4 มกราคม 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงการเตรียมความพร้อมรองรับผู้เดินทางจากประเทศจีน ว่า
จากการที่ประเทศจีนเตรียมเปิดประเทศ ในวันที่ 8 มกราคม 2566 นี้ และไทยเป็นประเทศเป้าหมายปลายทางอันดับต้นๆ ที่ชาวจีนวางแผนจะเดินทางมา กระทรวงฯ ได้ประมาณการนักท่องเที่ยวจีนในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม 2566) มีประมาณ 3 แสนคน คิดเป็น 5% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้าประเทศไทย
จำแนกประมาณการ เป็นรายเดือน คาดว่า มกราคมจะเข้ามา 60,000 คน กุมภาพันธ์ 90,000 คน และมีนาคม 150,000 คน และแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยเหตุผลหลัก หลายประการ อาทิ
- ปัจจุบันยังมีเที่ยวบินที่จะเดินทางจำนวนจำกัด
- ระยะเวลาในการขอทำหนังสือเดินทางและการขอวีซ่า ยังจำกัด
- รัฐบาลจีนยังไม่อนุญาตให้บริษัทนำเที่ยวนำกลุ่มทัวร์ออกนอกประเทศ
- ผู้เดินทางจะเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตัวเองและเป็นกลุ่มนักเดินทางระดับบนที่มีกำลังซื้อ
มาตรการรองรับ
สำหรับการเตรียมการรับนักท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่ผ่านมา มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงการประชุมของคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งคณะกรรมการฯ มีความเห็นตรงกันว่าควรปฏิบัติตามแนวทางโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และปฏิบัติกับผู้เดินทางจากทุกประเทศอย่างเท่าเทียม
และที่สำคัญ
"ไม่ใช้มาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อกีดกันผู้เดินทางจากประเทศใดประเทศหนึ่ง"
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคตามหลักวิชาการและเป็นไปตามมาตรฐานโลกอยู่แล้ว ยืนยันว่าระบบสาธารณสุขของไทยยังมีความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยขณะนี้มีการใช้เตียงระดับ 2-3 เพียง 5.2% และมีแผนเตรียมความพร้อมหากพบการระบาดของโรคที่รุนแรงเพิ่มขึ้น รวมถึงจะมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เพื่อปรับมาตรการตามสถานการณ์ของเชื้อกลายพันธุ์ด้วย
ข้อเสนอมาตรการด้านสาธารณสุขรองรับผู้เดินทาง
นายอนุทินกล่าวอีกว่า ส่วนข้อเสนอมาตรการด้านสาธารณสุขรองรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ ที่จะเสนอในวันที่ 5 มกราคมนี้ คือ จำแนกเป็น ก่อนเข้าประเทศไทย ระหว่างพำนักอยู่ในประเทศไทย และหลังจากเดินทางออกจากประเทศไทย ดังนี้
ก่อนเข้าประเทศไทย
- ให้ฉีดวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อย 2 เข็ม
- หากมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ควรเลื่อนการเดินทางและรักษาให้หายก่อนเพื่อลดการแพร่โรค
- ให้ซื้อประกันสุขภาพเดินทางที่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด 19 ก่อนเข้าประเทศ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น
ขณะพำนักในประเทศไทย
ส่วนมาตรการขณะพำนักในประเทศไทย
- จะมีการให้คำแนะนำผู้เดินทางป้องกันตนเองตลอดระยะเวลาที่อยู่ในประเทศ เช่น สวมหน้ากากเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ/ขนส่งสาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ
- หากมีอาการทางเดินหายใจ ให้ตรวจคัดกรองด้วย ATK
- หากมีอาการป่วยรุนแรงขึ้นให้ไปตรวจรักษาที่สถานพยาบาล
หลังจากเดินทางออกจากประเทศไทย
กรณีเดินทางออกจากประเทศไทยและประเทศปลายทางมีนโยบายตรวจคัดกรองก่อนเข้าประเทศ
- แนะนำให้พักในโรงแรม SHA+ ซึ่งจะมีบริการตรวจหาเชื้อโควิด 19 โดยสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทางห้องปฏิบัติการจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก่อนออกจากประเทศไทย
แนวทางการเฝ้าระวังโรค
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการเฝ้าระวังโรคกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศที่มีอาการทางเดินหายใจ โดยให้ได้รับการตรวจด้วย ATK/PCR และมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์โรคและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีผู้เดินทางจากต่างประเทศ พร้อมทั้งเพิ่มกลไกการรายงานสถานการณ์ผ่านเว็บไซต์กรมควบคุมโรค เน้นจำนวนนักท่องเที่ยวและผลการตรวจคัดกรองผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจที่สนามบิน กำหนดเกณฑ์สำหรับการปรับมาตรการเมื่อพบผู้ติดเชื้อในอัตราสูงหรือพบเชื้อกลายพันธุ์ รวมถึงเฝ้าระวังและตรวจเชื้อโควิด 19 ในน้ำเสียจากเครื่องบิน ทั้งนี้ จะมีการสื่อสารถึงนักเดินทางเพื่อเพิ่มการตระหนักรู้และให้ความร่วมมือในการลดความเสี่ยง