พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เปิดเผยข้อมูลและแผนความพร้อมเตรียมรับมือ และการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน กทม. จากสถานการณ์ที่ในขณะนี้ มีน้ำเหนือปริมาณมากไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา จากการระบายโดยกรมชลประทาน บรรเทาผลกระทบจากการที่จังหวัดในภาคเหนือตอนบน ประสบภาวะน้ำท่วมอิทธิพลจากพายุเตี๊ยนหมู่ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และคาดว่ามวลน้ำที่ระบายจากเขื่อนเจ้าพระยา จะเดินทางถึงปริมมณฑลและกทม. ในเร็ววันนี้
ผู้ว่า กทม.ได้ระบุว่า " กทม.ได้เตรียมรับมือป้องกันน้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง แก้ไขจุดเสี่ยงให้มีน้อยที่สุด และเตรียมเจ้าหน้าที่ เครื่องสูบน้ำในจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมขัง โดยใช้หลักวิศวกรรมมาแก้ไข มีการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ ท่อเร่งระบายน้ำ (Pipe Jacking) และพื้นที่กักเก็บน้ำ ทั้งบนดินและใต้ดิน (Water Bank) เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังใน กทม. อย่างต่อเนื่อง ก่อนสูบน้ำ ระบายออกสู่แม่น้ำให้เร็วที่สุดอีกทางหนึ่ง"
สถานการณ์ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาใน กทม. (ข้อมูลวันที่ 28 กันยายน)
จากผลกระทบจากพายุดีเปรสชั่น "เตี้ยนหมู่" ที่พาดผ่านทางตอนบนของประเทศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดฝนตกหนักในจังหวัดที่อยู่เหนือ กทม.ขึ้นไป โดยเฉพาะจังหวัดที่มีแม่น้ำสายหลักไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน และ แม่น้ำป่าสัก ทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับน้ำสูงขึ้น และการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังคงมีฝนตก ร้อยละ 60 ของพื้นที่
กทม.ได้เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จากสถานีวัดระดับน้ำหลัก 3 แห่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำเมื่อเวลา 9.30 น. ยังอยู่ในระดับที่สูง แต่ยังต่ำกว่าแนวคันกั้นน้ำ ดังนี้
- ประตูระบายน้ำปากคลองตลาด มีระดับแนวป้องกันอยู่ที่ +3.00 วัดระดับน้ำสูงสุดได้ +1.33 ซึ่งยังต่ำกว่าแนวป้องกัน -1.67
- สถานีสูบน้ำบางนา มีระดับแนวป้องกันอยู่ที่ +2.80 วัดระดับน้ำสูงสุดได้ +1.31 ซึ่งต่ำกว่าแนวป้องกัน -1.49
- สถานีสูบน้ำบางเขนใหม่ มีระดับแนวป้องกันอยู่ที่ +3.50 วัดระดับน้ำสูงสุดได้ +1.3-0ซึ่งต่ำกว่าแนวป้องกัน -2.20
กทม.ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังระดับน้ำ และเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำสำรองและกระสอบทรายในจุดเสี่ยงริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนให้ทราบหากระดับน้ำสูงขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม เพื่อป้องกันได้อย่างทันท่วงทีครับ
กทม.ก็ยังได้เตรียมความพร้อมและรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ โดยมีแผนรับมือฯ 9 ข้อ ดังนี้
1. ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา
2. เตรียมเครื่องสูบน้ำให้พร้อมใช้งาน
3. พร่องน้ำในคลอง
4. ศูนย์เตือนภัยน้ำท่วม พร้อมประสานทีมงานภาคสนามทันที
5. หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST)
6. หน่วยงานภาคสนามลงพื้นที่ตามจุดต่างๆ
7. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
8. เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจุดที่วิกฤติ
9. ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม
ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ตลอด 24 ชั่วโมง
ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและจากเรดาร์ตรวจฝนของกรุงเทพมหานคร ตลอด 24 ชั่วโมง
2. เตรียมเครื่องสูบน้ำให้พร้อมใช้งาน
2. เตรียมเครื่องสูบน้ำให้พร้อมใช้งาน และจัดเจ้าหน้าที่ พร้อมแก้ไขน้ำท่วมขังทันที ตามจุดที่เสี่ยงน้ำท่วม
3. พร่องน้ำในคลอง ให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนฯ
3. พร่องน้ำในคลอง ควบคุมระดับน้ำในบ่อสูบน้ำและแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนฯ
4. เมื่อมีฝนตก ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม ประสานงานกับทีมภาคสนาม ทันที
เมื่อมีฝนตก ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม แจ้งเตือนสถานการณ์ฝนตกให้ผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม และแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลุ่ม Line “เตือนภัยน้ำท่วม กทม.” (ปภ. ทหาร ตำรวจ สื่อมวลชน) ทันที
5. หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST) ประจำจุดเสี่ยง
หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST) ประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วมและจุดสำคัญเมื่อคาดว่าจะมีฝนตกหนัก เพื่อเร่งระบายน้ำ และแก้ไขปัญหาเรื่องขยะอุดตันตะแกรงช่องรับน้ำพร้อมการช่วยเหลือแก้ปัญหาด้านการการจราจร
6. หน่วยงานภาคสนามลงพื้นที่ตามจุดต่างๆ
หน่วยงานภาคสนามลงพื้นที่ตามจุดต่างๆ และรายงานจุดที่มีน้ำท่วมให้ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมรับทราบสถานการณ์จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ
7. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยอำนวยความสะดวกการจราจร
ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ ช่วยอำนวยความสะดวกการจราจร การปิดเส้นทางน้ำท่วม และทหาร ช่วยเหลือลำเลียงประชาชนออกจากพื้นที่ หากมีระดับน้ำท่วมสูงรถเล็กไม่สามารถใช้เส้นทางผ่านได้
8. เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจุดที่วิกฤติ
เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจุดที่วิกฤติ ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่เพิ่มเติมจากเดิม
9. ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม
ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม รายงานสภาพฝน ปริมาณฝน พื้นที่น้ำท่วมขังเป็นระยะๆ และสรุปสถานการณ์เพื่อแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ผ่านหน่วยงานต่างๆ รวมถึงช่องทางโซเชียลมีเดีย
ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน กรุงเทพมหานครจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยมีผู้อำนวยการเขตเป็นผู้บัญชาเหตุการณ์ พร้อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและจังหวัดใกล้เคียง ทั้งจังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน และกองทัพภาคที่ 1 และเตรียมการแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบตามเส้นทางที่มีแนวก่อสร้าง เช่น โครงการระบบระบายน้ำแนวถนนวิภาวดี และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ซึ่งก่อนหน้าฝน ก็ได้มีการเตรียมพร้อมหากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยได้ลอกท่อระบายน้ำ เก็บขยะ ผักตบชวา และเตรียมเครื่องสูบน้ำให้พร้อมใช้งาน
พี่น้องประชาชนสามารถติดตามการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝนและรับแจ้งเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่ กทม. จะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เข้าช่วยเหลือประชาชนและเร่งระบายน้ำในจุดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังได้ที่ โทร. 1555 และศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 0 2248 5115 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง