ความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย
รัฐบาลไทย โดยกระทรวงคมนาคม ให้ความสำคัญเร่งด่วนในการลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และตั้งเป้าดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เป็นไปตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อการบรรลุตามเป้าหมายทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน 2021-2030 ตามปฏิญญาสตอกโฮล์ม ที่กำหนดให้
ลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลง ร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2573
รวมถึงแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยที่มีเป้าหมายลดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็น 12 คนต่อแสนประชากร ภายในปี พ.ศ. 2570 (จาก 25 คนต่อแสนประชากร ณ ปี พ.ศ. 2566 - รายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนน)
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในแต่ละปี ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 18,000 ราย บาดเจ็บกว่า 1 ล้านราย พิการกว่า 10,000 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 600,000 ล้านบาท
มาตรการจาก 2 กระทรวง
กระทรวงคมนาคม ในบทบาทการควบคุมดูแลให้เกิดความปลอดภัยในการคมนาคมของประเทศและประชาชน ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทางถนน ให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย พร้อมกับเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทุกมิติ อาทิ ยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับรถ พัฒนามาตรฐานยานยนต์ให้เป็นมาตรฐานสากล UN Regulations ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงบูรณาการกับภาคส่วนต่าง ๆ
ในด้านของกระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการเร่งรณรงค์ให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะ และทุกภาคส่วน มีความพร้อมด้านสุขภาพ ตระหนักถึงความปลอดภัยและป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ
MOU 2 กระทรวง ว่าด้วยการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน
6 พฤศจิกายน 2567 ที่ หอประชุมราชรถสโมสร กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน ระหว่าง นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ก็เพื่อมุ่งยกระดับและพัฒนากระบวนการออกใบอนุญาตขับรถ ให้มีคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยจะพิจารณาและปรับปรุงกฎระเบียบรองรับการตรวจคัดกรองสุขภาพและตรวจประเมินสมรรถนะผู้ขับรถพัฒนาและนำระบบดิจิทัลที่เหมาะสมมาใช้ในการบริหารจัดการและบริการประชาชน พัฒนามาตรฐานการตรวจและประเมินสมรรถนะทางสุขภาพของผู้ขับขี่ (Medical Fitness to Drive) และเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองแพทย์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการขอรับและขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และใบอนุญาตผู้ประจำรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก พัฒนาคลินิกประเมินสมรรถนะทางสุขภาพผู้ขับขี่ผ่านคลินิกอาชีวเวชกรรมในโรงพยาบาล โดยจะเริ่มดำเนินการในกลุ่มผู้ขับขี่รถสาธารณะ รถบรรทุก รถนักเรียน รถพยาบาล และกู้ชีพ กู้ภัย เป็นกลุ่มแรก