กรมอุตุฯ ประกาศเริ่มต้นฤดูร้อน ปี พ.ศ. 2567
22 กุมภาพันธ์ 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ เรื่อง
การเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. 2567
"ประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 โดยในตอนกลางวันบริเวณประเทศไทยมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปต่อเนื่อง อุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 35 องศาเซลเซียส เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากรังสีดวงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีลมฝ่ายใต้พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ซึ่งเป็นรูปแบบลักษณะอากาศของฤดูร้อน อย่างไรก็ตามบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้าจนถึงประมาณกลางเดือนมีนาคม และคาดว่า ฤดูร้อน จะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567"
5 จังหวัดร้อนจัดที่สุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก และอุดรธานี ร้อนติดอันดับ อุณหภูมิสูงสุดตั้งแต่ 44 องศาเซลเซียส
ขณะที่ กรุงเทพมหานคร อุณหภูมิสูงสุด 40-41 องศาเซลเซียส มีฝนคะนองบางช่วง
การป้องกัน โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke)
อากาศร้อน ระวัง...โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) สังเกตอาการ ตัวร้อนจัด ผิวหนังแดงและแห้ง เหงื่อไม่ออก สับสน มึนงง
การป้องกัน
- ติดตามข่าวสาร พยากรณ์อากาศ อุณหภูมิสูงสุดรายวัน
- ดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ วันละ 6-8 แก้ว
- ใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา ระบายความร้อนได้ดี
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน
ระวังภัยจากอาหารและโรคทางเดินอาหาร
อากาศร้อน ระวังโรคอุจจาระร่วง และอาหารเป็นพิษ
ระวัง! อาหาร
- ที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบและอาหารประเภทยำ
- ปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ก้อย พล่า ฯลฯ
- ที่มีฟองอากาศ กลิ่นเหม็นบูด รสชาติเปรี้ยวผิดปกติ
ข้อแนะนำ
- ควรนำอาหารมาอุ่นให้เดือดก่อนรับประทานอาหาร
- หากอาหารที่อุ่นไม่ได้ให้ทำในปริมาณที่พอรับประทานแต่ละมื้อ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบและเมนูที่ไม่ผ่านการทำให้สุกด้วยความร้อน หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ
- สังเกตสภาพอาหารก่อนรับประทานทุกครั้ง
- เลือกน้ำดื่มบรรจุขวดที่ได้มาตรฐานน้ำบริโภค และมี อย.
- เลือกน้ำแข็งที่ผลิตเพื่อการบริโภคและได้มาตรฐาน รับรอง GMP และ อย. เท่านั้น
การทาครีมกันแดดช่วยได้มาก
การตากแดดจัดเป็นเวลานาน ทำให้ผิวหนังได้รับสาร UV ที่เป็นอันตรายต่อผิว
3 จุดสำคัญห้ามละเลย ทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้าน
ริมฝีปาก : ควรทาลิปบาล์มที่มีสารป้องกัน แสงแดด เพิ่มความชุ่มชื้น โดยสามารถทาซ้ำได้บ่อย
ผิวหน้า&ตัว : ทาก่อนออกแดดอย่างน้อย 20 นาที โดยทาผิวหนังและทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง
ผิวมือ : ควรทามอยส์เจอไรเซอร์บำรุงผิวมือบ่อย ๆ และทาครีมกันแดดร่วมด้วย
ความรู้เกี่ยวกับฮีทสโตรก การออกกำลังกายกลางแจ้ง และวิธีปฐมพยาบาล
อากาศร้อนจัด ออกกำลังกายกลางแจ้ง เสี่ยงโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke)
5 วิธี ออกกำลังกายอย่างปลอดภัย
- ดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ หากสูญเสียเหงื่อมากควรดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ควรออกกำลังกายในช่วงเช้าหรือเย็น หรือเปลี่ยนมาออกกำลังกายในอาคาร หรือบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท
- สวมชุดออกกำลังกายที่ระบายความร้อนได้ดี
- ควรออกกำลังกายเป็นกลุ่ม และหากมีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิด
วิธีปฐมพยาบาล
รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
ระหว่างที่รอรถพยาบาล ให้พาผู้ป่วย เข้าที่ร่มและเย็น ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น
จัดให้นอนราบ ยกขา และเท้าสูงกว่าลำตัว
ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น เช็ดตามตัวและใช้พัดลมเป่าช่วย หรือ วางถุงน้ำแข็งตามซอกคอ รักแร้ และ ขาหนีบ
หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคง เพื่อป้องกันโคนลิ้นอุดตันทางเดินหายใจ