ประวัติโรงพยาบาลทุ่งเสลี่ยม
สมัย นายสวัสดิ์ ส่งสัมพันธ์ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอทุ่งเสลี่ยมได้ยื่นเรื่องราวของเงินงบประมาณเพื่อสร้างโรงพยาบาล พร้อมกันนั้นก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการของอำเภอจัดหาที่ดินขึ้นชุดหนึ่ง ปรากฏว่ามีประชาชนบริจาคที่ดินหลายแห่ง แต่เมื่อคณะกรรมการขึ้นอีกชุดหนึ่งโดยมี นายครอบ โวหาร เป็นประธาน ซึ่งก็ได้จัดหาที่ดินบริเวณหลังที่ว่าการอำเภอทุ่งเสลี่ยมซึ่งมี่เนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 98 ตารางวา โดยได้รับความร่วมมือจากห้างร้านและข้าราชการประชาชนและทางวัดบริจาคเงินซื้อเป็นเงินจำนวนประมาณ 100,000.- บาท ( หนึ่งแสนบาทถ้วน )
เมื่อ พ.ศ. 2519 กระทรวงสาธารณสุข ได้อนุมัติเงินจำนวน 6,000,000.- บาท (หกล้านบาทถ้วน)เพื่อจัดสร้างโรงพยาบาลทุ่งเสลี่ยม เป็นโครงการประชากร ซึ่งก็ได้ดำเนินการประมูล แต่ปรากฏว่า ไม่มีผู้ใดประมูลได้นายสวัสดิ์ ส่งสัมพันธ์ ได้ย้ายไป และนายทวีศักดิ์ เวียงวิเศษย้ายมาดำรงตำแหน่งนายอำเภอแทน ในปี พ.ศ.2522และได้ดำเนินการ ติดตามเรื่องพร้อมทั้งได้ขอเงินงบประมาณสนับสนุนเพิ่มอีก 1,237,000.-บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,237,00.-บาท บริษัทท่าชัยก่อสร้างเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง เมื่อเริ่มวางผังอาคาร ปรากฏว่าสถานที่ไม่พอจะดำเนินการทางอำเภอจึงขอความร่วมมือจากเจ้าอาวาสวัดทุกวัด ท่านพระครูรัตนโชติคุณเจ้าคณะอำเภอเป็นประธาน พระครูบรรพตรัตนชัย เป็นรองประธาน ร่วมกับคณะข้าราชการพ่อค้าประชาชน บริจาคเงินซื้อที่ดินเพิ่มอีก 3 งาน รวมเป็นที่ดินทั้งสิ้น 12 ไร่ 98 ตารางวา พ.ศ.2524 ร้อยตรีวิชิต ศรีกสิพันธ์ ย้ายมาดำรงตำแหน่งนายอำเภอทุ่งเสลี่ยม แทนนายทวีศักดิ์ เวียงวิเศษ การก่อสร้างโรงพยาบาลทุ่งเสลี่ยม ได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2525 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ได้ส่งนายแพทย์เทิดศักดิ์ พงษ์ศศิธร มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุ่งเสลี่ยมเป็นคนแรก ได้เปิดดำเนินการรักษาพยาบาล เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2525 เมื่อเปิดดำเนินการได้มีการประชุมคณะกรรมการโรงพยาบาล ซึ่งได้ตกลงกันให้ทำพิธีเปิดโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2526
ต่อมาในปีงบประมาณ 2537 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้อนุมัติให้ยกฐานะ โรงพยาบาล ทุ่งเสลี่ยม ขนาด 10 เตียง เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง โดยจัดสรรเงินงบประมาณหมวดค่าครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เป็นค่าก่อสร้างโรงพยาบาลทุ่งเสลี่ยม ได้ดำเนินการก่อสร้างในเนื้อที่เดิม ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2538 โดยมีสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติมดังนี้
1. ต่อเติมอาคารโรงพยาบาล 10 เตียง เป็นขนาด 30 เตียง จำนวน 1 หลัง
2. อาคารผู้ป่วยขนาด 30 เตียง จำนวน 1 หลัง
3. โรงอาหาร ครัว ซักฟอก จำนวน 1 หลัง
4. โรงรถและพัสดุ จำนวน 1 หลัง
5. บ้านพักข้าราชการ ระดับ 7 - 8 จำนวน 1 หลัง
6. บ้านพักข้าราชการ ระดับ 5 - 6 จำนวน 2 หลัง
7. อาคารพักพยาบาล 20 ห้อง จำนวน 1 หลัง
รวมค่าก่อสร้าง เป็นเงินทั้งสิ้น 16,510,000.-บาท (สิบหกล้านห้าแสนหนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ได้ทำพิธีเปิดโรงพยาบาล ทุ่งเสลี่ยม ขนาด 30 เตียง เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 1 มิถุนายน 2538 โดยมี ฯ พณ ฯ ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธ์ ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาลทุ่งเสลี่ยม
ที่ตั้งและอาณาเขต
โรงพยาบาลทุ่งเสลี่ยม ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ เลขที่ 322 หมู่ที่ 8 ตำบลทุ่งเสลี่ยม อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย อยู่ทางทิศ ตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทางห่างจากจังหวัดสุโขทัย ประมาณ 68 กิโลเมตร พื้นที่ ประมาณ 569,932 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น 5 ตำบล 59 หมู่บ้าน
ภูมิประเทศ ทิศเหนือและทิศตะวันตกส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูง ทิศใต้และทิศตะวันตกเป็นที่ราบ เหมาะแก่การทำ เกษตรกรรม มีลำน้ำแม่มอกไหลจากทิศตะวันตก ลงสู่ทิศใต้ผ่านตำบลกลางดง ตำบลทุ่งเสลี่ยม ตำบลไทยชนะศึก ตำบลเขาแก้ว ศรีสมบูรณ์ และตำบลบ้านใหม่ไชยมงคล ลงสู่แม่น้ำยมที่อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ประชาชนส่วนใหญ่จะใช้ลำน้ำแม่มอกใน การประกอบอาชีพ
การปกครอง แบ่งเป็น 5 ตำบล 59 หมู่บ้าน
ประชากรรวม จำนวน 52,591 คน
จำนวนหลังคาเรือน จำนวน 12,390 หลังคาเรือน
จำนวนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จำนวน 2 อบต.
จำนวนเทศบาล จำนวน 3 เทศบาล
สถานบริการทางสาธารณสุข
โรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง จำนวน 1 แห่ง
สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ จำนวน 1 แห่ง
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 9 แห่ง
คลินิกแพทย์ จำนวน 3 แห่ง
ร้านขายยาแผนปัจจุบันชั้น 1 จำนวน 5 แห่ง
ร้านขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จ จำนวน 1 แห่ง
การศึกษา
1. โรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 27 แห่ง
2. โรงเรียนมัธยมศึกษา จำนวน 2 แห่ง
3. โรงเรียนมัธยมขยายโอกาส จำนวน 7 แห่ง
รายนามผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุ่งเสลี่ยม
1. นพ.เทิดศักดิ์ พงษ์ศศิธร พ.ศ. 2525 - พ.ศ. 2527
2. นพ.วันชัย ศิริกุล พ.ศ. 2527 - พ.ศ. 2528
3. นพ.จรัส วัชรประภาพงศ์ พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2530
4. นพ.สุรเชษฐ์ กู้พงษศักดิ์ พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2531
5. นพ.ปัญญา สินธุรัตนเวช พ.ศ. 2531 - พ.ศ. 2532
6. นพ.ประเสริฐ สินธุรัตนเวช พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2533
7. นพ.สุทนต์ ทั่งศิริ พ.ศ. 2533 - พ.ศ. 2541
8. นพ.นภดล อ่อนเอี่ยม พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2543
9. นพ.สมบูรณ์ พันธ์วงค์ พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2546
10. นพ.บริรักษ์ ลัภนะกุล พ.ศ. 2546 - ปัจจุบัน