ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สธ.จับมือภาคเอกชน เพิ่มคุณภาพชีวิตคนวัยทำงาน ลดเสี่ยง-เจ็บป่วย-ตายก่อนวัยจากโรคไม่ติดต่อ

สธ.จับมือภาคเอกชน เพิ่มคุณภาพชีวิตคนวัยทำงาน ลดเสี่ยง-เจ็บป่วย-ตายก่อนวัยจากโรคไม่ติดต่อ Thumb HealthServ.net
สธ.จับมือภาคเอกชน เพิ่มคุณภาพชีวิตคนวัยทำงาน ลดเสี่ยง-เจ็บป่วย-ตายก่อนวัยจากโรคไม่ติดต่อ ThumbMobile HealthServ.net

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคเอกชน ขับเคลื่อนการทำหน่วยงานให้เป็นองค์กรสุขภาพ ตามแนวทางของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข มุ่งสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ให้บุคลากรมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ และได้รับการสร้างเสริมสุขภาพที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ เพิ่มคุณภาพชีวิตคนวัยทำงาน

สธ.จับมือภาคเอกชน เพิ่มคุณภาพชีวิตคนวัยทำงาน ลดเสี่ยง-เจ็บป่วย-ตายก่อนวัยจากโรคไม่ติดต่อ HealthServ
 
 
         
 
          วันนี้ (24 มกราคม 2565) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายกรด โรจนเสถียร คณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือสนับสนุนนโยบายองค์กรเพื่อสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคไม่ติดต่อ ตามแนวทางคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข
 
          นายอนุทิน กล่าวว่า การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เป็น 1 ใน 6 ยุทธศาสตร์ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล ที่มีเป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาคนในทุกมิติและทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง มีคุณภาพ ซึ่งต้องเริ่มจากการมีสุขภาวะที่ดีก่อน แต่ข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้พบว่าคนช่วงอายุ 30-69 ปี  ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานที่ควรจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ กลับเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ 4 กลุ่มโรคหลัก คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ขณะที่ภาครัฐต้องรับภาระค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยกลุ่มนี้ถึง 1.39 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องดำเนินการ โดยกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลสุขภาพของประชาชน ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ปรับระบบบริการสุขภาพให้ทันสมัย ได้มาตรฐาน และใช้เทคโนโลยีช่วยให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึงระบบบริการมากขึ้นลดการนอนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ซึ่งโครงการที่ได้นำร่องไปแล้ว อาทิ 30 บาทรักษาทุกที่ การใช้ Personal Health Record ดูแลก่อนป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง การปรึกษาแพทย์ทางโทรศัพท์ และขอรับยาทางไปรษณีย์หรือร้านยาที่สะดวก เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ต้องใช้หลักการสร้างนำซ่อม คือ ดูแลตั้งแต่ต้นทางไม่ให้เจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเหล่านี้ โดยการให้สถานที่ทำงานเป็นองค์กรสุขภาพดี บุคลากรขององค์กรมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ สามารถดูแลจัดการสุขภาพของตนเองได้และมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์
 
 
         ด้านศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยทำงานที่ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเสี่ยง และส่วนหนึ่งยังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่มีประสิทธิผลจึงได้กำหนดให้เรื่องนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข มีเป้าหมายให้ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะผู้ป่วยและคนวัยทำงานที่มีความเสี่ยงกับโรคไม่ติดต่อ ซึ่งรวมถึงโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ได้รับบริการทางการแพทย์และการสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่ ที่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลส่วนบุคคล มีการเชื่อมโยงข้อมูลและสารสนเทศด้านสุขภาพพร้อมทั้งร่วมมือกับทุกภาคส่วน ผลักดันให้เกิดองค์กรแห่งความรอบรู้ด้านสุขภาพ ที่มีการบูรณาการการสร้างเสริมสุขภาพ การสร้างเสริมความรอบรู้ และการป้องกันโรคเข้าในระบบ/กลไกสถานประกอบการ เพื่อเอื้อให้บุคลากรเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ มีการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับพนักงาน รวมถึงสร้างผู้นำในการดูแลสุขภาพหลัก (Chief Health Officer) ขององค์กร ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนวัยทำงานเกิดความมั่นคงด้านสุขภาพ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพของประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
 
          นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน หรือโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ในช่วงอายุ 30-70 ปี มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 14.8 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 12.7 ในปี 2561 และให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ร้อยละ 11 ในปี 2568 แต่พบว่าความชุกของโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ยังคงเพิ่มขึ้น ดังนั้นคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ 5 ปีฯ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงมี “นโยบายเร่งรัดการป้องกันและควบคุมโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน (Together fight NCDs)” เน้นกลยุทธ์การสร้างความร่วมมือในการทำงานกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน มีเป้าหมายให้บรรลุผลในปี 2568 ได้แก่ การบริโภคน้ำตาล และโซเดียมของประชากรไทยลดลงร้อยละ 30, ร้อยละ 70 ของประชาชน รู้ตัวเลขที่บ่งชี้สุขภาพและทราบระดับความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs, สัดส่วนผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย (ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรค) ลดลงครึ่งหนึ่ง และผู้ป่วยที่เข้ารับบริการสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดได้เกินครึ่งหนึ่ง โดยมีตัวชี้วัดคือการติดตามกลุ่มสงสัยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง  ซึ่งองค์กร/ที่ทำงานต่างๆ จะมีส่วนช่วยอย่างมากในการทำให้คนที่เริ่มป่วยรู้สถานะความเสี่ยงและได้รับการวินิจฉัยเพื่อเข้าสู่ระบบบริการได้แต่เนิ่นๆ ซึ่งจากการนำร่องใช้สถานีสุขภาพดิจิทัล ในเขตปฏิรูปสุขภาพที่ 1, 4, 9 และ 12 โดยผู้ดูแลสถานีส่งข้อมูลระดับน้ำตาลและระดับความดันโลหิตผ่านแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์ให้บุคลากรทางการแพทย์วินิจฉัยหรือให้คำแนะนำ พบว่าได้ผลดี หากภาคเอกชนนำไปขยายผลในสถานที่ทำงาน ก็จะทำให้พนักงานได้รับการคัดกรองโรคไม่ติดต่อได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
 
 
          นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า 1 ใน 4 ของคนวัยทำงานมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน และมีแนวโน้มความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นจากการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงานในสภาวะกดดันและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อ อาทิการรับประทานอาหารหวาน มัน เค็มจัด ขาดผักผลไม้ มีกิจกรรมทางกายน้อย สูบบุหรี่ - ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนมีความเสี่ยงหรือป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อ โดยผลการสำรวจในปี 2558 เทียบกับปี 2563 พบว่า โรคเบาหวานมีความชุกสูงขึ้นจากร้อยละ 8.9 เป็น 9.5 โรคความดันโลหิตสูงจากร้อยละ 24.7 เป็น 25.4  และโรคอ้วน จากร้อยละ 37.0 เป็น 42.2 ตามลำดับ กรมควบคุมโรคจึงได้ขับเคลื่อนนโยบายองค์กรสุขภาพและมาตรการสร้างเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงานทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เป็นองค์กรสุขภาพ บุคลากรเจ็บป่วยน้อยลงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้องค์กรมีผลผลิตจากการทำงานเพิ่มขึ้นตามมา

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด