ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรคข้ออักเสบ สัญญาณจากความเสื่อมของร่างกายที่ต้องเริ่มใส่ใจ

โรคข้ออักเสบ (อาร์ไทรทิส) มีอยู่ด้วยกันกว่า 100 ชนิด และเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งอาการและการบำบัดก็แตกต่างกันไป คุณอาจเป็นโรคข้ออักเสบถ้ามีอาการดังต่อไปนี้

 

- ข้อต่อแห่งหนึ่งบวมหรือข้อต่อหลายแห่งบวมพร้อมกัน 
- มีอาการข้อติดเป็นเวลานานเมื่อตื่นนอนตอนเช้า 
- ปวดและกดเจ็บตามข้อต่อต่าง เป็นๆ หายๆ และเคลื่อนไหวข้อต่อไม่ได้ตามปกติ 
- ข้อต่อบวม แดง และร้อน 
- เป็นไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ น้ำหนักลด หรืออ่อนเพลียเพราะปวดข้อ
 

ถ้ามีอาการดังกล่าวข้อใดข้อหนึ่งเป็นครั้งแรก และเป็นนานกว่าสองสัปดาห์ ควรไปพบแพทย์และควรแยกโรคข้ออักเสบแต่ละชนิดออกจากกัน (เช่น โรครูมาทอยด์) เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง
 

โรคข้ออักเสบอาจเกิดจากการเสื่อมสภาพตามปกติของข้อต่อ (เช่น โรคข้อเสื่อม) หรือจากการบาดเจ็บ การอักเสบ การติดเชื้อ หรือไม่ปรากฏสาเหตุแน่ชัด อาการข้อต่ออักเสบโดยทั่วไป จะเรียกว่า โรคข้ออักเสบ มาจากคำภาษาอังกฤษ arthritis ที่มีรากศัพท์จากภาษากรีก คือ arthron แปลว่า ข้อต่อ และ itis แปลว่า อักเสบ


ในบทนี้จะกล่าวถึงการรักษาโรคข้อเสื่อมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นโรคข้ออักเสบที่พบบ่อยที่สุดวิธีการดูแลรักษาตนเองดังที่กล่าวไว้ในที่นี้ อาจประยุกต์ใช้กับอาการของโรคข้ออักเสบประเภทอื่นๆได้ แต่ทางที่ดีถ้าเป็นการรักษาโรคข้ออักเสบประเภทอื่นๆ ควรปรึกษามาตรการการรักษากับแพทย์ก่อนเสมอ


การออกกำลังกาย เท่าที่ผ่านมาเราพอประเมินได้ว่า การออกกำลังกายเป็นวิธีการบำบัดโรคข้ออักเสบที่ใช้ได้ผลดีที่สุด การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะปรับให้อาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและเห็นผล แต่ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่ออำนวยให้เกิดประโยชน์กับโรคมากที่สุด ผู้ป่วยควรรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ ให้มีความยืดหยุ่นอยู่สูง และอดทน ต่อแรงกระทำต่างๆ ได้ดี เพื่อสิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ข้อต่อถูกทำลายได้ง่าย และรักษาให้คงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อยู่เสมอ ลดอาการข้อติดและก่อให้เกิดอาการปวดเจ็บข้อต่อน้อยที่สุด
 

การออกกำลังกายมีวิธีการที่แตกต่างกันไปแล้วแต่วัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ถ้าต้องการสร้างความยืดหยุ่นให้ข้อต่อ การออกกำลังกายควรเป็นในลักษณะการยืดอย่างนุ่มนวล เพื่อยืด ข้อต่อให้มากที่สุด ในรายที่เป็นโรคข้อเสื่อมขั้นรุนแรง การเคลื่อนไหวของข้อต่ออาจทำให้ปวดเจ็บง่ายขึ้น ทางที่ดีจึงไม่ควรออกกำลังต่อไปถ้ารู้สึกว่าเจ็บหรือปวดมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าไม่มีแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดคอยแนะนำและดูแลใกล้ชิด
 

การออกกำลังโดยการเคลื่อนไหวกลุ่มกล้ามเนื้อใหญ่สัก 15 – 20 นาที เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเบื้องต้นเพื่อสร้างความแข็งแรงและเสริมความทนทานให้กล้ามเนื้อ ในที่นี้ ได้แก่ การเดิน การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ และการเต้นรำ ซึ่งเป็นวิธีการออกกำลังที่สร้างแรงต้านในระดับต่ำถึงปานกลางให้กับข้อต่อ คนที่อ้วนมาก ๆ อาจเคลื่อนไหวลำบากขึ้น

ความอ้วนจะทำให้หลัง สะโพก หัวเข่า และเท้าของคุณต้องรับภาระจากน้ำหนักตัวที่เกินอยู่มากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้เป็นโรคข้ออักเสบที่อวัยวะเหล่านี้ได้ง่าย แม้จะไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าความอ้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมได้อย่างไร แต่ความอ้วนก็ทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้อย่างแน่นอน โรคข้ออักเสบที่พบทั่วไป โรคข้อเสื่อม สาเหตุและกลุ่มเสี่ยง เกิดจากข้อต่อเสื่อมสภาพตามปกติ ทั้งอาจเนื่องมากจากเอนไซม์ขาดสมดุล พบบ่อยในคนอายุ 50 ปี ขึ้นไป ไม่ค่อยพบในคนหนุ่มสาว ยกเว้นถ้ามีอาการบาดเจ็บที่ข้อต่อ

 

อาการเฉพาะโรค 

- ปวดข้อต่อเมื่อเลิกใช้งาน 
- รู้สึกปวดข้อต่อทุกครั้งช่วงก่อนเปลี่ยนฤดูหรือช่วงที่ฤดูกำลังเปลี่ยน 
- ข้อต่อบวมและยืดงอไม่ได้ 
- มีปุ่มกระดูกงอกที่ข้อนิ้วมือ 
- มักมีอาการปวดตามตัว ข้อต่ออาจจะแดงและร้อนหรือไม่ก็ได้
 

ความรุนแรง 

ตามปกติไม่ใช่อาการร้ายแรง แม้ข้อต่อจะยังเสื่อมอยู่เรื่อยๆ แต่อาการปวดเมื่อเป็นแล้ว มักจะหายไป ผลจากโรคข้อเสื่อมอาจทำให้พิการได้ แต่พบน้อยมาก บางรายที่ข้อต่อสะโพกและ หัวเข่าเสื่อมมากอาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อต่อ 


ปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคข้อเสื่อมที่สำคัญที่สุด คือ อายุ โรครูมาทอยด์ 


สาเหตุและกลุ่มเสี่ยง
 

เป็นโรคข้ออักเสบที่พบบ่อยที่สุดในบรรดาโรคข้ออักเสบอื่นๆ พบในคนช่วงอายุ 20 – 50 ปี มากที่สุด เชื่อว่าเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านเยื่อบุข้อต่อของตัวเอง 


อาการเฉพาะโรค 

- ปวดบวมที่ข้อต่อเล็กๆ ที่มือและเท้า 
- ปวดข้อต่อหรือข้อติดโดยเฉพาะเมื่อตื่นนอนตอนเช้าหรือนั่งพักติดต่อนานๆ 
- ข้อต่อจะปวด บวม และร้อน ในระยะเริ่มต้น กำเริบมากขึ้นเรื่อยๆ 


ความรุนแรง 

เป็นโรคข้ออักเสบที่บั่นทอนสุขภาพมากที่สุด โรคนี้อาจทำให้ข้อต่อผิดรูปได้ ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการเหงื่อออก เป็นไข้ กล้ามเนื้อที่ยืดติดกับข้อต่อมีอาการอ่อนแรง อาการจะเป็นๆ หายๆ แต่เรื้อรัง
 

โรคข้ออักเสบติดเชื้อ สาเหตุและกลุ่มเสี่ยง 

สาเหตุเกิดทั้งจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส หรือเป็นผลพวงที่เกิดจากการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดได้กับทุกคน 


อาการเฉพาะโรค 

- ปวดข้อและมีอาการข้อติดที่ข้อต่อใดข้อต่อหนึ่ง ที่พบมากคือ ข้อต่อเข่า หัวไหล่ สะโพก ข้อเท้า ข้อศอก ข้อนิ้วมือ หรือข้อมือ - เนื้อเยื่อรอบๆ ข้อต่อร้อนและแดงขึ้น - เป็นไข้ หนาวสั่น และอ่อนเปลี้ยเพลียแรง - อาจมีผื่นขึ้น 


ความรุนแรง 

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ถ้าวินิจฉัยโรคและได้รับการรักษาอย่างถูกต้องในทันที จะหายอย่างรวดเร็ว และไม่กลับมาเป็นอีก

  

 

โรคเกาต์ 

สาเหตุและกลุ่มเสี่ยง 
เกิดจากกรดยูริกตกผลึกในข้อต่อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชาย อายุ 40 ปี ขึ้นไป


อาการเฉพาะโรค 
- ปวดข้อต่อข้อใดข้อหนึ่งอย่างรุนแรงในทันที ส่วนใหญ่มักเป็นที่ข้อต่อฐานนิ้วหัวแม่เท้า 
- ข้อต่อบวมและแดงขึ้น 

ความรุนแรง 
อาการปวดเฉียบพลันสามารถบำบัดจนกลับสู่สภาพปกติได้ แต่มักจะกลับมาปวดซ้ำอีก จึงต้องรักษาด้วยการป้องกันไม่ให้กรดยูริกในเลือดสูงเกินไป * โรคข้ออักเสบรูปแบบอื่นๆ ได้แก่ โรคข้ออักเสบเหตุโรคสะเก็ดเงิน ที่มักเกิดกับผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินโดยเฉพาะที่ข้อนิ้วมือและนิ้วเท้า นอกเหนือจากนี้ คือ กลุ่มอาการเรเตอร์ ซึ่งมักติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีอาการเฉพาะคือ ปวดในข้อต่อ มีหนองไหลจากองคชาต ปวดตา ตาอักเสบ และมีผื่นขึ้น โรคข้ออักเสบอีกชนิดหนึ่ง คือ โรคกระดูกสันหลังอักเสบแบบข้อยึดติด ที่จะเกิดกับข้อต่อกระดูกสันหลัง ในรายที่เป็นมากๆ หลังจะแข็งและก้มตัวไม่ได้ ยาแก้ปวด ยาแก้ปวดโรคข้อเสื่อมที่แพทย์นิยมจ่ายให้ผู้ป่วยหรือมีจำหน่ายทั่วไป มีดังนี้ 

• แอสไพริน  ขนาดที่ใช้จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน แพทย์จะต้องจัดขนาดยาให้ถูกกับอาการมากที่สุด คุณอาจระงับปวดด้วยการกินแอสไพริน 2 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมง และอาจต้องกินติดต่อกันอีก 1 – 2 สัปดาห์ เพื่อลดอาการอักเสบด้วย 

• อะเซตามิโนเฟน ใช้ระงับอาการปวดได้เช่นเดียวกับแอสไพริน และแทบไม่มีผลทำให้กระเพาะอาหารระคายเคือง ทว่าไม่มีผลช่วยลดอาการอักเสบ และเพราะโรคข้อเสื่อมไม่มีอาการข้อต่ออักเสบ ยานี้จึงได้รับความนิยมสูงสุด 

• ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ ให้ผลดีพอๆ กับแอสไพรินและมีผลข้างเคียงน้อยกว่ามากแต่ราคาแพงกว่า ขนาดที่ใช้ต่อวันน้อยกว่าแอสไพริน 

• คอร์ติโคสเตอรอยด์ มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมหมวกไตของร่างกาย ใช้ลดอาการอักเสบได้ และมีให้เลือกใช้มากถึง 20 ชนิดด้วยกัน แต่ชนิดที่นิยมกันมากคือ เพร็ดนิโซน โดยปกติแพทย์มักจะไม่ให้คอร์ติโคสเตอรอยด์ชนิดกินกับผู้ป่วยโรค ข้อเสื่อม แต่อาจฉีดยาคอร์ติโซนไปในข้อต่อที่มีอาการอักเสบรุนแรง และเนื่องจากการใช้ยานี้บ่อยเกินไปอาจทำให้โรคในข้อต่อกำเริบได้ง่ายขึ้น แพทย์จึงมักฉีดยานี้ให้ในปริมาณที่จำกัด คือ ไม่เกิน 2 – 3 ครั้ง ภายใน 1 ปี
 

ข้อควรระวัง

 ยาระงับปวดและยาแก้อักเสบหลายชนิด หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะมีผลทำให้ เยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ระคายเคืองจนอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและมีเลือดออกรุนแรงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งถ้าจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้เพื่อบำบัดอาการปวดข้อนานกว่า 2 สัปดาห์ แต่ขณะนี้มีการผลิตยากลุ่มใหม่ออกมาเรียกว่า ยาปิดกั้นค็อกซ์-2 ซึ่งใช้ได้ดีและมีผลระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่ายาตัวอื่นๆ
 
 

วิธีแก้ปวดอื่นๆ แนวทางการบำบัดรักษาดังจะได้นำเสนอต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดประจำตัวของท่านก่อนลงมือปฏิบัติเสมอ 

• ประคบร้อน จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อต่อที่ปวด คุณอาจประคบร้อนบริเวณที่ปวดด้วยน้ำมันพาราฟินอุ่น ผ้าห่มไฟฟ้า กระเป๋าน้ำร้อน โคมไฟให้ความร้อน ซึ่งต้องระวังอย่าให้ผิวไหม้ หรือหากเป็นกรณีที่แพทย์หรือนักกายภาพบำบัดต้องการใช้ความร้อนโดยตรง พวกเขาอาจเลือกใช้วิธีอัลตราซาวนด์หรือวิธีอุณหรังสีบำบัดก็ได้ 

• ประคบเย็น จะทำหน้าที่เหมือนยาชาเฉพาะที่ ช่วยลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ การประคบเย็นจะช่วยคลายปวดเมื่อต้องเกร็งกล้ามเนื้ออยู่ในท่าเดียวเป็นเวลานานๆ 

• การเข้าเฝือก จะช่วยพยุงและป้องกันข้อต่อที่ปวดไม่ให้ได้รับบาดเจ็บ เมื่อออกกำลังกายและพยุงให้ข้อต่ออยู่นิ่งๆตอนกลางคืนเพื่อให้หลับสบายขึ้น แต่การใส่เฝือกประคองไว้ตลอดเวลาอาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและงอข้อต่อได้น้อยลง 

• การผ่อนคลาย อาทิ การสะกดจิต การฝึกจินตนาการ การฝึกหายใจ การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือวิธีอื่นๆ อาจใช้ลดความเจ็บปวดได้เช่นกัน 

• วิธีอื่นๆ เช่น การออกกำลังกายเบาๆ การควบคุมน้ำหนัก การใช้เครื่องพยุงเท้า เช่นการใช้แผ่นรองในรองเท้า การใช้เครื่องช่วยเดิน (เช่น ไม้เท้า ไม้ค้ำยัน) จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อและลดแรงกดดันที่ข้อต่อได้ ส่งผลให้อาการปวดข้อ ทุเลาลง
 

วิธีปกป้องข้อต่อ 

การเคลื่อนไหวร่างกายด้วยหลักกลศาสตร์ที่ถูกต้องจะช่วยให้เกิดอาการข้อต่อเคล็ดน้อยที่สุด ทั้งนี้นักกายภาพบำบัดหรือนักอาชีวบำบัดจะช่วยแนะนำวิธีการและอุปกรณ์ที่จะใช้ปกป้องกระดูกข้อต่อให้คุณได้ เพื่อลดความเครียดบริเวณข้อต่อและทำให้ข้อต่อเคลื่อนไหวน้อยที่สุด คุณสามารถปรับใช้วิธีการดังกล่าวได้ด้วยตัวเอง ดังนี้ 

• อย่าใช้มือกำหรือจับอะไรที่ทำให้ข้อต่อนิ้วตึง เช่น เลิกใช้กระเป๋าแบบที่ต้องถือด้วยมือ มาใช้กระเป๋าสะพายแทน ใช้น้ำร้อนช่วยคลายฝาขวดและใช้แรงกดจากมือเพื่อเปิดฝาออก หรือใช้เครื่องเปิดกระป๋องแทน ที่สำคัญ อย่าบิดหรือใช้ข้อต่อหนักเกินไป 

• พยายามถ่ายน้ำหนักให้ข้อต่อต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน เช่น ถ้าจะยกของหนักก็ควรใช้มือทั้งสองข้างยกขึ้นพร้อมกัน หรือใช้ไม้เท้าหรือไม่ค้ำยันช่วยเดิน เป็นต้น 

• ในช่วงที่ทำงาน พยายามพักเป็นระยะๆ และยืดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ 

• การนั่ง ยืน เดิน แบบผิดๆ จะทำให้การถ่ายน้ำหนักไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่สมดุล และอาจส่งผลให้เอ็นยึดข้อต่อและกล้ามเนื้อเคล็ดได้ง่าย 

• พยายามใช้กล้ามเนื้อส่วนที่แข็งแรงที่สุดและข้อต่อชิ้นใหญ่ให้มากที่สุด อย่าใช้มือผลักเปิดประตูกระจกหนาๆ ถ้าประตูหนักมากๆ ให้ใช้ตัวผลักเข้าไปแทน หรือถ้าต้องหยิบของตก ควรใช้วิธีย่อตัวลงและหยิบของโดยรักษาหลังให้ตรงอยู่เสมอ 

• ปัจจุบันมีผู้คิดผลิตอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพื่อผู้ป่วยโรคข้อโดยเฉพาะ ทำให้ไม่ต้องออกแรงกำหรือบีบมือมากเกินไป เช่น อุปกรณ์ติดกระดุมเสื้อเชิ้ต และอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้จากเภสัชกรหรือแพทย์ประจำตัวของท่าน อย่าหลงเชื่อการรักษาที่ยังไม่พิสูจน์ ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ 1 ใน 10 คน บอกถึงผลร้ายจากการใช้วิธีบำบัดที่ยังไม่ได้พิสูจน์บางอย่าง และคำกล่าวอ้างที่ผิด ซึ่งเรามักได้ยินบ่อยๆ มีดังต่อไปนี้

• น้ำมันตับปลาช่วยหล่อลื่นข้อต่อได้ ฟังดูมีเหตุผล แต่ร่างกายของคุณก็รับน้ำมันตับปลาเหมือนกับไขมันชนิดอื่นๆ และดังนั้นน้ำมันตับปลาจึงไม่มีคุณสมบัติพิเศษอื่นใดต่อข้อต่อ การบริโภคน้ำมันตับปลามากๆ กลับจะยิ่งทำให้เกิดอาการเป็นพิษจากวิตามินเอและดีมากขึ้นด้วยซ้ำ
 
• การแพ้อาหารบางอย่างอาจทำให้เป็นโรคข้ออักเสบเหตุภูมิแพ้ ในขณะนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าการแพ้อาหารจะมีผลทำให้ข้อต่ออักเสบ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงไม่บริโภคมะเขือเทศหรืออาหารบางชนิดจึงไม่มีผลต่อการบรรเทาอาการข้อต่ออักเสบ แต่อย่างใด 

• น้ำมันปลาช่วยลดการอักเสบได้ จากการวิจัยผู้ที่ป่วยด้วยโรครูมาทอยด์แสดงให้เห็นว่า กรดไขมันโอเมก้า 3 ในน้ำมันตับปลาสามารถช่วยลดการอักเสบได้ระดับหนึ่งและชั่วระยะเวลาหนึ่ง จริงอยู่ว่าการค้นพบนี้สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ แต่เราก็จะยังคงไม่แนะนำให้ผู้ป่วยใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลา ด้วยเหตุที่ว่าผู้ป่วยอาจต้องกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลานี้มากถึงวันละ 15 แคปซูล โดยที่แพทย์เองก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นปริมาณที่ผู้ป่วยสามารถรับได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ และการใช้ในปริมาณที่น้อยกว่านี้ก็จะไม่มีผลทางการรักษาเช่นกัน
 

บทความโดย
น.พ.วีระยุทธ เชาว์ปรีชา
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำ ร.พ.วิภาวดี

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด