเพิ่มเติม ส่งผลให้ธุรกิจปลายน้ำต้องแบกรับภาระต้นทุนและมีส่วนต่างกำไรที่ลดลง
เศรษฐกิจจีนเสี่ยงชะลอตัว หน่วงเศรษฐกิจไทย
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มแผ่วลง แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวได้เร็วจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเป็นเศรษฐกิจหลักเดียวของโลกที่รอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในปีที่แล้ว แต่ปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่จะมาช่วยสนับสนุนกิจกรรมในภาคการผลิต การขาดแคลนตู้ขนส่งที่ส่งผลต่อเนื่องให้สินค้าคงคลังเพิ่มสะสมมากขึ้นและภาคธุรกิจเริ่มขาดแคลนสภาพคล่อง รวมถึงวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในกรณีของ Evergrande ซึ่งสะท้อนถึงการกู้หนี้ยืมสินเกินความสามารถ ส่งให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่นับเป็นกว่า 14% ของ GDP และอาจจะสูงถึง 28% ของ GDP หากนับรวมภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มีโอกาสชะลอตัว ฉุดเศรษฐกิจจีนให้ชะลอตัวลงได้ โดยล่าสุดในไตรมาส 3 ขยายตัวได้เพียง 4.9% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ขณะที่ Bank of America ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2022 ลงเหลือเพียง 4.0% จากความคาดหวังที่ลดลงที่จะเห็นธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China) ผ่อนคลายนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจภาคต่างประเทศของไทยพึ่งพาจีนในระดับสูง โดยการส่งออกสินค้าพึ่งพาตลาดจีนสูงถึง 14% ของมูลค่าการส่งออกรวม หรือคิดเป็น 6% ของ GDP และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับตลาดหลักนอกอาเซียนอื่น ๆ ที่มีสัดส่วนลดลง (รูปที่ 14) การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนจึงกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร สินค้าแปรรูป และสินค้าขั้นกลาง ที่ไทยส่งออกไปจีนในสัดส่วนสูง ในระยะต่อไป ความเสี่ยงในด้านที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจีนจะยังมีอยู่ จากการปรับเปลี่ยนนโยบายเชิงโครงสร้างของทางการจีน (1) ให้ภาคการผลิตจีนสามารถพึ่งพาตนเองได้ทั้งในด้านวัตถุดิบและเทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบจากความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกา (2) สนับสนุนให้การบริโภคภายในประเทศมีสัดส่วนมากขึ้นแทนที่การลงทุน สอดคล้องกับนโยบาย “เศรษฐกิจหมุนเวียนคู่ขนาน” (Dual Circulation) ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงในระยะเปลี่ยนผ่าน และ (3) ส่งเสริม “ความมั่งคั่งร่วมกัน” (Common Prosperity) ที่อาจกระทบต่อความมั่นใจของภาคธุรกิจจีนและธุรกิจต่างชาติที่ลงทุนในจีนในแง่การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของภาคเอกชน นอกจากนี้ ความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอยู่ และด้วยนโยบายกดโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ การปิดเมืองและการปิดกั้นการเดินทางอาจจำเป็นต้องนำมาใช้อีกครั้งหากการระบาดระลอกใหม่ไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้
จับตาท่าทีแบงก์ชาติ
KKP Research ประเมินว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในปีหน้า และมีโอกาสจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ด้วยภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้า คณะกรรมการนโยบายการเงินมีแนวโน้มจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับปัจจุบันจนกว่าภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยจะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนในช่วงปลายปีหน้า อย่างไรก็ตาม แม้อัตราเงินเฟ้อจะปรับเพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาอุปทานขาดแคลน (supply-push inflation) เป็นสำคัญ และบางฝ่ายมองว่าเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว (transitory) แต่แนวโน้มของการคลี่คลายด้านอุปทานที่อาจใช้เวลานานกว่าในอดีต ไม่ว่าจะด้วยวาระการลดโลกร้อน หรือการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐฯ และจีน (US-China decoupling) รวมถึงเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าและผันผวนจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงครึ่งปีแรก อาจส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นเร็วได้ในบางชั่วขณะ และมีการคาดการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น (inflationary expectation) จึงเป็นที่น่าจับตาว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะมีมุมมองต่อทิศทางเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายการเงินอย่างไร การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหยุดชะงัก หรือหากขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้าเกินไปก็อาจทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อก่อตัวสะสม ซึ่งจะยิ่งทำให้ประสิทธิผลของนโยบายการเงินลดลงไปและจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่ กนง. อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี 2022 ได้ หากธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็ว หรือเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น หรือการท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็วกว่าคาด หากประเมินด้วยมติของคณะกรรมการนโยบายการเงินในระยะที่ผ่านมาที่เน้นย้ำถึงการรักษาเสถียรภาพด้านการเงินและแสดงความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะทยอยขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ตัดสินใจเริ่มขึ้นดอกเบี้ยภายในช่วงครึ่งหลังของปี หรือการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวเร็วกว่าที่ประมาณการเดิม
สำหรับเศรษฐกิจในปี 2022 ในภาพรวม จากปัจจัยสนับสนุนทั้งนโยบายการเปิดเศรษฐกิจ การเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยว และการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายและภาวะการเงินของครัวเรือนและธุรกิจมากว่า 2 ปี แต่การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นไปจากเศรษฐกิจโลกและพรมแดนที่ยังไม่เปิดเต็มที่ ขณะที่อุปทานยังตึงตัว ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดีและยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงครึ่งปีแรก และยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้