จากกรณีที่มีการตั้งคำถามว่า อสม.ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติการลือกตั้งสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 50(12) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งเงินเดือน และมาตรา 50(14) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือไม่ ตามที่ปรากฎในสื่อมวลชน
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว กรม สบส. ขอชี้แจงว่า ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ.2554 ข้อ 3 อสม. หมายถึงบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจากหมู่บ้านหรือชุมชน และผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรฝึกอบรมมาตรฐานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่คณะกรรมกลางกำหนด และตามข้อ 22 ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็น อสม.พร้อมออกบัตรประจำตัว โดย อสม. จะมีหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพในท้องถิ่นและชุมชน ดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ ดูแลผู้ป่วยและเฝ้าระวังโรคในชุมชน และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2552 เห็นชอบตามยุทธศาสตร์และแผนงานเสริมสร้างรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่งคงทางสังคม โครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเชิงรุก และกระทรวงสาธารณสุขได้ใช้ข้อบังคับตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสิทธิได้รับเงินค่าป่วยการในการปฏิบัติหน้าที่ของ อสม. พ.ศ.2560 โดยข้อ 3 ค่าป่วยการ หมายถึง เงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ อสม.เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีหลักเกณฑ์ คือ
- ต้องมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานที่แน่นอนอย่างน้อยหนึ่งวันต่อสัปดาห์ หรืออย่างน้อย 4 วันต่อเดือนในกิจกรรมที่ได้รับมอบหมาย
- และต้องมีการปฏิบัติงานจริง มีการรายงานผลปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
- รวมถึงเข้าร่วมประชุมและอบรมเพิ่มพูนความรู้อย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน
จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น อสม.ถือเป็นเพียงผู้มีจิตอาสา ที่ได้รับการคัดเลือกจากหมู่บ้านหรือชุมชน จึงไม่ใช่บุคคลซึ่งเป็นข้าราชการ หรือมีตำแหน่งเงินเดือนประจำของกระทรวงสาธารณสุข และไม่ถือเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามมาตรา 50(14) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562
ในส่วนของเงินที่ได้รับ เป็นเงินค่าสนับสนุนในการปฏิบัติงานเชิงรุกของ อสม.จากทางราชการ และเป็นการชดเชยในส่วนที่ อสม.ต้องจ่ายไปในการปฏิบัติงาน เช่น ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์และอื่นๆ รวมทั้งค่าเสียโอกาสในการหารายได้จากการประกอบอาชีพประจำมาทำงานจิตอาสา ไม่ใช่เป็นเงินเดือนประจำ ซึ่งกรม สบส.ได้ส่งข้อหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับกรม สบส.
นอกจากนี้ นพ.ธเรศ อธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอความร่วมมือ อสม. ออกรณรงค์เชิญชวนประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในชุมชนออกมาใช้สิทธิ เลือกคนดีเข้ามาบริหารท้องถิ่น และอสม.บางส่วนที่เป็นคณะกรรมการในหน่วยเลือกตั้ง ก็ควรปฏิบัติและวางตัวตามบทบาทหน้าที่ของกรรมการหน่วยเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด และเน้นย้ำมาตรการข้อปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากโรคโควิด 19 ขณะออกมาใช้สิทธิ ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา เว้นระยะห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร ตรวจวัดอุณหภูมิ และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ก่อนเข้าไปในที่เลือกตั้งและก่อนออกจากที่เลือกตั้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
26 มีนาคม 2564
ภาพจาก
WHO
อสม.ไทยกว่าล้านคน หรือ ผู้ปิดทองหลังพระ LINK
อสม.ไทยกว่าล้านคน หรือ “ผู้ปิดทองหลังพระ” ช่วยสอดส่องดูแลให้ชุมชนห่างไกลโควิด 19
28 August 2020 WHO
กระทรวงสาธารณสุขบริหารจัดการอสม.จำนวน 1.04 ล้านคนทั่วประเทศ รวมถึงอาสาสมัคร 15,000 คนในกรุงเทพฯ อสม.แต่ละคนได้รับเงิน 1,000 บาทต่อเดือน และได้รับอีก 500 บาทเพิ่มในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
อสม.เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของระบบสุขภาพปฐมภูมิในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขาออกไปสำรวจข้อมูลด้านสาธารณสุข เก็บข้อมูล เก็บบันทึกด้านสุขภาพของครอบครัว และรณรงค์เรื่องการป้องกันโรคเพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด การเก็บประวัติสุขภาพของสมาชิกในชุมชนโดยละเอียดได้ถูกนำมาใช้เพื่อติดตามผู้สัมผัสโรคและเพื่อติดตามด้านสุขภาพ
อสม.เหล่านี้ได้ปกป้องคนในชุมชนจากโรคที่คุ้นเคยตลอดฤดูกาลระบาดมานานแล้ว ในช่วงฤดูฝน พวกเขาไปเยี่ยมตามบ้านเพื่อช่วยกำจัดแหล่งน้ำขังซึ่งเป็นที่เพาะพันธุ์ยุงลายอันเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ช่วยกำจัดลูกน้ำ และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์อื่นๆ ส่วนในช่วงฤดูร้อน พวกเขาช่วยทางปศุสัตว์ท้องถิ่นฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าให้โคกระบือและสัตว์เลี้ยง
อ่านทั้งหมด