ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพ รวมโปรแกรมสุขภาพ บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิดบริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event Health Economy ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ภูเก็ตแถลงกรณี ผู้ป่วยท้องร่วงระบาดทั่วพื้นที่ ไม่มีผู้ป่วยวิกฤต

ภูเก็ตแถลงกรณี ผู้ป่วยท้องร่วงระบาดทั่วพื้นที่ ไม่มีผู้ป่วยวิกฤต Thumb HealthServ.net
ภูเก็ตแถลงกรณี ผู้ป่วยท้องร่วงระบาดทั่วพื้นที่ ไม่มีผู้ป่วยวิกฤต ThumbMobile HealthServ.net

จังหวัดภูเก็ตนำทีมโดยผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด แพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในจังหวัด แถลงกรณีสถานการณ์การระบาดโรคทางเดินอาหารและน้ำในจังหวัดภูเก็ต พบผู้ป่วยใน 3 อำเภอ สธ. ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำและน้ำแข็งส่งตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียม ยา เวชภัณฑ์ และเตียงให้พร้อมรองรับผู้ป่วย แนะประชาชนยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ป้องกันการติดและแพร่เชื้อ

 
8 มิถุนายน 2566 ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายดนัย สุนันทารอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายศุภโชค ละอองเพชร รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นางวิภา สายรัตน์ ผอ.สพป.ภูเก็ต นายแพทย์ชูชาติ นิจวัฒนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฉลอง นายแพทย์บรรพต ปานเคลือบ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลถลาง แพทย์หญิงศุภลักษณ์ ละอองเพชร รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต แพทย์หญิงเหมือนแพร บุญล้อม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลป่าตอง และนายเพิ่มเกียรติ เกษกุล ประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัดภูเก็ต ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดต่อระบบทางเดินอาหารและน้ำ จังหวัดภูเก็ต พบผู้ป่วยใน 3 อำเภอ
 
 

สถานการณ์ในจังหวัดภูเก็ต 3 อำเภอ

 
แพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่าขณะนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงหน้าฝน จะทำให้พบเชื้อไวรัสที่อาจทำให้เกิดท้องเสียได้มากขึ้น ซึ่งอาการท้องเสียพบได้ทั้งจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย  จากการเพาะเชื้อไม่พบว่าเป็นเชื้อแบคทีเรีย จึงสรุปเบื้องต้นว่าเกิดจากเชื้อไวรัส ชนิดโนโรไวรัส โคโรนา สอดคล้องกับที่เคยเกิดขึ้นที่ผ่านมา  ก่อนหน้าที่พบว่ามีอาการท้องเสียเกิดขึ้น ทางสสจ.ได้จัดทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่ พบคลัสเตอร์การระบาดที่เกิดในโรงเรียน ช่วงวันที่ 28-29 พฤษภาคม มีอาการท้องเสีย 50-60 คน ทีมสสจ.ได้เก็บตัวอย่างน้ำ อาหาร ลักษณะสุขอนามัยโรงอาหารส่วนประกอบอาหาร และจากเก็บตัวอย่างเชื้อจากผู้ที่ท้องเสียด้วย และตรวจคลอลีนด้วย ผลการเพาะเชื้อ ไม่พบเชื้อ คลอรีนก็อยู่ในมาตรฐาน
    
  กระทั่งมีข่าวการระบาดใหม่ช่วง 6-8 มิถุนายน ปัจจุบันมีผู้ป่วยในรพ.รัฐราว 50-60 คน/วัน  รพ.เอกชน ราว 100 คน มีคนไข้ที่ต้องนอนโรงพยาบาล เฉลี่ยแห่งละ 3-4 คน ส่วนใหญ่จะจ่ายยาให้ไปรับประทานที่บ้าน บางส่วนรับไว้รักษาเพื่อเฝ้าดูอาการที่ห้องฉุกเฉินราว ครึ่งวันถึงหนึ่งวัน  ฉะนั้นจำนวนเตียงและเวชภัณฑ์มีความพอเพียงพร้อมรองรับในการรักษาพยาบาล
 
   นพ.กู้ศักดิ์ ระบุถึงการระบาดว่า กระจายทั้งจังหวัด พบมากในพื้นที่อำเภอเมือง รองลงมาเป็นกระทู้ ส่วนถลางพบน้อยสุด (ราว 30-40 ราย) สันนิษฐานว่า มีตัวกระจายที่แพร่มาจากน้ำดื่ม หรือน้ำแข็ง ทางสสจ.ได้ส่งทีมคุ้มครองผู้บริโภคและทีมเภสัชกรรม ลงตรวจสอบมาตรฐานโรงน้ำ โรงน้ำแข็ง ทำการเก็บตัวอย่างน้ำดื่ม น้ำแข็ง น้ำใช้ เก็บตัวอย่างน้ำไปทำการตรวจสอบ พร้อมทั้งประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเพิ่มคลอรีนในน้ำประปาเพื่อค่าเชื้อแต่ให้ค่าคลอรีนที่ปลายท่ออยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทำการเพาะเชื้อจากผู้ป่วย  คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน ถึงจะรู้ผลว่าอาการท้องเสียที่พบเป็นจำนวนมากนั้นจากเกิดสาเหตุอะไร และคาดว่าจะใช้เวลาในการควบคุมโรคประมาณ 1 เดือนเป็นอย่างต่ำ
 
 
 
    นายแพทย์บรรพต ปานเคลือบ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลถลาง รายงานสถานการณ์ว่า รพ.ถลาง มีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษา วันที่ 6 มิถุนายน 28 ราย วันที่ 7 มิถุนายน 29 ราย วันที่ 8 มิถุนายน 42 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 10-19 ปี 38 ราย  0-9 ปี 19 ราย รับไว้ดูแลในโรงพยาบาล 2 ราย เป็นเด็กอายุ 7 ปีมีอาการรุนแรง (ไม่มาก) ให้สังเกตอาการที่โรงพยาบาลก่อน  และโรงพยาลได้มีการเตรียมทีมลงพื้นที่สอบสวนโรคทันที หากพบการระบาดอีก สรุปว่า อ.ถลาง พบการระบาดน้อย
 
  
      นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต รายงานว่า อบจ.ภูเก็ต มีโรงเรียน 5 แห่งในสังกัด (มีเด็กรวม 5112 คน) พบเด็กป่วยรวม 393 คน ส่วนใหญ่อาการไม่น่าเป็นห่วง มีอาการเล็กน้อย พบแพทย์และกลับบ้านได้ทั้งหมด  ขอบคุณสสจ.ภูเก็ตที่ส่งเจ้าหน้าที่ไปยังโรงเรียนในสังกัดทั้ง 5 แห่ง ให้คำแนะนำการดูแลอาการ  เพื่อเป็นการป้องกัน จึงต้องมีมาตรการด้านการใช้น้ำในโรงเรียน จากการเปลี่ยนผ่านจากช่วงหน้าร้อนไปหน้าฝน การทานอาหารในโรงเรียน จึงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด
 
 
  
 

ผู้ตรวจราชการ สธ. ส่งทีมสืบหาต้นตอโรค

 
    9 มิถุนายน 2566 นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 เปิดเผยความคืบหน้ากรณีเกิดการระบาดของโรคทางเดินอาหารและน้ำ ในจังหวัดภูเก็ต ว่า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ได้ส่งทีมควบคุมโรคออกสอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมาช พบมีผู้ป่วยตั้งแต่ วันที่ 6-8 มิถุนายน 2566 เข้ารับบริการในโรงพยาบาลภาครัฐแต่ละแห่ง เฉลี่ย 50 ราย/วัน โรงพยาบาลเอกชนเฉลี่ย 100 ราย/วัน กระจายหลายกลุ่มอายุ ในหลายพื้นที่ทั้งอำเภอเมือง กะทู้ ถลาง รวมทั้งพบนักเรียนป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงกระจายในหลายโรงเรียน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้าโรงพยาบาลมีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย และบางรายมีไข้ แต่ไม่พบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ทั้งประวัติอาหารและความเชื่อมโยง จึงมีการเก็บตัวอย่างจากน้ำแข็ง น้ำใช้ อาเจียนและอุจจาระผู้ป่วย เพื่อส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผล
 
          นายแพทย์กิตติศักดิ์กล่าวต่อว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ยังได้ส่งเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจสอบเฝ้าระวังความปลอดภัย ณ สถานที่ผลิตน้ำดื่มและน้ำแข็งในเขตตำบลวิชิตและตำบลฉลอง เพื่อตรวจสอบกระบวนการฆ่าเชื้อและการควบคุมกระบวนการผลิตกวดขันผู้ประกอบการในพื้นที่เกี่ยวกับสุขลักษณะที่ดีของพนักงานในกระบวนการผลิต และควบคุมไม่ให้เกิดการปนเปื้อนในขั้นตอนการขนส่งน้ำแข็ง เพื่อลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อ และเฝ้าระวังมาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหาร ทั้งร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหาร ตลาดสด ตลาดนัด และอาหารริมบาทวิถี พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนในพื้นที่ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่ายหรือสัมผัสสิ่งสกปรก กรณีที่ป่วยให้หยุดงาน หยุดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในส่วนของสถานศึกษา ให้เน้นมาตรการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน เพิ่มความเข้มข้นและความถี่ในการทำความสะอาดจุดเสี่ยงในโรงเรียนเพื่อฆ่าเชื้อก่อโรค ขณะเดียวกันได้กำชับโรงพยาบาลทุกแห่ง เตรียมยา เวชภัณฑ์ และเตียงให้พร้อมรองรับผู้ป่วย รวมทั้งมอบหมายให้ อสม. เฝ้าระวังผู้ป่วยที่อาจเกิดขึ้นในชุมชน
 
          ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) โรคอุจจาระร่วง วางแผนการควบคุมการระบาดร่วมกับกองระบาดวิทยา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ทีมสอบสวนควบคุมโรคจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามประเมินมาตรฐานและเก็บตัวอย่างน้ำในโรงงานน้ำดื่ม น้ำแข็ง และตรวจเยี่ยมโรงเรียนที่พบผู้ป่วยเพื่อค้นหานักเรียนที่ป่วยเพิ่มเติม รวมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำ อาหารและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนที่มีความเสี่ยงต่อการก่อโรค
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด