ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพ รวมโปรแกรมสุขภาพ บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิดบริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event Health Economy ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

Stroke Fast Track ทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง

Stroke Fast Track ทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง Thumb HealthServ.net
Stroke Fast Track ทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง ThumbMobile HealthServ.net

โรคหลอดเลือดสมองตีบสามารถป้องกันได้ โดยควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแต่หากเกิดอาการผิดปกติที่ต้องสงสัยโรคนี้จะต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อเข้าทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง หรือ 270 นาทีชีวิต (Stroke Fast Track)

โรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทางการแพทย์ทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพและเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเสียชีวิตลำดับต้นๆทั้งชายและหญิงอดีตเรามักเข้าใจว่าโรคนี้เป็นเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ในปัจจุบันกลับพบผู้ป่วยโรคนี้มากขึ้นทั้งที่อยู่ในวัยกลางคน
 
     โรคหลอดเลือดสมองตีบ เกิดจากเส้นเลือดสมองที่ตีบหรืออุดตันทำให้เนื้อสมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื้อสมองบริเวณนั้นจะเริ่มตาย โดยเริ่มจากส่วนตรงกลางก่อน (Ischemic core) ยังเหลือส่วนรอบๆที่ยังไม่ตาย (Penumbra) แต่เมื่อเวลาผ่านไปส่วนที่เหลืออยู่นี้จะค่อยๆตายตามไปด้วย ทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์หรืออัมพาต
 
     ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ พบว่า ระยะเวลา4 ชั่วโมงครึ่ง หรือ 270 นาทีหลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มเกิดอาการเป็นช่วงเวลาสำคัญที่แพทย์จะวางแผนการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic Stroke) โดยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำที่เรียกว่า Thrombolytic Therapy ช่วงระยะเวลานี้จะนับตั้งแต่นาทีแรกที่ผู้ป่วยมีอาการจนถึงเวลาที่แพทย์ฉีดยาละลายลิ่มเลือดเข้าทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วย หากผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลช้ากว่านี้จะไม่สามารถรักษาด้วยวิธีดังกล่าวได้เนื่องจากเนื้อสมองที่ขาดเลือดได้ตายไปมากแล้ว ดังนั้นจึงเรียกแผนการรักษานี้ว่า “Stroke Fast Track” หรือทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง หรือ 270 นาทีชีวิต
 
อาการที่ผิดปกติและเป็นสัญญาณเตือนว่ามีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ ได้แก่
 
1.แขน ขา อ่อนแรงครึ่งซีก (Hemiparesis)
 
2.แขน ขา ชาครึ่งซีก (Hemianesthesia)
 
3.พูดไม่ชัดลิ้นแข็ง (Dysarthria)
 
4.พูดไม่ออกฟังไม่เข้าใจ (Aphasia)
 
5.ด้านสายตาผิดปกติครึ่งซีก (Homonymous hemianopia)
 
6.มองเห็นภาพซ้อน (Binocular diplopia)
 
7.เดินเซ (Ataxia or Incoordination)
 
8. ซึมลง (Impaired consciousness)
 
9.เวียนศีรษะบ้านหมุน (Vertigo)
 
    โดยอาการเหล่านี้จะมีลักษณะสำคัญ คือ เป็นอย่างรวดเร็ว ทันทีทันใดหรือบางทีเป็นหลังจากตื่นนอนโดยก่อนนอนยังปกติอยู่
 
สาเหตุ 
 
     1.ไขมันเกาะผนังหลอดเลือด(Atherosclerosis)
 
     2.ลิ่มเลือดหลุดลอยจากหัวใจ (Cardiac  emboli)
 
     3.ผนังหลอดเลือดฉีกขาด (Arterial dissection)
 
     4.อื่นๆ เช่น
 
               - หลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis)
 
               - เลือดหนืดข้น (Hyperviscosity)
 
               - เลือดแข็งตัวผิดปกติ (Hypercoagulability)
 
ปัจจัยเสี่ยง   แบ่งเป็น
 
ปัจจัยที่ป้องกันไม่ได้  ได้แก่
 
  • อายุ อายุที่สูงขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่ 45 ปี ขึ้นไปมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบได้มากขึ้น
  • เพศ ผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย ประวัติครอบครัวผู้ที่มีโรคนี้โดยตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง)ที่เป็นโรคนี้ ก็มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากขึ้น
 
ปัจจัยที่ป้องกันได้  ได้แก่
 
  • โรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจบางชนิด (โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะโรคลิ้นหัวใจผิดปกติ)
  • สูบบุหรี่
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์
  • ขาดการออกกำลังกาย
 
        โรคหลอดเลือดสมองตีบสามารถป้องกันได้ โดยควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแต่หากเกิดอาการผิดปกติที่ต้องสงสัยโรคนี้จะต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อเข้าทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง หรือ 270 นาทีชีวิต (Stroke Fast Track)
 
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบ
 
       สำหรับโรงพยาบาลวิภาวดี มีทีมแพทย์ พยาบาล และสหสาขาวิชาชีพที่พร้อมให้การรักษาโดยจะรีบคัดกรองอาการผิดปกติดังกล่าวของผู้ป่วยว่าใช่โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือไม่ เพื่อเข้าแผนการรักษา Stroke Fast Track ตามขั้นตอนการให้บริการทั้งหมด ตั้งแต่ท่านมาถึงโรงพยาบาลจนกระทั่งได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วประมาณ 60 นาที ซึ่งจะรวมการตรวจร่างกายทางระบบประสาท ตรวจเลือด และตรวจภาพสแกนคอมพิวเตอร์สมอง (CT brain) หากผู้ป่วยมีอาการในระยะเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง และไม่มีข้อห้ามของการให้ยา จะได้รับยาละลายลิ่มเลือด (Recombinant Tissue Plasminogen  Activator ; rtpa)ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งเป็นการรักษามาตรฐานในปัจจุบันนี้ ทางศูนย์สมองและระบบประสาท(Neurology Center) ขอชี้แจงประโยชน์และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ดังนี้
 
ประโยชน์ที่ได้รับ
 
       จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยามีอาการดีขึ้น (มีความพิการเหลืออยู่เล็กน้อย หรือ หายเป็นปกติภายหลัง 3 เดือน) มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาถึง 30 %
 
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
 
        จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยามีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น เลือดออกในสมอง 6.4% เทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยา พบ 0.6% เลือดออกที่ร่างกายส่วนอื่นๆ การแพ้ยาแต่อย่างไรก็ตามการคัดเลือกสภาวะผู้ป่วยที่เหมาะสมจะสามารถช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้อีก
 
การรักษาอื่นๆ
 
        กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถได้รับยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำแพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านเกล็ดเลือด(Antiplatelet) หรือ ยาป้องกันเลือดแข็งตัว (Anticoagulant) เพื่อป้องกันแทนร่วมกับการดูแลในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Unit) เพื่อดูแลภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและการไหลเวียนของเลือด ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ความดันโลหิตและสารเคมีที่สำคัญในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติและทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูผู้ป่วยต่อไป
 
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด