พร้อมเชิญชวน ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางย้อนอดีต ตลอดจนร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่างสถานีกรุงเทพ - สถานีกรุงเก่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2439
สำหรับการจัดขบวนรถพิเศษนำเที่ยวรถจักรไอน้ำ เส้นทางประวัติศาสตร์ กรุงเทพ – อยุธยา – กรุงเทพ การรถไฟฯ ได้นำหัวรถจักรไอน้ำ รุ่นแปซิฟิก หมายเลข 824 และ 850 รุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลิตโดยบริษัท นิปปอน ชาร์เรียว จำกัด ซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาและซ่อมบำรุงอยู่ที่โรงรถจักรธนบุรีมาให้บริการลากจูงแก่ประชาชน โดยขบวนที่ 901/902
กำหนดการ มีดังนี้
- ออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 08.10 น. ถึงสถานีอยุธยา เวลา 10.20 น.
- จากนั้นจะปล่อยให้ทุกท่านสามารถ ท่องเที่ยวเดินทางได้อย่างอิสระ เดินทางไปกราบไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท่องเที่ยวโบราณสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ชมสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย ตลอดจน เดินชม ช็อป ชิม ตลาดเก่า ร้านอาหารผสมผสาน บรรยากาศความเป็นเมืองเก่าของพระนครศรีอยุธยา โดยใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง
- เดินทางกลับ ออกจากสถานีอยุธยา เวลา 16.40 น. ถึงสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยสวัสดิภาพ เวลา 18.50 น.
การจองตั๋ว
ผู้สนใจสำรองตั๋วโดยสารพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป
- อัตราค่าโดยสาร รถธรรมดาชั้น 3 ไป-กลับ ผู้ใหญ่/เด็ก ราคา 329 บาท
- รถนั่งปรับอากาศ ชั้น 2 ราคา 529 บาท รถนั่งนอนปรับอากาศ
- รถจัดเฉพาะปรับอากาศ (รถโอทอป) ราคา 799 บาท
มีบริการอาหารว่างและน้ำดื่มทุกที่นั่งทั้งเที่ยวไป - กลับ
สนใจสามารถติดต่อซื้อตั๋วโดยสารและสำรองที่นั่งล่วงหน้าด้วยระบบ D-Ticket หรือที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ โดยขบวนจะให้บริการหยุดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีสามเสน บางซื่อ ดอนเมือง และรังสิต ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นและลงตามสถานีดังกล่าวได้ รวมถึงประชาชนที่ไม่ได้เดินทาง หรืออาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง สามารถร่วมบันทึกความทรงจำ ถ่ายภาพหัวรถจักรไอน้ำในเส้นทางที่ขบวนรถวิ่งผ่านได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์ โทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเฟซบุ๊ก แฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
ข้อมูล
eatfuntravel
รถจักรไอน้ำออกวิ่งปีละ 6 ครั้ง
การรถไฟฯ นำหัวรถจักรไอน้ำแปซิฟิก หมายเลข 824 และ 850 รุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลิตโดยบริษัท นิปปอน ชาร์เรียว จำกัด ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาและซ่อมบำรุงอยู่ที่โรงรถจักรธนบุรี โดยนำมาจัดเดินขบวนรถพิเศษนำเที่ยว เนื่องใน 6 วันสำคัญของทุกปี ประกอบด้วย
- วันที่ 26 มีนาคม วันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟ เส้นทางกรุงเทพ – อยุธยา – กรุงเทพ
- วันที่ 3 มิถุนายน วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เส้นทางกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ
- วันที่ 28 กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เส้นทางกรุงเทพ – อยุธยา – กรุงเทพ
- วันที่ 12 สิงหาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เส้นทางกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ
- วันที่ 23 ตุลาคม วันปิยมหาราช เส้นทางกรุงเทพ – อยุธยา – กรุงเทพ
- วันที่ 5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เส้นทางกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ
รู้จัก รถจักรไอน้ำแบบแปซิฟิค หมายเลข 824 และ 850 คุณปู่ที่ยังฟิตปั๋ง
รู้จัก รถจักรไอน้ำแบบแปซิฟิค หมายเลข 824 และ 850 สักหน่อยเป็นไร ที่บางคนแซวว่า เป็นคุณปู่ แต่ก็เป็นคุณปู่ที่ยังฟิตปั๋ง นะขอบอก
รถจักรไอน้ำแบบแปซิฟิค ทั้งสองคัน เป็นรถจักรไอน้ำที่ ถูกใช้การหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อทดแทนรถจักรที่เสียหายจากสภาวะสงคราม เป็นการสั่งรถจักรไอน้ำเข้ามาใช้งานเป็นครั้งสุดท้ายด้วย รถจักรรุ่นนี้ถูกสร้างขึ้นมาจำนวน 30 คัน (หมายเลข 821-850) ระหว่าง พ.ศ.2492-2493 โดยสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น มีการจัดวางล้อแบบ 4-6-2 เรียกว่า “แปซิฟิค” คือ มีล้อนำ 4 ล้อ – ล้อกำลัง 6 ล้อ – ล้อตาม 2 ล้อ ใช้สำหรับลากจูงขบวนรถที่ใช้ความเร็ว น้ำหนักน้อย
รถจักรไอน้ำทั้ง 2 คันนี้ ผลิตจากบริษัทนิปปอน ชาร์เรียว โดยหมายเลข 824 นำมาใช้งานในเดือนสิงหาคม 2492 ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ต่อมาได้ดัดแปลงให้ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงแทนในปี 2514
ส่วนหมายเลข 850 นั้น ถูกนำมาใช้งานเมื่อเดือนมีนาคม 2494 เป็น 1 ใน 5 คันของรถจักรต้นแบบจากผู้ผลิตที่ติดตั้งระบบการใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้แทนฟืน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนไม้ฟืน
ในปี 2555 การรถไฟฯ ได้ทำการซ่อมบำรุงหนักทุกส่วนของรถจักรไอน้ำ 2 คันนี้ โดยเปลี่ยนหม้อน้ำใหม่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อการใช้งาน ทั้งยังติดตั้งระบบห้ามล้อใหม่จากเดิมที่เป็นระบบสุญญากาศ ให้เป็นระบบลมอัด เพื่อความคล่องตัวในการจัดรถพ่วงที่ใช้ห้ามล้อระบบลมอัดได้ด้วย ซึ่งลดปัญหาการจัดหารถพ่วงที่นำมาต่อขบวนได้เป็นอย่างดี โดยนำมาใช้การอีกครั้งในการเดินรถพิเศษวันที่ 5 ธันวาคม 2555
ปัจจุบัน รถจักรไอน้ำทั้ง 2 คัน ถูกเก็บรักษาอยู่ที่ “โรงรถจักรธนบุรี” เพื่อใช้ในภารกิจการลากจูงขบวนรถที่จัดเดินในโอกาสพิเศษต่างๆ รวมถึงการถ่ายทำภาพยนตร์อีกด้วย
ข้อมูลรถจักรไอน้ำแปซิฟิค หมายเลข 824 และ 850
- น้ำหนักรถจักร : 58,000 กิโลกรัม (58 ตัน)
- น้ำหนักรถลำเลียง : 38,900 กิโลกรัม (38.9 ตัน)
- รวมน้ำหนักรถจักร และรถลำเลียง : 96,900 กิโลกรัม (96.9 ตัน)
- ปริมาตรความจุน้ำในรถลำเลียง : 15,000 ลิตร
- ความยาวรถจักร : 19,335 มิลลิเมตร (19.3 เมตร)
- ความจุน้ำมันเตาเพื่อการเผาไหม้ : 4,200 ลิตร
- กำลังไอ : 13 กิโลกรัม / ตารางเซนติเมตร
ข้อมูลจากเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
พระราชพิธีปฐมฤกษ์เปิดเดินรถไฟหลวง วันที่ 26 มีนาคม 2439
วันสถาปนารถไฟหลวงนับเอาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2439 อันเป็นวันที่มี "พระราชพิธีปฐมฤกษ์เปิดเดินรถไฟหลวง" โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ทำพิธีที่พลับพลาที่ประดับ บริเวณที่ทรงขุดกระทำพระฤกษ์ เริ่มการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2434
ทรงตรึงหมุดที่รางทองรางเงินข้างเหนือ ให้ติดกับหมอนไม้มริดคาดเงิน มีอักษรจารึก เป็นพระฤกษ์ จากนั้น สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ จึงทรงตรึงรางเงินรางทอง ลงเหนือหมอนไม้มริดคาดเงิน มีอักษรจารึก ซึ่งทอดไว้
ทางด้านใต้ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และทูตานุทูต ทั้งชายหญิง ช่วยกันตรึงต่อไป จนเสร็จทั้ง 2 ราง ซึ่งนับว่าทางรถไฟ ในระหว่างกรุงเทพฯ กับกรุงเก่าติดต่อกันแล้ว ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
อ่านประวัติการสถาปนารถไฟหลวงแบบเต็ม