ประวัติโรงพยาบาลศรีนคร
ตามเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๕ ( พ.ศ. ๒๔๑๔ - ๒๕๒๘ ) ที่จะจัดให้มีสถานบริการสาธารณสุข ระดับภูมิภาคอย่างทั่วถึง โดยจัดให้มีโรงพยาบาล ทุกอำเภอ และ สถานีอนามัยในทุกตำบลทั่วประเทศ อำเภอศรีนครเป็นอำเภอสุดท้ายของจังหวัดสุโขทัยที่คาดว่าจะได้รับอนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลราวๆ ปลายแผน ฯ ๕ ได้มี การประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับ องค์กรต่างๆ ในชุมชนอย่างต่อเนื่องในการสำรวจ และ คัดเลือกพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างซึ่งมีปัญหาและอุปสรรคบ้างพอสมควร ในที่สุด คุณธวัช ชุนนะวรรณ์ ( ขณะนั้นดำรงตำแหน่งกำนันตำบลศรีนคร) และ คุณเพ็ญพิศ ชุนนะวรรณ์ ได้บริจาคที่ดินจำนวน ๒๕ ไร่เศษ สำหรับก่อสร้างโรงพยาบาลศรีนคร ปีงบประมาณ ๒๕๒๘ กระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติงบประมาณ เป็นเงิน ๕,๒๙๔,๑๐๐ บาท (ห้าล้านสองแสนเก้าหมื่นสี่พันหนึ่งร้อยบาทถ้วน) ให้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลชุมชนขนาด ๑๐ เตียง ในอำเภอศรีนครบนที่ดิน บริจาคดังกล่าว และ เสร็จเป็นโรงพยาบาลศรีนคร เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๒๙
โรงพยาบาลศรีนคร สามารถเปิดดำเนินการให้บริการด้านสาธารณ-สุข แก่ประชาชนทั่วไปใน อำเภอศรีนคร และ อำเภอใกล้เคียงได้ ตั้งแต่วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๒๙ ขณะที่โรงพยาบาลเปิดให้บริการครั้งแรกมีบุคลากรเป็นข้าราชการ ๒๐ ตำแหน่งและลูกจ้างประจำเพียง ๓ ตำ-แหน่งเท่านั้น หลังจากได้เปิดให้บริการกับประชาชนทั่วไปประมาณ ๑ ปี โรงพยาบาลศรีนคร ได้กระทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น คือ นายแพทย์ไฟโรจน์ นิงสานนท์ เป็นประธานในพิธี
ในปีงบประมาณ ๒๕๓๘ กระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติงบประมาณเป็นจำนวนเงิน ๑๕,๐๑๐,๐๐๐ บาท (สิบห้าล้านหนึ่งหมื่นบาทถ้วน ) ให้ดำนินการก่อสร้างเพื่อขยายเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด ๓๐ เตียง และ ในการนี้ คุณธวัช และ คุณเพ็ญพิศ ชุนนะวรรณ์ ก็ได้บริจาคที่ดินอีกจำนวน ๑ ไร่ ๑ งาน เพื่อรองรับการก่อสร้างอาคารต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นและ การก่อสร้างก็ได้ดำเนินการจนเสร็จ สามารถเปิดให้บริการต่างๆ ได้
เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๙ สำหรับพิธีเปิดอย่างเป็นทางการได้กระทำขึ้นในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๐ โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข คือนายแพทย์ปรากรม วุฒิพงศ์ เป็นประธานในพิธี