การให้บริการทางทันตกรรมของคลินิก
1. คลินิกทันตกรรมจัดฟัน (ORTHODONTIC CLINIC) ให้บริการการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยสบฟันดีขึ้น เพื่อการบดเคี้ยวที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคฟันผุ และโรคเหงือก การจัดฟันเป็นกระบวนการป้องกัน ป้องปราม และแก้ไขความไม่สมดุลที่เกิดจากการเรียงตัวของฟัน จากการสบฟันที่ผิดปกติ รวมถึงจากสภาพโครงสร้างกระดูกกะโหลกศีรษะ-ใบหน้าที่ไม่ถูกต้อง การจัดฟันช่วยแก้ปัญหาด้านการบดเคี้ยว ทำให้รูปร่างใบหน้าสวยงาม และแก้ไขความผิดปกติในการทำหน้าที่ของอวัยวะในช่องปากให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ได้แก่ การจัดฟันโดยใช้เครื่องมือทางทันตกรรมจัดฟันชนิดถอดได้ การจัดฟันโดยใช้เครื่องมือทางทันตกรรมจัดฟันชนิดติดแน่น ทั้งนี้การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันสามารถรักษาร่วมกับทันตกรรมแขนงอื่น เช่น การจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดกระดูกขากรรไกร การจัดฟันร่วมกับการใส่ฟันปลอม การจัดฟันร่วมกับการบูรณะฟัน การจัดฟันร่วมกับการรักษาโรคเหงือก รวมถึงการจัดฟันร่วมกับการรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่
2. คลินิกทันตกรรมสำหรับเด็ก (PEDIATRIC DENTISTRY CLINIC) ภาควิชาทันตกรรมป้องกัน โรงพยาบาลทันตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้บริการรักษาทางทันตกรรมในกลุ่มเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี 12 เดือน และในกลุ่มเด็กพิเศษ โดยให้บริการคำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากเพื่อให้มีสุขภาพช่องปากที่ดีตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกเริ่มขึ้น การดูแลทำความสะอาดช่องปากและฟัน การเลือกรับประทานอาหารที่สร้างเสริมการมีสุขภาพร่างกายและสุขภาพในช่องปากที่ดี การเลือกใช้ฟลูออไรด์เพื่อลดโอกาสการเกิดฟันผุ การให้นมจากขวดอย่างไรไม่ให้เกิดฟันผุ การเอ็กซเรย์เพื่อการวินิจฉัยในเด็ก การผนึกหลุมและร่องฟันเพื่อลดอัตราการเกิดฟันผุ การอุดฟัน การถอนฟัน การขูดหินปูน การย้อมสีแผ่นคราบจุลินทรีย์ การรักษาฟันที่มีความผิดปกติ การรักษาประสาทฟันน้ำนม การทำครอบฟันโลหะไร้สนิท การทำเครื่องมือกันที่ในช่องปาก โดยการดูแลจะอยู่บนพื้นฐานการดูแลแบบองค์รวม เพื่อให้เด็กมีสุขภาพที่ดีทั้งในช่องปาก ร่างกาย จิตใจและวิญญาณ
3. คลินิกทันตกรรมบดเคี้ยว (OCCLUSION CLINIC) ให้บริการรักษาผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความผิดปกติด้านการบดเคี้ยว ด้านการทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกร รวมถึงผู้ป่วยที่นอนกัดฟัน และฟันสึกอย่างรุนแรง รวมถึงผู้ป่วยนอนกรน การรักษาที่เปิดให้บริการ ได้แก่
1. การให้คำแนะนำทั่วไปในการดูแลตนเอง
2. การบำบัดรักษาทางกายภาพ เช่น การประคบร้อนหรือเย็น การบริหารขากรรไกร การทำอัลตราซาวน์ เป็นต้น
3. การรักษาการทำงานที่ผิดปกติของขากรรไกรโดยใช้เฝือกสบฟัน
4. ฉีดจุดกระตุ้นปวดเพื่อลดอาการปวดกล้ามเนื้อบดเคี้ยว
5. ฉีดยาชาระงับอาการปวดข้อต่อขากรรไกร การล้างข้อต่อขากรรไกร
6. การฉีด Botulinum toxin เพื่อลดการทำงานที่มากเกินไปของกล้ามเนื้อบดเคี้ยว
7. การกรอปรับสบฟันให้เกิดเสถียรภาพ
8. ทำเครื่องมือในช่องปากเพื่อบำบัดการนอนกรน
9. ทำเครื่องมือป้องกันในช่องปากสำหรับนักกีฬา (Mouth guard) เช่น ต่อยมวย ว่ายน้ำ
10. การจ่ายยาเพื่อลดอาการปวดและช่วยผ่อนคลายการทำงานของกล้ามเนื้อ
4. คลินิกทันตกรรมประดิษฐ์ (PROSTHODONTICS CLINIC) เป็นหน่วยงานที่มีภาระกิจหลัก คือ จัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติสำหรับนิสิตทันตแพทย์ ที่มุ่งเน้นการให้บริการใส่ฟันปลอมสำหรับผู้ป่วยที่มีการสูญเสียฟัน ได้แก่ การใส่ฟันปลอมทั้งปาก การใส่ฟันปลอมบางส่วนชนิดถอดได้ การใส่เดือยฟัน การใส่ครอบฟัน และสะพานฟัน โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจากอาจารย์ทันตแพทย์เฉพาะทางทันตกรรมประดิษฐ์ ในกระบวนการรักษา นิสิตทันตแพทย์พร้อมที่จะให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การให้คำปรึกษา การออกแบบฟันปลอม การวางแผนการรักษาที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยรับฟังความต้องการของผู้ป่วย นอกจากนี้ นิสิตจะมีการประเมินและติดตามผลการักษาเป็นระยะ
5. คลินิกทันตกรรมรากเทียม (DENTAL IMPLANT CLINIC) บริการให้คำปรึกษาและรักษาผู้ป่วยด้วยรากฟันเทียม เพื่อทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป ซึ่งประกอบด้วยการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมและการบูรณะฟันบนรากเทียม ทั้งฟันเทียมติดแน่นและฟันเทียมถอดได้ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาบดเคี้ยวได้อย่างปกติและมีความสวยงามใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ
6. คลินิกทันตกรรมหัตถการ (OPERATIVE CLINIC) เปิดให้บริการด้านการอุดฟัน ในฟันที่มีรอยโรค เช่น ฟันผุ ฟันสึก ฟันแตกร้าว โดยงานที่ให้บริการ ได้แก่ อุดฟันด้วยวัสดุอุดสีเหมือนฟันและอมัลกัม การทำอินเลย์ ออนเลย์ และครอบฟันอุดปิดช่องห่างของฟัน
7. คลินิกปริทันตวิทยา (PERIODONTIC CLINIC) ให้บริการรักษาและป้องกันปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะปริทันต์แก่ผู้ที่มีหินน้ำลายสะสม ผู้มีอาการโรคเหงือกอักเสบหรือโรคปริทันต์อักเสบ (โรครำมะนาด) งานที่ให้บริการ ได้แก่
1. การสอนดูแลอนามัยช่องปากที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเกิด และการคุกคามของโรค
2. การขูดหินน้ำลาย และการเกลารากฟัน (ด้วยเครื่องมือเฉพาะสำหรับการเกลารากฟันในแต่ละซี่ แต่ละตำแหน่ง ทั่วทั้งปาก)
3. การทำศัลยปริทันต์ อาทิ เช่นการตัดเหงือก เพื่อตกแต่งให้ผู้ป่วยมีซี่ฟันที่ยาวขึ้น หรือ ตกแต่งเหงือก เพื่อให้สามารถทำการบูรณะฟันได้ดีขึ้นหรือสวยงามขึ้น การปลูกถ่ายเหงือก แก้ไขกรณีเหงือกร่น การปลูกกระดูกทดแทนกระดูกเบ้าฟันที่สูญเสียไปจากโรคปริทันต์อักเสบ การแก้ไขรอยโรคบริเวณง่ามฟันที่ดูแลอนามัยช่องปากด้วยตนเองลำบาก ให้ผู้ป่วยสามารถดูแลได้ง่ายขึ้น การตัดแต่งกระดูกเบ้าฟัน หรือตัดแต่งรากฟันที่กระดูกถูกทำลายรุนแรง
4. การผ่าตัดฝังรากฟันเทียมเพื่อทดแทนซี่ฟันที่สูญเสียไป และการรักษารอยโรครอบรากฟันเทียม รวมถึงการผ่าตัด เสริมกระดูกหรือเนื้อเยื่ออ่อนรอบรากฟันเทียม
8. คลินิกรังสีวิทยาช่องปากและใบหน้า (ORAL AND MAXILLOFACIAL RADIOLOGY CLINIC) ให้บริการถ่ายภาพรังสีในและนอกช่องปาก ด้วยการประมวลผลภาพระบบดิจิตอล เพื่อลดปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับและลดขั้นตอนในการล้างฟิล์ม การประมวลผลภาพระบบดิจิตอลยังช่วยให้ทันตแพทย์วินิจฉัยพยาธิสภาพและวางแผนการรักษาทางทันตกรรมได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
9. คลินิกวิทยาเอ็นโดดอนต์ (ENDODONTICS CLINIC) เปิดให้บริการการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคเนื้อเยื่อในอักเสบหรือตาย และโรคเนื้อเยื่อรอบปลายรากฟันอักเสบ โดยงานที่ให้บริการ ได้แก่ การรักษาคลองรากฟัน การกระตุ้นให้ฟันแท้ที่เจริญไม่สมบูรณ์ มีการสร้างรากฟันต่อ หรือมีการปิดของปลายรากฟันการผ่าตัดศัลยกรรมปลายรากฟัน การรักษาคลองรากฟันซ้ำ
10. คลินิกวินิจฉัยโรคและเวชศาสตร์ช่องปาก (ORAL MEDICINE CLINIC) มีหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนและให้บริการทางด้านการตรวจวินิจฉัยโรคและให้การรักษารอยโรคในช่องปาก รวมถึงอาการเจ็บปวดบริเวณศีรษะและใบหน้า นอกจากนั้นยังได้นำระบบการถ่ายภาพในปากและนอกปาก โดยใช้กล้องถ่ายภาพในปากระบบดิจิตัล (Digital intraoral camera) เพื่อบันทึกรอยโรคและความผิดปกติเก็บไว้ประกอบการวินิจฉัยซึ่งเป็นคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งแรกที่ได้นำกล้องถ่ายภาพในปากระบบดิจิตัลมาใช้ในคลินิกกับผู้ป่วย และแนะนำเกี่ยวกับโรคและความผิดปกติในช่องปากที่ปรากฏให้ผู้ป่วยทราบ ความผิดปกติและรอยโรคในช่องปากที่พบเสมอ ๆ คือ ฟันผุ เหงือกอักเสบ ฟันคุด โรคปริทันต์ และโรคของเยื่อเมือกในช่องปาก บางรอยโรคอาจต้องการยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา และเก็บข้อมูลภาพฟันของผู้ป่วยไว้เป็นหลักฐานในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล
11. คลินิกศัลยกรรมช่องปาก ขากรรไกรและใบหน้า (ORAL AND MAXILLOFACIAL SURGERY CLINIC) ให้บริการผู้ป่วยด้านการผ่าตัดในช่องปาก ขากรรไกร และใบหน้า ได้แก่ การถอนฟัน การผ่าฟันคุดและฟันฝัง การฝังรากฟันเทียม การผ่าตัดตกแต่งกระดูกและเนื้อเยื่อในช่องปาก การรักษาการติดเชื้อที่มีสาเหตุจากฟัน ผ่าตัดถุงน้ำและเนื้องอก ศัลยกรรมผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของขากรรไกรและใบหน้า การรักษากระดูกหักของขากรรไกรและใบหน้า อีกทั้งมีหน้าที่สอนภาคปฏิบัติสำหรับนิสิตทันตแพทย์
12. คลินิกสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก (ORAL HEALTH PROMOTION CLINIC) เปิดให้บริการงานด้านทันตกรรมป้องกัน โดยเน้นการดำเนินงานขั้นปฐมภูมิ เช่น การประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุด้วยการตรวจทางคลินิกร่วมกับวิธีทางจุลชีววิทยา การใช้วิทยาการทางคอมพิวเตอร์ในการช่วยประเมินการวิเคราะห์ทางด้านโภชนาการและให้คำปรึกษา การตรวจวัดกลิ่นปากด้วยเครื่องตรวจวัด การตรวจวัดค่าฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม การให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพช่องปาก และการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากในรายบุคคลและในชุมชน
ประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เริ่มจัดตั้งเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2538 โดยในระยะแรกยังคงเป็นโครงการจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ และมีสำนักงานของโครงการฯ อยู่ที่ อาคารคณะเภสัชศาสตร์ ในปีการศึกษา 2540 โครงการจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ ได้เริ่มรับนิสิตรุ่นแรกจำนวน 30 คน และในปีการศึกษาถัดมาจนถึงปัจจุบันได้เพิ่มเป็น 85 คนต่อปี โครงการจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยนเรศวรให้มีสถานภาพเป็นคณะทันตแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2543
คณะทันตแพทยศาสตร์มีปณิธานที่จะดูแลทันตสุขภาพของประชากรภาคเหนือตอนล่าง จึงจัดให้มีการบริการทางทันตกรรมทั้งการให้บริการรักษาพยาบาลและให้ความรู้ทางทันตสาธารณสุข คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้จัดให้มีการบริการทางทันตกรรมแก่ประชาชนโดยไม่มีค่าตอบแทนในหลายโอกาส ได้แก่ โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ, หน่วยบริการเคลื่อนที่เพื่อให้บริการอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินน้ำลาย ผ่าฟันคุด ส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคภายในช่องปาก การใส่ฟันปลอม การให้ความรู้ ด้านทันตสาธารณสุขแก่ประชาชน ทั้งนี้คณะทันตแพทยศาสตร์ได้ดำเนินกิจกรรมโดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน “หน่วยทันตกรรมพระราชทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร" และได้รับการสนับสนุนงบดำเนินการจากมูลนิธิเฉลิมพระเกียรติหน่วยทันตกรรมพระราชทาน
ในส่วนโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้เริ่มเปิดให้บริการทันตกรรมแก่ประชาชนในเขตภาคเหนือตอนล่างในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2543 โดยได้เปิดให้บริการทางทันตกรรม และเป็นแหล่งฝึกให้นิสิตได้เรียนรู้การทำงานจากประสบการณ์จริง โดยมีความพร้อมในด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ทางทันตกรรมและมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสอน การฝึกปฏิบัติงานของนิสิต และการพัฒนาการปฏิบัติงานของอาจารย์ให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ควบคู่กับการพัฒนางานวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ โดยสนับสนุนให้อาจารย์ทำวิจัย โดยเลือกปัญหาของชุมชน เก็บรวบรวมข้อมูลจากการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่การออกศึกษาทันตกรรมชุมชน และพัฒนานักวิจัยรุ่นเยาว์ โดยการสนับสนุนให้นิสิตชั้นปีที่ 5 และ 6 เรียนรู้การวิจัย สามารถเขียนโครงการวิจัย เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล โดยได้รับทุนสนับสนุนจากคณะเพื่อเตรียมความพร้อมในการออกไปปฏิบัติงานทางทันตกรรมเพื่อรับใช้สังคมต่อไป
ปัจจุบัน โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มีโครงสร้างการบริหารงานซึ่งขึ้นตรงต่อคณะทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งมีคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ (รศ.ทพญ.ดร.พีรยา ภูอภิชาติดำรง) เป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรระดับคณะฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทันตกรรม (ผศ.ทพญ.ดร.จิตติมา พุ่มกลิ่น) เป็นผู้บริหารสูงสุดของโรงพยาบาลทันตกรรม บริหารจัดการ กำหนดแนวทาง นโยบายและแผนงานการให้บริการ ควบคุม ส่งเสริม และกำกับดูแลงานด้านต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนงานของโรงพยาบาลทันตกรรม