นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า นโยบาย 30 บาทอัปเกรด ในส่วนของ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้วใน 4 จังหวัดนำร่อง คือ ร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบุรี และนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดยการใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใน 4 จังหวัดนั้น นอกจากจะสามารถใช้ได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวแล้ว ยังสามารถใช้ได้กับสถานพยาบาลเอกชนที่ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย ซึ่งในส่วนนี้เป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ มีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ลดความแออัดในโรงพยาบาล ได้รับบริการที่รวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน โดยสามารถเลือกได้ว่าจะไปรับบริการที่สถานพยาบาลใด ซึ่งใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียว ก็เข้ารับบริการได้ทันที ไม่ว่าสถานพยาบาลประจำตัวจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถใช้บริการได้
“เมื่อเจ็บป่วยเบื้องต้น พี่น้องประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้าไปรับบริการที่สถานพยาบาลเอกชนต่างๆ ได้เลยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หลังจากนั้นในระบบจะมีให้ประชาชนยืนยันการรับบริการซึ่งทำได้หลากหลายวิธีตามแต่ความสะดวกของประชาชน ใช้เพียงแค่บัตรประชาชนใบเดียวเท่านั้น หรือหากใครมีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ก็สามารถยืนยันได้ ไม่ว่าจะเป็นการยืนยันการรับบริการผ่านแอปฯ หมอพร้อม แอปฯ เป๋าตัง หรือไลน์ สปสช. ย้ำว่าหากท่านใดไม่มีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ก็ใช้บัตรประชาชนยืนยันกับเครื่องอ่านบัตรประชาชนของหน่วยบริการได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องไปลงทะเบียนยืนยันตัวตนล่วงหน้าที่โรงพยาบาลรัฐแต่อย่างใด เนื่องจากจะทำให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาลและยังทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยไม่จำเป็นอีกด้วย” รมว.สาธารณสุข กล่าว
บริการสาธารณสุขวิถีใหม่
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ว่า ประกอบด้วยรายการต่อไปนี้
- ร้านยา ให้บริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ โดยปรึกษาเภสัชกรและรับยา
- คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น ให้บริการตรวจรักษาโรคเบื้องต้น 32 อาการ ทำแผล ฝากครรภ์-ตรวจหลังคลอด
- คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น ให้บริการตรวจรักษาโรคแบบผู้ป่วยนอกตามการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
- คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เคลือบหลุมร่องฟัน เคลือบฟูลออไรด์
- คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น นวด ประคบ อบสมุนไพร เพื่อการรักษา เป็นต้น
- คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น ให้บริการตรวจวัดระดับไขมันในเลือด ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ ตรวจการตั้งครรภ์ ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง (อายุ 50-70 ปี) รวมถึงตรวจแล็บตามใบสั่งตรวจของแพทย์ เป็นต้น
- คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น ที่บริการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง 4 กลุ่มโรค โดย รพ.ที่ให้การรักษาส่งตัวผู้ป่วยไปรับการฟื้นฟูที่คลินิกฯ
สปสช.โอนงบไว ไม่ล่าช้า
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ในส่วนของการให้บริการของหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ใน 4 จังหวัดนำร่องนั้น ในส่วนของวันที่ 7-9 มกราคม 2567 ที่มีการให้บริการของหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ทั้ง 7 รายการให้กับประชาชนสิทธิบัตรทองนั้น สปสช.ได้โอนงบประมาณค่าบริการสาธารณสุขให้กับหน่วยบริการเรียบร้อยภายใน 3 วันทำการคือวันที่ 10 มกราคม 2567 จำนวน 353,700 บาท วันที่ 11 มกราคม 2567 จำนวน 285,380 บาท รวมโอนเงินให้หน่วยบริการ เป็นเงินรวม 639,080 บาท
สายด่วน 1330 พร้อมรองรับ
ในด้านการอำนวยความสะดวก และรองรับการบริการ สปสช. ได้จัดช่องทางพิเศษ โทร. 1330 เพื่อสอบถามข้อมูลนโยบาย 30 บาทอัปเกรด พร้อมกันนี้ยังได้แยกช่องทางสอบถามให้บริการข้อมูล ช่วยเหลือ สอบถามปัญหาการใช้สิทธิ ขั้นตอนการใช้บริการ เข้ารักษาที่ไหนได้บ้าง รายจังหวัดทั้ง 4 จังหวัดนำร่อง ดังนี้
- จ.แพร่ โทร. 1330 กด 61
- จ.ร้อยเอ็ด โทร. 1330 กด 67
- จ.เพชรบุรี โทร. 1330 กด 65
- จ.นราธิวาส โทร. 1330 กด 612
“ประชาชนเข้ารับริการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ใน 4 จังหวัดนำร่อง หากมีข้อสงสัยหรือมีปัญหาในการเข้ารับบริการสามารถติดต่อสอบถามมายังสายด่วน สปสช. ตามช่องทางที่จัดไว้ได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ร้อยเอ็ดตอบรับดีมาก
ด้าน พญ.วรรณรัตน์ อัตถากร เจ้าของสหคลินิกบ้านคุณหมอร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด หนึ่งในหน่วยบริการภายใต้นวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ กล่าวว่า คลินิกบ้านคุณหมอร้อยเอ็ด เป็นสหคลินิก ให้บริการ 3 ด้าน คือ 1. คลินิกตา บริการตรวจตา ผ่าตัดเล็ก 2. คลินิกสูตนิรีเวช บริการฝากครรภ์ ส่งเสริมการมีบุตร และคุมกำเนิด และ 3.คลินิกทันตกรรม บริการอุด ถอน ทำฟันปลอม และเอกซเรย์ช่องปาก ด้วยความที่เป็นสหคลินิกเวชกรรม ก็สามารถให้บริการตรวจรักษาโรคเบื้องต้นได้อีกด้วย
ทั้งนี้ การเข้าร่วมโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการกับคลินิกมากขึ้น เพราะเป็นการอำนวยความสะดวกในด้านการเข้าถึงบริการ ที่เป็นรูปแบบใหม่ ทำให้ประชาชนไม่ต้องไปที่โรงพยาบาลเหมือนเดิม แต่สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ และยังพบแพทย์ได้เร็วขึ้น รวมถึงสามารถนัดหมายวันและเวลาการพบแพทย์ผ่านแอปพลิเคชันได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ทราบว่าขณะนี้มีคลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกแพทย์แผนไทย รวมถึงคลินิกเทคนิคการแพทย์ ที่ให้บริการเจาะเลือด ตรวจแล็บ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของภาคเอกชน ก็ทยอยเข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นหน่วยบริการในโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่มากขึ้นเรื่อยๆ
"เชื่อว่า คลินิกเวชกรรม รวมถึงคลินิกต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ จะทำให้ประชาชนมาใช้บริการมากขึ้น เพราะสะดวก และที่สำคัญคือไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ในส่วนคนไข้หนัก หรือคนไข้ที่มีอาการซับซ้อน และต้องรับการทำหัตถการ ส่วนนี้ก็ยังคงต้องไปโรงพยาบาล" พญ.วรรณรัตน์ กล่าว
*ภาพจาก
เพจหมอชลน่านfcไม่มีดราม่า