ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์

Songkhla Rajanagarindra Phsychiatric Hospital

Logo Thumb preview

ที่อยู่/ติดต่อ
472 ถนนไทรบุรี ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 90000

*ข้อมูลรวบรวมโดย Healthserv.net เพื่ออำนวยความสะดวกเบื้องต้นให้กับผู้ชมที่ต้องการข้อมูลสถานพยาบาล ไม่ใช่เว็บทางการของรพ./สถานพยาบาลแต่อย่างใด แนะนำให้ไปยังเว็บไซต์/เฟซบุ๊ค หรือช่องทางติดต่อของรพ./สถานพยาบาลนั้นๆ โดยตรง

ข้อมูล/ประกาศ/บริการ โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์


Facebook โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์

            โรงพยาบาลตั้ง ขึ้นตาม โครงการจัดตั้ง โรงพยาบาลเฉพาะ โรคทางระบบประสาท พ.ศ.2499 ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติเมื่อ เดือนกรกฎาคม 2499 และตามแผน พัฒนาการทางเศรษฐกิจ (2504-2506) กับแผนพัฒนา 2507 - 2509 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ขยายบริการตรวจรักษา และ การวิจัยโรคทางประสาทวิทยา Neurological disorder สำหรับ ประชาชนในภาคใต้ พร้อมทั้ง ให้การฝึกอบรมแพทย์ พยาบาล กับผู้ที่ทำงาน เกี่ยวข้อง ให้ได้รับความรู้ นำไปใช้ เป็นประโยชน์ ในการป้องกันและรักษาโรค ประเภทนี้ มิให้เรื้อรัง พิการ ทุพพลภาพ เป็นภาระแก่ สังคม เป็นสถาบัน เฉพาะโรค แห่งแรกของภาคใต้ อันจะบริการ ถึงประชาชนใน ประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประสพ รัตนากร เป็นผู้ก่อตั้ง
 
          นายแสวง รุจิรัต ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้จัดที่ให้บริเวณ วิทยาลัยเทคนิค ในปี พ.ศ.2505 จึงได้เตรียมวางผังและตั้ง งบประมาณ ก่อสร้าง แต่ต่อมาใน พ.ศ.2506 จังหวัดสงขลาได้มี โครงการที่จะขยายบริเวณหน้าเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ร่วมพิจารณาจัดหาที่ ให้ใหม่ บริเวณเก้าเส้ง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นที่ดิน ของ ราชพัสดุ ซึ่งทาง จังหวัดสงขลาจัดให้จำนวน 18 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มี ชาวบ้านอาศัยอยู่ 7 หลังคาเรือน มีสวนมะพร้าว และสวนมะม่วง ทางราชการได้ขอร้อง ให้ชาวบ้านย้ายออกจาก ที่ดินดังกล่าว เพื่อสร้าง โรงพยาบาล โดยมีอาณาเขต ทางทิศเหนือ จดถนนเก้าเส้ง ทางทิศใต้จดคลองสำโรง ทิศตะวันออกจด หมู่บ้านเก้าเส้ง และทิศตะวันตก จดถนนไทรบุรี ภายใน บริเวณโรงพยาบาลด้านทิศตะวันตก มีศาลาเก่าแก่อายุมากกว่า 200 ปี มีลักษณะ เป็นแบบศิลปกรรมอยู่ ในสภาพ ไม่เรียบร้อย และมีศิลาจารึกอีก 3 หลัง ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 24 (พ.ศ.2388) อันเป็น รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จารึกเป็นภาษาไทย จีน มลายู อย่างละ 1 หลัก ข้อความ ในศิลาจารึกตอนต้นเป็นคำร้อยแก้ว ต่อมาเป็นร่าย ถัด จาก นั้นเป็น โคลงสี่สุภาพ 2 บท เนื้อความตรงกันทั้ง 3 ภาษา ส่วนถ้อยคำ ในศิลาจารึกแผ่นที่เป็นภาษาไทยนั้น ใช้ถ้อยคำเป็นภาษาไทยใต้ ซึ่งเมื่อถอดความเป็นภาษาไทย กลางแล้วมีข้อความดังนี้
 
          ศุภมัสดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้ว สองพันสามร้อยแปดสิบแปด พระวสา สุขปักษ์วันเสาร์ เดือนสิบสอง ขึ้นแปดค่ำ มีมะเส็ง สัปตศก พระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา มีอนุสรณ์เจตนาเป็นมหากุศล พร้อมด้วย โสภณญาณ สัมประยุติจิตต์คิดถึงพุทโธวาท ว่า บุคคล เป็นนักปราชญ์อาจรู้ซึ่งประโยชน์ สองประการ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน อย่างหนึ่ง รู้ประโยชน์อันพึง จะให้ผลในภพ เบื้องหน้า เป็นที่สอง จึงร้องเรียกว่านักปราชญ์ เมื่อนมัสการถึง พระพุทธโอวาท ฉะนี้แล้ว เพราะเจตนาปรารถนา ต่อการ ทำทานทำกุศล คือ ถนน และบ่อน้ำ สะพานข้ามและศาลา สำนักนี้ ศาลเทพารักษ์ เป็นห้าประการ ให้ความสุขเป็นทาน แก่ สมณชีพราหมณ์ ประชาชน กุลบุตร เป็นที่สุด ถึง สัตว์เดียรัจฉาน จะได้ดับร้อนรำคาญอันบังเกิดในกายและจิตแห่งมหาชน อนึ่ง จะเป็นที่เจริญกุศลสิ้นกาล ช้านาน จึงนำเอา เรื่องความทำ สะพานศิลา ข้ามคลองสำโรงขึ้นกราบเรียน พณฯ พระยาวิเชียร คีรีศรีสมุทร วิสุทธิศักดามหาภิไชย สงครามภักดี อภัยพิริยะบรม กรมพาหุ เจ้าคุณเมืองสงขลาก็เลื่อมใสยอมอนุโมทนา จึงชักชวน วงศาคณาญาติ ข้าราชการ ชาวบ้านไทยและจีน แขกที่มี ศรัทธา ได้โมทนา บริจาค ธนทรัพย์ ไว้สำหรับจะใช้จ่ายประมวลได้ประมาณ สองพัน สามร้อยสิบสองเหรียญ 3 สลึง ครั้งถึงวันพุธ เดือนยี่ ขึ้นแปดค่ำ ปีมะเส็ง สัปตศกมรรคนายกจัดแจงการ ก่อสะพาน พื้นศิลา มีพนักฝากำแพงบ้าน โปร่งอิฐ ก็ตั้งทั้งสองข้าง ไว้ช่องว่างกว้างสามวา ไม้แก่นหนา เรียบเรียง รองยาวยี่สิบสองวา ที่สุด ศาลา หยุดศิลาประดับ บ่อน้ำซับน่าอาบกิน ข้างทักษิณศาลเทพยดาไว้บูชาแขกจีนไทย ยกถนน ใหญ่ กว้างห้าวาสิ้น บรรดาแปดสิบเส้น ตรงตลอดเห็นจดประตูเมือง เสาธงเมืองปักเรียง รันยะย้ากันคู่ละวาง ประดับประดาการฉลอง ปรับปรุง ห้องโรงพระปริต เครื่องวิจิตรประจงจัด วันพฤหัสขึ้นเดือนสาม ฤกษ์ปลอดงาม สิบสองค่ำ ปีมะเมียล้ำอัฐศก เชิญบุษบก พระบรมธาตุ ยานนุมาศตั้งเทพยดา ยานนุมาศตั้งเทพยดาลำดับ มาเป็น เหล่าหลัน ยกพยุหบาทพร้อม ตุริยางค์ แต่งหลายอย่าง ต่างภาษาแต่ล่องมาถึง ศาลเจ้า นำ เทวเจ้าสู่สถาน นมัสการให้พระธาตุกลับมาประทับ โรงพระปริตรวาง สถิตย ์แท่นศิลา เหล่ากระบวนถ้วนหาญแห่ อึงอัดแอ ภักษาหาร ในโรงทานแขก จีน ไทย หญิงชายไซร้สิ้นด้วยกัน หมื่นแปดพันสี่ร้อยห้าสิบหก ไว้ในศาลให้มีการมหรสพ สิ้นครันครบทุก สิ่ง สรรพ์ พระสุริยันเคลื่อนคล้อยบ่าย เงินทองปราย แก่ชนาพระสงค์มาเป็นประทานน้อมนมัสการโดยเคารพ รับศีลจบฟัง พระปริตร สัมฤทธิ์กิจสิ้นสงสัย ดอกไม้ไฟจัดบูชา รุ่งเพลาปฏิบัติสงฆ์ ยี่สิบองค์ถ้วนสามวัน พระสวดนั้นถวายไตร เพิ่มขึ้นใหม่ต่างอาราม สามร้อย สามสิบเอ็ดองค์ ถวายสบงองค์ละผืน ไทยทานอื่นสารพัด เจ้าเมืองจัดโมทนาพร้อม น้อมอำนวยพร ตามยอกรขึ้นแผ่ผล ส่วนกุศลสรรพสัตว์ จงขจัดพ้นจากทุกข์ให้มีสุขจนอวสานเดชะทานแห่งอาตมา โดยเวทนา พร้อมทั้งสาม ขอให้ข้ามสังสารวัฎ ตรัสสู้ พิศมัย ขอให้เกิดใน วรศาสนา เมตไตรยาจะมาตรัสวัตร ปฏิบัติให้บริบูรณ์ กุศลบุญอย่างแคล้ว ตราบเท่าถึงเมืองแล้วแห่งห้อง นฤทานก่อสร้างกุศล สืบศาสนา มุ่งหมายให้คลาดแคล้วมารร้ายเดชะผล ได้สร้างทานาถนนสะพาน ศาลเทพยเจ้าเขาสโมรง อีกบ่อศาลาโรงพักร้อน เสด็จด้วยอ่างหินโอง (โอ่ง) โอกาสฉลอง สละทรัพย์ซ้อน เพื่อสร้างโพธิญาณพระสุนทรนุรักษ์รสธรรม ความทีนารพันอัน กล่าวแล้วชวนชน ประชุมกัน สร้างกุศล แฮ พร้อมนมัสแน่แน่ว มุ่งฟ้าฝ่ายเดียว รายเงินท่านผู้มีชื่อโมทนาเป็นราย พณฯเจ้าคุณสงขลา เงินเหรียญสองร้อยกับเศษนั้นสามก้อน นับได้ว่าศิลาจารึกเป็นหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้ ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณคดี และประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณอาคาร และศิลาจารึก ดังกล่าวตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ให้อนุรักษ์และสงวนไว้เป็นสมบัติของชาติเพื่อประโยชน์ ในการศึกษาค้นคว้า
 
          ที่ดินดังกล่าวได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2506 ได้ทำการ ก่อสร้างตามสัญญา ลงวันที่ 10 เมษายน 2506 โดยนายแพทย์เล็ก มโนมัยอุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลา เป็นประธาน วางศิลาฤกษ์ โรงพยาบาลประสาทสงขลา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2506 จนตึกอำนวยการแล้วเสร็จ และ ก่อสร้างตึกคนไข้ใน และอาคารบริการ ด้วยงบประมาณ 2507
ในระหว่างนั้น นายแพทย์ประเสริฐ ศิวะศริยานนท์ อดีตแพทย์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสงขลา ได้ให้ความ ช่วยเหลือเป็นอย่างดีในการควบคุมดูแลระหว่างยังไม่มี แพทย์อยู่ประจำ เทศบาลโดยนายสมัคร ปทมานนท์ นายกเทศมนตรีกับคณะได้ให้ความเกื้อกูล ในการจัดปรับบริเวณ และถนน
สมเด็จพระราชาธิบดี โอลาฟ แห่ง นอร์เว พระราชทานทุนสนับสนุนโครงการวิจัย ทางประสาท วิทยาศาสตร์ และโครงการ โรงพยาบาล ประสาทสงขลา ในการหาทุนนั้นนอกจากคณะแพทย์ของโรงพยาบาลประสาท พญาไท และโรงพยาบาลสงขลา ได้ร่วมมือ เป็นอันดี แล้วยังมีนายสุชาติ รัตนปราการ นายนิกรและครอบครัวประธานราษฎร์นิกร นายแพทย์ไพบูลย์ สิทธิดู นายแพทย์ประเสริฐ ศิวะศริยานนท์ นายแพทย์อัมพร ถวิลกาญจน์ นายมงคล รัตนปราการ แพทย์หญิงสายทอง มโนทัยอุดม นายประเวศ เรืองจรัส พ่อค้าข้าราชการอีกมาก ได้ให้ความช่วยเหลือ เป็นอย่างดีในการประเดิมหาทุน โดยความร่วมมือ ของ สมาคมชาวปักษ์ใต้ ได้รับพระมหากรุณาจาก พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร ภาพยนต์สำหรับหารายได้ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2507 ได้เงิน 85,300 บาท ในโอกาสนั้น ได้พระราชทาน ทุนด้วย 2,000 บาท นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อม เมื่อเดือนกรกฎาคม 2507 สมเด็จ พระราชชนนีศรีสังวาลย์ ได้เสร็จทรงเยี่ยมและชมกิจการ ของโรงพยาบาลประสาทสงขลา เนื่องในการ เสด็จเยี่ยม ราษฎรภาคใต้ การดำเนินการ ก่อสร้างตึกอำนวยการ ตึกผู้ป่วยใน อาคารโภชนาการและซักฟอก ตึกพยาธิวิทยา บ้านพักแพทย์ พยาบาล คนงาน ศาลาเยี่ยมผู้ป่วย โรงเก็บยานพาหนะ ถังเก็บน้ำ สร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2507 มจ.ทองคำเปลว ทองใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในขณะนั้นทรงเป็นประธานในการเปิดตึกเพื่อให้บริการผู้ป่วยนอก โดยมี แพทย์หญิง นันทนิตย์ บูรณานุวัติ แพทย์ประจำโรงพยาบาลประสาท พญาไท มาช่วยราชการเป็นหัวหน้าแผนก ระหว่างที่ยังไม่มีแพทย์ ประจำ จะต้อง ใช้แพทย์จากโรงพยาบาลประสาท พญาไท หมุนเวียนสับเปลี่ยนทุก 3 เดือน และทุก 6 เดือน วันที่ 14 มีนาคม 2508 เริ่มเปิดให้บริการ ผู้ป่วยใน 50 เตียง มีนายแพทย์อาคม สรสุชาติ เป็นหัวหน้าแผนก และนายแพทย์ธนิต เธียรธนู เป็น แพทย์ประจำ โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสพ รัตนากร รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ โรงพยาบาลประสาทสงขลา อีกตำแหน่งหนึ่ง มีคณะเจ้าหน้าที่ จำนวน ประมาณ 20 คน ปฏิบัติงานเป็นรุ่นแรกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพร้อมด้วย สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ และสมเด็จลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญา ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงทำพิธีเปิดโรงพยาบาลประสาทสงขลา ในวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2508 ซึ่งนับเป็นมงคลฤกษ์ โรงพยาบาลฯ จึงกำหนดเอา วันที่ 26 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันเกิดของ โรงพยาบาล ประสาทสงขลา ตลอดมาในการดำเนินงานระหว่าง 2506-2508 โรงพยาบาลประสาทสงขลาได้รับความร่วมมือจากนายแพทย์เล็ก มโนมัยอุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลา นายแพทย์ประเสริฐ ศิวะศรียานนท์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลสงขลา ตลอดจน ข้าราชการ และพ่อค้า เป็นอย่างดียิ่ง โรงพยาบาลฯได้ดำเนินการก่อสร้างตาม กำลังเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร เงินบำรุง และผู้ร่วมบริจาค รวมไปถึงความก้าวหน้าและผลงานเด่น ตั้งแต่ปี 2507 จนถึงปัจจุบันดังนี้
 
          2507 สร้างตึกอำนวยการ ตึกคนไข้ชาย อาคารบริการอาหาร และซักฟอก ตึกพยาธิวิทยา บ้านพักแพทย์ บ้านพักพยาบาล บ้านพัก พนักงาน ศาลาพักเยี่ยม โรงเก็บรถยนต์ และถังเก็บน้ำสูง 11 เมตร
          2508 สร้างบ้านพักพยาบาล บ้านพักแพทย์ประจำแผนก อาคารสวัสดิการ สามารถให้บริการโดยรับผู้ป่วยในได้ประมาณ 50 เตียง
          2509 สร้างตึกศัลยกรรมและรังสีประสาทวิทยา บ้านพักครูอาชีวบำบัด สำหรับตึกศัลยกรรมประสาทและรังสีประสาทวิทยา ได้เปิด เป็นทางการเมื่อวันพุธที่ 27 พฤษภาคม 2513 โดยพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (ปัจจุบันใช้เป็นกลุ่มงานทันตกรรม)
          2510 สร้างตึกคนไข้หญิง ขนาด 3 ชั้น ใช้เป็นหอผู้ป่วยหญิงรับได้ 50 เตียง และสร้างหน่วยกายภาพบำบัด บ้านพักแพทย์ บ้านพัก พนักงาน ศาลาพักเยี่ยม รั้วเหล็กด้านหน้า พร้อมถนนลาดยาง รับผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นประมาณ 100 เตียง และในปีเดียวกันนี้ กรมการแพทย์ได้แต่งตั้งนายแพทย์ปรีชา อินโท ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเป็นคนแรก และดำรงตำแหน่งนี้ จนถึง พ.ศ.2520
          2511 สร้างบ้านพักพนักงานจัตวา โรงงาน รั้วเหล็ก ด้านทิศตะวันออก และตะวันตก
          2512 สร้างบ้านพักแพทย์ บ้านพักพยาบาล ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก เรือนเพาะชำ และถังซีเมนต์เก็บน้ำ ขนาดบรรจุ 60 ลูกบาศก์-เมตร สูง 21 เมตร และได้เริ่มให้บริการทางศัลยกรรมสมอง แต่ก็ได้ดำเนินการเพียงช่วง สั้น ๆ โดยทำการผ่าตัดผู้ป่วย ประมาณ 10-11 ราย ก็ต้องหยุดทำการเนื่องจากขาดผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านนี้
          2513 สร้างตึกชูศักดิ์อนุสรณ์ (ประธานราษฎร์นิกร) ขนาด 3 ชั้น โดยได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เสด็จ ทรงวางศิลาฤกษ์ นับเป็นมหามงคลยิ่ง ด้วยเงินบริจาคของตระกูลประธานราษฎร์นิกร รับผู้ป่วยโรคระบบประสาทได้ 50 เตียง
          2514 - 2515 สร้างบ้านพักแพทย์ บ้านพักพยาบาล
          2516 สร้างบ้านพักชั้นตรี บ้านพัก ผู้ช่วยพยาบาลและขยายต่อเติมห้องตรวจโรคคนไข้นอก ระหว่างปี 2508 - 2517 โรงพยาบาล ได้ขยายที่ดินจากเดิม 18 ไร่ เป็น 33 ไร่
2518 โรงพยาบาลฯ ได้ขอใช้ที่ดินเขตปลอดภัยในการเดินอากาศของกรมการบินพาณิชย์ซึ่งติดต่อกับที่ดินเดิม จำนวน 19 ไร่เศษ ซึ่งทำให้โรงพยาบาลฯ มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 52 ไร่เศษ (52-0-70.48 ไร่) สร้างบ้านพักพนักงานผู้ช่วย (ลูกจ้างประจำ) และต่อเติม อาคารผู้ป่วยนอก
2519 กรมการแพทย์ได้แต่งตั้งนายแพทย์จิต จันทมณี รักษาการผู้อำนวยการและได้สร้างบ้านพักผู้ช่วยพยาบาล (6 ห้อง) 1 หลัง
          2520 กรมการแพทย์ได้แต่งตั้ง นายแพทย์กำธร พริ้งศุลกะ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ และได้ก่อสร้างอาคารอาชีวบำบัด บ้านพักข้าราชการระดับ 3-4 , 1 หลัง และในปีนี้กรมการแพทย์ได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบให้โรงพยาบาลฯ เป็น โรงพยาบาลใน แผนงานสุขภาพจิตเพื่อ ให้บริการผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช เช่นเดียวกับโรงพยาบาลในแผนงาน สุขภาพจิต อื่น ๆ ส่วนหน้าที่ความรับผิดชอบเดิม ยังคงดำเนินการต่อไป
          2521 สร้างบ้านพักข้าราชการ ระดับ 3-4 , 1 หลัง
          2522 สร้างตึกจิตเวชชาย สามารถรับคนไข้ได้ 40 เตียง
                   สร้างโรงอาหารและโรงครัว
                   เริ่มรับผู้ป่วยจิตเวชทั้งชายและหญิง จำนวน 100 เตียง
          ร่วมโครงการผสมผสานงานสุขภาพจิตกับงานสาธารณสุขมูลฐาน โดยจัดอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และตำบลในเขตรับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง
สร้างตึกจิตเวชหญิง 50 เตียง และขยายหน่วยกายภาพบำบัด
นายแพทย์ปรีชา อินโท ได้รับการแต่งตั้งจากกรมการแพทย์ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ เป็นวาระที่ 2 เริ่มมีการขยายงาน บริการสุขภาพจิตที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ให้บริการจิตเวชและสุขภาพจิตชุมชน โดยมีหน้าที่ในด้านส่งเสริมป้องกันทั้งในและนอกสถานที่และในปีนี้ นายแพทย์อุดม ลักษณวิจารย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิต มีดำริในการจัดสร้างอาคารผู้ป่วยนอกใหม่ เพราะของเดิมแคบมาก ไม่สะดวก ในการให้บริการ
          2529 โรงพยาบาลฯ ได้ร่วมกิจกรรมในโอกาสครบรอบ 100 ปี สุขภาพจิต มีกิจกรรมทางวิชาการ และกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพจิต สร้างอาคารซักฟอกและรั้วคอนกรีตทางด้านทิศตะวันออก และบ้านพักแพทย์ 2 ยูนิต
          2530 จัดทำโครงการ ฯ ศูนย์ทดลองและอบรมด้านบำบัดรักษาการติดยาภาคใต้ (ศทอต. : Southern Testing and training cen tre ; STTC) ด้านสนธิสัญญาโครงการ DEVELOP MENT OF TESTING ANG TRAINIWG CENTRES ระหว่างรัฐบาลไทยกับ The United Nation Fund for Drug Abuse Control (UNEDAC)

 
คณะทำงานประกอบด้วย
 
          คณะกรรมการบริหารโครงการ อธิบดีกรมการแพทย์เป็นประธาน ประกอบด้วย เลขาธิการสำนักงาน ป.ป.ส ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
          คณะกรรมการดำเนินงานโครงการ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธาน ประกอบ ด้วยข้าราชการจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ไปศึกษาดูงานด้านการบำบัดรักษาผู้ติดสารเสพติด ณ ADDICTION RESEARCH FOUNDATION กรุงโดรอนโต ประเทศคานาดา เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2529
          คณะกรรมการที่ปรึกษาและประเมิน โครงการ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกรมการแพทย์ร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เกี่ยวกับยาเสพติดได้เสนอโครงการต่อองค์การสหประชาชาติ (The United Nation Fund for Drug Abuse Control ; UNFDAC) เพื่อเปิดศูนย์ 2 แห่งด้วยกัน คือ คลินิกยาเสพติด 6 วัดธาตุทองของกรุงเทพมหานคร และในส่วนภูมิภาค คือ ที่โรงพยาบาลประสาทสงขลา กองสุขภาพจิต กรมการแพทย์ โดยจัดตั้งเป็น โครงการ 4 ปี องค์การสหประชาชาติได้อนุมัติ โครงการและให้ทุนสนับสนุนดำเนินการเมื่อตุลาคม 2529 ใช้สถานที่ทำการ ณ ตึกชูศักดิ์อนุสรณ์ (ประธานราษฎร์นิกร) ชั้นล่าง โดยมีวัถตุประสงค์เพื่อค้นคว้าวิจัย หารูปแบบการ บำบัดรักษาและฟื้นฟูซึ่งได้ผลดีและ เหมาะสมกับการบริการในส่วนภูมิภาคหลีกเลี่ยงการใช้ยา Methadone ในการถอนยา อบรม แนะนำวิธี การรักษาแก่ศูนย์บริการในส่วนภูมิภาค และ ให้บริการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ อัตรากำลังย้ายจาก ศูนย์บริการที่โรงพยาบาลสงขลาซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของกรมการแพทย์ ร่วมกับบุคลากรของโรงพยาบาล ประสาทสงขลา ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เภสัชกร และวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายแพทย์ปรีชา อินโท เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ศูนย์ฯ เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2530 นายแพทย์ณรงค์ สดุดี อธิบดีกรม การแพทย์ ทำพิธีเปิดศูนย์เป็นทางการ เมื่อ 9 พฤษภาคม 2530 เมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้ว ได้พัฒนารูปแบบ การบำบัด รักษาขั้นเตรียมการ ขั้นก่อนรักษา ขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ และขั้นติดตามผล 7 รูปแบบสำหรับขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ เครื่องมือที่สำคัญ ได้แก่ การให้คำปรึกษา ซึ่งได้มีการฝึกอบรมด้านให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดโครงการ
 
          2531 คณะกรรมการฝึกอบรมและสอน สาขาจิตเวชศาสตร์ แพทยสภา ได้มอบให้นายแพทย์สรยุทธิ์ วาสิกนานนท์ มาประเมินโรงพยาบาลเพื่อเป็นสถาบันสมทบในการฝึก อบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชของ โรงพยาบาลศรีธัญญา หลังจากการประเมิน โรงพยาบาลได้เป็นสถาบันสมทบของการ ฝึกอบรมดังกล่าวและ โรงพยาบาลศรีธัญญา ได้ส่ง แพทย์ประจำบ้านปีที่ 3 มาฝึกอบรมเมื่อต้นปี พ.ศ.2535 จำนวน 1 คน
          2532 จัดตั้งศูนย์สุขภาพจิตประจำจังหวัดเป็นแหล่งแรกที่จังหวัดตรัง ชื่อว่า ศูนย์สุขภาพจิต จังหวัดตรัง โดยครั้งแรก เทศบาลจังหวัดตรังให้ใช้สถานที่เป็นที่ทำการชั่วคราว ต่อมาได้เช่าอาคารพาณิชย์เป็นที่ทำการ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 112 ถนนวิเศษกุล ซอย 2 อำเภอเมือง จังหวัดตรัง หลังจากนั้นได้ย้ายที่ทำการมาประจำอยู่ ณ สำนักงานสาธารณสุขตรัง (สำนักงานสาธารณสุขย้ายไปที่ทำการใหม่) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายบริการสุขภาพจิตไปสู่ประชากร ทางภาคใต้ และเพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ในการปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมป้องกัน, บำบัดรักษา, และ ฟื้นฟูสมรรถภาพ ในชุมชน ตลอดจนติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เปิดทำการครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2532 มี ข้าราชการไปปฏิบัติงานประจำศูนย์ฯ 2 อัตรา ต่อมาจ้างลูกจ้างชั่วคราวเพิ่มอีก 2 อัตรา และเปิดเป็นทางการเมื่อ 25 กันยายน                  2534 โดยนายแพทย์สุจินต์ ผลากรกุล ให้เกียรติเป็นประธาน
          2533 บูรณะอาคารพักเยี่ยม (อาคารพักผ่อน) เป็นหลังคาทรงปั้น 1 หลัง พร้อมทั้งขุดลอกสระน้ำบริเวณศาลาพักเยี่ยม เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้ป่วยและญาติ
 
          2533 - 2535 โรงพยาบาลได้รับจัดสรรงบประมาณในการสร้างอาคารผู้ป่วยนอก 1 หลัง ผูกพัน 3 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 22.9 ล้านบาท เนื่องจากอาคารผู้ป่วยนอกหลังเก่าเปิดใช้อย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ ปี พ.ศ.2507 แม้ว่าจะได้รับการต่อเติม ซ่อมแซม ตามสภาพการณ์ก็ยังมีสภาพทรุดโทรม และที่สำคัญ คือคับแคบลงไปมาก ไม่สะดวกในการให้บริการแก่ประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด
ภาคใต้ตอนล่างนับเป็นวาระสำคัญอีกวาระหนึ่ง ด้วยเป็นที่ประจักษ์แจ้ง และตระหนักในใจของพสกนิกร ชาวไทยทุกคนถึง บุญญาธิการ พระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีต่อพสกนิกร ไม่ว่าจะเป็นด้านความเป็นอยู่ การศึกษา สุขภาพอนามัยทั้งกายและใจ ในวาระที่พระองค์มีพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ โรงพยาบาลถือเอาโครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก นี้เป็นโครงการ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและโปรดเกล้าฯ ถวายความ จงรักภักดี ต่อพระองค์ท่านเมื่ออาคารดังกล่าวแล้วเสร็จยังขาด ครุฑภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์หลายรายการโรงพยาบาลฯ ได้จัด กิจกรรม รณรงค์หาทุนจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาคและจัดวิ่งการกุศล สุขภาพจิต มินิมาราธอน 92 จัดตั้งกองทุนโรงพยาบาล ประสาทสงขลา และเปิดใช้เป็นทางการ เมื่อ 17 สิงหาคม 2535 โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิทุร แสงสิงแก้ว อธิบดีกรมการแพทย์เป็นประธาน
 
          2535 โรงพยาบาลได้ใช้เงินบำรุงสร้างอาคารซ่อมบำรุง 1 หลัง และก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน ขนาด (60 เตียง) อีก 1 หลัง และก่อสร้างศาลาพักเยี่ยม สมสิน โดยได้รับเงินบริจาค จากตระกูลจิระพันธ์ ส่วนด้าน กิจกรรมจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม ณ อาคารชูศักดิ์อนุสรณ์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2535
          2535 ปรับปรุงภูมิทัศน์ สร้างสวนหย่อม สวนเกษม ด้วยเงินบริจาคของคุณเกษม คุณสาโรช อุดมรัตน์
          ในปี 2535 มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2535 กรมการแพทย์และพระราชบัญญัติ โอนอำนาจ หน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2535 ซึ่งให้โอนอำนาจหน้าที่ของ ส่วนราชการและของเจ้าหน้าที่ในกรมการแพทย์ ไปเป็นของสถาบันสุขภาพจิต กล่าวคือ หน้าที่ความรับผิดชอบ ในส่วนของ งานสุขภาพจิตตัดโอนไปเป็นหน้าที่ของสถาบันสุขภาพจิต นอกจากส่วนที่เกี่ยวข้องกับ โรงพยาบาล ประสาทเชียงใหม่ และโรงพยาบาลประสาทสงขลา ทำให้ภาระหน้าที่ของกรมการแพทย์ ส่วนของกรมสุขภาพจิต สิ้นสุดลง โรงพยาบาลประสาทสงขลายังคงขึ้นตรงต่อกรมการแพทย์ และคงให้บริการด้านสุขภาพจิต แต่เน้นการ พัฒนาด้านประสาทวิทยา เพื่อให้บริการประชาชนอย่างครบถ้วนและให้สอดคล้องกับภารกิจ กรมการแพทย์ ที่ต้อง รับผิดชอบ และได้มีการ แบ่งส่วนราชการภายในใหม่ตามพระราชกฤษฎีกาการแบ่งส่วนราชการ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2537 เพื่อสนับสนุนภารกิจ โรงพยาบาลฯ ได้จัดเตรียมเรื่องอาคาร สถานที่ และเครื่องมือ
ในช่วงปลายปี 2535 นายแพทย์กวี ชีวะเสรีชล รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ได้รับ การแต่งตั้งจากกรมการแพทย์ ให้ปฏิบัติราชการในฐานะผู้อำนวยการ และปลายปี 2535 กรมการแพทย์ได้แต่งตั้งนายแพทย์เอนก สุภีรนันท์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ
          2536 เมื่อมี พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ โรงพยาบาลฯได้จัดตั้งคลินิกอดบุหรี่ เมื่อเดือน พฤษภาคม 2536
          2536-2537 ก่อสร้างศาลาพักเยี่ยม ประไพ  สวัสดิ์ กันเขตต์ และบูรณะศาลาศิลาจารึก ด้วยเงินบริจาคของตระกูล กันเขตต์
          2537 ก่อสร้างอาคารบ้านพักพยาบาล (8 ยูนิค) 1 หลัง และระบบบำบัดน้ำเสีย 1 ระบบ
ในช่วงเดือนมิถุนายน  กันยายน 2537 มีนักเรียนที่จังหวัดยะลาเกิดอาการคล้าย อุปทาน สำนักงาน สาธารณสุข จังหวัดยะลา ได้ขอความร่วมมือมายัง โรงพยาบาลประสาทสงขลา เพื่อช่วยสอบสวนเหตุการณ์ เด็กนักเรียน โรงเรียน บ้านกาโสด ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา โรงพยาบาลประสาทสงขลา ได้จัดทีมงานไปช่วยสอบสวน ประกอบด้วย จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคาะห์ และ เจ้าหน้าที่โสตทัศนศึกษา โดยมีนายแพทย์กวี ชีวะเสรีชล เป็นหัวหน้าทีมปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดยะลา เจ้าหน้าที่กองระบาดวิทยา และ โรงพยาบาลบันนังสตา
          2537 กรมการแพทย์กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานให้โรงพยาบาลฯ เน้นการพัฒนางานทางระบบประสาท ซึ่งใน ขณะนั้น นายแพทย์ วุฒิกิจ ธนะภูมิ ดำรงตำแหน่งอธิบดี กรมการแพทย์
          2538 ก่อสร้างเตาเผาขยะ 1 เตา ต่อเติมโรงซักฟอก ก่อสร้างระบบประปา 1 ระบบ และก่อสร้างอาคารพักแพทย์ 1 หลัง
          2538-2539 ก่อสร้างอาคารพยาธิวิทยา 1 หลัง
          2539 ก่อสร้างอาคารบ้านพักพยาบาล (8 ยูนิค) 1 หลัง อาคารพักแพทย์ (10 ยูนิค) 1 หลัง
          2539-2541 ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยในขนาด 120 เตียง 1 หลัง ด้วยเงินงบประมาณและเงินบำรุง สำหรับผู้ป่วยสามัญและ ผู้ป่วยพิเศษ เมื่ออาคารก่อสร้างแล้วเสร็จยังขาดครุภัณฑ์ และอุปกรณ์สำหรับห้องพิเศษ ได้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงิน จัดซื้อครุภัณฑ์ครบทุกห้อง
          2540 ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในด้านการสร้างความมั่นคง ด้าน บริการสุขภาพที่ มีคุณภาพ ที่ดีซึ่งยุทธศาสตร์นี้จะต้องเกี่ยวข้องกับการพัฒนากลไกที่จะกำกับดูแลคุณภาพมาตรฐาน การบริการสุขภาพที่สำคัญ โรงพยาบาลฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการบริการและการพัฒนาองค์กร ได้จัดทำโครงการ พัฒนาคุณภาพขึ้นหลายโครงการ โดยมีโครง การอบรม พฤติกรรมบริการสู่ความเป็นเลิศ ขึ้นเป็นโครงการนำร่อง
          2540 - 2542 ก่อสร้างอาคารบำบัดรักษา (อาคารศัลยกรรม เอกซเรย์ ชันสูตร และไอซียู 1 หลัง
          2542 ใช้สถานที่โรงพยาบาลประสาทสงขลาเป็นที่ตั้งของมูลนิธิ เกษม สาโรช มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนช่วยเหลือ ผู้ป่วย อนาถา การจัดซื้อครุภัณฑ์การแพทย์และพัสดุเครื่องใช้ ที่จำเป็นสำหรับโรงพยาบาลและเป็นทุนการศึกษา แก่ นักศึกษาพยาบาลที่ได้รับจัดสรรโควตาพิเศษ
          2542 ปรับปรุงภูมิทัศน์ สร้างสวนหย่อม สวนเกษม 2 ด้วยเงินบริจาคของคุณเกษม  คุณสาโรช อุดมรัตน์
          2545 จัดตั้งศูนย์ออกกำลังกาย ด้วยเงินบริจาคของคุณเกษม  คุณสาโรช อุดมรัตน ์โรงพยาบาลฯ ได้มีการดำเนินงาน ทั้งในเชิงรุกและเชิงรับเรื่อยมา จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน 2545 ได้มีการประชุมเพื่อปรับบทบาทภารกิจของ โรงพยาบาลฯ โดยมีนายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้นเป็นประธาน มติ การประชุมเห็นควรให้โรงพยาบาลฯ สังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการ ของประชากรใน ท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่างตามพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการ บริการและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ ตามพระราชบัญญัติการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2545 มาตรา 144 โรงพยาบาลประสาทสงขลา เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลจิตเวชสงขลา และ กพ.ได้กำหนดโครงสร้างของโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาตามภารกิจหลัก เมื่อเดือนธันวาคม 2545 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอประทานนามโรงพยาบาลจิตเวชสงขลา จาก สมเด็จพระเจ้า พี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ โรงพยาบาลฯ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประทานนามอันเป็นมงคลนามว่า "โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์"  
          วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 นับเป็นวันมหามงคล สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ เสด็จ พระราชดำเนินทางเปิดโรงพยาบาลสงขลาราชนครินทร์ คณะเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล รู้สึกซาบซึ้ง และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขอตั้งปณิธานและความมุ่งมันให้โรงพยาบาลแห่งนี้ เป็นสถานที่ สำหรับส่งเสริม ป้องกัน บำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรภาพทางจิตและพัฒนางานวิชาการด้านสุขภาพจิต ในอันที่จะ เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อผู้มารับบริการ ทั้งนี้เพื่อความผาสุกของประชาชนสมดังเจตนารมย์ตามรอยพระยุคลบาทสืบไป