อาการสำคัญของโรคไข้เลือดออก
- ไข้สูงลอย ประมาณ 39-40°C นาน 2-7 วัน มักมีหน้าแดง ปวดหัว ปวดตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระดูก
- มีหลักฐานเลือดออกง่าย: จุดเลือดออก จ้ำเลือด อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำ เลือดออกทางเยื่อบุ ทางเดินอาหาร ตำแหน่งที่ฉีดยา หรืออื่นๆ
- ตรวจพบเกร็ดเลือด < 100,000 รัดแขนพบจุดเลือดออก (Tourniquet test ≥10จุด/ตารางนิ้ว) ตับโต
- มีการรั่วซึมของพลาสมา: ความเข้มข้นเลือดสูงขึ้น ≥ 20% ระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลวหรือช็อคมักจะเกิดช่วงไข้ลด โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น รอบปากสีเขียว ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ
ปัญหาที่พบบ่อยของอาการไข้เลือดออก
ตัวร้อนมาก หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียนรุนแรงควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
- ให้ผู้ป่วยพักผ่อนในที่ๆ มีอากาศถ่ายเทสะดวก
- เช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นบ่อยๆ โดยใช้ผ้าชุบน้ำแล้วบิดพอหมาดลูบเบาๆ บริเวณหน้า ลำตัวแขนและขา แล้วพักไว้บริเวณหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ แผ่นอก แผ่นหลังและขาหนีบ สลับกันไปมา ทำติดต่อกันอย่างน้อยนาน 15 นาที แล้วให้ผู้ป่วยสวมเสื้อผ้าบางๆ นอนพักผ่อน
- ให้รับประทานยาลดไข้ พาราเซตามอล เวลามีไข้สูงหรือปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว โดยให้ห่างกันอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ห้ามรับประทานยาลดไข้ชนิดอื่น โดยเฉพาะยาแอสไพริน ยาซองลดไข้ทุกชนิดหรือยาพวกไอบรูโพรเฟน เพราะอาจทำให้เลือดออกมากผิดปกติ หรือตับวายได้
- ห้ามฉีดยาเข้ากล้ามและไม่รับประทานยาอื่นที่ไม่จำเป็น
- ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS) หรือน้ำผลไม้ใส่เกลือเล็กน้อย ถ้ามีคลื่นไส้อาเจียนไม่สามารถดื่มได้ ให้จิบครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ ไม่ควรดื่มแต่น้ำเปล่าอย่างเดียว
- อาหาร ควรเป็นอาหารอ่อนย่อยง่าย รสไม่จัด เช่น นม ไอศรีม ข้าวต้ม เป็นต้น
- ควรงดอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีสีแดง ดำ หรือสี น้ำตาล
- หมายเหตุ ในระยะไข้สูงของโรคไข้เลือดออก การให้ยาลดไข้ จะช่วยให้ไข้ลงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหมดฤทธิ์ยาแล้วไข้ก็จะสูงขึ้นอีก การเช็ดตัวลดไข้ จะช่วยให้ผู้ป่วยสุขสบายขึ้น
- มาพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจติดตามการดำเนินโรค
อาการอันตรายของโรคไข้เลือดออก
เมื่อผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ ข้อใดข้อหนึ่งต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล เพราะอาจเป็นโรคไข้เลือดออก
- ผู้ป่วยซึม หรืออ่อนเพลียมาก ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้น้อยลง
- คลื่นไส้อาเจียนตลอดเวลา
- ปวดท้องมาก
- มีเลือดออก เช่น เลือดกำเดา อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีดำ
- พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากปกติ
- กระสับกระส่าย หงุดหงิด เอะอะโวยวาย
- กระหายน้ำตลอดเวลา
- ร้องกวนตลอดเวลาในเด็กเล็ก
- ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะเป็นเวลานาน
- ตัวเย็นชื้น เหงื่อออก สีผิวคล้ำลง ตัวลายๆ (เข้าสู่ระยะช็อค)
การป้องกันโรคไข้เลือดออก
- ควรนอนในมุ้ง หรือในห้องติดมุ้งลวดที่ปลอดยุงลาย
- ไม่เล่นในมุมมืด หรือบริเวณที่ไม่มีลมพัดผ่าน
- ห้องเรียน หรือห้องทำงาน ควรมีแสงสว่างส่องทั่วถึง มีลมพัดผ่าน ไม่มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น แจกันดอกไม้ควรเปลี่ยนน้ำทุกวัน พลูด่างควรปลูกในดิน
- กำจัดยุงในบริเวณมุมอับภายในบ้าน ตู้เสื้อผ้า บริเวณรอบๆบ้าน ทุกสัปดาห์
- กำจัดลูกน้ำ ภาชนะใส่น้ำภายในบ้านควรปิดฝาให้มิดชิดถ้าไม่สามารถปิดได้ให้ใส่ทรายอะเบท หรือใส่ปลาหางนกยูง จานรองขาตู้กับข้าว จานรองกระถางต้นไม้ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูหรือผงซักฟอก สัปดาห์ละครั้ง วัสดุที่เหลือใช้รอบๆบ้าน เช่น กระป๋อง กะลา ยางรถยนต์เก่า ฯลฯ ให้คว่ำหรือทำลายเสีย
ข้อสำคัญโรคไข้เลือดออก ถ้ามีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องรีบนำส่ง รพ.ทันที
- มีอาการเพลีย ซึม ไม่ดื่มน้ำ ไม่รับประทานอาหาร ไม่มีกิจกรรมตามปกติเมื่อไข้ลง (บางรายจะ กระหายน้ำมาก)
- อาเจียน / ปวดท้องมาก
- เลือดออกผิดปกติ
- มีอาการช็อค / IMPENDING SHOCK คือ มือเท้าเย็น
- กระสับกระส่าย ร้องกวนมากในเด็กเล็ก
- ตัวเย็น เหงื่อออก ตัวลาย สีผิวคล้ำลง
- ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะ 4-6 ชม.
- ความประพฤติเปลี่ยนแปลง เช่น พูดไม่รู้เรื่อง เพ้อ เอะอะโวยวาย เป็นระยะอันตรายของโรคไข้เลือดออก เข้าสู่ระยะช็อค แม้อยู่ในภาวะช็อค ผู้ป่วยจะมีสติดีพูดจารู้เรื่องต้องรีบนำส่งรพ. ที่ใกล้ที่สุดทันที (กระตุ้นให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำ)
กรณีผู้ป่วยรับการรักษาอาการของไข้เลือดออก แล้วแพทย์ให้กลับบ้านได้ ควรดูแลและปฏิบัติตนต่อไปนี้
- ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกไม่ควรให้ถูกยุงกัดภายใน 5 วันแรกของโรค เพราะผู้ป่วยยังมีไวรัสอยู่ในเลือดทำให้แพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้ หากมีคนในบ้านมีไข้สูง ให้พามาตรวจ
- ควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติควรรีบพามาพบแพทย์ทันที
- ให้ยาลดไข้พาราเซตามอล ควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน หรือ ยากลุ่ม NSAID เช่น ไอบูโปรเฟน เนื่องจากทำให้เกิดเลือดออกทางเดินอาหารมากขึ้น หรือมีผลต่อตับได้
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และที่โรงเรียน
พญ.ปราณี สิตะโปสะ
กุมารแพทย์ รพ. วิภาวดี