30 กันยายน 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และพญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการบริหารจัดการวัคซีน เมื่อโรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง
นพ.ณรงค์กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ประมาณ 144 ล้านโดส การรับเข็มกระตุ้นยังต่ำกว่า 40% มีเพียงเขตสุขภาพที่ 13 กทม. ที่รับเข็มที่สามเกิน 40% ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป แม้โรคโควิด 19 จะปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่สิ่งสำคัญคือการรับเข็มกระตุ้น โดยในส่วนของสถานพยาบาลต่างๆ ในภูมิภาค 76 จังหวัดสามารถไปรับบริการโรงพยาบาลภาครัฐได้ทั้งหมดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีการเตรียมและกระจายวัคซีนโควิด 19 ไปทุกพื้นที่และมีเพียงพอ มีวัคซีนบริการทุกแพลตฟอร์ม ทั้งชนิดเชื้อตาย ไวรัลเวกเตอร์ mRNA และโปรตีนซับยูนิต โดยกำหนดจุดรับบริการวัคซีนตามบริบท เช่น แบบวอล์กอิน ลงทะเบียนนัดล่วงหน้า จัดหน่วยฉีดเคลื่อนที่สำหรับผู้ป่วยติดเตียง จุดฉีดที่สถานประกอบการ ระบบสถานศึกษา หรือกรณีระบาดเป็นกลุ่มก้อนเพื่อป้องกันการระบาด
สำหรับการรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB สำหรับกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ กลุ่มผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การรับสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการฉีดได้ เช่น ผู้ป่วยไตวายที่รับการฟอกไต ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะทีได้รับยากดภูมิ ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบหรือแพ้ภูมิตนเองที่ได้รับยากดภูมิ รวมถึงผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำกลุ่มอื่นๆ ส่วนการรับวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมให้บริการ ซึ่งจะมีการฉีด 3 เข็ม ในช่วงสัปดาห์ที่ 0 , 4 และ 12 โดยสามารถรับพร้อมวัคซีนชนิดอื่นได้ หากเด็กมีประวัติติดเชื้อให้เว้นระยะห่างไปก่อน 3 เดือน
“ย้ำว่าวัคซีนช่วยลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยง 608 ได้ ทั้ง 76 จังหวัดมีความพร้อมในการจัดบริการ ต้องขอความร่วมมือมาสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ให้การเปลี่ยนผ่านโรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตรายมาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังอย่างปลอดภัย” นพ.ณรงค์กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ขณะนี้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างปลอดภัย เมื่อเทียบกับช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยช่วง 2 สัปดาห์นี้พบว่า ผู้ป่วยปอดอักเสบลดลงจาก 650 ราย เหลือ 480 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจลดลงจาก 331 ราย เหลือ 263 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 7 วัน จาก 17 ราย ลดเหลือ 12 ราย โดยวันนี้รายงานเสียชีวิต 9 รายหรือต่ำกว่าหลักสิบ ขณะที่ผู้ป่วยรายวัน ผู้รักษาหาย และอยู่ระหว่างการรักษามีแนวโน้มดีขึ้นทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้เสียชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมา 72 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 10 รายนั้น พบว่าเป็นผู้สูงอายุเกือบทั้งหมด โดยอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไปถึง 47 ราย ขณะที่อายุ 60-69 ปี มี 13 ราย เกือบทุกคนมีโรคประจำตัว นอกจากนี้ ยังพบว่า 51% ไม่ได้รับวัคซีน ส่วนผู้ที่รับวัคซีนมา 2 เข็ม แต่เข็มสองนานเกิน 3 เดือน พบเสียชีวิต 29%
“ย้ำว่าผู้สูงอายุไม่ปลอดภัย หากไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ดังนั้น เมื่อรับวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 3 เดือน ให้มารับเข็มสาม และรับเข็มสามเกิน 3 เดือนให้มารับเข็มสี่ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ ซึ่งข้อมูลพบว่า การฉีดในสูงอายุช่วยลดการเสียชีวิตลง 41 เท่า เมื่อเทียบคนไม่ได้รับวัคซีน และจากการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - ปัจจุบัน รวม 143 ล้านโดส เป็นเข็มแรก 82% เข็มสอง 77% และเข็มกระตุ้นรวม 46% ซึ่งจากการประมาณการณ์โดยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ในปี 2564 เราป้องกันผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ได้ถึง 382,600 ราย และปี 2565 ป้องกันเสียชีวิต 107,400 ราย หรือรวมกัน 4.9 แสนราย รวมถึงป้องกันการป่วยหนักนับล้านคน ช่วยลดค่ารักษาได้จำนวนมาก” นพ.โสภณกล่าว
นพ.โสภณกล่าวว่า ประเทศไทยป้องกันเสียชีวิตได้จำนวนมากด้วยนโยบายรัฐที่เน้นฉีดวัคซีนแบบมีประสิทธิภาพ คือ เน้นบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยง 608 คือ อายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคเรื้อรังให้ได้รับวัคซีนก่อน ทำให้ตรงเป้าหมาย และเร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ระบาดรุนแรง เพื่อให้คนไม่ติดเชื้อได้มีภูมิคุ้มกัน รวมถึงเรายังใช้มาตรการอื่นร่วม เช่น การสวมหน้ากากอนามัยที่เกือบถึง 100% การมียารักษาที่มีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับอังกฤษและฝรั่งเศสที่มีประชากรใกล้เคียงกัน คือเกือบ 70 ล้านคน และมีการรับวัคซีนครอบคลุมใกล้เคียงกัน คือ 75-78% พบว่าไทยมีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่า คือ 467 ต่อล้านประชากร ส่วนอังกฤษ 2,765 ต่อล้านประชากร และฝรั่งเศส 2,364 ต่อล้านคนประชากร
นพ.โสภณกล่าวว่า จากการวิเคราะห์ของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ช่วงการระบาดของโอมิครอน BA.4/BA.5 ในเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2565 การฉีดวัคซีน 2 เข็มยังได้ประโยชน์ป้องกันการป่วยหนัก 60% และป้องกันเสียชีวิต 72% แต่จะดีกว่าถ้าฉีดเข็มกระตุ้น การป้องกันป่วยหนักเพิ่มขึ้นเป็น 83% ป้องกันการเสียชีวิต 93% และหากฉีดเกิน 4 เดือนแล้วต้องรับเข็ม 4 จะช่วยป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 100% ดังนั้น ครอบครัวที่มีกลุ่มเสี่ยง 608 ถ้ายังไม่ได้รับวัคซีนหรือยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้นต้องพามารับ ซึ่งจากข้อมูลพบว่ายังมีผู้สูงอายุอีก 1.9 ล้านคนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
“ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม โรคโควิด 19 จะเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง สถานที่สาธารณะ พื้นที่ปกติจะผ่อนคลายความเข้มงวด ดังนั้น คนไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้นจึงควรรีบมารับ เพื่อป้องกันความเสี่ยงโดยเป้าหมายต่อจากนี้ จะให้ประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทยเข้าถึงวัคซีนโดยสะดวก ทั้งโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ และ รพ.สต.มีวัคซีนให้บริการต่อเนื่อง เน้นประชากรกลุ่มเสี่ยงให้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดความรุนแรงและเสียชีวิต และหากปีหน้ามีวัคซีนโควิดรุ่นใหม่ ภาครัฐก็พร้อมจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ สำหรับคนที่ต้องการ โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเสี่ยง ส่วนวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็ก 6 เดือนถึงต่ำกว่า 5 ขวบ จะมาถึงใน 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้” นพ.โสภณกล่าว
ด้าน พญ.ป่านฤดี กล่าวว่า กทม.เตรียมพร้อมให้บริการวัคซีนประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาให้บริการและดำเนินงานตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขที่สนับสนุนวัคซีนให้แก่ กทม. และสนับสนุนการฉีดวัคซีนทำให้ประชาชนเข้ารับบริการได้จำนวนมาก โดนเฉพาะศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ทำให้ กทม.สามารถฉีดวัคซีนสะสม 27.8 ล้านโดส สามารถฉีดวัคซีนเข็มสองเกิน 100% และเข็มกระตุ้นเกิน 70% และยังมีคนสนใจเข้ารับการฉีดเข็มสามและเข็มสี่อย่างต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป กทม.กำหนดเป้าหมายฉีดวัคซีนเข็ม 3 ที่ 70% ปัจจุบันฉีดได้แล้ว 69.85% ส่วนกลุ่ม 608 ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้สูงถึง 68.83% สำหรับวันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป กทม.ยังให้บริการวัคซีนตามความสมัครใจอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่ม 608 จะให้รับวัคซีนเข็มสามเกิน 70% โดยจะเปิดบริการทั้งนัดหมายและวอล์กอิน (Walk in) เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง 8.00-12.00 น. โรงพยาบาลในสังกัด กทม. ศูนย์ฉีดวัคซีนกีฬาเวสน์ 2 ไทย-ญี่ปุ่นดินแดง เปิดทุกวัน 8.00-16.00 น. หากมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนประสานศูนย์บริการสาธารณสุขหรือสำนักงานเขต ดูแลให้วัคซีนเชิงรุกในพื้นที่ที่ต้องการ ส่วนเรื่องผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนสามารถติดต่อตามสิทธิสุขภาพของตน ส่วนกรณีข้อมูลในหมอพร้อมไม่ถูกต้อง เราเปิดสายด่วน 1555 ประสานแก้ไขข้อมูลได้