29 พ.ค.2562 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ. ... ที่ออกตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ว่า ร่างกฎกระทรวงมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชานั้น ถือเป็นเพียงกฎหมายตัวหนึ่งในบรรดากฎหมายทั้งลูก 10 ฉบับที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ ซึ่งฉบับดังกล่าวหลังผ่าน ครม.ก็จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป
นพ.ธเรศ กล่าวว่า ส่วนเรื่องของการใช้กัญชาในประเทศไทยขณะนี้อนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์ โดยใช้ภายใต้การควบคุม และอยู่ระหว่างการจัดหาน้ำมันกัญชาให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ ส่วนการขออนุญาตปลูกและทำการวิจัย ล่าสุด มีประมาณ 6-7 หน่วยงานที่มาขออนุญาต เช่น รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมกับวิสาหกิจชุมชน และโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ร่วมกับวิสาหกิจชุม เป็นต้น ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาเบื้องต้นไปแล้ว
เมื่อถามถึงผลการตรวจสอบกัญชาแห้งของกลางที่เตรียมนำมาผลิตน้ำมันกัญชาใช้ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ผลยังไม่ออก
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ขณะนี้แม้กฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ ภายใต้การควบคุมนั้น แต่ขอย้ำว่าไม่สามารถโฆษณาขายผ่านช่องทางต่างๆ ได้ เพราะตามกฎหมายยาทุกประเภท วัตถุออกฤทธิ์ ต่างไม่สามารถโฆษณาได้ ยกเว้นยาสามัญประจำบ้าน เช่น พาราเซตามอล สามารถโฆษณาได้ นอกจากนี่ ขอย้ำอีกว่าผลิตภัณฑ์จากกัญชาไม่ได้อนุญาตให้ขายโดยเสรี ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายจะต้องได้รับอนุญาตทั้งสิ้น หากขายผ่านช่องทางต่างๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-15 ปี ส่วนผู้ใช้นั้นต้องให้แพทย์สั่ง หากใช้โดยแพทย์ไม่ได้สั่งให้ใช้มีโทษตั้งแต่ 0-10 ปี