ประวัติโรงพยาบาลทหารผ่านศึก
โรงพยาบาลทหารผ่านศึก เป็นโรงพยาบาลที่ก่อตั้งโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แรกเริ่มได้ถือกำเนิดจากการสถานปฐมพยาบาล มีฐานะเป็นเพียงแผนกหนึ่งในกองสวัสดิการ องศ์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ตามมติสภาฯครั้งที่2/91 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2491 ให้ตั้งสถานพยาบาลขึ้น และในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 ได้จัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยปฏิบัติการด้านการรักษาพยาบาลแก่ทหารผ่านศึกนอก ประจำการ เพื่อให้การสงเคราะห์ ตามระเบียบ อผศ.ฉบับที่ 3 ข้อ 5 ตั้งแต่ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2491 และ ให้บริการแก่ประชาชนในด้านการรักษาพยาบาลจ่ายค่ารักษาพยาบาลโดยคิดค่า รักษาตามสมควร โดยมีสถานที่ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
พ.ศ. 2491-2494 ห้องชั้นล่างที่ทำการ อผศ.เก่า ศาลหลักเมือง
พ.ศ. 2495-2497 ย้ายและขยายที่ทำการไปอยู่ที่ กองพยาบาลศาลเด็ก ชั้นบนจัดเป็น สถานที่พักผู้ป่วย และรับทำการคลอดบุตร
พ.ศ. 2497-2505 ย้ายกลับ ห้องชั้นล่าง อผศ.เก่า ศาลหลักเมือง
พ.ศ. 2505-2510 ย้ายมาที่อาคารทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพ พญาไท ถนนราชวิถี เนื่องจากมีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้น
พ.ศ. 2510-2513 ย้ายจากอาคารทหารผ่านศึก มาอยู่ ตึกเล็กสองชั้นข้างทางเข้า อผศ
พ.ศ. 2512 ได้ ยกฐานะ สถานพยาบาลขึ้นเป็น กองแพทย์ โดยรวมกิจการการรักษาพยาบาล การฟื้นฟูบำบัด และ การฝึกอาชีพทหารผ่านศึกทุพพลภาพไว้ด้วยกัน จึงได้ทำการก่อสร้างอาคารกองแพทย์ขึ้นในที่ดินที่รับมอบจากกองทัพบก ที่ถนนวิภาวดี รังสิต
พ.ศ. 2513 ย้าย มาอยู่ที่ถนนวิภาวดี จนมาถึงปัจจุบัน กองแพทย์แห่งนี้ได้เกิดขึ้น โดยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยทรงมีพระราชดำริให้มีการดูแลทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพในด้านการฟื้นฟู บำบัด และการฝึกหัดอาชีพ ทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารด้วยพระองค์เอง เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม 2513 เวลา 16.00 น.
พ.ศ. 2517 ได้ยกฐานะกองแพทย์ขึ้นเป็นโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ตามมติสภาฯ ครั้งที่ 1/17 และได้ทำการก่อสร้างอาคาร 6 ชั้น เพื่อรับผู้ป่วยไว้รักษาพยาบาล 1 หลัง ซึ่งมีขีดความสามารถรับผู้ป่วยไว้รักษาพยาบาลได้ 100-120 เตียง และได้เริ่มให้บริการในรูปโรงพยาบาลได้ตั้งแต่ 2521 เป็นต้นมา
พ.ศ. 2528 ได้ ทำการก่อสร้างอาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟูและออร์โธปิดิคส์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ครม. อนุมัติให้ก่อสร้าง ตามแผนการโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ระยะที่ 2 และย้ายผู้ป่วยทหารพิการอัมพาตมาไว้ที่อาคารนี้ เพราะสถานที่เดิมคับแคบไม่ค่อยถูกสุขลักษณะ
พ.ศ. 2530 ได้ทำการรื้อถอนอาคารอำนวยการเดิม ซึ่งได้ทำการก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ. 2512 (เนื่องจากอาคารเดิมทรุดตัว) และได้ก่อสร้างอาคารอำนวยการใหม่ แนบกับอาคารโรงพยาบาลเดิมขนาด 6 ชั้น หากก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ และ รพ.ผศ. มีงบประมาณสนับสนุนเพียงพอแล้วจะสามารถเพิ่มเตียงรับผู้ป่วยไว้รักษาได้อีก รวมเป็น 300 เตียง
ที่ตั้ง โรงพยาบาลทหารผ่านศึก
123 ถนนวิภาวดีรังสิต แขงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา
โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ได้ให้การสงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก และประชาชนทั่วไป มีขีดความสามารถเป็นโรงพยาบาลทั่วไป แต่ได้เน้นหนักทางด้านการฟื้นฟูบำบัด และการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ทหารผ่านศึกเป็นหลัก เพราะโดยหลักการแล้ว โรงพยาบาลเพื่อรักษาด้านต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีหลายแห่ง แต่โรงพยาบาลที่จัดสร้างขึ้นเพื่อภารกิจหน้าที่นี้มีเพียงแห่งเดียว
โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ได้ตระหนักถึงภารกิจด้านนี้จึงได้พยายามทุกวิถีทางที่จะผลักดันให้โรงพยาบาลมีขีดความสามารถสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพของคนพิการ เพราะโดยหลักการแล้ว การฟื้นฟูทางร่างกายจะต้องดำเนินควบคู่กับการฟื้นฟูทางจิตใจ ให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ท้อถอย และให้คิดอยู่เสมอว่าถึงจะพิการ ก็ยังมีประโยชน์และมีคุณค่าต่อสังคม
image
เนื่องจากในปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทหารผ่านศึกที่บาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกส่งตัวมารับการดูแลต่อที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก โดยบางรายจะต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์ไปจนตลอดชีวิต ดังนั้น เพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวของผู้ป่วย รวมทั้งมีอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยได้มาตรฐาน ดังนั้นองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาโรงพยาบาลทหารผ่านศึก เพื่อเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องจาก
ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา เพื่อถวายความจงรักภักดี และสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระราชทานแก่ทหารผ่านศึกผู้ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บจนถึงพิการ หรือพิการทุพพลภาพ โรงพยาบาล ฯ จึงได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเฉลิม พระเกียรติซึ่งเป็นอาคารอเนกประสงค์ สูง ๑๒ ชั้น และอาคารจอดรถยนต์สูง ๑๐ ชั้น และขยายจากโรงพยาบาลขนาด ๓๐๐ เตียง เป็นโรงพยาบาลขนาด ๕๐๐ เตียง ในวงเงิน ๕๐๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าร้อยเจ็ดล้านบาทถ้วน) แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ โดยได้รับพระราชทานชื่ออาคารว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา” พร้อมทั้งได้รับพระบรมราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ประดิษฐานบนอาคารดังกล่าว และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคาร ในวันอังคารที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๐.๐๐ น.
อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา ประกอบด้วย
ชั้นที่ ๑ ห้องบัตร ห้องยา ห้องการเงิน และห้องตรวจโรคทางอายุรกรรม
ชั้นที่ ๒ ห้องตรวจโรคศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมกระดูก และศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ
ชั้นที่ ๓ การตรวจทางห้องทดลอง คลังโลหิต และห้องเอกซเรย์
ชั้นที่ ๔ กายภาพบำบัด
ชั้นที่ ๕ ห้องตรวจโรคกุมารเวชกรรม ตรวจตา หู คอ จมูก และสูติ-นรีเวชกรรม
ชั้นที่ ๖ ห้องประชุม และศูนย์สารสนเทศ
ชั้นที่ ๗ หอผู้ป่วยหนัก และห้องผ่าตัด
ชั้นที่ ๘ ห้องผ่าตัด
ชั้นที่ ๙ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ชั้นที่ ๑๐ ห้องพิเศษคู่
ชั้นที่ ๑๑ ห้องพิเศษเดี่ยว
ชั้นที่ ๑๒ ห้องพิเศษ VIP
อาคารจอดรถสูง ๑๐ ชั้น มีทางเชื่อมกับอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มารับบริการ สามารถให้บริการจอดรถได้ ๓๖๕ คัน