4 กุมภาพันธ์ วันมะเร็งโลก World Cancer Day
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2000 เป็นวันที่ได้มีการลงนามในกฎบัตรปารีสต้านมะเร็ง (The Charter of Paris Against Cancer) โดยนายโคอิชิโร มัทซุอุระ ผอ.ยูเนสโก และนายฌัก ชีรัก ปธณ.ฝรั่งเศส ในงาน World Cancer Day ที่จัดขึ้น ณ กรุงปารีส ที่จัดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ กระตุ้นให้ตระหนักต่อการป้องกันและพัฒนการดูแลรักษาให้กับผู้ป่วยมะเร็งที่มีจำนวนมากทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การสหภาพต่อต้านมะเร็งระหว่างประเทศ (UICC) ได้กำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันมะเร็งโลก ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
Fact : มะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของชาวโลก เกือบครึ่งของจำนวนผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกอยู่ในทวีปเอเชีย
WHO ระบุว่าปี 2020 มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็ง 10 ล้านรายทั่วโลก อันดับ 1 คือมะเร็งเต้านม อันดับสองคือมะเร็งปอด ทุกปีมีเด็กที่ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นราว 400,000 ราย
วันไตโลก World Kidney Day วันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคม ทุกปี
วันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันที่ International Federation of Kidney Foundation และInternational Society of Nephrology ได้กำหนดให้เป็น “วันไตโลก” (World Kidney Day) เพื่อ รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของโรคไต ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั่วโลก และสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน มีนาคมตรงกับสัปดาห์รณรงค์ลดการบริโภคเค็มสากล สำหรับในประเทศไทย
สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมทุกปี ร่วมกับ สถานพยาบาล และแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมสร้างความตระหนักและการป้องกันโรคไตแก่ประชาชนทั่วไป
20 มีนาคม วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ อสม.
มติครม. 21 ธันวาคม พ.ศ.2536 กำหนดให้ใช้วันจัดตั้ง อสม. 20 มีนาคม (2537) เป็นวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อยกย่อง อสม.ทั่วประเทศที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพอนามัยประชาชนไทย เป็นกำลังสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี พ.ศ.2520 ในนาม "อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในปี" ครั้งนั้นเป็นเพียงโครงการทดลองนำร่องใน 20 จังหวัด
กระทรวงสาธารณสุขบริหารจัดการอสม. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร (อสส.) มีจำนวนประมาณ 1,054,729 คน [
มติชน] แบ่งเป็นจำนวน 1.04 ล้านคนทั่วประเทศ และกว่า 15,000 คนในกรุงเทพฯ อสม.แต่ละคนได้รับเงิน 1,000 บาทต่อเดือน และได้รับอีก 500 บาทเพิ่มในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 [
WHO]
24 มีนาคม วันวัณโรคโลก World Tuberculosis Day (World TB Day)
วันวัณโรคโลก ตรงกับวันที่ 24 มีนาคม ของทุกปี ตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาวัณโรคที่ยังคงระบาดอยู่ในหลายส่วนของโลก ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนราว 1.6 ล้านคนต่อปีโดยเฉพาะในประเทศโลกที่สาม สาเหตุที่ตรงกับวันที่ 24 มีนาคมเนื่องจากในวันนี้เมื่อปี ค.ศ. 1882 (พ.ศ. 2425) ดร.โรเบิร์ต คอคได้ประกาศการค้นพบสาเหตุของวัณโรค คือเชื้อแบคทีเรียไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คิวโลซิส การค้นพบของคอคถือเป็นการบุกเบิกวิธีการรักษาและวินิจฉัยวัณโรค ในปี ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) ซึ่งเป็นวาระครบ 100 ปีของการประกาศความสำเร็จของ ดร.คอค สหพันธ์นานาชาติเพื่อต่อต้านวัณโรคและโรคปอด (International Union Against Tuberculosis and Lung Disease;
IUATLD) จึงประกาศให้วันที่ 24 มีนาคมเป็นวันวัณโรคโลก -
WHO World TB Day 2022 7 เมษายน วันอนามัยโลก World Health Day
7 เมษายน 1948 เป็นก่อตั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงถือเอาวันก่อตั้งองค์กรที่มีหน้าที่ด้านการอนามัยของโลกหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้เป็นวันอนามัยโลกของทุกปี (
World Health Day) ความสำคัญของวันอนามัยคือ เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติใช้เป็นโอกาสรณรงค์กับสมาชิกทุกประเทศ ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคมตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ ทั้งในเรื่องการควบคุม ป้องกัน แก้ปัญหาสุขภาพ และส่งเสริมด้านสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
13 เมษายน วันผู้สูงอายุแห่งชาติ
วันผู้สูงอายุแห่งชาติ กำหนดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทุกกลุ่มเห็นถึงคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ สอดคล้องกับเทศกาลสงกรานต์ที่เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวจะกลับมาเยี่ยมบ้าน รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ตามขนบประเพณีอันดีงามสืบกันมา และยังได้กำหนดให้ใช้ "ดอกลำดวน" เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุด้วย 14 เมษายน วันครอบครัว Family Day
คณะรัฐมนตรีรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ มีมติเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พศ. 2532 กำหนดให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็น "วันครอบครัว" ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย เพราะโดยส่วนใหญ่ในวันนี้เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดยสะดวก จึงให้ถือโอกาสเดียวกันนี้เป็นวันแห่งการรวมญาติ รวมครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการี รดน้ำดำหัว ตลอดจนการขอพรผู้ใหญ่ตามประเพณีไทยที่เคยปฏิบัติกันมา [
Kapook]
30 เมษายน วันคุ้มครองผู้บริโภค
30 เมษายน พ.ศ.2522 เป็นวันที่ในหลวง ร.9 ทรงลงพระปรมาภิไธย ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค และประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 4 พฤษภาคม 2522 มีผลการใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2522 ในสมัย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นจุดเริ่มต้นการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย [ข้อมูลและภาพ
มูลนิธิผู้บริโภค]
8 พฤษภาคม วันกาชาดโลก World Red Cross and Red Crescent Day
8 พฤษภาคมของทุกปี วันคล้ายวันเกิดนายอังรี ดูนังต์ (8 พฤษภาคม 2371 (ค.ศ.
1828)) ผู้ให้กำเนิดกาชาดสากล สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)
12 พฤษภาคม วันพยาบาลสากล International Nurses Day
สภาพยาบาลระหว่างประเทศ (International Council of Nurses, ICN) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพพยาบาล ได้กำหนดให้วันที่ 12 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันพยาบาลสากล (International Nurses Day) กำหนดขึ้นตามวันเกิดของมิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล "สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป" สุภาพสตรีชาวกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในฐานผู้ก่อกำเนิดวิชาชีพการพยาบาล ที่เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อมวลมนุษย์ จนได้รับการยกย่องและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสดุดีคุณงามความดีของมิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ที่ทำประโยชน์อย่างมากมายให้แก่มวลมนุษย์ รวมทั้งเพื่อเป็นการยกย่อง ให้เกียรติ และเชิดชูเป็นต้นแบบ อีกทั้งยังมีจุดมุ่งหมายให้พยาบาลทั่วโลก ร่วมมือจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณชน และกำหนดแนวทางเพื่อให้พยาบาลทั่วโลกรณรงค์แก้ไขปัญหาสุขภาพในแต่ละปี โดยในปีนี้ได้กำหนดแนวทางดังคำขวัญที่ว่า "Nurse : A Voice to Lead Nursing The World to Health." (พยาบาล : เสียงแห่งพลังนำการพยาบาลสู่สุขภาพดีทั่วโลก) ภาพและข้อมูลเพิ่มเติม อ่านได้จาก
BBC 17 พฤษภาคม วันความดันโลหิตสูงโลก World Hypertension Day
วันความดันโลหิตสูงโลก ริเริ่มโดย The World Hypertension League (
WHL) กำหนดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2005 เพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงภัยของโรคจากความดันโลหิตสูง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความใส่ใจและป้องกันตนเอง ด้วยการตรวจเช็คความดันของตนเป็นประจำ
CDC สหรัฐ ระบุว่าประชากรโลกกว่าพันล้านคน มีปัญหาสุขภาพด้านความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งของปัญหาโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง และอีกหลายโรค ที่จะตามมา
31 พฤษภาคม วันงดสูบบุหรี่โลก World No Tobacco Day
วันงดสูบบุหรี่โลกจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1988 โดยองค์การอนามัยโลก เนื่องจากเล็งเห็นอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพ ของผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่ การจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลกก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ ให้รัฐบาลชุมชนและประชากรโลก ตระหนักถึงความสำคัญและเข้าร่วมกิจกรรมและกระตุ้นให้รัฐบาลกำหนดนโยบาย/กฏหมายเพื่อควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้ และกำหนดให้ วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) วันงดสูบบุหรี่โลกครั้งแรก ใช้คำขวัญ “บุหรี่หรือสุขภาพต้องเลือกสุขภาพ”
5 มิถุนายน วันสิ่งแวดล้อมโลก World Environment Day
วันสิ่งแวดล้อมโลก เกิดขึ้นจากความห่วงใยในปัญหาวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในอนาคต องค์การสหประชาชาติ ได้จัดให้มีการจัดประชุมใหญ่ระดับโลก
“การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ UN Conference on the Human Environment” ที่ กรุงสตอกโฮลม์ ประเทศสวีเดน ในช่วงวันที่ 5-16 มิถุนายน พ.ศ. 2515 มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน จาก 113 ประเทศ รวมทั้งสื่อมวลชนจากทั่วโลก ผลจากการประชุมครั้งนั้นได้มีข้อตกลงร่วมกันมากมาย และได้จัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP : United Nations Environment Programme) ต่อมา เพื่อดำเนินการให้รัฐบาลประเทศต่างๆ นำเอาข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้นไปจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตนต่อไป และได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก [
กรมป่าไม้]
14 มิถุนายน วันผู้บริจาคโลหิตโลก World Blood Donor Day 2022
14 มิถุนายน วันผู้บริจาคโลหิตโลก World Blood Donor Day 2022
ร่วมระลึกถึง ดร.คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ ชาวออสเตรีย ผู้ค้นพบหมู่โลหิตระบบ ABO เป็นครั้งแรก ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่องานบริการโลหิตทั่วโลก และเป็นวันแห่งการขอบคุณผู้บริจาคโลหิต [
Thai Red Cross Society]
25 มิถุนายน วันไอโอดีนแห่งชาติ
วันที่ 25 มิถุนายน เป็นวันที่สภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติ (International Council for Control of Iodine Deficiency Disorders, ICCIDD) ได้ทูลเกล้าถวายเหรียญทอง ICCIDD แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2540 เพราะพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการวินิจฉัยปัญหา และพระราชทานแนวทางการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน อันเป็นหลักชัยให้พสกนิกรไทยรวมพลังร่วมใจขจัดภัยโรคขาดสารไอโอดีน ให้ลดน้อยลงจนอยู่ในระดับที่ควบคุมได้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมโลก นับเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกพระองค์เดียวของโลกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติเห็นชอบให้วันที่ 25 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันไอโอดีนแห่งชาติ [
โรงพยาบาลบุรีรัมย์]
1-7 สิงหาคม สัปดาห์รณรงค์นมแม่
1-7 สิงหาคมของทุกปี สัปดาห์นมแม่โลก จะมีการรณรงค์ร่วมกันในเรื่องการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมี องค์การพันธมิตรโลกเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (World Alliance for Breastfeeding Actions
WABA ) เป็นแกนนำ โดยการสนับสนุนจากองค์กรหลายองค์กรร่วมทั้ง UNICEF และ WHO
4 สิงหาคม วันสัตวแพทย์ไทย
สัตวแพทย์ เป็นสาขาวิชาทางการแพทย์อีกหนึ่งสาขาที่นับว่ามีความสำคัญ โดยนอกจากสัตวแพทย์จะเป็นผู้ดูแลรักษาสัตว์ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงแล้วยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการติดต่อของโรคจากสัตว์สู่คน ได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันวิชาชีพด้านสัตวแพทย์ยังขาดแคลนบุคลากรอีกมาก
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มุ่งตอบสนองพระปณิธานองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการดูแลสุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ถือกำเนิดขึ้น ตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health เพื่อการดูแลสุขภาพอย่างครบวงจร อันได้แก่ สุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสุขภาพสิ่งแวดล้อม ที่ล้วนมีความสัมพันธ์กันเพื่อให้บัณฑิตสัตวแพทย์ มีความสามารถในการปฏิบัติงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ เป็นสัตวแพทย์ที่มีความสามารถและพร้อมออกปฏิบัติงานได้จริง
24 กันยายน วันมหิดล LINK
"ขอให้ถือประโยชน์ตนเปนที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เปนกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพย์ไว้ให้บริสุทธิ์"
วันมหิดล ตรงกับวันที่ 24 กันยายนของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคต ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระบิดาของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ภายในโรงพยาบาลศิริราช แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493
26 กันยายน วันคุมกำเนิดโลก (World Contraception Day)
26 กันยายน วันคุมกำเนิดโลก สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพครอบคลุมการคุมกำเนิดและวางแผนครอบครัว วันคุมกำเนิดโลก World Contraception Day (WCD) เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 ตรงกับวันที่ 26 กันยายนของทุกปี เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการตั้งครรภ์อย่างถูกวิธี และผลักดันให้ประชากรมีการศึกษาในเรื่องการวางแผนครอบครัว ด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ โดยเน้นให้คู่รักและบุคคลทุกคู่ ตัดสินใจการวางแผนมีบุตร เพื่อลดการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผน
28 กันยายน วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก World Rabies Day
องค์การอนามัยโลก กำหนดให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก เพื่อรำลึกถึงวันเสียชีวิตของหลุยส์ ปาสเตอร์ (ค.ศ.1895) ผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้สำเร็จ เป็นวัคซีนสำคัญที่ช่วยปกป้องชีวิตมนุษย์นับล้านทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
29 กันยายน วันหัวใจโลก World Heart Day
ความคิดริเริ่มที่จะจัดตั้งวันหัวใจโลก มีขึ้นตั้งแต่ปี 1999 โดย สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation
WHF) ด้วยความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก WHO กระทั่งปี 2000 จึงประกาศอย่างเป็นทางการกำหนดให้วันที่ 24 กันยายน เป็นวันหัวใจโลก จนถึงปี 2012 จึงได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี จนถึงปัจจุบัน
WHF
ระบุว่า โรคหัวใจร่วมหลอดเลือด หรือ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease ตัวย่อ CVD) รวมถึงโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตราว 18.6 รายต่อปี
1 ตุลาคม วันผู้สูงอายุสากล International Day of Older Persons
องค์การสหประชาชาติ เป็นผู้กำหนดให้ทุกวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี เป็น
“วันผู้สูงอายุสากล” หรือ
“International Day of Older Persons” โดยกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1991 หรือ พ.ศ. 2534 พร้อมให้ความหมายของคำว่า “ผู้สูงอายุ” ว่า คือบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุตอนต้น คือ บุคคลที่มีอายุ 60-69 ปี ทั้งชายและหญิง และผู้สูงอายุตอนปลาย คือ บุคคลที่มีอายุ 70 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง [
โรงพยาบาลบุรีรัมย์]
7 ตุลาคม วันมะเร็งเต้านม World Breast Cancer Day
วันมะเร็งเต้านมสากล (World Breast Cancer Day) ตรงกับวันที่ 7 ตุลาคม ของทุกปี เพื่อการรณรงค์ให้สตรีไทยไกลโรคมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มีคำแนะนำการป้องกันมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุด คือ การสังเกตอาการตนเอง หมั่นตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองทุกๆ เดือน หากคลำพบก้อนก็ควรรีบพบแพทย์ การตรวจคัดกรองความเสี่ยงและการค้นพบปัญหาตั้งแต่แรกเริ่มจะสามารถช่วยรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้ และหากสตรีที่อายุ 40 - 45 ปีขึ้นไปก็ควรมาตรวจแมมโมแกรม เพื่อดูแลป้องกันให้ปลอดภัยจากมะเร็งเต้านม
21 ตุลาคม วันพยาบาลแห่งชาติ และวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ
21 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี "สมเด็จย่า"
29 ตุลาคม วันอัมพาตโลก World Stroke Day
องค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization :
WSO) ได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันรณรงค์อัมพาตโลก (World Stroke Day) เริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2006 เพื่อให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งปัจจุบันเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก รวมถึงเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต
29 ตุลาคม วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
กำหนดขึ้นตามมติครม. 16 มิถุนายน 2558 เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฏาราชเจ้า มีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม แก่ปวงชนชาวไทยนานัปการ พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ การรวบรวมองค์ความรู้ ด้านการแพทย์แผนไทยมาเผยแพร่ในวงกว้าง ทำให้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเป็นรากฐานของชาติไทย และตามหลักฐานจารึกแผ่นศิลาว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร และได้ทอดพระเนตรเห็นพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียง กุฏิเสนาสนะต่างๆ ชำรุดปรักหักพังมาก จึงมีพระราชศรัทธาจะปฏิสังขรณ์และขยายพื้นที่ให้มากกว่าเดิมและมีพระบรมราชโองการให้รื้อพระอุโบสถเดิม และก่อเสนาสนะสงฆ์ต่างๆ มีการจารึกตำราการแพทย์แผนไทยติดประดับไว้ตามศาลาราย เช่น แผนฝีดาษ ฝียอดเดียว แผนชัลลุกะ แผนลำบองราหู แผนกุมารและแม่ซื้อ อีกทั้ง มีกาาจัดสร้างรูปฤๅษีดัดตน ตั้งไว้ศาลาละ 4 - 5 รูป รวม 16 หลัง ซึ่งองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศรับรองให้ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทำให้การแพทย์แผนไทยมีความเจริญ รุ่งเรือง เกิดคุณูปการแก่ประชาชนในวงกว้าง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและแสดงถึงความกตัญญูกตเวที กระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นสมควรถวายพระราชสมัญญา "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย" แด่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฏาราชเจ้า และกำหนดให้วันที่ ๒๙ ตุลาคม ของทุกปี เป็น "วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ"
1-7 พฤศจิกายน สัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ
จัดโดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เพื่อยกระดับและกระตุ้นให้คนไทยให้ความสำคัญด้านสุขภาพจิตมากขึ้น เพื่อความรู้ ความเข้าใจตนเอง สภาพจิตใจตนเอง เมื่อสุขภาพจิตดีแล้ว ย่อมส่งผลดีต่อเนื่องต่อคนใกล้ชิด ครอบครัว สังคมและชุมชนได้ เป็นการช่วยเหลือดูแลกันอีกทางหนึ่ง
14 พฤศจิกายน วันเบาหวานโลก World Diabetes Day
ริเริ่มขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2534 โดยสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ (The International Diabetes Federation
IDF) และองค์การอนามัยโลก รณรงค์สร้างความตื่นรู้ถึงภัยโรคเบาหวาน เหตุที่เลือกวันที่ 14 พฤศจิกายน เนื่องจากเป็นวันเกิดของเฟรเดอริก แบนติง นักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดา ผู้ร่วมกับชาร์ลส์ เบสต์ เป็นคนแรกที่เข้าใจแนวคิดซึ่งนำไปสู่การค้นพบอินซูลินใน พ.ศ. 2465 และทำให้ได้รับรางวัลโนเบล ปี 1923 (พ.ศ. 2466)
19 พฤศจิกายน วันส้วมโลก World Toilet Day
วันส้วมโลก ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี รับอนุมัติจาก
สหประชาชาติ โดยมีองค์การน้ำแห่งสหประชาชาติได้เป็นผู้ดูแลหลัก เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาของสุขาภิบาล มีผู้คนทั่วโลกถึง 4.5 พันล้านคนที่มีส้วมไม่ได้มาตรฐาน วันส้วมโลกได้ถูกกำหนดขึ้นโดยองค์การส้วมโลก (World Toilet Organization -
WTO) เมื่อปี พ.ศ. 2544
27 พฤศจิกายน วันคล้ายวันสถาปนา กระทรวงสาธารณสุข
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อ กรมพยาบาล เป็น กรมประชาภิบาล ตามความกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตของกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลกรมพยาบาลในขณะนั้น (พ.ศ.2459) ด้วยประสงค์จะพัฒนากิจการกรมพยาบาลให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ต่อมา 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 ได้ประกาศตั้ง
กรมสาธารณสุข โดยเปลี่ยนจากกรมประชาภิบาล และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยเป็นอธิบดีกรมสาธารณสุข กรมสาธารณสุขอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2485 จึงได้มีการสถาปนากรมสาธารณสุขขึ้นเป็น
กระทรวงสาธารณสุข [
เกี่ยวกับสธ.]
1 ธันวาคม วันเอดส์โลก World AIDS Day
เริ่มครั้งแรกวันที่ 1 ธันวาคม 2531 เพื่อให้โลกตระหนักถึงความรุนแรงของโรคเอดส์ (AIDS - Acquired Immunodeficiency Syndrome โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง) โรคร้ายแรงที่พบครั้งแรกเมื่อปี 2524 ในสหรัฐฯ แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากทั่วโลก โดยเฉพาะในแอฟริกาและเอเซีย ผู้ป่วยเอดส์คนไทยรายแรก พบในปี 2526 ขณะศึกษาอยู่ที่สหรัฐฯ กลับมารักษาตัวที่ไทย ปี 2527 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ข้อมูลปี 2020 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อ 38,000,000 ราย ไทยมีผู้ติดเชื้อที่มีชีวิตอยู่ 470,000 ราย [รามาชาแนล]
3 ธันวาคม วันคนพิการสากล International Day of Persons with Disabilities
สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 3 ธันวาคม เป็นวันคนพิการสากล (International Day of Persons with Disabilities
IDPD) ตั้งแต่ปี 2535 เพื่อมุ่งส่งเสริมความเข้าใจปัญหาความพิการ ยกระดับการสนับสนุนสำหรับศักดิ์ศรี สิทธิและความเป็นอยู่ดีของผู้พิการ มุ่งเพิ่มความตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้จากการรวมผู้พิการเข้ากับทุกแง่มุมของชีวิตการเมือง สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม
1 มิถุนายน วันดื่มนมโลก World Milk Day LINK
วันที่ 1 มิถุนายน ของทุกปีตรงกับวันดื่มนมโลก หรือ World Milk Day เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ และองค์กรให้ความสำคัญและสนับสนุนการบริโภคนมแก่ประชาชน สำหรับประเทศไทย อย. ได้รณรงค์เชิญชวนคนไทยเลือกซื้อนมที่มีคุณภาพเพื่อความปลอดภัย โดยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นมที่แสดงเลขสารบบอาหาร 13 หลัก และมีข้อมูลบนฉลากครบถ้วน เช่น ชื่ออาหาร ชื่อที่ตั้งผู้ผลิต ผู้แบ่งบรรจุ ปริมาณสุทธิ ส่วนประกอบสำคัญ วันเดือนปีที่ผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ รวมทั้งภาชนะบรรจุต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่รั่ว ไม่ซึม ไม่บวม ไม่มีรอยฉีกขาด และควรเลี่ยงการซื้อนมจากร้านค้าที่มีการเก็บผลิตภัณฑ์นมเพื่อจำหน่ายแบบไม่เหมาะสม