ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพ รวมโปรแกรมสุขภาพ บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิดบริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event Health Economy ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

การดำเนินการโครงการพระราชดำริ 10 โครงการ ที่กรมอนามัยร่วมดำเนินงาน

การดำเนินการโครงการพระราชดำริ 10 โครงการ ที่กรมอนามัยร่วมดำเนินงาน Thumb HealthServ.net
การดำเนินการโครงการพระราชดำริ 10 โครงการ ที่กรมอนามัยร่วมดำเนินงาน ThumbMobile HealthServ.net

การดำเนินการโครงการพระราชดำริ 10 โครงการ ใน 4 กลุ่ม ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมดำเนินโครงการ

 
การดำเนินการโครงการพระราชดำริ 10 โครงการ ใน 4 กลุ่ม ได้แก่
  1. โครงการพระราชดำริ 4 โครงการ
  2. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ   3 โครงการ
  3. โครงการเฉลิมพระเกียรติ   2 โครงการ
  4. โครงการตาม พระราชปณิธาน   1 โครงการ



โครงการพระราชดำริ 4 โครงการ
 
  1. โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์
  2. โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.)
  3. โครงการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ
  4. โครงการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติ
 
 
 
 
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3 โครงการ
 
  1. โครงการ “เลี้ยงดูลูกตามคำสอนพ่อ” ด้านสุขภาพ คุณธรรม 8 ประการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียง ในพื้นที่ พมพ.
  2. โครงการพัฒนาสุขภาพเด็กและประชาชนในพื้นที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา
  3. โครงการควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจาง
 
 

โครงการเฉลิมพระเกียรติ 2 โครงการ
 
  1. โครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567    
  2. โครงการสุขภาพดีด้วยทฤษฎีเพื่อน (ตาย) ด้วยหลัก 10 อ
 
 
 
 
โครงการตามพระราชปณิธาน 1 โครงการ
 
  1. โครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านม
 
 
 
 
 

โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์

 จากข้อมูลสถิติด้านสุขภาพของผู้ต้องขังในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2561-2563 พบว่า) จำนวนผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยและมาขอรับการรักษาที่สถานพยาบาลในเรือนจำมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยพบจำนวนผู้ต้องขังป่วยที่มารับการรักษาในสถานพยาบาลของเรือนจำที่มาตรวจแบบไม่นอนพักที่สถานพยาบาล เฉลี่ยเดือนละ 178,542 คน จำนวนที่ให้การรักษา เฉลี่ยเดือนละ 213,738 ครั้ง นอนพักในสถานพยาบาล เฉลี่ยเดือนละ 6,977 คน ผู้ต้องขังป่วย ที่ส่งออกไปรักษายังโรงพยาบาลภายนอก กรณีไป-กลับ เฉลี่ยเดือนละ 5,148 ครั้ง นอนพักรักษาตัวภายนอก เฉลี่ยเดือนละ 896 ครั้ง (กรมราชทัณฑ์,2563) จากการวิเคราะห์รายงานการเจ็บป่วยในสถานพยาบาลเรือนจำ พบว่า ร้อยละ 49.39 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมดจะมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยทั่วไป ในขณะที่ร้อยละ 1.93 ที่ต้องนอนพักค้างอยู่ในสถานพยาบาลของเรือน และมีผู้ต้องขังบางส่วนที่เกินศักยภาพของเรือนจำ จำเป็นต้องส่งออกรักษา โดยโรคที่ผู้ต้องขังมาตรวจรักษาที่สถานพยาบาลในเรือนจำส่วนใหญ่จะเป็นโรคพื้นฐาน เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคของระบบกล้านเนื้อ โรคผิวหนัง เหงือกและฟัน โรค NCDs เช่นความดันโลหิตสูง ส่วนโรคที่ต้องส่งออกไปรักษาโรงพยาบาลภายนอก จะเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง (วัณโรค ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไตวายเรื้อรัง) โรคของเนื้องอก โรคหัวใจ ความผิดปกติของสายตา และโรคทางจิตเวช นอกจากนี้ ยังพบโรคระบาดตามฤดูกาล เช่น ไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส หัด ตาแดง ไข้เลือดออก เป็นต้น การเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลทุกคน แม้บุคคลนั้นจะสูญเสียอิสรภาพจากการต้องโทษจำคุก สิทธิดังกล่าวเป็นไปตามข้อ 12 แห่งกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยรัฐมีหน้าที่ในการป้องกันภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่สามารถคาดการณ์ได้ และให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ นอกจากนี้ เพื่อกำหนดแนวทางสากลในการดูแลด้านสุขภาพของผู้ต้องขังในเรือนจำ มาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนด เนลสันแมนเดลา) ระบุว่า “ผู้ต้องขังควรได้รับการบริการด้านสุขภาพตามมาตรฐานเช่นเดียวกับที่รัฐจัดให้ประชาชนทั่วไป และจะต้องสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น โดยไม่คิดมูลค่าและไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสถานภาพด้านกฎหมาย” นอกจากนี้การให้ความรู้ด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ให้กับผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ ได้มีการปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความตระหนักต่อการป้องกันโรค และให้ผู้ต้องขังเข้าถึงการรับการรักษาพยาบาล อย่างเท่าเทียมตามหลักมนุษยธรรม เมื่อพ้นโทษจะได้มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งกายและใจ ออกมาสู่สังคมภายนดกและประกอบอาชีพสุจริตได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องสนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการดังกล่าว

กลุ่มเป้าหมาย
1. ผู้ต้องขัง/อาสาสมัครเรือนจำ ทัณฑสถานและสถานกักขังกลาง 142 แห่ง
2. เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในเรือนจำ ทัณฑสถานและสถานกักขังกลาง 142 แห่ง

พื้นที่ดำเนินงาน เรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานกักขังกลางทั่วประเทศ  จำนวนทั้งสิ้น 142 แห่ง แบ่งออกเป็นประเภท ดังนี้
เรือนจำ                 จำนวน 113 แห่ง 
ทัณฑสถาน           จำนวน 24  แห่ง
สถานกักขังกลาง    จำนวน 5  แห่ง

โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.)

        สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารมาตั้งแต่ ปี 2523 และได้ทรงงานมาอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี ตั้งแต่ ปี 2533 ทรงรับสั่งให้กรมอนามัยเป็นหน่วยร่วมสนองงานในการดำเนินโครงการป้องกันและควบคุมโรคคอพอก และในปี 2539 ทรงรับสั่งให้กรมอนามัยดำเนินโครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในระดับพื้นที่เป้าหมายมาอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้ของภาวะสุขภาพของเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารมีสุขภาวะดีขึ้นตามลำดับ และสภาพแวดล้อมของโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารในพื้นที่เป้าหมายได้รับความร่วมมือในการพัฒนาจากหลายภาคส่วน ส่งผลให้มีสภาพแวดล้อมมีสุขลักษณะที่ดีขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันการคมนาคมเดินทางไปโรงเรียนบางแห่งบางพื้นที่เข้าถึงได้สะดวกขึ้น แต่ยังมีโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารในพื้นที่เป้าหมายส่วนหนึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลการคมนาคมเดินทางเข้าถึงยากลำบากมาก การดูแลช่วยเหลือด้านสาธารณสุขยังเข้าไม่ถึงทุกพื้นที่ทุกแห่ง เข้าถึงได้ยากมาก ส่งผลให้เด็ก เยาวชน และประชาชนยังไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง

กลุ่มเป้าหมาย
1. บุคลากรสาธารณสุขที่รับผิดชอบดูแลโรงเรียนเป้าหมายในโครงการตามพระราชดำริ กพด. ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สถานบริการสาธารณสุขระดับจังหวัดในเขตพื้นที่ ศูนย์อนามัยที่ 1-12 สสม. ศอช.
2. ภาคีเครือข่ายในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ องค์กรท้องถิ่น แกนนำชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน
3. บุคลากรหน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษาเป้าหมาย และหน่วยร่วมสนองงานโครงการตามพระราชดำริ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค
 

พื้นที่ดำเนินการ
สถานศึกษาในถิ่นทุรกันดารในพื้นที่เป้าหมายตามพระราชดำริ จำนวน 899 แห่ง ได้แก่
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
โรงเรียนสังกัด สพฐ.(กพด.)
โรงเรียนพระปริยัติธรรม
โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
โรงเรียนสังกัด อบต.-อบจ.
ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา“แม่ฟ้าหลวง”
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาเด็กวัยเตาะแตะ
โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร (กพด.)  
     ในพื้นที่เป้าหมายตามพระราชดำริ 53 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา ลำปาง ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ เลย หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ สุรินทร์ นครพนม มุกดาหาร สกลนคร ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี จันทบุ รี ตราด นครนายก ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา สระแก้ว กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี ระนอง พังงา นครศรีธร รมราช กระบี่ ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และกรุงเทพมหานคร

โครงการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน

    โรคขาดสารไอโอดีนมีผลต่อความพิการทางสติปัญญา ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและความสามารถ ในการเรียนรู้ของเด็กไทยที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต โรคขาดสารไอโอดีนมีผลกระทบต่อประชากรทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 3 ปี หากขาดสารไอโอดีน จะทำให้สมองเจริญเติบโตไม่เต็มที่ลดความเฉลียวฉลาด หรือระดับสติปัญญาของเด็กได้ถึง 10 - 15 จุด ทำให้เด็กมีปัญหาการเรียน และกระทบต่อการเจริญเติบโต และยังส่งผลถึงความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก คุณภาพชีวิตของคนหนุ่มสาว อันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม
 
          ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะทำให้ประชาชนได้รับสารไอโอดีนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในทุกเพศ ทุกวัย รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร มีการรณรงค์ส่งเสริมให้ใช้เกลือเสริมไอโอดีน ทั้งในครัวเรือน ร้านอาหาร ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น มีการสุ่มตรวจคุณภาพเกลือที่แหล่งผลิต แหล่งจำหน่าย ครัวเรือน และโรงเรียน ต้องให้ได้มาตรฐาน หญิงตั้งครรภ์ทุกคนที่มาฝากครรภ์ในสถานบริการสาธารณสุขต้องได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีน และมีเป้าหมายให้ทุกชุมชน หมู่บ้านดำเนินการชุมชนหมู่บ้านไอโอดีน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองได้
 
          ปัจจุบันสถานการณ์ระดับไอโอดีนในปัสสาวะหญิงตั้งครรภ์ก่อนได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีน ภาพรวมของประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2564 พบค่ามัธยฐานไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ก่อนได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีนอยู่ในเกณฑ์เพียงพอ คือ 155 ไมโครกรัมต่อลิตร แต่ยังคงพบปัญหาในบางจังหวัดโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับการเฝ้าระวังติดตามการจ่ายยาเม็ดเสริมไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ข้อมูลจาก Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข พบว่า พ.ศ. 2565 หญิงตั้งครรภ์ได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีน ร้อยละ 80.3 ซึ่งยังไม่บรรลุเป้าหมายร้อยละ 100 ส่วนสถานการณ์การผลิต การกระจาย และความครอบคลุมการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในครัวเรือน พ.ศ. 2564 พบว่า เกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพ (มีไอโอดีน 20 - 40 ppm) ณ สถานที่ผลิต และสถานที่จำหน่าย คิดเป็นร้อยละ 93.3 และ 83.1 ตามลำดับ ความครอบคลุมเกลือเสริมไอโอดีนคุณภาพในครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยใน พ.ศ. 2564 พบร้อยละ 84.2 ซึ่งสอดคล้องกับคุณภาพเกลือเสริมไอโอดีน ณ สถานที่ผลิตและสถานที่จำหน่าย ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกปี อย่างไรก็ตามความครอบคลุมการใช้เกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพยังต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ (ร้อยละ 90) ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่กลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไป สำนักโภชนาการจึงได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันได้ดำเนินการตามแผนปฎิบัติการด้านการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ปี 2565 - 2570 โดยการดำเนินงานใน ปี ๒๕๖๖ มุ่งเน้นกิจกรรมสำคัญ คือ การขับเคลื่อนการดำเนินงานชุมชนหมู่บ้านไอโอดีน ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน ผู้ประกอบการร้านอาหารใช้เกลือเสริมไอโอดีน และผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนในการปรุงประกอบอาหาร การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโรคขาดสารไอโอดีน การเฝ้าระวังคุณภาพเกลือเสริมไอโอดีนในครัวเรือน  การพัฒนาแพลทฟอร์มไอโอดีนให้รองรับการบันทึกข้อมูลระดับไอโอดีนในปัสสาวะของกลุ่มเสี่ยง และการบันทึกข้อมูลคุณภาพเกลือเสริมไอโอดีนในชุมชน รวมทั้งพัฒนาฐานข้อมูลชุมชนหมู่บ้านไอโอดีน และฐานข้อมูลผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงอาหาร รถเข็น แผงลอย ฟู๊ดทรัค และโฮมเมด ที่ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

กลุ่มเป้าหมาย
1. หญิงตั้งครรภ์
2. เด็กอายุ 3-5 ปี
3. ผู้สูงอายุ

77 จังหวัด ศูนย์อนามัย 12 ศูนย์และสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง

โครงการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมพื้นที่โครงการพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติ

   น้ำ มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ทั้งน้ำใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพบปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย การปนเปื้อนสารเคมีเกษตร และภัยอื่นๆ รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาจึงได้กำหนดแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานมีความสอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้ยุทธศาสตร์ ด้านที่ 5 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 19 การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ มีวิสัยทัศน์ให้ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายด้านการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดีประเด็นที่ 6 การจัดการน้ำสะอาด การสุขาภิบาล และสุขอนามัย ให้เกิดความยั่งยืนบนความเป็นเมืองและชุมชนในการบริหารจัดการน้ำที่มีความเท่าเทียมทั้งประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติในการแก้ไขปัญหาน้ำเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน มีกรอบแนวคิดการพัฒนาต้องอยู่บนฐานของการพึ่งตนเอง คิดแก้ปัญหาอย่างองค์รวมหรือคิดให้เชื่อมโยงกัน เน้นแก้ปัญหาด้วยหลักใช้ธรรมชาติแก้ธรรมชาติ การแก้ปัญหาต้องสอดคล้องเหมาะสมกับพื้นที่ ทุกอย่างมีค่าไม่มีของเสียทำแล้วต้องไม่มีคนเสียประโยชน์ เกิดความยั่งยืนต้องลงมือทำสร้างตัวอย่างความสำเร็จให้เห็นเกิดการขยายผลต่อไป สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำดำเนินการ 3 กิจกรรม ได้แก่ 1. กิจกรรมการพัฒนาคุณภาพน้ำบริโภคในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2. กิจกรรมการพัฒนาคุณภาพน้ำบริโภคในพื้นที่รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน และ 3. กิจกรรมพัฒนาคุณภาพน้ำบริโภคภายใต้โครงการพัฒนาเด็ก และเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (กพด.) เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่โครงการมีน้ำบริโภคและสุขาภิบาลอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ซึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายด้าน ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมความเข้มแข็งและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวและชุมชน ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ เพื่อความสมดุลและยั่งยืน ตามพระราชกรณียกิจในพื้นที่เยี่ยมติดตามงานโครงการฯ ทรงมีพระราชกระแสสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาด้านน้ำ โภชนาการ สุขาภิบาล และสุขภาพอนามัย
 
       ในปีงบประมาณ 2567 กรมอนามัย โดยสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ จึงจัดทำโครงการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมพื้นที่โครงการพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติ กำหนดให้มีการพัฒนาการจัดการคุณภาพน้ำบริโภคและสุขาภิบาลอาหาร สนับสนุนและสนองพระราชดำริครอบคลุมเด็กและเยาวชน ประชาชนทุกลุ่มวัยในระดับครัวเรือนและชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านน้ำบริโภคและสุขาภิบาลอาหารที่สะอาด ปลอดภัยซึ่งจะเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานของการมีสุขภาพที่ดี

กลุ่มเป้าหมาย
1. ครู ตชด. ครูอนามัย พระพี่เลี้ยง ครูพี่เลี้ยง นักเรียน โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ประกอบด้วย โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โรงเรียน กพด. สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียน กพด. สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) โรงเรียน กพด. สังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร รวมจำนวน 890 แห่ง อสม. และประชาชนกลุ่มเปราะบางที่อาศัยในพื้นที่รอบโรงเรียน กพด.
 
 
พื้นที่เป้าหมาย
 - โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ประกอบด้วย โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาเด็กวัยเตาะแตะ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) ฯลฯ 

โครงการ "เลี้ยงดูลูกคำสอนพ่อ" ด้านสุขภาพ คุณธรรม 8 ประการ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในพื้นที่ พมพ.

  จากการศึกษาอัตราการเข้าถึงบริการสุขภาพของมารดาและเด็กในพื้นที่พัฒนาเพื่อความมั่นคง ในพื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักส่งเสริมสุขภาพ 2562) พบว่ามารดาช่วงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่รับบริการฝากครรภ์ร้อยละ 95.24 ฝากครรภ์ครั้งแรก เมื่ออายุครรภ์ น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ร้อยละ 43.96 หญิงตั้งครรภ์ได้รับการประเมินความเสี่ยงร้อยละ 64.00 ได้รับการตรวจสุขภาพช่องปาก ร้อยละ 51.00 ได้รับวิตามินไอโอดีนธาตุเหล็กและโฟลิก ร้อยละ 91.76 และกินวิตามินเสริมโฟลิก ไอโอดีนและธาตุเหล็กทุกวันร้อยละ 83.33 ซึ่งการให้บริการ 4 รายการ ไม่บรรลุตามเป้าหมาย สำหรับความครอบคลุมการได้รับบริการเด็กตามสิทธิประโยชน์ พบว่า ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม ร้อยละ 7.04 เด็กได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากเพียง ร้อยละ 58.97 และพบเด็กมีปัญหาช่องปาก ร้อยละ 49.21 การได้รับยาน้ำเสริมธาตุเหล็กร้อยละ 44.09 และกินยาน้ำเสริมธาตุเหล็กเป็นบางครั้ง ร้อยละ 55.56 กินเป็นประจำ ร้อยละ 22 .22  โดยสรุป เด็กได้รับบริการไม่บรรลุตามเป้าหมาย และพบว่า เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ 65.40 พัฒนาการสงสัยล่าช้า ร้อยละ 34.60
 
     จากข้อมูลข้างต้นกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงเห็นควรดำเนินโครงการ “เลี้ยงดูลูกตามคำสอนพ่อ” ด้านสุขภาพ คุณธรรม 8 ประการ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในพื้นที่พัฒนาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เขตกองทัพ   ภาคที่ 3” เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการและองค์ความรู้ ด้านสุขภาพ ให้กับครอบครัวและชุมชนพื้นที่ชายแดน สามารถดูแลสุขภาพตนเองมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์
 
กลุ่มเป้าหมาย
1. พ่อ แม่ ผู้ปกครอง เด็กนักเรียนระดับอนุบาลมีบุตรอายุ 3 - 5 ปีเต็ม บุคลากรสาธารณสุข บุคลากรทางการศึกษา แกนนำชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่พัฒนาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
 
พื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
 
9 จังหวัดชายแดนภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา  แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก

โครงการพัฒนาสุขภาพเด็กและประชาชนในพื้นที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา

        สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร และทอดพระเนตรบ่อเกลือสินเธาว์ บ้านบ่อหลวง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ตั้งแต่ปี 2538 ทรงพบเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่มีความด้อยโอกาสทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินการช่วยเหลือพัฒนาในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ โดยเริ่มพัฒนาที่โรงเรียนประถมศึกษาก่อนเป็นอันดับแรก แล้วขยายไปยังศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" และทรงขยายงานพัฒนาด้านอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวของเด็ก โครงการพัฒนาต่างในพื้นที่จึงเรียกรวมกันว่า "โครงการภูฟ้าพัฒนาตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี" ต่อมาพระองค์ท่านทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภูฟ้าเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ทุก 3-4 ปี ต่อมาทุกปี และต่อมาปี 2560 ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร. ทบทวนผลการดำเนินงานของศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนดำเนินงานโครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯสยามบรมราชกุมารี โดยมีภารกิจสำคัญด้านการเกษตร ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ภูฟ้าครอบคลุมถึงงานด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนและการสาธารณสุขในพื้นที่เป้าหมาย ดังนั้น สำนักงาน กปร. จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการโครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
 
          กรมอนามัย ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เป้าหมาย และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง  และสร้างความรอบรู้ด้านสุขอนามัยให้กับประชาชนในพื้นที่ภูฟ้าพัฒนา ได้แก่ การแก้ไขปัญหาเด็กขาดสารอาหารในเด็กและนักเรียน การแก้ไขปัญหาภาวะพร่องไอโอดีน การแก้ไขปัญหา โรคหนอนพยาธิในนักเรียนและประชาชน รวมถึงปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการดูแลและแก้ไขอย่างจริงจัง ได้แก่ ปัญหาโรคเรื้อรังในกลุ่มประชาชน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ การส่งเสริมทันตสุขภาพในเด็กและนักเรียน การส่งเสริมพัฒนาการเด็ก งานอนามัยแม่และเด็ก งานอนามัยสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองผู้บริโภค และพัฒนาการควบคุมป้องกันโรคที่สำคัญ อาทิ โรคอาหารเป็นพิษ โรคไข้เลือดออก โรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น เพื่อให้เด็กในพื้นที่ฟ้าพัฒนาได้รับการพัฒนาพัฒนาองค์ความรู้และทักษะสุขภาพที่พึงประสงค์ ให้สามารถปรับตัวได้เท่าทันกับสถานการณ์ภัยคุมคามสุขภาพในปัจจุบัน บนพื้นฐาน ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่รวมทั้งสามารถปฏิบัติ/นำไปใช้ และบอกต่อการดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง ครอบครัวและชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายตามพระราชดำริ ฯ
 
กลุ่มเป้าหมาย
1. เด็กอายุ 0-5 ปี (เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา เด็กแรกเกิดถึง 3 ปี เด็กปฐมวัย) ในพื้นที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน
2. เด็กนักเรียนประถมศึกษา ในพื้นที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน
3. เด็กนักเรียนมัธยมศึกษา ในพื้นที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน
4. ประชาชน ในพื้นที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน
5. ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน
 
พื้นที่เป้าหมายศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน  พื้นที่ดำเนินโครงการภูฟ้าพัฒนา
 
1.) พื้นที่ทรงงาน 1,800 ไร่ ส่วนที่ 1 600 ไร่ ส่วนที่ 2 1,200 ไร่
 
2.) พื้นที่ขยายผล อ.บ่อเกลือ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน
 
(2.1) แปลงเกษตรกรต้นแบบ 22 ราย ในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน : บ้านนากอก ห่างทางหลวง ผาสุก สบมาง ห้วยล้อม ลอยห้วย ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ
 
(2.2) พื้นที่ที่มีพระราชดำริให้ดำเนินการ 2 หมู่บ้าน : บ้านสบปืน ต.ห้วยโก๋น บ้านห้วยกานต์ ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ
 
ประชากรเป้าหมายของโครงการ
 
อำเภอบ่อเกลือ มี 4 ตำบล 39 หมู่บ้าน ต.บ่อเกลือเหนือ มี 11 หมู่บ้าน ต.บ่อเกลือใต้ มี 15 หมู่บ้าน ต.ดงพญา มี 7 หมู่บ้าน ต.ภูฟ้า มี 6 หมู่บ้าน จำนวนโรงเรียน 15 แห่ง สังกัดสพป. 14 แห่ง สพม. 1 แห่ง และจำนวนศูนย์เด็กเล็ก 20 แห่ง
 
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ มี 2 ตำบล 22 หมู่บ้าน ต.ห้วยโก๋น มี 7 หมู่บ้าน ต.ขุนน่าน มี 15 หมู่บ้าน จำนวนโรงเรียน 13 แห่ง สังกัดสพป. 12 แห่ง สพม. 1 แห่ง และจำนวนศูนย์เด็กเล็ก 3 แห่ง

โครงการควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจาง

 ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก เป็นปัญหาสาธารณสุขที่พบทั่วโลกทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ภาวะโลหิตจางส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย พัฒนาการสมอง ระดับสติปัญญา ประสิทธิภาพการเรียนรู้และการทำงานของทุกกลุ่มวัย ได้แก่ เด็กปฐมวัย เด็กวัยเรียน หญิงวัยเจริญพันธุ์และหญิงตั้งครรภ์
 
    ข้อมูลจากโครงการสำรวจภาวะโภชนาการเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ.2556 (South East Asia Nutrition Survey : SEANUTS) พบว่า ความชุกภาวะโลหิตจางในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี ในเขตชนบทสูงกว่าเด็กในเขตเมืองเกือบเท่าตัว หรือร้อยละ 26.0 ในเขตเมือง และร้อยละ 41.7 ในเขตชนบท เด็กปฐมวัยอายุ 3 – 5 ปี พบร้อยละ 3.1 ในเขตเมือง และร้อยละ 14.3 ในเขตชนบท เด็กวัยเรียนอายุ 6 – 12 ปี พบร้อยละ 6.6 ในเขตเมือง และร้อยละ 12.2 ในเขตชนบท อีกทั้งยังมีข้อมูลจากกรมอนามัย ร่วมกับกรมสุขภาพจิต ได้สำรวจสถานการณ์ภาวะโภชนาการ ภาวะโลหิตจาง และระดับสติปัญญาในเด็กไทยวัยเรียน ปี 2557 โดยพบความชุกภาวะโลหิตจางในเด็กอายุ 6 ปี ร้อยละ 31.1 สำหรับรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย (NHES) ครั้งที่ 4, 5, 6 พ.ศ. 2552, 2557 และ 2562 พบความชุกหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 15 – 44 ปี มีภาวะซีด ร้อยละ 25.7, 22.7 และ 16.0 ตามลำดับ
 
     จากการพัฒนาฐานข้อมูลระบบเฝ้าระวังด้านภาวะโลหิตจางในระบบ Health Data Center ในปีงบประมาณ 2566 พบภาวะโลหิตจางในหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 15 – 49 ปี ที่ตรวจขณะไม่ได้ตั้งครรภ์ ร้อยละ 40 ขึ้นไปทุกเขตสุขภาพ (HDC ณ 16 มิ.ย.66) ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ระดับโลกที่พบหญิงวัยเจริญพันธุ์มีภาวะซีด ร้อยละ 30 หรือ 539,000,000 คนในปี 2019 (WHO ณ 1 พ.ค.66) กระทบต่อไปยังภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ได้ โดยข้อมูลจาก HDC กระทรวงสาธารณสุข พบร้อยละ 30 ใกล้เคียงกับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกที่พบ ร้อยละ 37 หรือ 32,000,000 คน ซึ่งภาวะโลหิตจางสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการตกเลือดของมารดานำไปสู่การเสียชีวิตได้
 
    กรมอนามัย โดยสำนักโภชนาการ ได้ดำเนินโครงการควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจางมาอย่างต่อเนื่อง โดยสร้างความรอบรู้การบริโภคอาหารที่มีธาตุเหล็กและโฟเลตสูง มีมาตรการยาเสริมธาตุเหล็กเชิงป้องกันให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงในประเทศไทย โดยให้บริการจ่ายยาเม็ดเสริมไอโอดีน ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิกในหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดบุตร 6 เดือน ยาน้ำเสริมธาตุเหล็กในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กในเด็กวัยเรียน อายุ 6 – 12 ปี และยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิกในหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 13 – 45 ปี ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉ.10) การสร้างความร่วมมือกับ setting สถานประกอบการให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการป้องกันภาวะโลหิตจาง ซึ่งเป็นช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหญิงวัยเจริญพันธุ์ได้ตรงจุดและเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีคณะกรรมการจากกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนการดําเนินงานอย่างต่อเนื่องโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจางในประชากรกลุ่มเสี่ยง ส่งผลให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
อันนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs)
 
    แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา การดำเนินงานควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจางมีการบูรณาการแต่ละภาคส่วนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังคงพบปัญหาถึงการผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ การวางแผนการดำเนินงานยังขาดความชัดเจนตั้งแต่ระดับส่วนกลางไปจนถึงส่วนภูมิภาค ส่งผลให้การดำเนินการในแต่ละกิจกรรมขาดความต่อเนื่องและยั่งยืน ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าควรมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจางให้บรรลุเป้าหมาย มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานที่ชัดเจน พัฒนาระบบเฝ้าระวังบริการสุขภาพด้านการควบคุมภาวะโลหิตจางที่มีประสิทธิภาพให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่ายมากขึ้นบูรณาการระบบข้อมูลสารสนเทศของแต่ละระบบหลักประกันสุขภาพให้เกิดความเป็นเอกภาพทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์การใช้บริการ งบประมาณ การเบิกจ่าย และการติดตามประเมินผล เพื่อลดปัญหาภาวะโลหิตจางและลดโอกาสการเกิดผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนในอนาคต
 
วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริม ควบคุม และป้องกันภาวะโลหิตจางในประชากรกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ เด็กปฐมวัย เด็กวัยเรียน และหญิงวัยเจริญพันธุ์
 
กลุ่มเป้าหมาย
1. หญิงไทยวัยเจริญพันธุ์
2. นักโภชนาการ นักวิชาการ ผู้รับผิดชอบงานโภชนาการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
 
พื้นที่เป้าหมาย 
1. ศูนย์อนามัย ที่ 1 – 12  และสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง
2. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 
3. สถานประกอบการที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ
 

โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

      จากกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ความว่า “เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” ได้นำมาสู่ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในโครงการฟันเทียมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2548 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการสูญเสียฟัน ด้วยการใส่ฟันเทียมทดแทน โดยให้ความสำคัญกับการสูญเสียฟันทั้งปากในกลุ่มผู้สูงอายุและก่อนวัยสูงอายุ เนื่องจากส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตอย่างชัดเจน ทั้งด้านกายภาพ อารมณ์สังคม โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้สนับสนุน“บริการฟันเทียม”ทั้งกรณีการใส่ฟันเทียมทั้งปากและใส่ฟันเทียมบางส่วนที่ถอดได้เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรวมทั้งได้มีการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์การใส่ฟันเทียมครอบคลุมทุกสิทธิการรักษา ทั้งสิทธิข้าราชการและประกันสังคม
 
     ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์จำนวนและสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ปัจจุบันยังคง มีผู้สูงอายุสูญเสียฟันเพิ่มและต้องการใส่ฟันเทียมทั้งปากอีกร้อยละ 2.7 หรือประมาณ 270,000 ราย ด้วยเหตุของความต้องการใส่ฟันเทียมในกลุ่มผู้สูงอายุยังคงมีมาก ประกอบกับผู้ที่มีฟันเทียมทั้งปากที่ใช้งานเกินกว่า 5 ปีอาจมีการชำรุด แตกหัก จำเป็นต้องได้รับการใส่ฟันเทียมทั้งปาก หรือเกือบทั้งปากเพิ่มเติม รวมทั้งผู้สูงอายุ ที่มีสภาพสันเหงือกยุบตัว จากความเสื่อมของอวัยวะ ทำให้ฟันเทียมหลวม ขยับ ไม่กระชับกับสันเหงือก ทำให้เกิดแผลในช่องปาก สร้างความเจ็บปวด ไม่สบาย ไม่สามารถ  ใช้บดเคี้ยวได้ ซึ่งกรณีเหล่านี้พบได้ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ใส่ฟันเทียมทั้งปาก ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม เพื่อให้ฟันเทียมแบบถอดได้สามารถยึดแน่นเพียงพอที่จะบดเคี้ยวได้ ซึ่งการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมเป็นเทคโนโลยีที่มีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากต้องนำเข้าวัสดุอุปกรณ์จากต่างประเทศ มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนารากฟันเทียมไทยขึ้น ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณค่าใช้จ่ายของประเทศในการจัดบริการ รวมทั้ง สปสช. ได้กำหนดให้การฝังรากเทียมเพื ่อรองรับฟันเทียมทั้งปากเป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ให้กับผู้สูญเสียฟันที่มีความจำเป็น เพื่อให้เข้าถึงบริการฝังรากฟันเทียม      เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตด้านการบดเคี้ยวได้มากขึ้น
 
     จากพระปฐมบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดทำ “โครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567” ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์กรมอนามัย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อให้ผู้สูงอายุและก่อนวัยสูงอายุ ที่สูญเสียฟันทั้งปากหรือเกือบทั้งปาก ได้รับบริการใส่ฟันเทียมทั้งปาก และรากฟันเทียมตามความจำเป็น พร้อมกับจัดระบบบริการเพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพช่องปากทั้งโดยบุคลากร และด้วยภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
     สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารจัดการโครงการ ประสานงานสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยบริการ พัฒนาศักยภาพบุคลากรในการให้บริการฟันเทียม ติดตามการดำเนินงาน และรายงานต่อคณะกรรมการโครงการฯ จึงได้จัดทำโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ในปีงบประมาณ2566 ขึ้นเพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้
 
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗
2. เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการฟันเทียมและรากฟันเทียมแก้ปัญหาการสูญเสียฟันทั้งปากหรือเกือบทั้งปากในกลุ่มผู้สูงอายุและก่อนวัยสูงอายุ
3. เพื่อขับเคลื่อนและส่งเสริมการจัดบริการทางทันตกรรมตามชุดสิทธิประโยชน์ในกลุ่มผู้สูงอายุ
กลุ่มเป้าหมาย
1. ผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก หรือสูญเสียฟันมากกว่า 16 ซี่ ทุกสิทธิการรักษา
2. ผู้ที่มีฟันเทียมเดิม แต่ฟันเทียมหลวมไม่กระชับ สันเหงือก ยุบตัว หรือ มีข้อบ่งชี้จำเป็นต้องใส่รากฟันเทียม เฉพาะสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
 
พื้นที่เป้าหมาย 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร
 

โครงการสุขภาพดีด้วยทฤษฎีเพื่อน (ตาย) ด้วยหลัก 10 อ

        สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10) ทรงเป็นแบบอย่างปฏิบัติออกกำลังพระวรกายมาตลอด ทรงเริ่มโครงการจิตอาสา ทำความดี ด้วยหัวใจ เมื่อ 28 กรกฎาคม 2560 เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสมัครเป็นจิตอาสา คิดวิเคราะห์รูปแบบการส่งเสริมสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัย การเป็นจิตอาสา การมีจิตใจเอื้ออารี การช่วยเหลือผู้อื่น มีผลต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกาย ทำให้มีสุขภาพดี จิตอาสาจึงรวมเป็นหนึ่งในแนวปฏิบัติเพื่อสุขภาพดี ด้วย 10 แนวปฏิบัติการดูแลเพื่อน (ตาย) ด้วย อ เพื่อสุขภาพดี ตามแนวพระราชดำริ มุ่งส่งเสริมให้คนไทยสุขภาพดี ให้มีความรู้นำไปสู่การปฏิบัติ ให้มีทักษะการดำรงชีวิต ให้เป็นคนรักสุขภาพอย่างสม่ำเสมอและตลอดชีวิต จึงให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 10 ปี ขึ้นไป ให้เข้าถึงการส่งเสริมสุขภาพวิถีชีวิตใหม่ยุคดิจิทัล ด้วยการส่งเสริมการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ด้านสุขภาพอย่างสนุกสนานและปลอดภัย ผ่านสื่อสุขภาพรูปแบบหลากหลาย เด็กไทยเป็นอนาคตของชาติ จึงควรส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง พอเพียง และพร้อมตามสภาวะความเป็นอยู่ การปฏิบัติตนตามบทบาทหน้าที่พลเมืองดี และตามวิถีการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข จึงเห็นควรส่งเสริมให้เด็กไทยมีสุขภาพดีด้วยทฤษฎีเพื่อน (ตาย) ด้วยหลัก 10 อ ประกอบด้วย 1) อ อาหาร 2) อ ไม่อดนอน 3) อ ออกกำลังกาย 4) อ เช็คอัพ (ตรวจสุขภาพร่างกาย) 5) อ อาวุธ (วัคซีน) 6) อ ไม่อ้วน 7) อ อันตราย 1 สารเคมี 8) อ อันตราย 2 พฤติกรรมเสี่ยง สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม) 9) อารมณ์ (สุขภาพจิต) 10) อ จิตอาสา ทั้งนี้ มีความคาดหวังว่า เด็กไทยจะมีความใส่ใจรักสุขภาพอย่างสม่ำเสมอและตลอดชีวิต มีวิถีการดำเนินชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
 
      กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดทำโครงการสุขภาพดีด้วยทฤษฎีเพื่อน (ตาย) ด้วยหลัก 10 อ (Thailand 10 for Health) วิถีชีวิตใหม่ยุคดิจิทัล เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้เด็กและเยาวชนอายุ 10 ปีขึ้นไป เข้าถึงการส่งเสริมสุขภาพวิถีชีวิตใหม่ยุคดิจิทัล และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข : กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมการแพทย์ กรมวิทยากศาสตร์การแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชน ด้วยหลัก 10 อ Thailand 10 for Health) มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย มีความต่อเนื่องและประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
 
วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้สุขภาพด้วยทักษะ E4H และ L4H ตามแนวปฏิบัติการส่งเสริมสุขภาพดีด้วยทฤษฎีเพื่อน (ตาย) ด้วยหลัก 10 อ
2. เพื่อส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีทักษะในการดูแลสุขภาพดีด้วยทฤษฎีเพื่อน (ตาย) ด้วยหลัก 10 อ
 
กลุ่มเป้าหมาย
1. นักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา บุคลากรทางสาธารณสุข และประชาชน
2. ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
พื้นที่เป้าหมาย สถานศึกษา/โรงเรียนทุกสังกัด 1,000 แห่ง

โครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านม

          สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงพิจารณาเห็นว่าโรคมะเร็งเต้านม จะเป็นภัยแก่สตรีไทยในปี พ.ศ.2537 จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อต่อสู้กับโรคร้ายนี้ พร้อมกับพระราชทานชื่อ “มูลนิธิถันยรักษ์” โดยมีพระราชปณิธานไว้ด้วยว่า “ให้ใช้เทคโนโลยีที่ดีและเหมาะสมที่สุดในการดูแลผู้หญิงไทยทุกคน ให้พ้นภัยมะเร็งเต้านม ไม่ว่าเขาจะยากดีมีจน” สมเด็จย่ายังทรงรับเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิ สืบต่อมาโดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และปัจจุบันองค์ประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิถันยรักษ์ฯ คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องจากโรคมะเร็งเต้านมได้กลายเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดอันดับ 1 ของมะเร็งในสตรีไทยมากว่า 10 ปีแล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีทั้งประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก การค้นหาระยะเริ่มต้น โดยการคัดกรองด้วยเครื่องมือ Mammogram ไม่อาจเป็นประโยชน์แก่สตรีไทยได้ครอบคลุม โดยเฉพาะผู้ที่ยากจนและอยู่ห่างไกล ยิ่งไม่มีทางที่จะได้เข้าถึงบริการด้วยเครื่องมือทันสมัยเหล่านี้ได้การดำเนินงานที่ผ่านมา จึงยังมิได้สนองพระราชปณิธานสมเด็จย่า ที่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้เกิดประโยชน์แก่สตรีไทยทุกคน เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศและพระราชปณิธานของสมเด็จย่า มูลนิธิถันยรักษ์ฯร่วมกับกรมอนามัย จึงได้ทบทวนแนวทางการดำเนินงานและเห็นว่าการปรับพฤติกรรมเพื่อดูแลสุขภาพของตนเองมีความจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะต่อสู้กับโรคมะเร็ง สำหรับสตรีในประเทศกำลังพัฒนา ต้องเริ่มจากการตรวจเต้านมด้วยตนเอง BSE แต่ต้องทำอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ และหากตรวจอย่างสม่ำเสมอจะได้ทราบถึงความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น แม้แต่มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา ยังคงแนะนำให้สตรีตรวจเต้านมตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง มูลนิธิถันยรักษ์ฯ จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัย ดำเนินการต่อสู้กับภัยมะเร็งเต้านม ในนามของโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 เป็นต้นมา ร่วมดำเนินการพัฒนาระบบการคัดกรองที่เหมาะสม ที่เริ่มต้นจากการตรวจเต้านมด้วยตนเอง Breast Self Examination BSE ตามด้วยการตรวจโดยเจ้าหน้าที่ Clinical Breast Exam CBE แล้วยืนยันว่าเป็นก้อนหรือไม่ชนิดใดโดย Ultrasound
 
             จากการประเมินผลการดำเนินงานโครงการฯ 5 ปี (พ.ศ. 2555-2560)  พบว่า สตรีไทยตรวจเต้านมอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ร้อยละ 70.8 พบก้อนมะเร็งขนาดเล็ก (ไม่เกิน 2 ซม.) ร้อยละ 43.7 เป็นมะเร็งระยะแรก (ระยะไม่เกิน 0,1,2) ร้อยละ 69.9 อัตราการรอดชีพในกลุ่มผู้ป่วยที่ตรวจเต้านมตนเองสม่ำเสมอสูงถึง ร้อยละ 95.5 ในภาพรวมทั้งโครงการกลุ่มผู้ป่วยที่ตรวจเต้านมตนเองสม่ำเสมอพบก้อนขนาดเล็ก เป็น 1.443 เท่า ของกลุ่มผู้ป่วยที่ตรวจไม่สม่ำเสมอ แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ ในภาพรวมทั้งโครงการกลุ่มผู้ป่วยที่ตรวจเต้านมตนเองสม่ำเสมอมีอัตราการรอดชีพสูงกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ตรวจไม่สม่ำเสมอ แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P=0.002) โครงการสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จย่าต้านภัยมะเร็งเต้านมเป็น Pragmatic trial ที่ปฏิบัติได้ไม่ยาก ไม่ว่าในประเทศไทยหรือประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ มีความสำเร็จเชิงประจักษ์บนพื้นฐานจากความตั้งใจจริงที่จะช่วยลดความทุกข์ทรมานอันเกิดจากมะเร็งเต้านมที่มีต่อสตรีไทยและครอบครัว สมดังพระราชปณิธานของสมเด็จย่า ซึ่งจากความสำเร็จของโครงการนี้จะเป็นรูปแบบของการคัดกรองมะเร็งเต้านมที่สามารถขยายผลการดำเนินงานได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ.2561 กระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ได้สร้างความร่วมมือการดำเนินงานกับมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) เพื่อเป็นการขยายโอกาสให้สตรีไทยในพื้นที่ห่างไกลและต้องการความช่วยเหลือได้รับการดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน โดยมีจังหวัดที่เป็นพื้นที่ พอ.สว.จำนวน 63 จังหวัด และเพื่อให้การดำเนินงานโครงการฯ มีความต่อเนื่องและยั่งยืนส่งผลต่อพฤติกรรมความรอบรู้ในการดูแลสุขภาพของสตรีไทยด้วยตนเอง จึงต้องมีการขยายพื้นที่การดำเนินงาน เพิ่มการเข้าถึงข้อมูลความรู้เรื่องการดูแลส่งเสริม ป้องกัน รู้เท่าทันอันตรายจากโรคมะเร็งเต้านม จึงควรมีการขยายกลุ่มเป้าหมายในกลุ่มสตรีอายุ 20 ปีขึ้นไปโดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษา เพื่อให้การสร้างความรอบรู้ เพิ่มศักยภาพสตรีไทยให้สามารถจัดการสุขภาพของตนเอง เพื่อพ้นภัยมะเร็งเต้านม ดังพระราชปณิธานของสมเด็จย่า ได้อย่างยั่งยืนและมีความเหมาะสม

กลุ่มเป้าหมาย
1. สตรีอายุ 30 - 70 ปี ในพื้นที่ 13 เขตสุขภาพ และพื้นที่ในถิ่นทุรกันดาร
2. สตรีอายุ 20 ปีขึ้นไปที่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย
 
พื้นที่ดำเนินงาน
 
เขตสุขภาพที่ 1 - 13
ศูนย์อนามัยที่ 1 - 12 และสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง
หน่วยบริการด้านสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
กรมอนามัย จังหวัดนนทบุรี
สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
สถานประกอบการ
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด