ประวัติโรงพยาบาลฉลอง
ปี พ.ศ.2483 นายกาว อารีรอบ ได้บริจาคที่ดินไว้ 10 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา บริเวณห้าแยกฉลอง ฝั่งถนนเจ้าฟ้าตะวันตก ไว้เป็นที่ก่อสร้างสุขศาลา หรือสถานีอนามัย โดยนายคาว ไกรทัศน์ ได้บริจาคเงินเพื่อสร้างสถานีอนามัย ซึ่งที่ดินส่วนนี้เป็นที่ตั้งของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี ซึ่งก่อนหน้านี้ พื้นที่บางส่วนได้ใช้เป็นตลาดสด ทางทายาทตระกูลอารีรอบเห็นว่าจากความแออัดของประชากรในพื้นที่ การจราจรติดขัด และเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ประชาชนมีความต้องการโรงพยาบาล จึงขอให้ทางภาคราชการดำเนินการสร้างโรงพยาบาลฉลองตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค
ปี พ.ศ.2558 โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้ใช้เงินบำรุงโรงพยาบาล 3,000,000 บาท ก่อสร้างอาคารรับอุบัติเหตุฉุกเฉิน เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น ส่วนอุปกรณ์การแพทย์ได้รับเงินบริจาคจากประชาชน โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้เข้ามาดำเนินการเปิดให้บริการผู้ป่วยด้านอุบัติเหตุฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา
ปี พ.ศ.2559 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 เพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลฉลอง (อาคารผู้ป่วยนอกและบำบัดรักษา 4 ชั้น) จำนวน 108,100,000 บาท ไม่รวมครุภัณฑ์ที่ใช้ภายในอาคารและอุปกรณ์การแพทย์ ได้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างในวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 อาคารผู้ป่วยนอกฯ ได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วในปี พ.ศ.2561
ปี พ.ศ.2561 ได้รับอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุขให้ตั้งโรงพยาบาลฉลอง เป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด F3 (10-30 เตียง) ได้เปิดให้บริการอุบัติเหตุฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง เปิดแผนกผู้ป่วยนอก 2 ห้องตรวจ ห้องทำแผลฉีดยา และเปิดหอผู้ป่วยใน 10 เตียง เปิดแผนกทันตกรรม 4 เตียง และภายในอาคารกำลังดำเนินการปรับปรุงหอผู้ป่วยในชั้น 3 เพิ่มจำนวนเตียงเป็น 20 เตียง จะย้ายงานอุบัติเหตุและฉุกเฉินจากอาคารด้านหน้าไปอยู่บนอาคารใหม่ชั้น 1เมื่อปรับปรุงอาคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ปี พ.ศ. 2563 ได้รับงบประมาณในการสร้างอาคารผู้ป่วยใน 7 ชั้น 156 เตียง จำนวน 153,400,800 บาท ขณะนี้ กำลังดำเนินการจัดทำการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ( EIA ) คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ภายในกลางปี พ.ศ. 2563 ระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปี และในปีนี้จะดำเนินการก่อสร้างอาคารเอ็กซเรย์ พร้อมทั้งซื้อเครื่องเอ็กซเรย์ทั่วไป เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ( CT-Scan) โดยเงินสนับสนุนจากศาลเจ้าปุดจ้อ จำนวน 14,398,248 บาท
ปี พ.ศ.2564 ได้จัดทำคำของบประมาณเพื่อสร้างอาคารพักเจ้าหน้าที่ 96 ยูนิต จำนวน 78,585,000 บาท และบ่อบำบัดน้ำเสีย จำนวน 15,000,000 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2565 จะของบประมาณในการสร้างอาคารสนับสนุน (จ่ายกลาง, โรงครัว, ซักฟอก, คลังเวชภัณฑ์และวัสดุ จำนวน 28,000,000 บาท
ตลอดระยะเวลา 4 ปี นับแต่เปิดให้บริการด้านอุบัติเหตุฉุกเฉินที่โรงพยาบาลฉลอง ได้มีผู้ป่วยมาใช้บริการจำนวนมากขึ้น เฉลี่ยวันละประมาณ 200 คน วัดฉลองและวัดต่างๆในเขตพื้นที่ ภาคเอกชน ภาคประชาชนและมูลนิธิ ชมรมต่างๆในจังหวัดภูเก็ต มีการจัดกิจกรรมหารายได้มาสนับสนุนโรงพยาบาลฉลองอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเมื่อปรับปรุงอาคารผู้ป่วยนอก และสร้างอาคารผู้ป่วยในแล้วเสร็จ จะต้องใช้เงินบริจาคจำนวนมากเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์มาให้บริการผู้ป่วยและพัฒนาโรงพยาบาลฉลองให้มีศักยภาพในการรักษาเพิ่มขึ้นต่อไป