12 ตุลาคม 2566 ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุม “ทิศทางการพัฒนาระบบยาและเภสัชกรรมประเทศไทย ยุคดิจิทัล” และบรรยายพิเศษ “มุมมองและความคาดหวังของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อวิชาชีพเภสัชกร” โดยมีนายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) เภสัชกร กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และ ผู้เข้าอบรมกว่า 250 คน ร่วมงาน
นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อน “30 บาท PLUS เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน” ด้วยการยกระดับสาธารณสุขไทย ต่อยอดเศรษฐกิจไทย เติมเต็มบริการสุขภาพเพื่อประชาชน ให้มีสุขภาวะที่ดีทุกมิติ โดยใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการ การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการ อาทิ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ โรงพยาบาลอัจฉริยะ ระบบการแพทย์ทางไกล ส่งต่อแบบไร้รอยต่อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเพิ่มความครอบคลุมการดูแลสุขภาพปฐมภูมิที่บ้านและชุมชน โดยการพัฒนาระบบนัดหมาย รับยาในหน่วยบริการใกล้บ้าน ส่วนผู้ป่วยบางกลุ่มโรค เช่น มะเร็ง การดูแลสุขภาพจิตและยาเสพติด รวมถึงผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยระยะท้าย ได้เข้าถึงบริการสุขภาพครอบคลุมทุกพื้นที่
นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า สำหรับวิชาชีพเภสัชกรนับว่ามีความสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านยา เพื่อให้ประชาชน “เข้าถึงยาที่จำเป็น สมเหตุผล รวดเร็ว ใกล้บ้าน” ผ่านกระบวนการค้นหา แก้ไขปัญหา เพิ่มการเข้าถึงยา และเพิ่มคุณภาพการรักษาด้วยยาให้กับผู้ป่วย พัฒนาระบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ทุตยภูมิ ตติยภูมิ ให้มีการรับยาใกล้บ้าน บริการเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) ลดระยะเวลารอคอยในโรงพยาบาลด้วยระบบคิวออนไลน์หรือหุ่นยนต์จัดยาในหน่วยบริการผู้ป่วยนอก/ผู้ป่วยใน บนพื้นฐานการบริหารจัดการฐานข้อมูลระบบยา สร้างระบบส่งต่อผู้ป่วยและยาแบบไร้รอยต่อ สร้างความรอบรู้ด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองด้านยาอย่างปลอดภัยและมีคุณภาพ รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าถึงยาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน พัฒนางานวิจัยและยาหรือสมุนไพรบางรายการเพื่อทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบันซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสร้างเศรษฐกิจประเทศ
“เภสัชกรเป็นบุคลากรหลักที่จะสนับสนุนให้ระบบยาพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยสามารถพึ่งตนเองด้านยาได้โดยเฉพาะการพัฒนาสมุนไพรมาเป็นยาเพื่อทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน และที่สำคัญจะช่วยดูแลความปลอดภัยด้านยาของประชาชนด้วย”นายแพทย์ชลน่านกล่าว
ด้านรองศาสตราจารย์ (พิเศษ) เภสัชกรกิตติ กล่าวว่า การประชุมฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อยกระดับและรักษามาตรฐานการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สร้างระบบหรือกลไกในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมพัฒนาตนเองให้ทันต่อความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยี ให้สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือผู้รับบริการอีกทางหนึ่ง โดยการประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 12 ตุลาคม 2566 มีการบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ เช่น “ทิศทางของเภสัชกรในยุคดิจิทัล” “Telepharmacy” “ความเชื่อมโยงระหว่าง AI Big data และงานบริการผู้ป่วย ภาครัฐการ” และประชุมกลุ่มย่อย ในประเด็น “วิชาชีพเภสัชกร จะสนับสนุนนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาลอย่างไร?”