ผศ.น.สพ.ดร. อลงกต บุญสูงเนิน ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายชันสูตรโรคสัตว์ กำแพงแสน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ตามที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา รายงานข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 29 ตุลาคม 2565 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ ซึ่งมีสาเหตุจากการกินหมูดิบ หรือเลือดหมูสุกๆ ดิบๆ ที่มีเชื้อสเตปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis: S. suis) ปนเปื้อนอยู่ จำนวน 101 คน โดยไม่มีผู้เสียชีวิต และเตือนผู้บริโภคที่ชอบกินหมูดิบ เช่น ลาบเลือดดิบ เนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ หลู้ ส้า ก้อย ซอยจุ๊ หมก โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่มีเทศกาลงานบุญ งานเลี้ยงต่างๆ และมีการนำเนื้อหมูมาประกอบอาหารเลี้ยงผู้ร่วมงาน หากมีเชื้อดังกล่าวปนเปื้อนอยู่ อาจทำให้เป็นโรคไข้หูดับได้ นอกจากนี้ เชื้อดังกล่าวยังสามารถเข้าทางบาดแผล รอยถลอก รอยขีดข่วนตามร่างกาย หรือเข้าทางเยื่อบุตาได้ ซึ่งหลังการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะสูญเสียการได้ยิน จนถึงขั้นหูหนวกถาวร ข้ออักเสบ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังติดเชื้อ และอาจรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิต
“แม้รายงานนี้จะยังไม่พบผู้เสียชีวิต แต่จากรายงานก่อนหน้าพบว่าคนไทยติดเชื้อไข้หูดับในหลายพื้นที่ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการรับประทานเมนูเนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมในการบริโภคอาหาร และความชื่นชอบส่วนบุคคล หากติดเชื้อรุนแรงจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้นการป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ด้วยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกทุกครั้งเท่านั้น เพื่อให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากทั้งโรคไข้หูดับ พยาธิ และเชื้อก่อโรคต่างๆ ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า เนื้อสุกรของฟาร์มในประเทศไทยมีความปลอดภัย” ผศ.น.สพ.ดร. อลงกต บุญสูงเนิน กล่าว
ผศ.น.สพ.ดร อลงกต แนะนำเพิ่มเติมว่า ผู้บริโภคควรตระหนักและยึดหลักปฏิบัติเพื่อสุขภาวะที่ดี ลดความเสี่ยงการเจ็บป่วย ด้วย 5 หลักการสำคัญ ได้แก่ 1) เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน สะอาด ผ่านการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือกรมอนามัย 2) สังเกตเนื้อหมูมีชมพู หรือสีแดงธรรมชาติ ไม่มีสีแดงเข้มจนเกินไป ไม่ช้ำเลือดหรือมีจุดเลือดกระจายทั่ว ไม่มีกลิ่นเหม็น ผิวเรียบไม่มีตุ่มก้อน และเนื้อไม่แฉะ 3) เก็บรักษาเนื้อหมูในภาชนะที่สะอาด แยกเป็นสัดส่วนสำหรับพร้อมนำไปปรุงอาหาร หากต้องการเก็บไว้เป็นเวลานานควรเก็บในอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส หรือเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นระหว่าง 5-7 องศาเซลเซียส สำหรับเนื้อสัตว์ที่เตรียมพร้อมปรุง 4) ล้างมือและวัตถุดิบให้สะอาดก่อนนำไปปรุงอาหาร 5) ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที เพื่อทำลายเชื้อโรคต่างๆ ทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย งดบริโภคเนื้อหมูดิบ เลือด และอวัยวะภายในที่ดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ นอกจากจะลดความเสี่ยงจากโรคไข้หูดับแล้ว ยังลดความเสี่ยงจากการรับประทานอาหารปนเปื้อนเชื้อโรคที่เป็นอันตราย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษได้
ทั้งนี้ โรคไข้หูดับ มีหมูเป็นสัตว์พาหะนำโรค ซึ่งมักไม่แสดงอาการป่วย แต่จะมีอาการต่อเมื่อภูมิคุ้มกันลดลง ดังนั้น ในแง่ของระบบการเลี้ยงหมู หากหมูอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่แออัด อากาศในโรงเรือนถ่ายเทได้ดี มีการป้องกันอากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหัน มีระบบป้องกันโรคที่ได้มาตรฐาน หมูจะแข็งแรง สุขภาพดี มีภูมิคุ้มกันโรคที่ดี ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงต่ำมากที่จะเกิดการแพร่เชื้อ ปัจจุบันระบบการจัดการฟาร์มหมูมีความทันสมัย โดยเฉพาะในฟาร์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ที่แสดงถึงมาตรฐานการผลิตเนื้อหมูสู่ผู้บริโภค (From farm to table) จึงมั่นใจได้ว่า ปลอดจากเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมของการป้องกันและเฝ้าระวังเชิงรุก ด้วยการกระจายข่าวสารเตือนภัยประชาชนให้ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค จึงเป็นวิธีการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันที่ดี ช่วยให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยในการบริโภคอาหารได้เป็นอย่างดี