ศ.น.สพ.ดร. เผด็จ ธรรมรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สุขภาพที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกมีความตระหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคอาหารที่ดี องค์การอนามัยโลก ได้นิยามความหมายของ “สุขภาพ” ว่าเป็นสภาวะแห่งความสมบูรณ์ทางร่างกาย จิตใจ และสุขภาวะทางสังคม ไม่ใช่เพียงการปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น ดังนั้น อาจสรุปได้ว่าสุขภาพจิตสัมพันธ์กับสุขภาพกายและพฤติกรรมอย่างแยกออกจากกันไม่ได้
ความเชื่อมโยงระหว่างกายและใจไม่ได้ส่งผลแค่มนุษย์เท่านั้น แต่รวมถึงสัตว์ด้วย ทั่วโลกจึงเริ่มให้ความสำคัญกับหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ซึ่งเป็นหลักการที่คำนึงถึงเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี ช่วยส่งเสริมสัตว์ให้มีสุขภาพแข็งแรง มีสภาพจิตใจที่ดี มีความสุข ไม่ป่วยไข้
ศ.น.สพ.ดร. เผด็จ ธรรมรักษ์ แนะ หลักสวัสดิภาพสัตว์ เป็นหลักสากลในการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างเหมาะสม ทั้งสัตว์เลี้ยงในบ้าน และที่เลี้ยงในฟาร์ม ให้มีความสุขกาย สบายใจ โดยมี 5 หลักการ คือ
1. อิสระจากความหิว กระหาย (Freedom from hungry and thirst) โดยสัตว์ควรได้รับอาหารอย่างเพียงพอ เหมาะสมต่อช่วงวัยและสายพันธุ์ ไม่ปล่อยให้สัตว์หิวกระหาย ใช้น้ำสะอาดในการเลี้ยงดู มีการดูแลอย่างใกล้ชิด
2. อิสระจากความไม่สบายกาย (Freedom from discomfort) ผู้เลี้ยงควรมีการเตรียมสถานที่อย่างเหมาะสม เช่น มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป เพื่อให้สัตว์มีความเป็นอยู่สบาย มีพื้นที่กว้างให้เดินเล่นไม่แออัด มีการจัดการสิ่งปฏิกูล
3. อิสระจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บ หรือเป็นโรค (Freedom from pain, injury and disease) เมื่อสัตว์ป่วย หรือได้รับความเจ็บปวด ควรมีการดูแล วินิจฉัยและรักษาโรคอย่างถูกต้อง
4. อิสระจากความกลัวและทุกข์ทรมาน (Freedom from fear and distress) ถึงแม้จะเป็นสัตว์แต่ก็มีหัวใจ หากมีความรู้สึกกลัว หรืออยู่ในสภาวะที่ทุกข์ทรมาน จะส่งผลต่อเรื่องของสุขภาพ อาจทำให้อ่อนแอ ไม่อยากอาหาร จนเกิดการเจ็บป่วยในที่สุด
5. อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ (Freedom to express normal behavior) โดยการไม่บังคับสัตว์จนไม่สามารถแสดงพฤติกรรมได้ตามธรรมชาติ
นอกจากผู้ประกอบการรายใหญ่ ผู้ผลิต เกษตรกรรายย่อยก็สามารถนำหลัก Animal Welfare มาปฏิบัติได้ เช่น ดูแลสถานที่เลี้ยงสัตว์ให้มีความสะอาด อากาศถ่ายเท จัดเตรียมอาหารและน้ำที่ได้คุณภาพ สะอาด อย่างเพียงพอ ปล่อยให้สัตว์ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติอย่างอิสระ และมีการป้องกันสัตว์พาหะนำโรคเข้ามาในฟาร์ม หากสัตว์มีอาการเจ็บป่วยควรรักษาโดยสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
“การปฏิบัติต่อสัตว์อย่างเหมาะสมด้วยความเอาใจใส่ ไม่ใช่เพียงเรื่องของศีลธรรม แต่ยังส่งผลและมีความเชื่อมโยงต่อสุขภาวะที่ดีของเกษตรกร ผู้บริโภค และระบบนิเวศด้วย เพราะหากสัตว์มีสุขภาพดี แข็งแรง ไม่ป่วย เกษตรกรไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ สามารถส่งมอบอาหารคุณภาพ ปลอดภัย ช่วยลดปัญหาการเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อม นับเป็นหลักการสากลที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ไทยอย่างยั่งยืน” ศ.น.สพ.ดร. เผด็จ ธรรมรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย