12 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
สืบเนื่องจาก นโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ในด้านความปลอดภัยที่รัฐบาลจะทำงานร่วมกับประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย โดยยึดหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการรักษาบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง รวมทั้งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ที่ให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการดำเนินการจัดทำกฎหมายว่าด้วยการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ (ยาบ้า) และที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จและเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วน
กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำร่างกฎกระทรวง ซึ่งออกตามความในมาตรา 107 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด เสนอต่อคณะรัฐมนต มีสาระสำคัญ คือ
การกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 และวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยเฉพาะยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 อาทิ แอมเฟตามีน (ยาบ้า) ที่กำหนดปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม
ข้อสันนิษฐานดังกล่าว จะใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เพื่อพิจารณาว่าผู้ที่ครอบครองยาเสพติดผู้ใดเป็นเพียงผู้เสพ
จะส่งผลให้ "ผู้ครอบครองยาเสพติดในปริมาณเล็กน้อย" สามารถสมัครใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดได้
และหากบุคคลดังกล่าวได้รับการบำบัดรักษาจนหายจากการติดยาเสพติดแล้ว ผู้นั้นก็จะ "ไม่ต้องรับโทษ" ในความผิดฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครองตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้เป็นการออกกฎหมายลำดับรองซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีผลใช้บังคับ (เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564) ภายหลังพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอขอขยายระยะเวลาการดำเนินการออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตามความในประมวลกฎหมายยาเสพติดตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
*
ภาพจากเพจสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด