ประวัติโรงพยาบาลนภาลัย
โรงพยาบาลนภาลัย เดิมชื่อโรงพยาบาลบางคนที เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง ซึ่งได้รับอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุข ให้ก่อสร้างที่ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม แทนโรงพยาบาลบางคนทีเดิม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง ยกฐานะมาจากสถานีอนามัยชั้นหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลบางนกแขวก ติดต่อกับเขตอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ทำให้ประชาชนไปรับบริการที่โรงพยาบาลดำเนินสะดวก เนื่องจากโรงพยาบาลบางคนทีเดิม อยู่ห่างไกลชุมชน และการคมนาคมไม่สะดวก จึงได้มีการปรับปรุงโรงพยาบาลบางคนที
เพื่อให้มีขอบขีดความสามารถในการจัดบริการการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในเขตอำเภอบางคนทีเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากสถานที่ของสถานีอนามัยชั้นหนึ่งมีจำกัด เมื่อได้รับการปรับปรุงยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง ทำให้สถานที่คับแคบ ไม่สามารถที่จะเอื้ออำนวยให้จัดบริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการก่อสร้างโรงพยาบาล ซึ่งมีนายวุฒินันท์ พงศ์อารยะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นประธาน และนายแพทย์ธนา เอียการนา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม มีความเห็นว่า สมควรจะย้ายโรงพยาบาลบางคนทีเดิม ไปสร้างใหม่ในที่ชุมชนใกล้ที่ว่าการอำเภอบางคนที เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง เพื่อให้บริการแก่ชุมชนได้ดีขึ้น และมีขนาดที่เหมาะสมกับชุมชน ซึ่งมีประชากรอยู่ 38,846 คน โดยมีข้อพิจารณาว่า หากจะรอให้รัฐบาลช่วยเหลือในการก่อสร้างโรงพยาบาลบางคนทีขึ้นใหม่นั้น
การพัฒนาสาธารณสุขของจังหวัดสมุทรสงครามคงจะต้องรออีกนาน เนื่องจากรัฐบาลมุ่งเน้นไปในส่วนที่รีบด่วนและจำเป็นก่อน สมควรที่จะให้พี่น้องประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมกันพัฒนางานสาธารณสุข จึงได้ปรึกษาหารือกับพี่น้องประชาชน พ่อค่า คหบดี และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดียิ่ง จึงได้นำข้อพิจารณานี้เสนอกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขณะนั้น นายอำนวย ยศสุข เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายไพโรจน์ ไชยพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะ ได้มาตรวจเยี่ยม และเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการก่อสร้างโรงพยาบาล ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2525 ผลจากการประชุม กระทรวงสาธารณสุขขออนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างได้ และอนุมัติเงินงบประมาณสมทบเป็นค่าก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก เป็นเงิน 1,000,000 บาท ( หนึ่งล้านบาทถ้วน ) พร้อมทั้งผู้มีจิตศรัทธาแสดงความจำนงบริจาคเงิน และที่ดิน สำหรับเป็นสถานที่ก่อสร้างโรงพยาบาล ในชั้นแรก 11 ราย ดังนี้ .
1. คุณเกษร สุคนธมาน บริจาคเงิน 2,500,000 บาท
2. คุณอุดม อุ่นสุวรรณ บริจาคเงิน 2,250,000 บาท
3. มูลนิธิ “ กิสน – เกษร สุคนธมาน ” บริจาคเงิน 300,000 บาท
4. มูลนิธิ “ อุดม - สอางค์ อุ่นสุวรรณ ” บริจาคเงิน 120,000 บาท
5. คุณประกอบ เพ็ชร์รัตน์ บริจาคที่ดิน 2 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา
6. คุณพิพัฒน์ สุคนธมาน บริจาคที่ดิน 2 ไร่ 2 งาน 4 ตารางวา
7. คุณสิน ภุมรา บริจาคที่ดิน 1 ไร่ 2 งาน 68 ตารางวา
8. คุณลำใย เตียบน้อย บริจาคที่ดิน 1 ไร่ 2 งาน 55 ตารางวา
9. คุณพรวน เขียนประเสริฐ บริจาคที่ดิน 1 ไร่ 2 งาน 51 ตารางวา
10. คุณนิพันธ์ พูลทวีธรรม บริจาคที่ดิน 2 งาน 93 ตารางวา
11. คุณทองแพ ธรรมสังวาลย์ บริจาคที่ดิน 2 งาน 11 ตารางวา
และประชาชนร่วมบริจาคเงิน และสิ่งของสมทบอีก 1,322,298 บาท
จากการที่ได้มีประชาชนร่วมกันบริจาคเงิน และสิ่งของเป็นจำวนมาก คณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลและประชาชนทั่วไป ต่างมีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นที่ประสูติของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 อำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดสมุทรสงคราม ต่างก็มีอนุสรณ์รำลึกถึงพระองค์ท่าน คือ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม มี “ สะพานสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ”
อำเภออัมพวา มี “ พระบรมราชานุสาวรีย์ ” และอุทยาน ร .2 ” ในการนี้ อำเภอบางคนทีมีโรงพยาบาลก่อสร้างใหม่ จึงเห็นสมควรขอพระราชทานนามโรงพยาบาลแห่งนี้สุดแต่พระองค์ท่านจะทรงพระกรุณา เพื่อเป็นนิมิตหมายแห่งความเป็นศิริมงคลแก่โรงพยาบาล และพี่น้องประชาชนชาวอำเภอบางคนที สืบไป
จนกระทั่งความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า “ โรงพยาบาลนภาลัย ” ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล 0003/823,824 ลงวันที่ 21 มกราคม 2527 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
จวบจนกระทั่งถึงมหามงคลสมัย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลนภาลัย อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2528 เวลา 14.30 น .
ต่อมา โรงพยาบาลนภาลัย ได้อัญเชิญหลวงพ่อบ้านแหลม ( องค์จำลอง ) ซึ่งเป็นที่เคารพบุชาสูงสุดของพี่น้องประชาชนจังหวัดสมุทรสงคราม จากวิหารวัดเพชรสมุทรวรวิหารอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม มาประดิษฐาน ณ หอพระโรงพยาบาลนภาลัย เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2529 เพื่อให้พี่น้องประชาชนในเขตอำเภอบางคนที และผู้ป่วยได้สักการะบูชา
ปัจจุบัน โรงพยาบาลนภาลัย ได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียง ตามหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ สธ 0216/21/561 ลงวันที่ 22 มกราคม 2536 ด้วยการพึ่งพาตนเอง นับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่ง ที่พี่น้องประชาชนในจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ให้ความร่วมมือ และสนับสนุนเป็นอย่างดี เพื่อให้โรงพยาบาลนภาลัยเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า รับใช้พี่น้องประชาชน ด้านการสาธารณสุขสืบไป
โรงพยาบาลนภาลัย ได้ดำเนินการบริหารภายในองค์กร โดยคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลซึ่งประกอบด้วยผู้อำนวยการโรงพยาบาล แพทย์ หัวหน้าฝ่าย หัวหน้ากลุ่มงาน และกรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นประธาน หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไปเป็นกรรมการและเลขานุการ มีการบริหารงานคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9001 : 2000 โดยมีขอบเขตครอบคลุมทุกฝ่ายและกลุ่มงานของโรงพยาบาลนภาลัย