ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

4 มาตรการคุมแอลกอฮอล์ ปีใหม่ 2568 เน้นย้ำ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ”

4 มาตรการคุมแอลกอฮอล์ ปีใหม่ 2568 เน้นย้ำ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” Thumb HealthServ.net
4 มาตรการคุมแอลกอฮอล์ ปีใหม่ 2568 เน้นย้ำ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ThumbMobile HealthServ.net

คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นชอบมาตรการปีใหม่ 2568 เน้นย้ำ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” อย่างต่อเนื่อง พร้อมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ กำชับพื้นที่เฝ้าระวังด่านชุมชน และบังคับใช้กฎหมาย ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้

 18 พฤศจิกายน 2567) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมี นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ. อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม โดยก่อนการประชุมได้มีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด ที่สามารถเชิญ ชวน เชียร์ ประชาชนและผู้มีปัญหาจากการดื่มเหล้า ให้ลด ละ เลิกเหล้า เข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาสูงที่สุด ประจำปี 2567 จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สระแก้ว สุโขทัย แม่ฮ่องสอน ปัตตานี สมุทรสงคราม เชียงใหม่ อ่างทอง ยะลา และระนอง
 
 

              นายสมศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ 4 มาตรการหลักควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568 ได้แก่ 1) มาตรการขับเคลื่อนแบบบูรณาการ 2) มาตรการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ 3) มาตรการป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงระดับชุมชน และ 4) มาตรการการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน และเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น เทศกาลปีใหม่ 2567 และ พบว่า ในผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมด เป็นผู้บาดเจ็บจากดื่มแล้วขับ 4,777 ราย และจากการคัดกรองผู้มีอาการมึนเมาสุราในชุมชน/ด่านชุมชน มีผู้ที่ถูกเรียกตรวจทั้งหมด 23,902 ครั้ง พบผู้มีอาการมึนเมาสุรา 3,370 ครั้ง



 
           นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ขอยกเว้นสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟ มติที่ประชุม เสนอให้การรถไฟทบทวนรายละเอียดเพิ่มเติม แล้วนำมาเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป ส่วนสมาคมโรงแรมและคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจที่ขอยกเว้นวันและเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม คณะกรรมการฯ เห็นชอบให้ยกเว้นสำหรับการขายและการบริโภคในห้องพัก และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการร่างและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรืออนุบัญญัติ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 พิจารณาดำเนินการแล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งต่อไปเช่นกัน
 
 
           ด้าน นพ.ภาณุมาศ กล่าวว่า การดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568 จะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 1. ช่วงเตรียมความพร้อมก่อนเทศกาล โดยจัดกิจกรรมรณรงค์ปีใหม่ปลอดเหล้า และประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าและประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด 2.ช่วงเทศกาล จะใช้มาตรการชุมชน สนับสนุนให้ อสม. และเจ้าหน้าที่ด่านชุมชน เรียกตรวจผู้ขับขี่เพิ่มขึ้น เพื่อสกัดกั้นคนเมาไม่ให้ขับขี่ยานพาหนะ โดยนำวิธีการสังเกตและประเมินอาการมึนเมาสุราเบื้องต้น ไปใช้ในการประเมินผู้ขับขี่ ที่สงสัยว่ามีอาการมึนเมาสุรา เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบ “ด่านครอบครัว” เน้นย้ำผู้ปกครองดูแลบุตรหลานและคนในครอบครัวไม่ให้ดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ เพิ่มศักยภาพด่านชุมชนคัดกรองผู้ขับขี่ที่มีอาการมึนเมา กรณีเกิดเหตุมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ให้เป่าวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทางลมหายใจทุกราย หากไม่สามารถเป่าได้ให้ส่งโรงพยาบาลเพื่อเจาะเลือดตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ และบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดในผู้กระทำผิด และ 3.ช่วงหลังปีใหม่ จะเสนอมาตรการดังกล่าวให้คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติทราบต่อไป

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด