นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เป็นปัญหาที่บั่นทอนความมั่นคงของประเทศชาติ รัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างครอบคลุมทุกมิติ โดยกำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นนโยบายระดับชาติ และดำเนินการตามกรอบทิศทางสากลมาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา มุ่งเน้นการสร้างความสมดุล เปลี่ยนจากการลงโทษผู้เสพมาเป็นการใช้มิติด้านสาธารณสุข และแก้ปัญหาแบบองค์รวม โดยถือว่า “ผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วย” ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา เน้นลดอันตรายที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด และพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม
ทั้งนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด รวมถึงการบำบัดรักษา จึงต้องมีความพร้อมในการรองรับการบำบัดรักษาและต้องบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะครอบครัวและชุมชน เพื่อให้การดูแลช่วยเหลืออย่างรอบด้านและต่อเนื่อง มีระบบการรับ-ส่งต่อตามศักยภาพสถานพยาบาล
ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ความเข้าใจ มีระบบให้คำปรึกษาแก่ผู้ปฏิบัติงานโดยผู้เชี่ยวชาญ ด้วยถือว่า การติดยาเสพติดเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ความคิด อารมณ์และพฤติกรรม ของผู้เสพเปลี่ยนไป แต่โรคนี้เมื่อเป็นแล้วก็สามารถรักษาได้ แม้จะไม่สามารถหยุดเสพได้ทันที แต่สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อกัน
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สบยช. และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี
เป็นหน่วยงานหลักของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่มีศักยภาพในการปฏิบัติภาระหน้าที่ ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในภาระกิจที่ชัดเจน ดังนี้
- การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
- รับ-ส่งต่อ การดูแลผู้ป่วยเสพติดระดับตติยภูมิ
- สนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรสาธารณสุขของโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล และสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้มีศักยภาพช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที
- รองรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอันตรายในภาวะวิกฤติฉุกเฉินที่ต้องได้รับการดูแลรักษาเร่งด่วน
สามารถขอคำปรึกษาจากทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) โทร. 0 2531 0080-4 ต่อ 335 ในเวลาราชการ หรือ ต่อ 444 นอกเวลาราชการ หรือศูนย์บริการ รับส่งต่อ โทร. 0938095035 และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ซึ่งจะมีสหวิชาชีพคอยให้คำปรึกษา
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความยุ่งยากซับซ้อนมาก เช่นติดรุนแรง/เรื้อรัง สามารถส่งต่อ สบยช. ผ่านศูนย์ประสานการรับส่งต่อผู้ป่วยติดยาและสารเสพติด สบยช.
ทั้งนี้หากประชาชนทั่วไปประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่
- สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165
- สายด่วนเลิกยาเสพติด ผ่านศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง
หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th